ซอฟต์แวร์เสรี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซอฟต์แวร์เสรี (free software) หมายถึงซอฟต์แวร์ที่สามารถนำไปใช้ แก้ไข ดัดแปลง พัฒนา และจำหน่ายแจกจ่ายได้โดยเสรี โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ตามคำนิยามขององค์กร มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation) ในบางครั้งซอฟต์แวร์เสรีจะถูกกล่าวถึงในชื่ออื่น ๆ เช่น libre software, FLOSS หรือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส
ในทางปฏิบัติ ซอฟต์แวร์เสรี และ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มีลักษณะร่วมที่คล้ายกัน แต่แตกต่างกันโดยแนวความคิดของกลุ่ม โดยซอฟต์แวร์เสรีเน้นในแนวทางของสังคมที่ต้องการให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดที่ลิขสิทธิ์ ในขณะที่ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีแนวความคิดในการเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนซอร์สโค้ดได้อิสระซึ่งเป็นแนวคิดทางด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามซอฟต์แวร์เสรีทุกตัวถูกจัดให้เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเสมอ อย่างไรก็ตามเคยมีกรณีที่มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรีไม่ยอมรับ Apple Public Source License รุ่นแรกให้อยู่อยู่ในรายการสัญญาอนุญาตแบบเสรี แต่ Open Source Initiative ยอมรับว่าสัญญาอนุญาตดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตแบบโอเพนซอร์ส โดยเนื้อหาใน Apple Public Source License รุ่นแรกกำหนดให้การปรับปรุงแก้ไขที่เป็นส่วนตัวจะต้องเผยแพร่ patch ออกสู่สาธารณะและรายงานให้ Apple ทราบทุกครั้ง ซึ่งทางมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรีมองว่าเป็นการไม่เคารพความเป็นส่วนตัวและจำกัดเสรีภาพในการแก้ไขซอฟต์แวร์[1].
นอกจากนี้มีการสับสนระหว่าง ฟรีแวร์ที่มีลักษณะนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่รวมถึงการนำไปดัดแปลงแก้ไข ซึ่งแตกต่างกับซอฟต์แวร์เสรีที่สามารถนำไปใช้รวมทั้งดัดแปลงแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์
[แก้] แนวคิดพื้นฐานของซอฟต์แวร์เสรี
ซอฟต์แวร์เสรีเป็นกระบวนทัศน์ที่มีแรงผลักดันมาจากแนวคิดทางการเมือง ที่ต้องการส่งเสริมเสรีภาพของการใช้ซอฟต์แวร์เป็นสาระสำคัญ โดยมีการกำหนดลักษณะเฉพาะของซอฟต์แวร์เสรีขึ้นใช้ร่วมกันสี่ประการคือ
- เสรีภาพในการใช้งานซอฟต์แวร์ตามความต้องการ
- เสรีภาพที่จะศึกษาการทำงานของโปรแกรมผ่านซอร์สโค้ด และนำไปใช้ตามความต้องการ
- เสรีภาพที่จะจำหน่ายจ่ายแจกซอฟต์แวร์นั้นต่อไป
- เสรีภาพในการดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงจำหน่ายจ่ายแจกซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนาแก้ไขและดัดแปลงเพิ่มเติมนั้น
แม้ว่าเราจะสามารถขายหรือแจกจ่ายซอฟต์แวร์เสรีได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข แต่ซอฟต์แวร์เสรีก็ยังคงเป็นซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ มีข้อบังคับตามสัญญาเช่นเดียวกับซอฟต์แวร์ทั่ว ๆ ไป ซอฟต์แวร์เสรีจึงมีรูปแบบของสัญญาอนุญาตหลายรูปแบบ ซึ่งมีเงื่อนไขต่าง ๆ กันไป อย่างไรก็ตามก็ยังมีจุดยืนร่วมกันคือเสรีภาพสี่ประการข้างต้น
[แก้] ความเป็นมาโดยย่อของซอฟต์แวร์เสรี
แนวคิดซอฟต์แวร์เสรีเกิดขึ้นใน MIT เมื่อสิบกว่าปีก่อน โดย ดร. ริชาร์ด สตอลแมน ซึ่งมีปัญหากับระบบซอฟต์แวร์ ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ และต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแก้ปัญหา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์และ การไม่มี source code ของซอฟต์แวร์ ดร.สตอลแมนจึงเริ่มพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ทั้งหมดขึ้นใหม่ และกลาย เป็นรากฐานที่สำคัญของระบบปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกตัวหนึ่งคือ GNU/Linux
ดูเพิ่มเติมที่ โครงการกนู GPL และ GFDL
ซอฟต์แวร์เสรี เป็นบทความเกี่ยวกับ ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |