เสื้อครุย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ครุยเป็นเสื้อคลุมประดับเกียรติยศ สวมทับบนเครื่องแบบเต็มยศตามหน้าที่ในพระราชพิธี ซึ่งมีหมายรับสั่งให้สวมครุย ครุยมี 3 แบบคือ ครุยพระราชวงศ์ ครุยเสนามาตย์ และครุยตำแหน่ง
ครุยพระราชวงศ์ เป็นฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ สำหรับฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเรียกกันว่า ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์
ครุยเสนามาตย์ ตามความในมาตรา ๕ ของพระราชกำหนดเสื้อครุย (เพิ่มเติม) พุทธศักราช ๒๔๕๗ มีความว่า ผู้ซึ่งจะสวมครุยได้โดยบรรดาศักดิ์นั้น คือ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงนับตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า หรือจุลวราภรณ์ หรือจุลสุราภรณ์ขึ้นไป
ครุยตำแหน่ง ตามมาตรา ๖ ของพระราชกำหนดเสื้อครุย (เพิ่มเติม) พุทธศักราช ๒๔๕๗ ได้กำหนดว่าผู้ที่จะสวมเสื้อนั้น คือ (ก) ผู้พิพากษาทุกชั้นให้สวมเสื้อครุยในเวลาแต่งเต็มยศทุกเมื่อ (ข) พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้อ่านประกาศหรืออ่านคำถวายชัยมงคลในชั่วเวลาเฉพาะกาล และ (ค) ข้าราชการเข้าในหน้าที่พระราชพิธีอันมีกำหนดให้สวมเสื้อครุย เสื้อครุยเสนามาตย์มี ๓ ชั้นคือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี ได้มีการกำหนดไว้แน่นอนว่าตำแหน่งและยศใดมีสิทธิ์สวมเสื้อครุยชั้นใด
นอกเหนือจากครุยที่ใช้สวมในพระราชพิธีแล้ว ยังมีครุยอีกสามสถาบัน ได้แก่
- ครุยอาจารย์และครุยครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ผู้ตรวจการพิเศษ กรรมการ อาจารย์ และครูของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ต่อมาได้พระราชทานแก่โรงเรียนที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์อีก ๓ แห่ง (โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนราชวิทยาลัย โรงเรียนพรานหลวง)
- ครุยเนติบัณฑิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่สมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
- ครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
ครุยของสามสถาบันนี้นอกเหนือจากครุยของโรงเรียนวชิราวุธฯ ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วได้มีพระราชกำหนดว่าด้วยครุยของทั้งเนติบัณฑิตยสภา และของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย