การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ระบบแอดมิสชันส์ (Admissions) เป็นระบบการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่นำมาใช้แทนระบบเอนทรานซ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 (ปีการศึกษา 2548) โดยระบบนี้จะนำผลการเรียนตลอดช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) มาใช้คัดเลือกเพิ่มมากขึ้น และไม่เน้นการใช้ผลการสอบเป็นหลักเหมือนกับระบบเอนทรานซ์
สารบัญ |
[แก้] วัตถุประสงค์ของการใช้ระบบแอดมิสชันส์
- เพื่อให้ทางสถาบันการศึกษา ได้ผู้เรียนที่มีความรู้ ความสามารถ ตรงตามคณะและสาขาที่เรียน
- เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้เป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรการศึกษา
[แก้] องค์ประกอบของระบบแอดมิสชันส์
- ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ค่าน้ำหนัก 10%
- ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA กลุ่มสาระฯ) ค่าน้ำหนัก 20%
- ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ค่าน้ำหนัก 35-70%
- ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) และ/หรือผลการสอบวิชาเฉพาะ รวมกันไม่เกิน 3 วิชา มีค่าน้ำหนัก 0-35%
- ผลการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ไม่คิดค่าน้ำหนัก
[แก้] ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม
ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) คือผลการเรียน (เกรด) เฉลี่ยของทุกวิชาที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (หรือเทียบเท่า) ในปีการศึกษา 2548 (พ.ศ. 2549) จะนำมาใช้ 10% จากองค์ประกอบในการรับทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ ไป
[แก้] ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (GPA กลุ่มสาระฯ) คือผลการเรียน (เกรด) เฉลี่ยของวิชาพื้นฐาน (หลัก) และวิชาเพิ่มเติม (เลือก) ที่ได้เรียนมาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เฉพาะในสาระการเรียนรู้นั้น ได้แก่
- 21 ภาษาไทย
- 22 สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- 23 ภาษาต่างประเทศ
- 24 คณิตศาสตร์
- 25 วิทยาศาสตร์
- 26 สุขศึกษาและพลศึกษา
- 27 ศิลปะ
- 28 การงานอาชีพและเทคโนโลยี
เช่น หากได้เรียนวิชาฟิสิกส์เพิ่มเติม ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ หากเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ หรือหากเรียนวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานและวิชาภาษาเยอรมัน ก็จะนำผลการเรียนไปคิดอยู่ในกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
แต่ละคณะจะกำหนดกลุ่มสาระและค่าน้ำหนัก (เป็น %) ของกลุ่มสาระที่จะนำ GPA มาพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับสาขาที่จะศึกษาต่อ โดยส่วนใหญ่จะนำ GPA ของวิชาภาษาไทย สังคมศึกษาฯ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มาใช้ แต่คณะสาขามนุษยศาสตร์ก็มักจะไม่นำ GPA คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพิจารณาคัดเลือก
เมื่อนักเรียนจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ช่วงชั้นที่ 4) จะได้รับใบแสดงผลการเรียน (ปพ.) ซึ่งบอกทั้ง GPAX และ GPA กลุ่มสาระอยู่แล้ว จึงไม่ต้องคำนวณเองจากคะแนนเฉลี่ยแต่ละภาคเรียน
[แก้] การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต (Ordinary National Education Test: O-NET) เป็นการวัดความรู้ที่เรียนมาตลอดช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยจะสอบเมื่อเรียนจบปีที่ 3 (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) เพียงครั้งเดียว และคะแนนที่ได้ก็จะติดตัวตลอดไป
ข้อสอบ O-NET ออกเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ไม่มีการแยกแผนการเรียน นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาที่ออกสอบซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานทั้งหมด จึงต้องสอบทุกคน วิชาที่จัดสอบและเนื้อหาตามสาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ คือ
- 01 ภาษาไทย มีเนื้อหาสาระหลัก ได้แก่
- 02 สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม มีเนื้อหาสาระหลัก 5 สาระ ได้แก่
- ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม (พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ)
- หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม (กฎหมาย สังคมวิทยา และการเมือง)
- เศรษฐศาสตร์
- ประวัติศาสตร์
- ภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
- 03 ภาษาอังกฤษ
- การใช้ภาษาและคำศัพท์
- การอ่าน
- การเขียน (หาที่ผิดทางไวยากรณ์)
- การพูด
- 04 คณิตศาสตร์ ขอบเขตของเนื้อหา ได้แก่
- เซต การให้เหตุผลแบบอุปนัยและนิรนัย จำนวนจริง
- ความสัมพันธ์และฟังก์ชัน อัตราส่วนตรีโกณมิติ
- ลำดับและอนุกรม ความน่าจะเป็น
- สถิติ
- 05 วิทยาศาสตร์ เนื้อหากว้าง ๆ มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และกายภาพ (โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ) แต่หากแบ่งตามสาระการเรียนรู้ ก็จะได้แก่
- สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
- ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
- สารและสมบัติของสาร
- แรงและการเคลื่อนที่
- พลังงาน
- กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
- ดาราศาสตร์และอวกาศ
- ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ข้อสอบ O-NET 1 ฉบับจะมีคำถาม 75-100 ข้อ เฉพาะในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จะเป็นข้อสอบที่มีทั้งปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (เขียนตอบ) มีประมาณ 10% เป็นการให้เขียนคำตอบสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อความหรือตัวเลขจากการคำนวณ โดยจะมีคะแนนแตกต่างไปตามระดับความยากง่ายของคำถาม
[แก้] การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง
การทดสอบทางการศึกษาการแห่งชาติขั้นสูง หรือ เอเน็ต (Advanced National Education Test: A-NET) เป็นข้อสอบที่มีระดับความยากและความซับซ้อนมากกว่าข้อสอบ O-NET โดยวัดความรู้ เน้นการคิด การวิเคราะห์ และการสังเคราะห์ โดยจะสอบกี่ครั้งก็ได้ และคะแนน A-NET จะใช้ได้ครั้งละ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม นักเรียนสามารถสมัครสอบทุกวิชา บางวิชา หรือไม่ต้องสอบก็ได้ ขึ้นอยู่กับคณะและสาขาที่สนใจเข้าศึกษาต่อนั้นต้องการคะแนน A-NET วิชาใดบ้าง หรือไม่ต้องใช้ในการคัดเลือกเลย (เช่น นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์) วิชาที่จัดสอบ A-NET ได้แก่
- 11 ภาษาไทย 2 เนื้อหาสาระเหมือนกับข้อสอบ O-NET แต่ตัดเนื้อหาการพูดออกไป เน้นหลักเนื้อหาการใช้ภาษาและเนื้อหาวรรณคดีให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
- 12 สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 2 เนื้อหาสาระเหมือนกับข้อสอบ O-NET ไม่มีคำถามอัตนัย แต่เพิ่มความยากขึ้น
- 13 ภาษาอังกฤษ 2 เนื้อหาสาระเหมือนกับข้อสอบ O-NET แต่เน้นการอ่านและการเขียนให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยมีคำถามอัตนัยให้เขียนแสดงความคิดเห็นต่อบทความ บทกวี หรือเพลงที่ได้อ่าน ความยาว 70-140 คำ มีเกณฑ์ให้คะแนน 0-20 คะแนนตามความถูกต้อง การใช้ภาษา การลำดับความ และการสื่อความที่เหมาะสม
- 14 คณิตศาสตร์ 2 เนื้อหาสาระต่างจากข้อสอบ O-NET โดยมีเนื้อหาใหม่และเนื้อหาเดิมแต่เพิ่มระดับความยากขึ้น เช่น ตรรกศาสตร์เบื้องต้น เมทริกซ์และดีเทอร์มิแนนต์ เรขาคณิตวิเคราะห์ เวกเตอร์ในสามมิติ แคลคูลัสเบื้องต้น ฟังก์ชันตรีโกณมิติ เป็นต้น
- 15 วิทยาศาสตร์ 2 เนื้อหาสาระต่างจากข้อสอบ O-NET โดยตัดเนื้อหาวิทยาศาสตร์กายภาพออกไปเหลือเพียงวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ในข้อสอบจะแบ่งเนื้อหาดังกล่าวจากกันชัดเจนมากขึ้น และมีเนื้อหาใหม่และเนื้อหาเดิมแต่เพิ่มระดับความยากขึ้น เช่น กลศาสตร์ของไหล ฟิสิกส์อะตอม ฟิสิกส์นิวเคลียร์ ตารางธาตุ สมดุลเคมี ทฤษฎีกรด-เบส ไฟฟ้าเคมี สารชีวโมเลกุล การรักษาดุลยภาพของร่างกายมนุษย์และสัตว์ พันธุศาสตร์ นิเวศวิทยา เป็นต้น
ข้อสอบ A-NET 1 ฉบับจะมีคำถาม 75-100 ข้อ เฉพาะในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์จะเป็นข้อสอบที่มีทั้งปรนัย (ตัวเลือก) และอัตนัย (เขียนตอบ) มีประมาณ 20% เป็นการให้เขียนคำตอบสั้น ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อความหรือตัวเลขจากการคำนวณ โดยจะมีคะแนนแตกต่างไปตามระดับความยากง่ายของคำถาม
[แก้] การสอบวิชาเฉพาะ
วิชาเฉพาะมีลักษณะเดียวกับ A-NET คือไม่จำเป็นต้องสอบ ขึ้นอยู่กับว่าคณะนั้น ๆ ต้องการใช้คะแนนส่วนนี้ในการคัดเลือกหรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
[แก้] วิชาภาษาต่างประเทศ
- 31 ภาษาฝรั่งเศส
- 32 ภาษาเยอรมัน
- 33 ภาษาบาลี
- 34 ภาษาอาหรับ
- 35 ภาษาจีน
- 36 ภาษาญี่ปุ่น
สำหรับปีการศึกษา 2548 สถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้จัดสอบวิชาเฉพาะ (ภาษาต่างประเทศ) พร้อมกับการสอบ O-NET และ A-NET ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ. 2549
[แก้] วิชาความถนัด
- 37 ความถนัดทางวิศวกรรม (พื้นฐานทางวิศวกรรม)
- 38 ความถนัดทางสถาปัตยกรรม
- 39 ความถนัดทางวิชาชีพครู (วัดแววความเป็นครู)
- 40 ความรู้ความถนัดทางศิลป์
- 41 ทฤษฎีทัศนศิลป์
- 42 ปฏิบัติทัศนศิลป์
- 43 ทฤษฎีนฤมิตศิลป์
- 44 ปฏิบัตินฤมิตศิลป์
- 45 วาดเส้น
- 46 องค์ประกอบศิลป์
- 47 ความถนัดทางนิเทศศิลป์
สำหรับปีการศึกษา 2548 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เป็นผู้จัดสอบวิชาเฉพาะ (ความถนัด) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
[แก้] ขั้นตอนของระบบแอดมิสชันส์
- ทดสอบแบบทดสอบต่าง ๆ ข้างต้น ตามที่แต่ละคณะ/สาขาวิชาได้กำหนดไว้ให้ครบถ้วน
- สมัครเข้าศึกษาและเลือกคณะที่ต้องการศึกษาต่อผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเลือกได้ไม่เกิน 4 อันดับ และนำเงินค่าสมัครไปจ่ายผ่านทางธนาคารหรือที่ทำการไปรษณีย์
- ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะนำคะแนนสอบต่าง ๆ มาคำนวณกับ GPA และ GPAX ให้เป็นคะแนนเต็ม 10,000 เพื่อใช้ตัดสินผลตามอันดับที่เลือกไว้ ซึ่งการคำนวณคะแนนของแต่ละคณะของแต่ละคนก็จะได้ผลคะแนนรวมที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคณะนั้นจะใช้หรือไม่ใช้ GPA/คะแนนสอบ วิชาใดบ้าง และใช้น้ำหนักเท่าใด โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้เป็น 9 กลุ่มสาขาวิชา ได้แก่
-
-
- สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม พลังงาน และทรัพยากร
- สาขาวิศวกรรมศาสตร์
- สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์
- สาขาเกษตรศาสตร์
- สาขาบริหารธุรกิจพาณิชย์ศาสตร์ การบัญชี การจัดการ การท่องเที่ยว และเศรษฐศาสตร์
- สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
- สาขาศิลปกรรมศาสตร์ วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์
- สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
-
- เช่น กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็จะใช้
- - GPAX 10% จากองค์ประกอบในการรับเข้าทั้งหมด
- - GPA กลุ่มสาระภาษาไทย สังคมศึกษาฯ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กลุ่มละ 4% รวม 20% จากองค์ประกอบในการรับเข้าทั้งหมด
- - คะแนน O-NET ทั้ง 5 วิชา วิชาละ 7% รวม 35% จากองค์ประกอบในการรับเข้าทั้งหมด
- - คะแนน A-NET ภาษาอังกฤษ 10% คณิตศาสตร์ 10% และวิทยาศาสตร์ 15 % รวม 35% จากองค์ประกอบในการรับเข้าทั้งหมด เป็นต้น
- 4. สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย
- 5. ประกาศผลการคัดเลือก
[แก้] แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ระเบียบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีการศึกษา 2549
- ntthailand.mymaindata.com (เว็บไซต์สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ)
[แก้] ลิงก์ภายนอก
- กระทรวงศึกษาธิการ
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- กลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สกอ.
- เว็บเอนทรานซ์ของ สกอ.
- สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เป็นบทความเกี่ยวกับ วิชา ความรู้ และศาสตร์ต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |