สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค – พ.ศ. 2351 – พ.ศ. 2425) ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทบทาสำคัญในการเมืองการปกครองของไทยนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้มีส่วนร่วมในการอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 อัญเชิญวชิรญาณภิกขุขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจเด็จขาดเป็นเวลา 5 ปี ในต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2416 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีชีวิตยืนยาวถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่การเกิดในปลายรัชกาลที่ 1 – และถึงแก่พิราลัยในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 โดยมีอายุยืนยาวถึง 75 ปี
สารบัญ |
[แก้] กำเนิด การศึกษาและชีวิตในวัยเยาว์ (รัชกาลที่ 1-2)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ มีนามเดิมว่า “ช่วง” เป็นชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ) กับท่านผู้หญิงจันทร์ เกิดปีมะโรง วันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 ในวัยเด็กได้รับการศึกษาจากบ้านและวัดจนถึงวัยรุ่น บิดาจึงนำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ชื่อว่า “มหาดเล็กช่วง” ช่วยบิดาทำงานด้านการคลังและกรมท่า
[แก้] ชีวิตราชการในสมัยรัชกาลที่ 3
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มหาดเล็กช่วงได้เลื่อนเป็นนายไชยขรรค์มหาดเล็กหุ้มแพร และหลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็กตามลำดับ หลวงสิทธิ์ นายเวรได้ชื่อว่าเป็นพวก “หัวใหม่” ในสมัยนั้น เป็นผู้สนใจศึกษาวิชาการของชาวตะวันตก เนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้าภาคตะวันออกและประชิดเขตแดนสยามมากขึ้น หากไม่ปรับตัวให้รู้เท่าทันฝรั่ง สยามอาจถูกยึดครองเป็นอาณานิคม
ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีผู้เล็งเห็นการณ์ไกลในแนวเดียวกันได้แก่ วชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4 ) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนอิศเรศรังรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กรมหลวงศาธิราชสนิทและเทียนวรรณ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ หลวงสิทธิ์ นายเวร ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นลำดับคือ จหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็กและพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กในปลายรัชกาล
[แก้] การรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 4
หลังจากบิดาได้รับการเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าได้ทรงตั้ง พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหกลาโหม ทำให้ท่านมีบทบาทสำคัญในการปกครองแระเทศมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงแก่พิราลัยและสวรรคตตามลำดับ อำนาจมีมากจนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า
- “ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นเสมือนแม่ทัพแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็เป็นเสมือนเสนาธิการ ช่วยกันทำงานมาตลอดรัชกาลที่ 4”
[แก้] การรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้รับเลือกจากที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศสนุวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 เมื่อพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
[แก้] สรุปลำดับการเลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งราชการ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุได้ 16 ปี โดยบิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หลังจากนั้นก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และตำแหน่งราชการจากสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 5 มาเป็นลำดับดังนี้
- พ.ศ. 2369 อายุได้ 18 ปี เป็นนายไชยขรรค์ มหาดเล็กหุ้มแพร
- พ.ศ. 2376 อายุได้ 25 ปี เป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรมหาดเล็ก ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า หลวงนายสิทธิ์
- พ.ศ. 2384 อายุได้ 33 ปี เป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ต่อมา
- พ.ศ. 2385 อายุได้ 34 ปี รัชกาลที่ 3 ทรงเพิ่มสร้อยนามพระราชทานว่า “จมื่นไวยวรนาถ ภักดีศรีสุริยวงศ์”
- พ.ศ. 2393 อายุได้ 42 ปี เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ วางจางมหาดเล็ก
- พ.ศ. 2394 อายุได้ 43 ปี เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันพงศพิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหพระกลาโหม
- พ.ศ. 2398 อายุได้ 47 ปี เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหมเต็มตำแหน่ง
- พ.ศ. 2412 อายุได้ 61 ปี เพิ่มยศเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
- พ.ศ. 2416 อายุได้ 65 ปี เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินผู้มีสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร
[แก้] บั้นปลายชีวิต
หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ และ”ด้รับการโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยา ดังกล่าวแล้ว ท่านก็มิได้ทำหน้าที่สำคัญอีก แต่ชอบออกไปตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ และพำนักอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่นับเป็นเวลา 9 ปี หลังพ้นหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ และได้ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2425 เมื่ออายุได้ 75 ปี นับว่าท่านเป็นผู้มีสุขภาพดีและมีอายุยืนพอควร
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันถึงแก่พิราลัยไว้ดังต่อไปนี้:-
- “วันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1244 เวลาย่ำรุ่ง ท้าวราชกิจวรภัตร เข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สมเด็จเจ้าพระยาเมื่อป่วยหนักออกไปอยู่ที่ราชบุรีแล้ว ครั้งเมื่อจะไปฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ที่มะขามเตี้ยไปถึงกลอนโต ขึ้นไปเก็บมะขามป้อมบนบก หามไปกลางแดดเวลาเที่ยง ไม่ให้ไปก็ไม่ฟัง ครั้งไปถึงต้นมะขามป้อมก็ไปนอนหลับตาซึมอยู่ กลับมาถึงเรือตัวร้อนอาการมาก จึงปรึกษาพร้อมกัน เอากลับมาเรือนราชบุรี มานอนท่าพระแท่นดงรังครึ่งคืน แล้วล่องลงมาถึงเมืองราชบุรี เวลาบ่ายโมงเศษหามขึ้นบก พอถึงต้นมะขามหน้าบ้านก็เป็นลมคอพับ จึงหามเข้าไปแก้ไขกันอยู่ในเรือน เวลานั้นลมก็จัดเอาลับแลเข้าบังไว้ ครั้งเจ้าพระยาสุรวงศ์และญาติ ซึ่งตามมาภายหลังมาถึง จึงพร้อมกันพาท่านลงเรือมาเวลาบ่าย 5 โมงเศษวานนี้ เรือไฟจูงมาพ้นคลองดำเนินสะดวกมาแล้ว จะเข้าคลองภาษีเจริญติดน้ำ ๆ แห้ง จึงไปรอน้ำอยู่ปากคลองกระทุ่มแบน ถึงปากคลองเวลา 5 ทุ่มเศษ ชักเยื้องไหล่หน่อยหนึ่ง ก็ถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่นแบนนั้น ครั้งน้ำขึ้นจึงรีบเอาศพเข้ามาถึงจวนเวลากรู่ ๆ
- "....ครั้นเวลาเที่ยงเศษ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 5) ทรงเครื่องดำเสด็จออกรอกกระบวนเสด็จอยู่ แต่โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายในโปรดน้ำเสียก่อน ครั้นเวลาบ่ายโมงเศษเสด็จทรงพระราชยานไปประทับท่าราชวรดิษฐ์ เสด็จลงทรงเรือพระที่นั่งกราบไปประทับสะพานหน้าบ้านเจ้าพระยาภานุวงศ์ เสด็จขึ้นทรงพระราชยานไปประทับตึกใหม่หลังบ้าน ประทับตรัสกับเจ้าพระยาสุรวงศ์ครู่หนึ่ง เสด็จเข้าไปห้องในซึ่งตั้งเตียงคลุมศพท่านไว้นั้น ทรงรดน้ำพระราชทาน และพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้ารดแล้ว แต่งศพตามอย่างธรรมเนียมของท่านเองมีเสื้อตาดตัว 1 ซ้อนชั้นในเสื้อครุยตัว 1 แล้วโปรดให้เจ้าพระยาสุรวงศ์หวีศีรษะ ห่อศพลงโกศลองในของท่านสั่งมาเตรียมไว้ ทรงสวมชฎาพระราชทาน แล้วเสด็จไปประทับ ณ หอหน้าบ้าน ยกโกศตั้งบนแว่นฟ้าของท่านทำประทับโกศกุดั่นน้อย เปลี่ยนเอาทองน้อยมาทรง กรมขุนขัตติยกัลยาไว้นั้น ทรงทอดผ้าไตรพระราชทาน พระสงฆ์มาบังสุกุล 51 รูป แล้วเสด็จทรงพระราชทานยานที่หน้าบ้านเจ้าพระยาภานุวงศ์ เสด็จลงเรือพระที่นั่งกลับพระบรมมหาราชวัง เวลาบ่าย 4 โมงเศษ ทรงฉลองพระองค์และพระภูษาเยียรบับตราเครื่องราชอิสสริยะยศจุลจอมเกล้า เสด็จลงส่งพระเจ้าลูกเธอที่เกยข้างในแล้ว เสด็จทรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระราชยานไปประทับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ครั้งแห่มาทรงรับพระเจ้าลูกเธอ ไปทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วแห่กลับเหมือนเวลาวานนี้ แล้วเสด็จขึ้น ในการที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ไว้ทุกข์กำหนด 7วัน..."
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีบุตรชายเพียงคนเดียวกับท่านผู้หญิงกลิ่น คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร) สมุพระกลาโหมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นบิดาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือเจ้าคุณแพ ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[แก้] บทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ
ด้วยชีวิตที่ยืนยาวมาหลายรัชกาลและมีตำแหน่งสำคัญในแผ่นดิน ผลงานในบทบาทความรับผิดชอบของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงมีมากมายพอสรุปได้ดังต่อไปนี้
[แก้] บทบาทก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
1. การให้ความอุปถัมภ์ชาวต่างประเทศ
- ด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคน “หัวใหม่” จึงมองเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ วิทยาการและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์ การพิมพ์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยที่พวกหมอสอนศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะมิชชันนารีอเมริกันที่จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ คนเหล่านี้มักถูกรังเกียจจากเจ้านายและขุนนางหัวเก่า จึงมักได้รับความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงานและการทำงาน ท่านได้ให้ความอุปการะอำนวยความสะดวกแก่หมอสอนศาสนาเหล่านี้ และคอยติดต่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาดังลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งท่านหมั่นเพียรเรียนรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ทำให้ท่านสามารถต่อ "กำปั่นไฟ" ได้เองตั้งแต่ยังเป็นจหมื่นไวยวรนาถ
2. การติดต่อกับต่างประเทศ
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทสำคัญในการติดต่อและต้อนรับชาวต่างประเทศและคณะทูต ได้รับการโปรดเกล้าให้ไปรับคณะทูตนำโดยเซอร์ จอห์น เบาริงที่ปากน้ำ นำคณะทูตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2398 ร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยาม 5 คน เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าที่นาย “หันแตร บารนี” หรือเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สนธิสัญญาเบอร์นี แม้การเจรจาจะมีความยุ่งยากติดขัดในเรื่องต่างๆ รวมทั้งพิกัดอัตราภาษี ด้วยการประสานงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เข้าใจขนบประเพณีตะวันตก การเจราจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกสองท่านในคณะผู้แทนฯ การเจรจาจึงสำเร็จลงด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย และได้มีการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชญ์ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 หรือที่เรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง ซึ่งเรียกกันว่าย่อๆ ในสมัยนั้นว่า “สัญญาเบาริง”
3. การทหาร
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทำงานด้านการทหารมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเกณฑ์ทหารมอญแต่งเครื่องแบบอย่างทหารฝรั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับมอบหมายให้จัดเลกหมู่ทหารฝึกหัดยุทธวิธีแบบตะวันตกเพิ่มขึ้น
เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้ช่วยบิดาด้านทหารเรือ โดยที่เป็นผู้มีความสนใจเรียนรู้ในวิทยาการใหม่ๆ กับชาวตะวันตก จึงเรียนวิธีต่อกำปั่นแบบใหม่และต่อสำเร็จเป็นคนแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือพาหนะของหลวงจำนวนหลายลำดังกล่าวมาแล้ว ท่านได้รับการยกย่องจากกองทัพเรือเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงท่านแรกระหว่าง พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2412 พร้อมๆ กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า (พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2408)
4. การควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองในปลายสมัยรัชกาลที่ 4
ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติต่างถึงแก่พิราลัยไปตามลำดับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงได้ขึ้นเป็นใหญ่เหนือเสนาบดีทั้งปวง ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าในฐานะพระมหาอุปราชเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงโปรดแต่งตั้งผู้ใดเป็นแทน ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนม์พรรษา 60 ปีแล้วแต่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก้ยังทรงพระเยาว์ แต่ก็ได้ทรงแต่งตั้งเป็นกรมขุนพินิตประชานาถให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็กและกรมทหาบกวังหน้า รวมทั้งให้บัญชากรมทหารล้อมพระราชวังกับกรมพระคลังมหาสมบัติอีกด้วย
5. การอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์
แม้จะยังไม่มีธรรมเนียมในการตั้งรัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ปฏิบัติราชการอย่างกวดขันและใกล้ชิด ให้อยู่ปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในกิจการบ้านเมือง ทรงมักมอบหมายให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์และข้อหารือราชการไปยังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า เพื่อเป็นการฝึกราชการและเพื่อให้มีความสนิทสนมกันและเพื่อได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นต่อไปในภายหน้า
พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งปวงทราบดีว่า หากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตในขณะเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์ ผู้ที่จะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคงไม้พ้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งมีอำนาจมากเกินไปอาจเป็นอันตราย จึงกราบทูลว่าไม่ควรไว้วางพระราชหฤทัย แต่พระองค์ไม่สนพระทัยเนื่องจากอาจทรงทราบความคิดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่าจะต้องเลือกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรและมีพระอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ทรงประชวรด้วยเช่นกัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงเรียกประชุมเสนาบดีทั้งปวงให้เตรียมพร้อมไม่อยู่ในความประมาท สั่งการให้ตั้งกองทหารล้อมพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หรือกรมขุนพินิตประชานาถไว้ด้วย
เช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยเข้าเฝ้า และมีพระราชดำรัสให้ช่วยกันรักษาบ้านเมือง ฝากพระราชโอรส ธิดา ขออย่าให้มีภัยอันตราย หากมีโทษประหารชีวิตก็ขอให้เป็นเพียงการเนรเทศ ขอให้ผู้ใหญ่ทั้งสามท่านได้ช่วยกัยดูแลบ้านเมืองต่อไป ให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เอาธุระรับฎีกาของราษฎรผู้มีทุกข์ร้อนดังที่พระองค์เคยปฏิบัติมา โดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็ม รวมทั้งเชิญกรมหมื่นบวรวิชัยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งตามธรรมเนียมเดิมพระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งเอง แต่ที่ประชุมไม่อาจทัดทานการยืนยันข้อเสนอของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นครั้งที่ 3 ได้
[แก้] บทบาทเมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
1. การจัดระเบียบราชการและพระราชานุกิจ การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาผู้สำเร็จฯ แล้วจึงเสด็จออกท้องพระโรงแล้วทรงรับสั่งเอง แต่การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้อำนาจเด็จขาดทั้งหมดอยู่ที่ผู้สำเร็จฯ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงต้องคิดวิธีว่าราชการบ้านเมืองในหน้าที่ของผู้สำเร็จฯ ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติสืบต่อไปโดยแบ่งสถานที่ออกเป็น 2 แห่ง คือจวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์แห่งหนึ่ง กับที่ในพระบรมมหาราชวังอีกแห่งหนึ่ง
ในการจัดพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโสสูงสุด) และกรมพระสุดารัตนราชประยูร (ผู้ดูแลอภิบาลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มาแต่ทรงพระเยาว์) ร่วมกันจัดระเบียบถวายด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การออกว่าราชการ การเสด็จออกรับฎีกา การเสด็จประภาสในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพระจริยาวัตรอื่นๆ เพื่อเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะปกครองแผ่นดิน ในการนี้หากมีปัญหาใดๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสิน
2. การก่อสร้างและการบำรุงการคมนาคม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างประภาคารที่มีพระราชดำริมาตั้งแต่สมัยรัชกาล 4 ที่ โดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ประภาคารนี้จึงมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Regent Lighthouse” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการเดินเรือ นอกจากนี้การคมนาคมทางน้ำแล้วก็ยังได้ก่อสร้างบำรุงทางขยายถนนเฟื่องนคร ขุดคลองเปรมเปรมประชากร ด้านการก่อสร้าง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างพระราชวังที่เมืองราชบุรี วร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ รวมทั้งวัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี ก่อสร้างตึกแถวริมถนนบำรุงเมือง
3. กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี ได้มีการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ให้การพิจารณาคดีในศาลรวดเร็วขึ้น เช่น กฎหมายลงทะเบียนที่ดิน การขายฝิ่น ฯลฯ โดยร่วมกับคณะเสนาบดีร่างถวายทรงทราบเพื่องพระปรมาภิไธย ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีได้ริเริ่มประเพณีทำบุญทำบุญวันเกิดเป็นครั้งแรกเมื่ออายุครบ 50 ปี ประเพณีน้ได้แพร่หลายไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศืและขุนนางในเวลาต่อๆ มา
4. การบำรุงวรรณกรรม การละครและดนตรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจและมีบทบาทในการทะนุบำรุงและเผยแพร่วรรณกรรม โดยเฉพาะงานวรรณกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากมีคติสอนใจมากโดยเฉพาะนักปกครอง เช่นเรื่องสามก๊ก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มักจัดให้มีนักปราชญ์จีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อแปลเรื่องจีน งานที่จัดให้แปลมีมากกว่า 20 เรื่อง เช่น ไซจิ๋น ตั้งจิ๋น น่ำซ้อง ซ้องกั๋ง ฯลฯ รวมทั้งเนียหนำอิดซือและเม่งฮวดเชงฌ้อ
นอกจากวรรณกรรมจีนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรมไทย เช่น พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเรื่อง อิเหนา และเรื่องอื่นๆ เผยแพร่ให้สามัญชนคนทั่วไปได้อ่านกันมากขึ้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละครและฟังดนตรี ท่านจึงได้ส่งเสริมโวยการหาครูละครและดนตรีจีนมาฝึกคณะละครของท่านจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมัยนั้น โดยเฉพาะเพลง "พระอาทิตย์ชิงดวง” ที่แต่งโดยพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก
5. การรักษาความสงบภายในประเทศ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ใช้ความสามารถและความเด็ดขาดระงับและตัดไฟต้นลมในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มักวุ่นวายขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดินซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะเมื่อคราวประมาณ พ.ศ. 2411 ที่นายเฮนรี อะลาบัสเตอร์ ผู้รักษาการณ์กงสุลอังกฤษกล่าวว่าสยามไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาถึงขนาดลดธงอังกฤษลงครึ่งเสาเป็นการแสดงว่าได้ตัดพระราชไมตรีกับไทย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ความเฉียบแหลมและเด็ดขาดระงับเหตุการณ์ต่างๆ ได้รวดเร็วไม่ลุกลามทำให้ต่างชาติใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อเข้าแทรกแซง
[แก้] ดูเพิ่ม
- ประวัติสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ บุพการีของวัดบุบผาราม [1]
- ชมรมสายสกุลบุนนาค [2]
- รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการทหารเรือ: [3]