อิเหนา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิเหนาเป็น วรรณคดีเก่าแก่เรื่องหนึ่งของไทย เป็นที่รู้จักกันมานาน เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยได้ผ่านมาจากหญิงเชลยปัตตานี ที่เป็นข้าหลวงรับใช้พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ. 2275 – 2301) โดยเล่าถวายเจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดา จากนั้นพระราชธิดาทั้งสองได้ทรงแต่งเรื่องขึ้นมาองค์ละเรื่อง เรียกว่าอิเหนาเล็ก (อิเหนา) และอิเหนาใหญ่ (ดาหลัง)
ประวัติดังกล่าวมีบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังนี้
อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง
สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์
แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ
นอกจากนี้ ยังมีบรรยายไว้ในปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย ระบุถึงการนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเช่นกัน โดยเล่าว่ามีงานมหรสพที่เล่นเรื่องอิเหนา ดังนี้
ร้องเรื่องระเด่นโดย
บุษบาตุนาหงัน
พักพาคูหาบรรณ-
พตร่วมฤดีโลม ฯ
เนื้อเรื่องตรงกับอิเหนาเล็ก ที่ว่าถึงตอนลักบุษบาไปไว้ในถ้ำ ซึ่งไม่ปรากฏในเรื่องอิเหนาใหญ่
เรื่องอิเหนา หรือที่เรียกกันว่านิทานปันหยีนั้น เป็นนิทานที่เล่าแพร่หลายกันมากในชวา เชื่อกันว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของชวา ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ปรุงแต่งมาจากพงศาวดารชวา และมีด้วยกันหลายสำนวน พงศาวดารเรียกอิเหนาว่า “อิเหนา ปันหยี กรัต ปาตี” แต่ในหมู่ชาวชวามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปันหยี” ส่วนเรื่องอิเหนาที่เป็นนิทานนั้น น่าจะแต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 หรือในยุคเสื่อมของราชวงศ์อิเหนาแห่งอาณาจักรมัชปาหิต และอิสลามเริ่มเข้ามาครอบครอง
นิทานปันหยีของชวานั้น มีด้วยกันหลายฉบับ แต่ฉบับที่ตรงกับอิเหนาของเรานั้น คือ ฉบับมาลัต ใช้ภาษากวีของชวาโบราณ มาจากเกาะบาหลี
[แก้] อิเหนาในภาษาไทย
นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยก็ได้แต่งเรื่องอิเหนาขึ้นมาหลายสำนวนด้วยกัน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก และน่าแปลกใจที่พบว่ามีอิเหนาในภาษาไทยกว่าสิบสำนวน ดังนี้
- บทละครเรื่องอิเหนาครั้งกรุงเก่า. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช มีอยู่ตอนเดียว เข้าใจว่าเป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า
- อิเหนาคำฉันท์. งานนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในสมัยธนบุรี จับตอนอิเหนาลักบุษบาไปซ่อนไว้ในถ้ำ
- บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- บทละครเรื่องดาหลัง. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
- บทละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- บทมโหรีเรื่องอิเหนา. ของเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ในรัชกาลที่ 2
- นิราศอิเหนา. ของสุนทรภู่ ตอนลมหอบ
- บทสักวาเรื่องอิเหนา. แต่งในสมัยรัชกาลที่ 3
- อิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนอุณากรรณ
- อิเหนาคำฉันท์ พระนิพนธ์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชกาลที่ 4 ตอนเข้าห้องจินตะหรา
- บทเจรจาละครเรื่องอิเหนา. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 68 บท
- บทละครพูดเรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ตอนศึกกระหมังกุหนิง
- บทละครดึกดำบรรพ์เรื่องอิเหนา. พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตอนใช้บน
- บทสักวาเรื่องอิเหนา เล่นถวายในรัชกาลที่ 5 ตอนเสี่ยงเทียน ตอนชนไก่ และตอนสึกชี
- หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู
- อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล
- ปันหยี สะมิหรัง คำกลอน. น.อ.หลวงสำรวจวิถีสมุทร ประพันธ์จากเรื่อง หิกะยัต ปันหยี สมิรัง
- เล่าเรื่องอิเหนา รศ. วิเชียร เกษประทุม
อย่างไรก็ตาม เรื่องอิเหนาเป็นที่นิยมกันมากกว่าเรื่องดาหลัง เนื่องจากเรื่องดาหลังมีเนื้อเรื่องที่ซ้ำซ้อน และสับสนมากทีเดียว แต่แม้จะเป็นเรื่องจากชวา การบรรยายบ้านเมืองและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนเป็นฉากของไทยทั้งสิ้น และนับว่าน่ายินดี ที่มีการนำอิเหนาฉบับของชวามาแปลให้ชาวไทยได้รู้จักและเปรียบเทียบกับอิเหนาฉบับดั้งเดิมของไทย
นิทานปันหยี หรือเรื่องอิเหนานับเป็นวรรณคดีต่างประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่มีคำศัพท์ชวาจำนวนไม่น้อย เช่น บุหงา บุหลัน บุหรง ลางิต ตุนาหงัน มะงุมมะงาหรา ฯลฯ