มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ชื่อ | มหาวิทยาลัยกรุงเทพ |
ชื่อ (อังกฤษ) | Bangkok University (BU) |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2505 |
ประเภทสถาบัน | เอกชน |
อธิการบดี | ดร. ธนู กุลชล |
คำขวัญ | ความรู้คู่ความดี |
ต้นไม้ประจำสถาบัน | ต้นชัยพฤกษ์ |
สีประจำสถาบัน | แสด - ม่วง |
ที่ตั้ง/วิทยาเขต | แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร |
เว็บไซต์ | www.bu.ac.th |
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (ภาษาอังกฤษ: Bangkok University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์สุรัตน์ และอาจารย์ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากสถาบันการศึกษาเอกชนที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการไทยในสมัยเมื่อแรกก่อตั้ง
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพถือกำเนิดขึ้นมาจากการก่อตั้ง "โรงเรียนไทยเทคนิค" ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยอาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (เจ้าของบริษัทในเครือโอสถสภา)โรงเรียนตั้งอยู่ในที่ดินในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระราม 4 (ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของวิทยาเขตกล้วยน้ำไท) ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรังอยู่ แต่เป็นย่านค้าขายของเหล่าบรรดานายห้างต่างชาติรวมถึงท่าเรือสินค้าที่คลองเตยด้วย
ต่อมา มีการเปลี่ยนชื่อสถาบันใหม่เป็น "วิทยาลัยกรุงเทพ" หรือ Bangkok College เนื่องจาก ชื่อเดิมสร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไปที่คิดว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษา การจัดการศึกษาของโรงเรียนในสมัยแรก ๆ ไม่ได้รับการรับรองจากทางราชการไทย เนื่องจากเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญา ผู้บริหารโรงเรียนจึงได้ขอความร่วมมือทางวิชาการจาก มหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสัน (Fairleigh Dickinson University) จากสหรัฐอเมริกา ในการรับรองวิทยฐานะของปริญญา โดยในสมัยนั้นผู้ที่ศึกษาจบการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพจะได้รับปริญญา 2 ใบ คือ จาก วิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยแฟรลีดิกคินสันด้วย
เมื่อวิทยาลัยกรุงเทพเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น การขยายตัวก็มีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ก็มีการเกิดขึ้นของวิทยาลัยเอกชนอีกหลาย ๆ แห่งไม่ว่าจะเป็น วิทยาลัยการค้า วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การแข่งขันของสถาบันการศึกษาเอกชนเริ่มมีมากขึ้น ผู้บริหารจึงมีโครงการที่จะขยายและยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากทางราชการไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2527 วิทยาลัยกรุงเทพจึงได้รับการยกฐานะจากทางราชการไทยให้เป็น "มหาวิทยาลัยกรุงเทพ" ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527
มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขยายตัวนี้นำมาซึ่งการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี ห่างจาก ท่าอากาศยานกรุงเทพ ไปตามถนนพหลโยธิน 14 กิโลเมตร ภายในพื้นที่กว่า 400 ไร่ ซึ่งผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมีความหวังที่จะสร้างวิทยาเขตรังสิตให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศเหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ชานเมือง มีสวน มีต้นไม้ มีทะเลสาป และมีอาคารที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ด้วยความห่างไกลความเจริญของรังสิตในสมัยนั้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพวิทยาเขตรังสิตถูกขนานนามว่าเป็น "กระท่อมปลายนา" จากการเรียกของนักศึกษา แต่ปัจจุบัน กระท่อมปลายนาแห่งนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่มีความทันสมัยและสร้างบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยอยู่มากมายหลายคน
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยกรุงเทพยังคงเปิดดำเนินการอยู่ทั้ง 2 วิทยาเขตทั้งที่กล้วยน้ำไทและรังสิต โดยที่วิทยาเขตกล้วยน้ำไท หรือ City Campus เป็นสถานที่ศึกษาของนักศึกษาในระดับปริญญาโท และเอก นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ และนักศึกษาระดับปริญญาตรีบางคณะ รวมถึงเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย ส่วนวิทยาเขตรังสิต เป็นสถานที่ศึกษาของนักศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ของคณะบัญชี คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งทั้งสองวิทยาเขตแม้จะอยู่ห่างไกลกันแต่มหาวิทยาลัยได้หลอมรวมจิตวิญญาณของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพให้เป็นหนึ่งเดียวไว้อย่างแน่นแฟ้น
[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
[แก้] ตราประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยกรุงเทพใช้ "ตราเพชร" เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาแล้วหลายครั้ง โดยในรูปแบบดั้งเดิมนั้นตรามหาวิทยาลัยถูกเรียกว่า "เพชรในชัยพฤกษ์" ซึ่งเป็นตราที่ประกอบไปด้วยรูปเพชร และล้อมรอบด้วยช่อชัยพฤกษ์ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตรามหาวิทยาลัยใหม่แต่ยังคงเป็นรูปเพชร ซึ่งออกแบบให้มีลักษณะความทันสมัยมากขึ้น และเพิ่มเติมสีสันเพื่อให้สื่อความหมายต่างๆมากขึ้นด้วย
ที่มาของตราเพชรนั้น จริง ๆ แล้วมีที่มาจากการที่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย คือ อาจารย์สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ คำว่า "สุรัตน์ แปลว่า แก้วอันประเสริฐ" ซึ่งก็คือ เพชร นั่นเอง การนำเพชรมาเป็นตรามหาวิทยาลัยจึงเป็นการให้เกียรติและเป็นการระลึกถึงผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้นั่นเอง นอกจากนั้น เพชรยังสื่อความหมายถึง คุณค่าและความแข็งแกร่ง และมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนสถานที่เจียรไนนักศึกษาให้กลายเป็นเพชร ที่มีเกียรติ มีคุณค่า มีความมั่นคงแข็งแกร่ง และเป็นที่ยอมรับในสังคม
[แก้] สีประจำมหาวิทยาลัย
ที่มาของสีสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยนั้น จากหลักฐานและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แต่เดิมมหาวิทยาลัยใช้ "สีเขียวอมฟ้า" เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ดังจะเห็นได้จาก ปกเสื้อครุยของบัณฑิตรุ่นแรก ๆ ที่เป็นสีเขียวอมฟ้า และเพลงมาร์ชของมหาวิทยาลัยที่ยังร้องว่า "ธงเขียวเชิดให้เด่นไกลนานเนาว์" จนมาถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมาใช้ "สีม่วง-สีแสด" เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย โดยการเปลี่ยนแปลงสีประจำมหาวิทยาลัยนั้น เพื่อเป็นเกียรติกับสองบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย เนื่องจากสีม่วงเป็นสีประจำวันเสาร์ และสีแสดเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี
[แก้] ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
ต้นชัยพฤกษ์ เป็นต้นไม้มงคลที่ใช้ในพิธีการมงคลตามความเชื่อของคนไทย นำมาใช้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกต้นชัยพฤกษ์ ณ บริเวณด้านหน้าอาคารฝั่งทิศใต้ ของอาคารหอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นมิ่งขวัญของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ต้นชัยพฤกษ์แห่งมิ่งมงคลนี้จะหยั่งรากลึกลงในหัวใจของชาวมหาวิทยาลัยกรุงเทพสืบต่อไป
[แก้] เพลงประจำมหาวิทยาลัย
เพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ใช้ในพิธีการและโอกาสต่างๆนั้น มีเพลงมาร์ช และเพลงความรู้คู่ความดี เป็นเพลงที่ใช้มาตั้งแต่มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ลักษณะคำร้อง ทำนอง และแนวดนตรีจึงเป็นไปในลักษณะย้อนยุค
[แก้] ปรัชญา
ความรู้คู่ความดี Knowledge with Virtue
[แก้] ปณิธาน
มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพทางด้านวิชาการและทักษะในทางปฏิบัติ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล พร้อมปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีจริยธรรม สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเชื่อมั่นในตนเอง ทั้งยังเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมของนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและการค้นคว้าวิจัยวิทยาการด้านต่าง ๆ อันก่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน ตลอดจนการให้บริการแก่สังคม
[แก้] วิสัยทัศน์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีมาตรฐานทางวิชาการในระดับสากล เป็นศูนย์รวมการวิจัยและการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้คู่ความดีและสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
[แก้] พันธกิจ
- พัฒนาหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนให้มีความหลากหลาย ทันสมัย เป็นสากลและมีการสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พร้อมทั้งเน้นการสอนภาษาสากลอย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้างและพัฒนานักวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัยให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นศูนย์รวมด้านการวิจัย
- พัฒนาปัจจัยเกื้อหนุนต่อกระบวนการเรียนรู้และการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีอื่นๆ พร้อมทั้งกระตุ้นให้คณาจารย์นำมาใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยสามารถแข่งขันได้
- ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคธุรกิจและชุมชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
- ขยายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาและองค์การชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน
- สืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย
[แก้] หน่วยงาน
[แก้] คณะวิชา
|
|
[แก้] สถาบัน/ศูนย์และหน่วยงานในมหาวิทยาลัย
[แก้] วิทยาเขต
มหาวิทยาลัยกรุงเทพเปิดดำเนินการสอนใน 2 วิทยาเขต ได้แก่
- วิทยาเขตกล้วยน้ำไท
- ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 119 ซอยสุขุมวิท 40 (ซอยบ้านกล้วยใต้) แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 25 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4 ภาคปกติ นักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติทุกชั้นปี นักศึกษาปริญญาโทและเอก และนักศึกษาภาคพิเศษ สถานที่ทำการของสำนักงานอธิการบดี วิทยาลัยนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัย คณะวิชาต่างๆ ห้องปฏิบัติการ ห้องเรียน ห้องสัมมนา สำนักหอสมุด ศูนย์คอมพิวเตอร์ศูนย์กีฬาในร่มและหน่วยงานบริการอื่นๆ
- วิทยาเขตรังสิต
- ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 9/1 หมู่ 5 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ห่างจากท่าอากาศยานกรุงเทพไปทางทิศเหนือประมาณ 14 กิโลเมตร มีพื้นที่ 441 ไร่ 1งาน 67 ตารางวา เป็นสถานที่ดำเนินการสอนนักศึกษาภาคปกติ ชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 และสถานที่ตั้งของสนามกีฬา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และพิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเครื่องถ้วยโบราณที่สำคัญและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 ทั้งระบบ
[แก้] ลัดเลาะรั้วชัยพฤกษ์
- ประเพณีปฏิบัติของการไหว้"หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย คือ "ห้ามไหว้หลวงพ่อจากทางด้านหลัง"
- มีเรื่องเล่าเรื่องศาลพระภูมิล่องหนที่หอแกรนด์ หอพักหน้ามหาวิทยาลัยว่า นักศึกษาหลายคนเคยเห็นศาลพระภูมิตั้งอยู่ แต่ในความเป็นจริง มันไม่มี
- มีความเชื่อที่ว่า "ใครรู้ว่าในสระน้ำของมหาวิทยาลัยมีเป็ดกี่ตัว คนนั้นจะเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยตามจำนวนปีเท่ากับจำนวนเป็ด"
- นักศึกษา 99% ของมหาวิทยาลัยร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัยไม่ได้
- นักศึกษาภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์จะเรีกอาจารย์ผู้สอนว่า "ครู"
- สวนริมทะเลสาปด้านหลังมหาวิทยาลัยถูกเรีกว่า "สวนเทเลทับบี้"
- โรงละคร Black box Theatre ไม่ได้มีสีดำเหมือนชื่อ แต่มันคือสีม่วง
- รถบริการภายในมหาวิทยาลัย เรียกว่า รถซาฟารี
- สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อยู่คู่วิทยาเขตรังสิตมายาวนานคือ กลิ่นเหม็นของโรงงานบดกระดูกข้างมหาวิทยาลัย
- มีความเชื่อว่า ถ้าเราแอบเอาเหรียญไปใส่ไว้ในถุงปกเสื้อครุยของรุ่นพี่ เราจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้แน่ๆ
- มาสคอตประจำมหาวิทยาลัยคือ ตัวเงินตัวทอง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เคยมีมากมายในมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันพวกมันหายไปจากมหาวิทยาลัยหมดแล้ว เนื่องจากถูกจับเพราะสร้างความรำคาญและเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย
- บ่อน้ำพุ ใต้ทางเชื่อมหอประชุม กับตึก 3เรียก ลานน้ำล้น หรือ ลานอาบน้ำช้าง
[แก้] บุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- สรยุทธ สุทัศนะจินดา
- แอน ทองประสม
- แทมมารีน ธนสุกาญจน์
- ดนัย อุดมโชค
- มีสุข แจ้งมีสุข
- ภาณุเดช วัฒนสุชาติ
- อรนภา กฤษฎี
- ศศินา วิมุตานนท์
- สิรินยา เบอร์บริดจ์
- ศรีริต้า เจนเซ่น
- มาริสา อานิต้า ฟาวเวอร์ราวเดอะ
[แก้] ดูเพิ่ม
- สโมสรฟุตบอลมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- หอสมุดสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์
- อาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์
- พิพิธภัณฑสถานเครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย แก้ | |||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|