แฮร์รี่ พอตเตอร์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละคร ดูรายละเอียดในแฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร)
แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือชื่ออย่างไม่เป็นทางการของชุดนวนิยายแฟนตาซี ประพันธ์โดย เจ. เค. โรว์ลิ่ง ตั้งชื่อตามตัวเอกของเรื่อง แฮร์รี่ เจมส์ พอตเตอร์ โดยหนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (ในอังกฤษใช้ชื่อว่า Harry Potter and the Philosopher's Stone ในสหรัฐฯ ใช้ชื่อว่า Harry Potter and the Sorcerer's Stone) วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2540 และฉบับภาษาไทยในปี พ.ศ. 2543
หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นไม่เหมือนกับหนังสือเด็กอื่นๆ ยอดขายทั่วโลกนั้นเกิน 275 ล้านเล่ม หนังสือชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรักการอ่าน ขณะเดียวกันมีบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์มากมาย ภาพยนตร์ชุดนี้กำลังถ่ายทำออกมาเรื่อยๆเช่นกัน โดยมีเนื้อเรื่องมาจากหนังสือ
วรรณกรรมชุดนี้มีผู้ผลิตหลายสำนักพิมพ์ด้วยกันซึ่งสามารถแยกแยะออกได้โดยง่ายโดยสังเกตจากหน้าปกที่ต่างกันได้แก่สำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ (รับผิดชอบพิมพ์จำหน่ายในเขตภาคพื้นสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพอังกฤษเป็นหลัก, สำนักพิมพ์สกอลาสติก (รับผิดชอบในสหรัฐอเมริกาและประเทศพูดภาษาอังกฤษอื่นๆ เป็นหลัก) สำนักพิมพ์เรนโคสต์บุ๊คส์ (แคนาดา) รวมถึงสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อทำการแปลเช่นในญี่ปุ่น เยอรมัน จีนรวมถึงไทย โดยมีสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์เป็นผู้วางจำหน่ายฉบับภาษาไทย
สารบัญ |
[แก้] แนะนำเรื่อง
แม้ว่าเจ.เค. โรว์ลิ่งจะไม่ได้เจาะจงอายุที่เหมาะแก่การอ่านในตอนที่เธอเริ่มเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์ต้นสังกัดของเธอ (บลูมส์บิวรี่) ตั้งใจไว้ว่าวรรณกรรมดังกล่าวมุ่งเป้าหมายไปยังผู้อ่านวัยเด็ก ตั้งแต่ประมาณ 9-15 ปี อย่างไรก็ตามทีหนังสือของเธอก็ได้รับการตอบรับจากทุกเพศทุกวัย, และทำให้สำนักพิมพ์ต้นสังกัดผลิตหน้าปกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ออกมาสองแบบ แบบที่หนึ่งคือหน้าปกต้นฉบับของเด็ก และอีกแบบคือหน้าปกที่มีรายละเอียดดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น (เช่นแทนรูปวาดด้วยภาพถ่าย) แต่ต่อมาเมื่อนวนิยายมีเนื้อเรื่องพัฒนาขึ้น และลักษณะการแต่งของโรว์ลิ่งก็ซับซ้อนมากขึ้น ในขณะเดียวกันตัวละครในเรื่องก็เริ่มที่จะโตขึ้น ซึ่งทำให้เนื้อเรื่องดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย และทำให้เนื้อเรื่องรองว่าด้วยความรักและความสัมพันธ์ของวัยรุ่นเพิ่มเข้ามา สรุปโดยง่ายคือในทุกๆ เล่มที่อ่านไป ในแต่ละเล่มเนื้อเรื่องทั้งหมดจะมากขึ้นและสำคัญขึ้นตามที่เรื่องดำเนินไป
หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกถูกตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรโดยสำนักพิมพ์อิสระเล็กๆ ชื่อว่าสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ความสำเร็จเริ่มแรกของมันมีส่วนมาจากคำวิจารณ์ในแนวบวกและการเล่าแบบปากต่อปากซึ่งทำให้วรรณกรรมชุดนี้โด่งดัง และหนังสือในชุด 3 เล่มแรกล้วนได้รับรางวัล Nestlè Smarties Book Prize ได้แก่แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์, แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ และแฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันตามลำดับ สำหรับกลุ่มหนังสือประเภท 9-11 ปี ต่อมาเมื่อหนังสือเล่มที่ 4 (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี) ในชุดออกวางจำหน่ายใน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) วรรณกรรมชุดนี้ได้รับคำชมจากหลายสำนักวิจารณ์และเป็นที่โด่งดังมากทั่วโลก และได้รับการเผยแพร่ข่าวโดยสื่อมวลชนธรรมดา (เช่น Reuters, AP) ซึ่งไม่ค่อยปกตินักสำหรับหนังสือออกใหม่ที่จะได้ลงเป็นข่าวใหญ่ ในขณะเดียวกันวอร์เนอร์ บราเธอร์สก็เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์หลายภาคออกมาโดยมีโครงส่วนใหญ่มาจากหนังสือ โดยการที่สื่อหลายรูปแบบได้เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์มีคุณค่าสูงจนยกระดับตัวเองเป็นแฟรนไชส์ในที่สุด และภาพยนตร์เรื่องแรกซึ่งสร้างตามโครงเรื่องในหนังสือเล่มแรกก็เปิดฉายใน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ซึ่งออกมาพร้อมกับวีดีโอเกมและสินค้าที่เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์หลายยี่ห้อด้วยกัน
ความนิยมในหนังสือชุดนี้ยังคงพุ่งสูงขึ้นไปเมื่อหนังสือเล่มที่ห้าและหกออกวางจำหน่าย (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์และแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม) ด้วยการวางจำหน่ายในเวลาเที่ยงคืนตามร้านหนังสือชื่อดังต่างๆ ทั่วเกาะบริเตนใหญ่ (รวมถึงในประเทศไทย ที่ร้านขายหนังสือและเครื่องเขียน B2S สาขาสีลมที่เปิดให้หนังสือกับผู้ที่จองหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่หกฉบับภาษาอังกฤษ ในเวลา 5.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) รวมถึงงานเปิดตัวหนังสือยิ่งใหญ่ตามประเทศที่ประชากรพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักทั่วโลก และความสนใจอย่างยิ่งยวดจากสื่อมวลชน ทำให้เพียงแค่ในวันแรก ยอดขายหนังสือก็พุ่งทะลุยอดที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วทั้งในสหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ รวมถึงที่อื่นๆ วรรณกรรมชุดนี้ได้รับการแปลเป็นหลายสิบภาษาทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกระหายและอยากอ่านของผู้อ่านทั่วโลกแม้แต่ในฝรั่งเศสที่ภาคีนกฟีนิกซ์ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเพียงเล่มเดียวที่สามารถติดอันดับที่หนึ่งของยอดหนังสือขายดีในฝรั่งเศสได้
ตามที่ผู้แต่ง เจ.เค. โรว์ลิ่ง กล่าวไว้ เธอเล่าว่าเรื่องทั้งหมดนั้นปรากฎขึ้นบนหัวเธอในขณะที่เธออยู่ในรถไฟที่กำลังเดินทางจากแมนเชสเตอร์ไปยังกรุงลอนดอนใน พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) สถานที่ที่เธอชอบไปแต่งหนังสือเล่มแรกคือร้านกาแฟแบบตั้งโต๊ะในเอดินเบอระ ซึ่งเป็นที่ๆ เธอสามารถดื่มกาแฟได้หลายแก้วไม่รู้จักเบื่อ ยอดขายจากหนังสือ รวมถึงผลพลอยได้จากภาพยนตร์และสินค้าทำให้โรว์ลิ่งติดอันดับที่ 620 ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกโดยนิตยสารฟอร์บส ซึ่งทำให้เธอมีรายได้มากกว่าสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2เสียอีก
ในหนังสือแต่ละเล่มแสดงถึงหนึ่งปีของชีวิตแฮร์รี่ในโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ที่ๆ เขาเรียนการใช้เวทมนตร์และการปรุงยา แฮร์รี่ยังเรียนรู้วิธีที่จะพิชิตอุปสรรคนานับประการทั้งทางเวทมนตร์, สังคมและอารมณ์ในขณะที่เติบโตผ่านวัยเด็กและก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
โรว์ลิ่งเปิดเผยว่าจะมีหนังสือทั้งหมดเจ็ดเล่มที่เธอจะแต่งแน่นอน โดยแต่ละเล่มนั้นมีเนื้อหาที่ลึกลับและเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเล่มที่แล้ว เมื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์ และอริของเขาลอร์ดโวลเดอมอร์มีอำนาจมากขึ้น โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา มีหนังสือในชุดวางจำหน่ายไปแล้วหกเล่ม ซึ่งก็คือเล่มล่าสุดหรือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ที่วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษทั่วโลกในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 โดยตั้งแต่การตีพิมพ์และวางจำหน่ายของหนังสือเล่มที่ห้าเป็นต้นมา ผู้แต่งก็เริ่มเผยคำใบ้ต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ของเธอ
เรื่องราวในหนังสือถูกแต่งโดยใช้วิธีการเล่าจากบุคคลที่สามในมุมมองที่จำกัด และในเมื่อแฮร์รี่เป็นตัวละครเอกของเรื่อง จึงทำให้ทัศนคติส่วนใหญ่ในหนังสือออกมาจากมุมมองของแฮร์รี่เอง, ด้วยข้อยกเว้นเล็กน้อยในศิลาอาถรรพ์, ถ้วยอัคนีและเจ้าชายเลือดผสม การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของแฮร์รี่นั้นอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านเข้าถึงความรู้สึกและธาตุแท้ของตัวละครนั้นๆ
จุดเด่นในการแต่งเรื่องของโรว์ลิ่งคือความสามารถในการสร้างโครงเรื่องที่ซับซ้อนและปะติดปะต่อเรื่องราวได้อย่างแนบเนียนผ่านมุมมองที่มีรายละเอียดใหญ่โต เหตุผลและความเป็นมาเป็นไปของโครงเรื่องแต่ละตอนล้วนฟังดูสมเหตุสมผลและเป็นไปได้ รวมถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่อาจลอกเลียนแบบได้ของเธอในการแต่ง โดยที่มีวัยรุ่นสามคนเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง (ได้แก่แฮร์รี่และเพื่อนของเขาคือรอน วีสลีย์และเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์)ถูกนำเสนออย่างละเอียด ตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่หลักๆ นั้นเป็นส่วนสำคัญต่อโครงเรื่อง ส่วนตัวละครรองนั้นได้ถูกนำเสนออย่างชัดเจนและน่าจดจำ หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังประกอบไปด้วยอารมณ์ขันและมุขตลกมากมาย แม้ว่าแนวการบรรยายของเธอจะไม่โดดเด่นนัก แต่เนื้อเรื่องของเธอก็ยังมีเนื้อในที่น่าสนใจพอ ซึ่งมักจะเกี่ยวกับข้อคิดที่ท้าทายจริยธรรมในหลายๆ ฉากของเรื่อง ก็มักจะเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายธรรมะกับอธรรม โดยแบ่งแยกเป็นขาวกับดำค่อนข้างชัดเจน และเมื่อเรื่องดำเนินไป ตัวละครหลายตัวก็จะต้องเลือกระหว่างการทำสิ่งที่ถูกต้องและการทำสิ่งที่ง่าย (เป็นโครงหลักของชุด) และบางครั้ง "ภาวะสีเทา" ทางจริยธรรมก็ถูกนำเสนอเช่นกัน
โรว์ลิ่งสื่อความคิดการเหยียดเผ่าพันธุ์, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการเลือกที่รักมักที่ชังให้เข้ามาอยู่ในวรรณกรรมของเธอได้ผ่านตัวละครโวลเดอมอร์และลูกสมุนผู้เสพความตายของเขา แนวคิดเหล่านี้เป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าล้วนมาจากธรรมชาติและด้านมืดของมนุษย์อย่างชัดเจน แต่ก็มีเพียงน้อยครั้ง ที่จะพบความสัมพันธ์ระหว่างประชากรผู้วิเศษกับประชากรไร้เวทมนตร์ (หรือ "มักเกิ้ล")
วรรณกรรมชุดนี้ได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของนักเขียนท่านอื่นที่เป็นที่รู้จักกันดีรวมถึงท่องแดนนาร์เนีย (The Chronicles of Narnia) ของซี.เอส. ลิวอิส (C.S. Lewis) และลอร์ดออฟเดอะริงส์ (The Lord of the Rings) ของเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน หนังสือชุดนี้ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนประจำซึ่งเป็นแนววรรณกรรมทั่วไปในอังกฤษ และยังมีภูมิหลังของตัวละครหลักที่อาจสร้างตามแม่พิมพ์ของตัวละครหลักในนิทานทั่วโลก ซึ่งก็คือตัวเอกเป็นวีรบุรุษที่ถูกลิขิตชะตาไว้แล้ว โดยถูกแยกออกจากพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นทารก และโตขึ้นมาในสังคมธรรมดา จนกระทั่งเขามีอายุที่เหมาะสมจึงได้รับมอบหมายให้ทำตามที่ชะตาลิขิตไว้ (สันนิษฐานกันว่าภูมิเรื่องแบบนี้มาจากตำนานของโออิดิปุส) แม้แต่ผู้อ่านที่ไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมอื่น ก็คุ้นกับโครงเรื่องเช่นนี้ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์สและซุปเปอร์แมน
วัตถุบางชิ้นในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังได้ถูกนำมาผลิตและวางจำหน่ายจริงๆ อีกด้วยเช่นเยลลี่เม็ดทุกรสของเบอร์ตี้ บอตต์ (Bertie Bott's Every Flavour Beans) ซึ่งยังคงลักษณะเดียวกันกับโลกแฮร์รี่ พอตเตอร์ ด้วยการจำลองรสทุกรสที่เป็นไปได้ตั้งแต่ส้มไปจนถึงรสหญ้า และลายถักนิตเพื่อให้ผู้ซื้อจำลองเสื้อผ้าแบบในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้
[แก้] ผลงานในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์
[แก้] หนังสือ
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (en:Harry Potter and the Philosopher's Stone)
- เวลาตามท้องเรื่อง ค.ศ. 1991–ค.ศ. 1992
- หนังสือวางจำหน่าย 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997
- ภาพยนตร์ออกฉาย 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001
- หมายเหตุ : ในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อว่า Harry Potter and the Sorcerer's Stone
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (en:Harry Potter and the Chamber of Secrets)
- เวลาตามท้องเรื่อง ค.ศ. 1992–ค.ศ. 1993
- หนังสือวางจำหน่าย ค.ศ. 1998
- ภาพยนตร์ออกฉาย 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (en:Harry Potter and the Prisoner of Azkaban)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี (en:Harry Potter and the Goblet of Fire)
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (en:Harry Potter and the Order of the Phoenix)
- เวลาตามท้องเรื่อง ค.ศ. 1995–ค.ศ. 1996
- หนังสือวางจำหน่าย 21 มิถุนายน ค.ศ. 2003
- ภาพยนตร์กำหนดออกฉาย13 กรกฎาคม ค.ศ. 2007
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (en:Harry Potter and the Half-Blood Prince)
- เวลาตามท้องเรื่อง ค.ศ. 1996–ค.ศ. 1997
- หนังสือวางจำหน่าย 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005
- ข้อมูลเพิ่มเติม: รายชื่อหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ในภาษาอื่นๆ and สารานุกรมในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์
[แก้] ภาพยนตร์
ข้อมูลเพิ่มเติม: นักแสดงในแฮร์รี่ พอตเตอร์
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
- วันออกฉาย: 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
- กำกับโดย: คริส โคลัมบัส
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
- วันออกฉาย: 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
- กำกับโดย: คริส โคลัมบัส
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
- วันออกฉาย: สหราชอาณาจักร: 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547, สหรัฐอเมริกา: 4 กรกฎาคม
- กำกับโดย: อัลฟองโซ คัวรอน
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี
- วันออกฉาย: พ.ศ. 2548; ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย: 16 พฤศจิกายน; สิงคโปร์, มาเลเซีย, สวีเดน, ไทย : 17 พฤศจิกายน; สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และชาติอื่นๆ: 18 พฤศจิกายน; ออสเตรเลีย: 1 ธันวาคม; ฮ่องกง: 22 ธันวาคม; รัสเซีย: 23 ธันวาคม
- กำกับโดย: ไมค์ นิวเวลล์
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์
- วันออกฉาย: 13 กรกฎาคมพ.ศ. 2550
- กำกับโดย: เดวิด เยตส์
- แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม
- วันออกฉาย: ยังไม่มีข้อมูล
- กำกับโดย: ยังไม่มีข้อมูล
- แฮร์รี่ พอตเตอร์ 7 (ยังไม่ทราบชื่อ)
- วันออกฉาย: ยังไม่มีข้อมูล
- กำกับโดย: ยังไม่มีข้อมูล
[แก้] เกร็ดความรู้
- สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชุดนี้ ใช้ตึกซึ่งมีอายุไปถึงสมัยกลางของยุโรปของวิทยาลัยไคร์สเชิร์ช (Christ Church College) ของ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถานที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยเข้าศึกษาวิชากฎหมายและประวัติศาสตร์เป็นหลัก
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ:
- เว็บไซต์ส่วนตัวของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง (ภาษาอังกฤษ)
- เว็บไซต์ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างเป็นทางการของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (ภาษาอังกฤษ)
- เว็บไซต์ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างเป็นทางการของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (ภาษาไทย)
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทย
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาอังกฤษทั่วโลกนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (ภาษาอังกฤษ)
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์สกอลาสติก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา (ภาษาอังกฤษ)
เว็บไซต์ของแฟนหนังสือ / แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์อื่นๆ: