องศาเซลเซียส
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แปลงจาก | ไปเป็น | สูตร |
---|---|---|
องศาเซลเซียส | เคลวิน | K = °C + 273.15 |
เคลวิน | องศาเซลเซียส | °C = K - 273.15 |
องศาเซลเซียส | องศาฟาเรนไฮต์ | °F = °C × 1.8 + 32 |
องศาฟาเรนไฮต์ | องศาเซลเซียส | °C = (°F – 32) / 1.8 |
องศาเซลเซียส (อังกฤษ degree Celsius, สัญลักษณ์ °C) เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิหน่วยหนึ่งในระบบเอสไอ กำหนดให้จุดเยือกแข็งของน้ำคือ 0 °C และจุดเดือดคือ 100 °C
[แก้] นิยาม
นิยามขององศาเซลเซียสนิยามจากหน่วยเคลวิน โดยที่ขนาดของสเกลหน่วยองศาเซลเซียสจะเท่ากับของเคลวิน กำหนดให้อุณหภูมิที่จุดศูนย์องศาสัมบูรณ์มีค่าเท่ากับ -273.15 °C
[แก้] ที่มา
หน่วยนี้ตั้งตามชื่อของนาย แอนเดอร์ เซลเซียส (Anders Celsius มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1701 ถึง 1744) นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดน เขาเป็นคนแรกที่เสนอระบบที่ใกล้เคียงกับระบบนี้ในปี พ.ศ. 2285 (ค.ศ. 1742)
[แก้] คำอธิบายเพิ่มเติม
สเกลวัดอุณหภูมิที่คิดค้นโดย แอนเดอร์ เซลเซียส แต่แรกกำหนดให้อุณหภูมิจุดเยือกแข็งของน้ำคือ 0 องศา และจุดเดือดของน้ำคือ 100 องศาที่ระดับความดันบรรยากาศมาตรฐาน แต่ได้มีการสลับสเกลต่อมาหลังจากที่เซลเซียสเสียชีวิตไประยะหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2491 หน่วยนี้มีชื่อเรียกต่างกันสามแบบ ได้แก่
- เซนติเกรด (centigrade)
- องศาเซนเทสซิมัล (centesimal degree)
- องศาเซลเซียส
แต่นับจากนั้นมา ชื่อที่ถูกเลือกเป็นทางการคือ องศาเซลเซียส จากการประชุม General Conference on Weights and Measures ครั้งที่ 9 โดยมีจุดประสงค์เพื่อระลึกถึงเซสเซียส และเป็นการตัดปัญหาความสับสนที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คำนำหน้า centi- กับระบบเอสไอ และจากการที่นิยามเดิมไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นมาตรฐานอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอุณหภูมิขึ้นกับนิยามของความดันบรรยากาศมาตรฐาน ซึ่งความดันบรรยากาศมาตรฐานนี้ก็ขึ้นกับอุณหภูมิอีกทีหนึ่ง จึงกำหนดนิยามใหม่ให้อุณหภูมิ 0.01 °C ตรงกับจุดสามสถานะ (triple point) ของน้ำ และให้สเกลหนึ่งองศามีค่าเป็น 1/273.16 เท่าของผลต่างระหว่างอุณหภูมิที่จุดสามสถานะของน้ำกับจุดศูนย์องศาสัมบูรณ์ นิยามนี้ได้รับการยอมรับในการประชุม General Conference on Weights and Measures ครั้งที่ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2497
ปัจจุบันองศาเซลเซียสใช้กับแพร่หลายทั่วโลกในชีวิตประจำวัน จะยกเว้นก็มีสหรัฐอเมริกาและประเทศจาไมกาเท่านั้นที่นิยมใช้หน่วยองศาฟาเรนไฮต์ แต่ในประเทศดังกล่าว องศาเซลเซียสและเคลวินก็ใช้มากในด้านวิทยาศาสตร์
เซลเซียส | ฟาเรนไฮต์ | เคลวิน | |||
เดลิเซิล | เลย์เดน | นิวตัน | แรงคิน | โรเมอร์ | เรอเมอร์ |
สูตรการแปลงอุณหภูมิ |