มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ชื่อ | มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (ม ม ร) |
ชื่อ (อังกฤษ) | Mahamakut Buddhist University (MBU) |
ก่อตั้ง | 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 |
ประเภทสถาบัน | มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล |
อธิการบดี | พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) |
ที่ตั้ง/วิทยาเขต | วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ |
เว็บไซต์ | www.mbu.ac.th |
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่
[แก้] ประวัติ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอ ได้มีพระดำริจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นภายใน วัดบวรนิเวศวิหาร โดยวิธีจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ก็นำเอาวิธีวัดผลแบบข้อเขียนมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศด้วย
หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงก่อตั้งสถาบันการศึกษานี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชดำรัสให้พระองค์ทรงช่วยปรับปรุงโรงเรียนสอนภาษาบาลี ชื่อ "มหาธาตุวิทยาลัย" ภายในวัดมหาธาตุ ขึ้นเป็น "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" เพื่อจัดการให้คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงในลักษณะเดียวกัน ควบคู่ไปกับมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งสมัยนั้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงและส่วนมากยังจำกัดอยู่แต่คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ต่อมา ทั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ปิดตายลงเพราะประสบปัญหาหลายประการด้วยกัน เป็นเวลาหลายสิบปี
จนกระทั่ง ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพได้พยายามรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนประสบผลสำเร็จ เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์และคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ยอมออกหน้าให้การอุปถัมภ์ โดยได้ทำการประกาศรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2488 ตามมาด้วย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศรื้อฟื้นกิจการในปี พ.ศ. 2490 อาจารย์สุชีพ ได้แถลงว่า สาเหตุที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพราะคณะสงฆ์จำเป็นต้องผลิตบุคคลากรที่รู้ทันวิชาสมัยใหม่ มิฉะนั้น คณะสงฆ์จะไม่ทันชาวบ้านและนำชาวบ้านไม่ได้ และจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเพราะอยู่คนละโลก ท่านจึงต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัย จนในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย และ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้รับการรื้อฟื้นมาอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลพวงมาจากการต่อสู้ของท่าน เหตุผลนี้ ทำให้คนรุ่นหลังกล่าวยกย่องท่านเป็น บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย
เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านและสืบสานเจตนารมณ์ของท่าน คณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิปุญญานุภาพ ขึ้นโดยความเห็นชอบของท่านเพื่อให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาหรือครูอาจารย์ผู้ค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
[แก้] วิทยาเขต
- มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร
- วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย วัดชูจิตธรรมาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย อ้อมน้อย จังหวัดนครปฐม
- วิทยาเขตอีสาน จังหวัดขอนแก่น
- วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่
- วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วิทยาเขตร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
- วิทยาเขตศรีล้านช้าง จังหวัดเลย
- วิทยาเขตมหาปชาบดีวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา สำหรับการศึกษาของสตรีและแม่ชีโดยเฉพาะ
- วิทยาเขตศาลายา นครปฐม (กำลังดำเนินการก่อสร้าง)
[แก้] คณะ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแบ่งออกเป็น 5 คณะ
- คณะศาสนาและปรัชญา
- คณะมนุษยศาสตร์ (เดิมชื่อ คณะศิลปศาสตร์)
- คณะสังคมศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะบัณฑิตวิทยาลัย
[แก้] เกียรติภูมิของชาวมหามกุฏราชวิทยาลัย
สิ่งที่ชาวมหามกุฏราชวิทยาลัยภาคภูมิใจที่สุดก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศ หลังจากที่มีการเปิดการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาและครูอาจารย์มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้มีเป้าประสงค์ยิ่งใหญ่ตามเจตนารมณ์ของ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ คือพยายามขยายการอบรมจริยธรรมหรือศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาไปทั่วประเทศในรูปแบบต่างๆ กล่าวได้ว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ประเทศได้รับอิทธิพลวัตถุนิยมจากตะวันตก นักศึกษาและครูอาจารย์มหามกุฏราชวิทยาลัยได้มีบทบาทสำคัญในการชี้นำให้เห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน พระสงฆ์สามเณรที่เป็นพระนักศึกษาหลายรูปได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาเหล่านี้จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
กิจกรรมที่คณาจารย์และนักศึกษาได้กระทำกันมาเพื่อปลูกฝังศีลธรรมในประเทศไทยมีจำนวนมาก อาทิ
- บรรยายธรรมทางสถานีวิทยุหลายสถานี
- ส่งพระนักศึกษาและครูอาจารย์ไปสอนนักโทษเรือนจำในที่ต่างๆ ของประเทศ
- ส่งพระนักศึกษาและครูอาจารย์ไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลน
- เปิดสอนศีลธรรมแก่ประชาชนและนิสิตนักศึกษาทั่วไปเป็นกรณีพิเศษในวันอาทิตย์
- จัดอภิปราย บรรยายหรือเสวนาธรรมเป็นประจำเพื่อกระตุ้นหรือเร่งเร้าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของธรรมะ
- ส่งพระนักศึกษาไปอบรมกรรมฐานเป็นเวลา 1 เดือนในสำนักพระกัมมัฏฐานก่อนจะรับปริญญา
- จัดส่งนักศึกษาที่เรียนครบตามหลักสูตรไปปฏิบัติหน้าที่สอนศีลธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนจะมีพิธีประสาธน์ปริญญา
- คณาจารย์ได้เข้าไปมีบทบาทในการแสดงความเห็นเพื่อแก้ปัญหาการขาดศีลธรรมของชนในชาติระดับต่างๆ
- เป็นผู้นำในการตอบโต้ภัยคุกคามจากลัทธิศาสนาอื่นที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
- ชี้นำสังคมให้พัฒนาบัณฑิตเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม หรือมีความรู้คู่คุณธรรม
ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยสงฆ์มหามกุฏราชวิทยาลัยหลักๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ประชาชนทั่วไปที่ติดตามผลงานของมหามกุฏราชวิทยาลัยมาโดยตลอดจึงอยู่ที่ความสามารถในการผลิตบุคคลากรทางพระพุทธศาสนาเพื่อพิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนาและเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับชั้น
[แก้] เครื่องหมายมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พระมหามงกุฎ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนามมหามกุฏราชวิทยาลัย
- พระเกี้ยวประดิษฐสถานบนหมอนรอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- หนังสือ หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา
- ปากกาปากไก่ ดินสอและม้วนกระดาษ หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียนทางพระพุทธศาสนา
- ช่อดอกไม้แย้มกลีบ หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาการในทางพระพุทธศาสนา
- พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นทั้งสถานจัดการศึกษาและเผยแผ่
- วงรัศมี หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษา
- มหามกุฏราชวิทยาลัย หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
[แก้] สุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
"วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส = ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและหมู่มนุษย์" หมายความว่าเป้าหมายในการสร้างคนจะต้องให้สมบูรณ์ครบทั้งความรู้และความประพฤติที่ดี(ความรู้คู่คุณธรรม)ในเวลาเดียวกัน
[แก้] สีประจำมหาวิทยาลัย
- สีส้ม
[แก้] ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
- ต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าใช้ประทับอาศัยเป็นร่มเงาเมื่อตรัสรู้ ต้นโพธิ์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้า
[แก้] ความร่วมมือกับนานาชาติ
ปัจจุบัน มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ตกลงในความร่วมมือเพื่อพัฒนา ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ใน อังกฤษ เพื่อเผยแผ่หลักพุทธธรรมให้กว้างขวางไปสู่นานาประเทศ นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาการศึกษาพุทธศาสน์ศึกษาด้วย
[แก้] คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงของมหามกุฏราชวิทยาลัย
- ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
- อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ (สุชีโว ภิกฺขุ)
- ม.ล.มานิจ ชุมสาย
- ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย
- ศิริ พุทธศุกร์
- ศ.เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม
- อาจารย์เสถียร โพธินันทะ
- สมัคร บุราวาส
[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของมหามกุฏราชวิทยาลัย เช่น
- พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร
- พระศรีญาณโสภณ (ปิยโสภณ) MA London
- พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย MA (Cantab), PhD (Brunel)
- ศ.เกียรติคุณ แสง จันทร์งาม (ธรรมโฆษ)
- ศ.พิเศษ ดร. สุนทร ณ รังษี ราชบัณฑิต
- ศ. ดร. สิทธิ์ บุตรอินทร์
- รศ. สุเชาวน์ พลอยชุม
- ไว ตาทิพย์ (อดีตนักหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)
- วศิน อินทสระ นักเขียน
- เสกสรร สิทธาคม (นักเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ)
- สร้อยรวงข้าว (อ. อุทัย บุญเย็น นักเขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ)
- บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ นักเขียนบทกวี
- ไพวรินทร์ ขาวงาม กวีซีไรต์