พุทธทาสภิกขุ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อย ๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระสาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น[1]
ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด ตลอดเวลาที่ดำรงสมณเพศ ท่านพุทธทาสภิกขุตั้งใจศึกษาพระปริยัติอย่างแน่วแน่ พร้อมตั้งมั่นปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และวัตรเหล่านี้เองที่ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกิจทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างยากยิ่งที่จะหาพระภิกษุรูปใดเสมอเหมือน
ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนโมกขพลาราม เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีปรากฏอยู่มากมายทั้งในรูปพระธรรมเทศนา และในรูปงานเขียน โดยท่านพุทธทาสภิกขุตั้งใจทำการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่ในฐานะที่เป็น พุทธะ ศาสนา อย่างแท้จริง นั่นคือเป็นศาสนาแห่งความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ไม่เจือปนไปด้วยความหลงผิดที่เข้าแทรกมากมายจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่คอยกัดกิน ทั้งเรื่องพุทธพาณิชย์ เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องลัทธิพราหมณ์ เรื่องความยึดมั่นถือมั่นในบุญบาป เรื่องความหลงใหลในยศลาภของพระสงฆ์ และเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย ท่านพุทธทาสภิกขุมุ่งชี้ให้ชาวพุทธทั้งหลายเห็นถึงมิจฉาทิฐิและสีลัพพตปรามาสเหล่านี้เสมอมา ทำให้หลายคนขนานนามท่านพุทธทาสภิกขุว่าเป็น พระผู้ปฏิรูป แต่แท้จริงแล้ว คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าความจริงอันสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเลย เพียงแต่ระยะเวลาอันยาวนานได้ทำให้ความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนแปรหรือถูกเบี่ยงเบนไป ท่านพุทธทาสภิกขุจึงทำหน้าที่เสมือนผู้กลั่นให้พระพุทธศาสนากลับมาบริสุทธิ์อีกครั้ง
คำสอนจำนวนมากจากท่านพุทธทาสภิกขุเป็นธรรมะระดับโลกุตระ อันมีนิโรธเป็นรส และมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นธรรมะขั้นสูง และไม่เหมาะกับฆราวาสผู้ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งโลกียะ แต่ท่านพุทธทาสภิกขุตระหนักว่าธรรมะเหล่านี้คือแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และพุทธมามกะไม่ว่าจะระดับชั้นใดก็ควรจะได้รับรู้ ได้รับปฏิบัติ และได้รับผลจากธรรมะเหล่านี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้ถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและเข้าใจ โดยยังคงเนื้อหาสำคัญไว้ได้อย่างครบถ้วน คำสอนทั้งหลายของท่านพุทธทาสภิกขุ แท้จริงแล้วก็คือการสกัดพระสูตรให้ออกมาเป็นภาษาพูด และพระอภิธรรมให้ออกมาเป็นภาษาชาวบ้านนั่นเอง โดยข้อธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุเน้นย้ำมากที่สุดคือเรื่องสุญญตา จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาหลายคนเรียกท่านว่า นักรบเพื่อความว่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุยังรวมไปถึงเรื่องพื้นฐาน เช่น เรื่องการทำงาน และเรื่องการศึกษา ซึ่งคนทั่วไปสามารถนำธรรมะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ทันที
นอกจากพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีใจเปิดกว้างทำการศึกษาคำสอนของต่างศาสนาและต่างนิกาย ด้วยความคิดว่าศาสนาทั้งหลายล้วนมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน ในสมัยที่ท่านพุทธทาสภิกขุจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม นอกจากสาธุชนคนไทยผู้สนใจในธรรมะทั้งหลายจะแวะเวียนมาสนทนา และฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านพุทธทาสภิกขุอย่างไม่ขาดสายแล้ว ยังมีชาวต่างชาติผู้ต้องการเรียนรู้พระพุทธศาสนา นักศึกษาและอาจารย์ทางด้านศาสนศาสตร์จากต่างประเทศ รวมถึงประมุขของศาสนจักรต่างๆ แวะเวียนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็น รวมทั้งสนทนาธรรมกับท่านเป็นอันมาก ทำให้สวนโมกขพลารามเปรียบเสมือนตักศิลาสำหรับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทำให้วงการพระพุทธศาสนากลับมาตื่นตัวอีกครั้ง
ในศตวรรษที่ผ่านมา ถ้าจะถามว่ามีผู้ใดบ้างที่ถวายชีวิตอุทิศกายใจรับใช้พระพุทธศาสนาอย่างสูงสุดแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุคงเป็นหนึ่งในคำตอบที่จะขาดไปเสียไม่ได้เลย คุณูปการที่ท่านพุทธทาสภิกขุมีต่อพระพุทธศาสนานั้นใหญ่หลวง ชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นชีวิตที่ดำเนินตามรอยพระพุทธองค์ผู้ทรงก่อตั้งพระพุทธศาสนา ขณะที่ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุก็เป็นผลงานที่สืบสานปณิธานของพระศาสดา และสืบทอดเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา ในอันที่จะทำให้สันติสุขที่แท้จริงบังเกิดขึ้นในใจมนุษย์ และสันติภาพที่แท้จริงบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ สืบไป
สารบัญ |
[แก้] ชีวิต
[แก้] ครอบครัว
ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย หรือวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้า ที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดในช่วงเวลาปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย
งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีอุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด และความละเอียดลออในการใช้จ่าย ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- ถ้าจะให้บอกว่ามีอะไรมาจากโยมหญิงบ้าง เห็นจะเป็นเรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย เพราะว่าถูกสอนให้ประหยัดแม้แต่น้ำที่จะล้างเท้า ห้ามใช้มาก แม้แต่น้ำกินจะตักมากินนิดหนึ่งแล้วสาดทิ้งไม่ได้ แม้แต่ใช้ฟืนก็ต้องใช้พอดี ไม่ให้สิ้นเปลือง ถ้ายังติดไม่หมดต้องดับ เก็บเอาไว้ใช้อีก ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ต้องประหยัด มันมากเหมือนกัน ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ ไอ้ทางที่จะประหยัดเพื่อประโยชน์ มองเห็นอยู่ว่าต้องทำอย่างไร[2]
นอกจากนี้ มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังได้อบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างให้ท่านพุทธทาสภิกขุในอีกหลายเรื่อง ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ในธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า
- จะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันละเอียดให้แก่ลูก เช่น ในความเรียบร้อย แม่กวดขันให้ล้างจานข้าวให้สะอาดเรียบร้อยและเก็บให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องเรียบร้อย ปูที่นอนต้องเรียบร้อย ล้างมือล้างเท้าสะอาด...
- แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใครๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด
- แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา...
- แม่อบรมนิสัยให้รักน้องให้รักเพื่อน แม่สอนว่าน้องเอาเปรียบพี่ได้ แต่พี่เอาเปรียบน้องไม่ได้... แม่สอนว่าให้ดูว่าไก่ไม่มีเห็บเพราะมันช่วยจิกให้กันและกัน ลูกไก่เล็กๆ ยังช่วยจิกเห็บให้ลูกไก่ตัวใหญ่ เห็บที่มันอยู่ตามหน้าตามหงอนซึ่งมันจิกเองไม่ได้ แต่ไก่ก็ไม่มีเห็บ เพราะมันปฏิบัติหน้าที่เพื่อนของกันและกัน...
- แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็กๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มากก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ก็ยังดี เหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้...
- ให้ปลูกฝังคือว่าให้ใช้เวลาว่าง ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกตะไคร้ ดอกมะลิ ดอกราตรี แม้แต่สับปะรด กล้วย ก็ยังสอนให้ปลูก แล้วยังสอนคาถากันขโมยให้ด้วยว่า ถ้านกกินเป็นบุญ ถ้าคนกินเป็นทาน อาตามายังจำได้อยู่กระทั่งบัดนี้ ว่าถ้านกกินให้ถือว่าเราเอาบุญ ถ้าคนมันขโมยเอาไปก็ถือว่าให้ทาน แล้วมันก็จะไม่ถูกขโมยเลยจนตลอดชีวิต มันกลายเป็นให้ทานไปเสียทุกที ถ้าสัตว์มากินก็เอาบุญ ก็ไม่ต้องฆ่าสัตว์ไม่ต้องยิงสัตว์[3]
ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ ๓ ปี และ ๖ ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน[4] และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล
[แก้] ชีวิตวัยเยาว์
เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ บิดามารดาได้พาท่านพุทธทาสภิกขุไปฝากตัวเป็นเด็กวัดที่วัดพุมเรียง หรือวัดใหม่ ซึ่งเป็นวัดที่คนในสกุลพานิชเคยบวชสืบต่อกันมา โดยในสมัยก่อนที่จะมีโรงเรียนนั้น พ่อแม่มักจะให้ลูกชายได้อยู่ที่วัด เพื่อที่จะให้ได้รับการศึกษาขั้นต้นตามแบบโบราณ รวมทั้งจะได้มีการคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา และได้ฝึกหัดการอาชีพต่างๆ ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงชีวิตช่วงที่ตนเองอยู่วัดเอาไว้ว่า
- ผมออกจากบ้านไปอยู่วัดเมื่ออายุ ๘-๙-๑๐ เรียนหนังสือ ก ข ก กา กระทั่ง มูลบทบรรพกิจกันที่วัด อายุ ๑๑ ปีได้เวลาไปโรงเรียนแล้วถึงกลับมาอยู่บ้าน สมัยก่อนมันเป็นธรรมเนียมเด็กชายต้องอยู่วัดกันทั้งนั้น แต่ละวัดมีเด็กเป็นฝูง จะไปอยู่วัดก็มีดอกไม้ธูปเทียนไปฝากตัวเป็นศิษย์พระ ทางวัดเขาก็จะมอบหน้าที่ให้อาจารย์องค์หนึ่งหรือสององค์ให้คอยดูแลเรื่องอาหารการกิน คอยควบคุมให้เด็กมันได้กินกันเป็นระเบียบเรียบร้อย แล้วให้มันได้เรียนหนังสือ ได้รับการอบรมอะไรบ้าง ในเรื่องไหว้พระสวดมนต์ เรื่องอุปัฏฐากพระ เป็นเวรผลัดกันตักน้ำ ขาดไม่ได้ ทำสวนครัวริมสระ ยกร่องปลูกมัน ทำกันทั้งนั้น อาหารนั้นข้าวก็ได้จากบิณฑบาต ส่วนแกงนี่ทางบ้านเขาจะส่งเป็นหม้อเขียว ๆ ของบ้านใครเด็กคนนั้นก็ไปเอามา หม้อแกงจึงมีมาก ข้าวก็พอฉัน แกงก็พอ บ้านพุมเรียง ข้าวปลามันอุดมสมบูรณ์[5]
การได้อยู่วัดทำให้ความรู้เรื่องยาโบราณและยาสมุนไพรของท่านพุทธทาสภิกขุกว้างขวางขึ้น นอกจากนี้ท่านยังได้ถูกหัดให้ชกมวย เนื่องจากเมืองไชยาเป็นแหล่งมวยที่มีชื่อเสียง ส่วนการละเล่นของเด็กวัดก็เป็นการละเล่นทั่วไป มีการละเล่นหนึ่งที่เด็กวัดจะนั่งรวมกลุ่มแล้วผลัดกันเล่าเรื่อง ซึ่งต้องเล่าให้ดี มิฉะนั้นจะถูกติถูกค้าน เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าไว้ว่า
- คือพอมานั่งรวมกลุ่มกัน ไอ้เด็กคนที่เป็นหัวโจกหน่อย มันก็จะตั้งประเด็นขึ้น เช่น เอ้าวันนี้ เรามาพูดเรื่องหุงข้าว ใครจะเล่าก่อน ส่วนมากพวกที่อาสาก่อนมันก็จะเป็นพวกที่ฉลาดน้อยกว่าคนอื่น มันก็ต้องเล่าวิธีที่หุงข้าวว่าทำอย่างไร เด็กทั้งหลายก็คอยฟัง ถ้าคนเริ่มต้นมันเป็นคนโง่ๆ หน่อย มันอาจจะเริ่มต้นว่า "กูก็เอาข้าวสารใส่หม้อ ตั้งบนไฟ" เด็กนอกนั้นมันก็จะชวนกันค้านว่า "มึงยังไม่ได้เข้าไปในครัวสักที จะทำได้ยังไงล่ะ" อย่างนี้เป็นต้น หรืออาจจะมีสอดว่า "มึงยังไม่ได้ก่อไฟสักที" ถ้ามีช่องให้ซักค้านได้มาก ๆ มันก็ต้องให้คนอื่นเป็นคนเล่า เวลาถูกค้านได้ทีก็จะเฮกันที มันอาจจะละเอียดถึงขั้นว่ายังไม่ได้เปิดประตูแล้วจะเข้าไปในครัวได้อย่างไร หรือยังไม่ได้หยิบขันมันจะตักน้ำได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ในที่สุดมันจะต้องได้เล่าถึงขั้นตอนทุกขั้นตอน จนไม่มีอะไรบกพร่อง เหมือนกับการบรรยายของนักประพันธ์ละเอียดถี่ยิบไปหมด เพราะคนค้านมันมีมาก มันก็ค้านได้มาก มันเป็นการฝึกความละเอียดลออถี่ถ้วน ฝึกการใช้ลอจิก คนฉลาดมันมักจะเป็นคนเล่าคนหลังๆ ที่สามารถเล่าได้ละเอียดโดยไม่มีใครค้านได้[6]
[แก้] ชีวิตวัยหนุ่ม
เมื่ออายุได้ ๑๑ ขวบ ท่านพุทธทาสภิกขุได้กลับมาอยู่ที่บ้าน และเข้าเรียนที่วัดโพธาราม หรือวัดเหนือ โรงเรียนในวัดนี้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ซึ่งใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในสมัยนั้นมีการเกณฑ์พระจากทั่วประเทศไปอบรมครูที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ก่อนที่จะกลับมาสอนยังท้องถิ่นเดิมของตน ที่วัดโพธาราม มีครูที่ไปอบรมในครั้งนั้นชื่อครูวัลย์ จากนั้นก็สืบต่อมายัง ครูทับ สุวรรณ และท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เล่าเรียนกับครูผู้นี้
ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนชั้นประถมที่วัดโพธาราม จากนั้นก็ย้ายมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสารภีอุทิศ ซึ่งอยู่ในตลาดไชยา ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุต้องจากบ้านที่พุมเรียงมาพักอยู่กับบิดา ซึ่งได้เปิดร้านค้าอีกแห่งเพื่อขายข้าวเปลือกที่ตลาดไชยานี้ บางครั้ง ท่านพุทธทาสภิกขุต้องรับหน้าที่ลำเลียงสินค้าจากบ้านที่ไชยาไปบ้านที่พุมเรียง เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ว่า
- ขาย ๒ ร้าน ต้องมีเกวียน ผมต้องขับเกวียนบ้าง ต้องเลี้ยงวัวบ้าง แต่เขาก็มีผู้ใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงวัวขับเกวียนนะ แต่บางทีผมแทรกแซง นี่สนุกไปเลี้ยงวัวแถบทางรถไฟนี่สนุก รื้อก้อนหินทางรถไฟ หาจิ้งหรีดอยู่ใต้นั้น มันชุม ให้วัวกินหญ้าไปพลางอยู่ที่ทางรถไฟตรงที่เอียง ๆ ลงมา ความจริงเขาห้าม ผิดระเบียบ เราก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เพราะหญ้ามันมี วัวมันชอบกินหญ้าแถวนั้น บางทีมันก็ขึ้นไปกินข้างบนๆ ต้องไล่ลง เจ้าหน้าที่เขาจะดุ ถ้าเลี่ยงลงมาช้าๆ เขาไม่ดุ ถ้าผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงโดยตรงไม่ไป เราก็ดูให้จนเย็น หมดเวลาเขาจึงมารับเอากลับไป[7]
แต่แล้วบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้เสียชีวิตไปในช่วงที่ท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสืออยู่ชั้น ม. ๓ เมื่อจบชั้น ม. ๓ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยมารดาทำการค้าขาย และส่งน้องชาย ซึ่งในขณะนั้นเป็นสามเณรยี่เกย ให้มีโอกาสได้เรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
การช่วยทางบ้านเป็นงานที่หนัก แต่บางครั้งท่านพุทธทาสภิกขุก็พักผ่อนหย่อนใจด้วยการออกหาอาหารทะเล การเลี้ยงปลากัด และการฝึกดนตรี แม้มารดาของท่านจะถือว่าดนตรีเป็นของไม่ดีก็ตาม ในส่วนของการเลี้ยงปลากัดนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุทำได้ดีถึงขนาดนักเลงปลากัดได้มาแอบขโมยเอาปลากัดของท่านไป ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องเหล่านี้เอาไว้ว่า
- ผมไม่เพียงแต่ขายของ เป็นกรรมกรด้วย แบกของไปส่งตามบ้านเขา อย่างบ้านข้าราชการนี่เขาซื้อน้ำมันก๊าดปี๊บหนึ่งนี่ เราก็ต้องแบกไปส่งให้ ไม่มีลูกจ้าง ไม่มีรถรา มันก็ยุ่ง ทำงานหนักด้วย กระทั่งต้องผ่าฟืนทั้งหมดที่ใช้ในบ้าน อย่างโยมเขาซื้อไม้โกงกางมาทั้งลำเรือ เราต้องเลื่อยให้มันเป็นท่อน แล้วผ่าจนหมด จนเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเสร็จ ผ่าไม้โกงกางนี่ก็สนุก มันกรอบ เอาขวานแตะมันกระเด็นออกไป หรือบางทีเอาขวานวางหงาย เอาไม้ซัดลงไปมันก็แตก มันก็สนุก...
- บางเวลาขอยืมอวนที่โรงโป๊ะนั่นเอง เพื่อลากปลาตรงโรงโป๊ะ ลากขึ้นมาบนหาดทรายครั้งเดียวกินไม่ไหว มีครบ ปูม้าก็มี ปลาหมึกก็มี ปลาอะไรก็มี มีหลายอย่าง ปลาหมึกแบบกระดองแข็ง ที่เขาเอามาทำยาสีฟันผงหมึกก็มี ชนิดกระดองแข็งนะ เอามาต้มทั้งเป็นๆ มันกรอบไม่น่าเชื่อเลย กรอบเกือบเท่าลูกสาลี่กรอบ กรอบกร้วมเลย กินโดยไม่ต้องมีน้ำจิ้มก็อร่อย กินปลาหมึกกับกาแฟก็ยังได้...
- ผมมีวิธีชนิดที่ทำให้ปลากัดเก่งไม่มีใครสู้ได้ ตัวไหนเลือกดูให้ดี ดูมันแข็งแรงอ้วนท้วนดี เอาใส่ลงในบ่อกลม ๆ แล้วเอาตัวเมียใส่ขวดแก้วผูกเชือกแล้วหย่อนลงไป พอไอ้ตัวผู้เห็น มันวิ่งเลย วิ่งรอบบ่อ มันยิ่งกว่าออกกำลัง ทำไป ๓-๔ วันเท่านั้นตัวก็ล่ำ ตาเขียว ครีบหนา กัดมือเอาเลยถ้าไปจับ อย่างนี้ถ้าเอาไปกัดชนะแน่ มีนักเลงปลากัดมาลักเอาของเราไป ผมมาเห็นเอ๊ะ ปลาตัวนี้หายไป ตัวอื่นมาแทน ผมถามว่าใครมาที่นี่ โยมบอกชื่อว่าคนนั้นๆ ซึ่งเป็นนักกัดปลาอาชีพ เขามาขโมยเปลี่ยนของเราไป เอาไปกัดแล้วชนะจริงๆ...
- อีกอย่างที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่มีโอกาสฝึกก็คือดนตรี มันชอบเอง นายธรรมทาสเขาไม่ชอบเลย รู้สึกจะเกลียดเสียด้วยซ้ำ แต่ผมนี้ชอบดนตรี ชอบเพลง อย่างเรียกว่าสุดเหวี่ยงเลย แต่โยมห้าม ไม่ให้เอาเครื่องดนตรีขึ้นไปบนเรือน ผมจึงไม่ค่อยได้หัด มีบ้านที่เขาหัด เราก็ลองไปดูไปหัด ผมชอบง่ายๆ ชอบขลุ่ย ชอบออแกนที่โยกด้วยมือ มันง่าย มันเป็นนิ้วเป็นโน้ต ถ้าเราร้องเพลงอะไรได้ เราก็ทำเสียงอย่างนั้นได้ แต่ฝึกไม่ได้ เพราะมันอยู่ที่โยม ต้องเอาไปคืนเจ้าของ[8]
ในสมัยก่อนที่ท่านพุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบบวชนั้น วงการศาสนาท้องถิ่นในพุมเรียงกำลังตื่นเต้นกับการศึกษานักธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมะแบบใหม่ที่พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำริให้มีขึ้น ท่านพุทธทาสภิกขุในสมัยนั้นก็ค้นคว้าหาหนังสือนักธรรมตรี โท เอก รวมทั้งหนังสือพระอภิธรรมมาอ่าน แล้วอาศัยบ้านของตนเองเป็นเวทีสังกัจฉา คอยพูดคุยตอบโต้ปัญหาธรรมะกับผู้อื่นในละแวกเดียวกัน ซึ่งถึงแม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะยังมีอายุน้อย แต่ก็เชี่ยวชาญและฉะฉานในข้อธรรมจนผู้ที่มาคุยด้วยต่างยอมรับ ในเรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้พูดเอาไว้ว่า
- เรื่องคุยธรรมะนี่ ผมทำตัวเป็นอาจารย์ธรรมะกลายๆ ตอนเช้าก็มีคนมาคุยธรรมะ เราต้องโต้ต้องสู้ ข้าราชการคนหนึ่งเข้าอยู่ทางฝ่ายนี้ เขาก็ต้องเดินผ่านที่ร้าน เราไปทำงานยังที่ทำการ แล้วก็ยังมีคนอื่นอีก แถวๆ นั้นที่เป็นญาติๆ กัน ถ้าเห็นตาคนนี้มาเขาจะมาดักเย้าธรรมะกัน กว่าแกจะหลุดไปทำงานก็เป็นชั่วโมง แล้วก็มาที่บ้านเราด้วย ผมต้องซื้อหนังสือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อภิธรรมอะไรนี่มาอ่าน ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กกว่าเขาเพื่อน ส่วนใหญ่เขาคนแก่ทั้งนั้น แต่เรามักพูดได้ถูกกว่า เพราะเรามีหนังสืออ่าน เขามันพูดตามข้อสันนิษฐาน มันก็สนุกกับการได้พูดให้คนอื่นฟัง ถ้าว่ากันถึงการเรียนธรรมะ นี่มันเรียนมาก่อนบวช เมื่อบวชก็เกือบจะไม่ต้องเรียนอีกแล้ว ขนาดนักธรรมตรี เกือบจะไม่ต้องเรียนเพราะเคยอ่านมาโต้กันก่อน[9]
[แก้] สู่เพศบรรพชิต
ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่
การบวชของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นไปตามธรรมเนียม และไม่คิดที่จะบวชไม่สึก ดังที่ท่านปัญญานันทภิกขุอ้างถึงคำพูดของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนที่จะบวชไว้ว่า
- เรื่องบัญชี บัญน้ำ เก็บไว้ก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วค่อยมาทำต่ออีก[10]
ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงมูลเหตุการบวชของตนเองไว้ว่า
- เท่าที่นึกได้ เท่าที่จำได้นี่ เขาปรึกษากันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ อย่างว่าเวลาอามาพบ ก็จะปรึกษากันเรื่องอยากให้บวช ป้า น้า ญาติพี่น้องก็ปรึกษากันอยากให้บวช แต่จำไม่ได้ว่ามีประโยคที่โยมพูดว่าบวชเถอะๆ เรา ตามใจเขา เราแล้วแต่เขา ความรู้สึกรักษาประเพณีมันทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันรู้สึกคล้ายๆ กับว่าไม่ครบหรือไม่สมบูรณ์ถ้าไม่เคยบวช มันจึงยินดีที่จะบวช คำสั่งให้บวชหรือคำชี้แจงแนะนำอย่างโดยตรงก็ไม่เคยได้รับ แต่มันรวมพร้อมกัน จากการได้ยินบ่อยๆ ได้รับความรู้สึกบ่อยๆ แปลกเหมือนกัน ถ้าจะเอากันจริงๆ ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนแนะนำ มันไม่มี มันนึกไม่ออก ที่ถูกมันเป็นความเห็นพ้องกันหมดว่าต้องบวช ควรบวช แต่นี่มันรู้แน่ ๆ ก็คือความประสงค์อย่างยิ่งของโยม แต่คำสั่งนั้นไม่เคยได้รับ คำขอร้องก็ไม่เคยได้รับ ส่วนความคิดของตัวเองนั้นผมคงเห็นว่าบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ตามพันธสัญญาก็จะบวชให้โยม ๑ พรรษา คือ ๓ เดือน คนหนุ่มสมัยนั้นเมื่ออายุครบบวชก็บวชกันเป็นส่วนมาก[11]
หลังจากบวชได้เพียง ๑๐ วัน ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงธรรม ในการนี้ท่านได้ปฏิวัติการเทศน์เสียใหม่ คือแทนที่จะเทศน์โดยอ่านจากคัมภีร์ใบลานอย่างเดียว ก็นำเนื้อหาจากหลักสูตรนักธรรมไปประกอบขยายความ ทำให้การเทศน์เป็นไปด้วยความสนุกและเข้าใจง่าย ผู้ที่ได้ฟังจึงติดใจและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนั้น พระที่พอจะเทศน์ได้ในวัดล้วนแต่อิดเอื้อนไม่อยากเทศน์ จึงเป็นเป็นโอกาสให้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ขึ้นเทศน์ทุกวันในพรรษาเทศน์ และเทศน์ทุกวันพระในช่วงนอกพรรษา ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุก็รักชอบที่จะทำงานนี้
นอกจากการเทศน์แล้ว ช่วงพรรษาแรกท่านพุทธทาสภิกขุยังได้เรียนนักธรรม และเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านและเขียนหนังสือ รวมทั้งการคัดลอกและซ้อมแต่งกระทู้ จนทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานี้เอง กิจวัตรการนั่งกับที่เป็นเวลานานทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นโรคกระษัย แต่ท่านก็รักษาด้วยตนเองจนหายในพรรษาต่อๆ ไป
นอกจากการเทศน์และการเรียนนักธรรมแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้เขียนหนังสือพิมพ์เถื่อนลงในกระดาษฟุลสแก๊ป เป็นเรื่องขำขันให้ผู้อื่นได้หัวเราะกันภายในวัด เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังเอาไว้ว่า
- ผมออกหนังสือพิมพ์เถื่อนเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป ๒ คู่ มันเป็นเรื่องสนุกเท่านั้น เราเขียนก่อนสวดมนต์ตอนค่ำ พอพระสวดมนต์เสร็จ เราก็เอามาให้อ่านกัน เขาอ่านแล้วหัวเราะ วิพากษ์วิจารณ์กัน เรามีความอวดดี ที่จะทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ รู้สึกว่ามันทำให้เพื่อนสบายใจ จิตมันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คำนึงถึงสาระอะไรในตอนแรก[12]
[แก้] พรรษาที่สอง
แม้แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง ๓ เดือน แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตเป็นพระแล้ว ความยินดีในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเอาอกเอาใจจากพุทธบริษัทรอบข้าง ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุไม่มีความคิดที่จะลาสิกขา อีกทั้งพระภิกษุในวัดหลายรูปเห็นว่าท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสือเก่งและเทศนาดี จึงหนุนให้ท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ที่วัดต่อไปเพื่อเป็นกำลังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
เล่ากันว่าเจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านพุทธทาสภิกขุในพรรษานี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุตอบว่า
- ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด... แต่ถ้ายี่เกยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย[13]
ท่านเจ้าคณะอำเภอจึงไปคุยกับโยมแม่ของท่านพุทธทาสภิกขุว่าท่านพุทธทาสภิกขุควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนน้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่เรียบง่าย และตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา ในการนี้ ทำให้นายธรรมทาส น้องชายของท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่ได้บวช และยอมละทิ้งการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารับผิดชอบหน้าที่ทางบ้าน เพื่อให้ท่านพุทธทาสภิกขุเจริญสมณธรรมต่อไป
ชีวิตสมณเพศในพรรษาที่สองของท่านพุทธทาสภิกขุไม่ต่างจากพรรษาแรกมากนัก ท่านพุทธทาสภิกขุได้ศึกษานักธรรมต่อ และสอบได้นักธรรมโทในพรรษานี้
เมื่อออกพรรษาได้ไม่นาน ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๑ อาเสี้ยง น้องชายของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ผลักดันให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้าศึกษาความรู้ทางธรรมต่อที่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- ออกพรรษาแล้วไม่นาน ก็เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อาที่ชุมพรเป็นคนยัดเยียดให้ไป มันเป็นธรรมเนียมโดยมากด้วยว่าเมื่อได้นักธรรมโทแล้ว ถ้าจะเรียนต่อ เป็นโอกาสที่พอเหมาะพอดีที่จะเข้ากรุงเทพฯ พระครูชยาภิวัฒน์ (มหากลั่น) ซึ่งอยู่ทางโน้นก็เห็นว่าดี อาที่ชุมพรมีส่วนยุที่สำคัญ อยากให้เรียนมากๆ เพื่อเป็นเกียรติเป็นอะไรของวงศ์ตระกูลมากกว่า แต่แกไม่มีความคิดว่าจะไม่ให้สึก ถึงแม้จะสึกก็ให้เรียนมากๆ เข้าไว้หลายปี คงจะดีกว่ารีบสึก[14]
ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่วัดปทุมคงคา โดยอาศัยกับพระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสภิกขุ และได้มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ มาก่อนเลย มีความคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นคือเมืองคือศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน รวมทั้งพระพุทธศาสนา เนื่องกรุงเทพฯ เป็นแหล่งความรู้ด้านปริยัติ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงวาดภาพไว้ว่าพระเณรในกรุงเทพฯ จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ถึงขนาดคิดว่าจะมีพระอรหันต์อยู่เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ดังคำพูดที่ว่า
- ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ ๙ คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น[15]
แต่กรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุพบเห็นนั้น ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุคิดไว้ลิบลับเหลือเกิน ท่านพุทธทาสภิกขุประสบกับตนเองว่าศีลาจารวัตรของพระเณรเมืองกรุงนั้นออกนอกลู่นอกทางยิ่งกว่าพระเณรบ้านนอก ที่อยู่กันตามประสาคนไม่มีความรู้เสียอีก ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- แต่พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรนัก มันก็เริ่มเบื่อ อยากสึก รู้สึกว่าเรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระ เรียนที่กรุงเทพฯ มันอยากจะสึกอยู่บ่อยๆ พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์เรื่องผู้หญิง...
- มันเคร่งกว่ามาก ไม่ใช่เฉพาะที่พุมเรียงหรอก ตลอดปักษ์ใต้แหละ เคร่งกว่าที่กรุงเทพฯ มาก เรื่องเกี่ยวกับการกินการฉันก็สรวลเสเฮฮาเหมือนกับคนเมา ฮาฮาตลอดเวลาฉัน ลักษณะนั้นเราเรียนไปตั้งแต่โรงเรียนนักธรรมว่ามันใช้ไม่ได้นี่ อย่างมาต่อยไข่สดต้มไข่หวานหรือทอดประเคนกันเดี๋ยวนั้นเลย มันผิดวินัย แต่เขาทำกันเป็นธรรมดา เรียกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลย ผิดกับวัดที่บ้านนอก เราก็ต้องเป็นพระที่จับสตางค์ ใช้สตางค์เหมือนเขาไปหมด ตามธรรมดาพระที่พุมเรียง สมัยผมบวชเขาไม่จับเงินจับทองกัน มีผู้ช่วยเก็บให้ แล้วมันค่อยๆ เปลี่ยน ไม่จับแต่ต่อหน้าคน ในกรุงเทพฯ มันเป็นโรคร้ายระบาดทั่วกรุงเทพฯ อยู่หัวเมืองมันยังมีอิทธิพลในทางเคร่งครัดแบบเก่าอยู่[16]
ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นเข้าอย่างนี้ก็เกิดเป็นความเอือมระอาในชีวิตสมณเพศอย่างหนัก หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้เพียง ๒ เดือนก็กลับมาที่พุมเรียงเพื่อจะลาสิกขา แต่ขณะนั้นเป็นช่าวงใกล้เวลาจะเข้าพรรษาแล้ว มีผู้ทักท้วงว่าจะลาสิกขาตอนนี้ยังไม่เหมาะ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตัดสินใจครองสมณเพศอีกพรรษาหนึ่ง และคิดว่าค่อยลาสิกขาบทเมื่อออกพรรษาไปแล้ว
[แก้] พรรษาที่สามและสี่
ในพรรษาที่สาม ท่านพุทธทาสภิกขุสอบนักธรรมเอกได้ เมื่อออกพรรษา คุณนายหง้วน เศรษฐภักดี ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา และเป็นญาติของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) รองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาในสมัยนั้น ได้ชักชวนให้ท่านพุทธทาสภิกขุมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาแห่งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงได้เลื่อนกำหนดการลาสิกขาไว้ก่อน และมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่หนึ่งปี กลวิธีการสอนของท่านพุทธทาสภิกขุชวนติดตาม ทำให้นักเรียนของท่านสอบได้หมดยกชั้น เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าเอาไว้ว่า
- สอนนักธรรมนี่ก็สนุก สอนคนเดียว ๒ ชั้น มันคุยได้ว่าสอบได้หมด แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏตกไปองค์หนึ่ง เพราะใบตอบหาย ก็กลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที มันสนุก เพราะเป็นของใหม่ และมันชักจะอวด ๆ อยู่ว่าเราพอทำอะไรได้ หาวิธียักย้ายสอนให้มันสนุก ไม่เหมือนกับที่เขาสอนๆ กันอยู่ เช่นผมมีวิธีเล่า วิธีพูดให้ชวนติดตาม หรือให้ประกวดกันตอบปัญหา ทำนองชิงรางวัล นักเรียนก็เรียนกันสนุก ก็สอบได้กัน[17]
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณนายหง้วนจึงได้ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันแบบกระเป๋าหิ้วให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นรางวัล และท่านพุทธทาสภิกขุได้ใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี
ในขณะเดียวกันนี้เอง นายธรรมทาสก็ได้รวบรวมญาติมิตรที่สนใจในพระพุทธศาสนามาจัดตั้งเป็นคณะขึ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ และนี่คือจุดเริ่มก่อนที่จะกลายเป็นคณะธรรมทานในเวลาต่อมา เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังว่า
- นายธรรมทาสเขามีนิสัยอยากส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ตั้งแต่ตอนที่เขาไปเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ (พ.ศ. ๒๔๖๙) เขาไปพบบทความเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาทางสมาคมมหาโพธิ ของธรรมปาละ และหนังสือยังอิสต์ ของญี่ปุ่น ได้เร้าใจให้เขาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา และหาหนังสือทางพุทธศาสนามาจากหอสมุดนั้นมาอ่านเสมอ พอกลับมาบ้าน (พ.ศ. ๒๔๗๐) ก็มาตั้งหีบหนังสือให้คนอื่นอ่านกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. ๒๔๗๒) รวบรวมหนังสือธรรมะที่หาได้ในสมัยนั้น รวมทั้ง เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ไทยเขษม วิสาขะ เป็นต้น ก็ก่อหวอดให้เกิดความสนใจในหมู่คนแถวนั้น ไม่กี่คนหรอก จับกลุ่มสนทนากันเรื่องจะทำพุทธศาสนาให้มันบริสุทธิ์ ให้มันถูกต้องอย่างไร ต่อมาคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังตั้งสวนโมกข์และคณะธรรมทาน มีนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงศ์วานิช นายกวย กิ่วไม้แดง เป็นตัวตั้งตัวตี นายธรรมทาสเขาได้รู้จักกับชาวลังกาชื่อสิริเสนา ที่มาพักอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ จึงได้รู้เรื่องกิจการของสมาคมมหาโพธิ และอนาคาริกะธรรมปาละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาและอินเดีย นายธรรมทาสเขาก็มีจดหมายติดต่อรับหนังสือมหาโพธิ ต่อมาก็รับ บริติชบุดดิสต์ ของสมาคมมหาโพธิ ลอนดอน บุดดิสต์ อิน อิงแลนด์ และ บุดดิสต์ แอนนวล ออฟซีลอน ทำให้เขารู้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศ[18]
[แก้] สู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
เมื่อหมดหน้าที่สอนนักธรรมแล้ว อาเสี้ยงก็เร่งเร้าให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยหวังให้หยิบพัดยศมหาเปรียญมาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเข้ากรุงเทพฯ อีกคราวหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุคิดเพียงแต่จะมุ่งเรียนภาษาบาลีเท่านั้น และทิ้งเรื่องการลาสิกขาเอาไว้ก่อน แต่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้เข้าเรียนในช่วงกลางวัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสอนที่อืดอาด ไม่ทันใจ จึงให้พระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) สอนพิเศษในช่วงกลางคืน นอกจากการเรียนภาษาบาลีแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังสนใจในเรื่อง การท่องเที่ยว การถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ข่าวสารบ้านเมือง ทั้งยังติดตามงานเขียนของปัญญาชนทั้งหลายในสมั้ยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครูเทพ น.ม.ส. พระองค์วรรณฯ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และหลวงวิจิตรวาทการ
เมื่อประกาศผลสอบปีแรก ปรากฏว่าท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค และกลายเป็นพระมหาเงื่อม อินทปญฺโญ ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านพุทธทาสภิกขุมีงานเขียนเป็นบทความขนาดสั้นชิ้นแรก ชื่อ ประโยชน์แห่งทาน ปรากฏอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ และมีบทความขนาดยาวเรื่อง พระพุทธศาสนาสำหรับปุถุชน พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา
[แก้] อุดมคติก่อตัว
ในพรรษาที่หก ความมุ่งหมายของท่านพุทธทาสภิกขุเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ความรู้ทั้งหลายที่ท่านพุทธทาสภิกขุสั่งสมมานานจากการอ่านหนังสือธรรมะ รวมถึงความคิดมากมายและข้อสงสัยเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เคยมีมาในอดีตเริ่มตกผลึกอย่างช้าๆ และก่อตัวเป็นอุดมการณ์ที่แจ่มชัดขึ้นทุกที ทำให้ไฟในการเรียนต่อเพื่อที่จะสอบเอาเปรียญธรรมที่สูงขึ้นไปได้อ่อนกำลังลง สุดท้าย ท่านพุทธทาสภิกขุก็สอบตกเปรียญธรรม ๔ ในปีนั้น และล้มเลิกความตั้งใจในการไขว่คว้าพัดยศพระเปรียญอย่างสิ้นเชิง
จากการศึกษาคัมภีร์ที่เป็นหลักดั้งเดิมในภาษาบาลี ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุแน่ใจว่าเส้นทางที่ตนเองได้เดินมา และกำลังจะเดินไปนั้น ไม่ใช่เส้นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะแต่อย่างใด หากแต่เป็นเส้นทางที่เจือด้วยยศศักดิ์และความลุ่มหลงเมามัว ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะไม่เลือกเดินในเส้นทางสายนี้อีกต่อไป ดังในจดหมายที่ท่านพุทธทาสภิกขุส่งถึงนายธรรมทาสน้องชายว่า
- เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เป็นที่ที่จะค้นพบความบริสุทธิ์ การถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าก้าวผิดไปหนึ่งก้าว หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้สึกว่าก้าวผิดนั่นเองทำให้พบเงื่อนว่าทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย
- เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมาจนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้ ต่อนี้ไปเราจะไม่เดินตามโลก และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ หากเราขืนเดินตามโลกและเป็นการเดินตามหลังโลก ตามหลังอย่างไม่มีเวลาทัน ถึงแม้ว่าเราจะได้เกิดอีกตั้งแสนชาติก็ดี บัดนี้เราจะไม่เดินตามหลังโลกอีกต่อไป จะอาศัยโลกสักแต่กาย ส่วนใจเราจะทำให้เป็นอิสระจากโลกอย่างที่สุด เพื่อเราจะได้พบความบริสุทธิ์ในขณะนั้น[19]
[แก้] กำเนิดสวนโมกขพลาราม
ท่านพุทธทาสภิกขุจากกรุงเทพฯ กลับมายังพุมเรียงเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔[20] โดยใช้วัดพุมเรียงเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เริ่มเสาะหาสถานที่เหมาะสมในการจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม จนในที่สุดก็พบวัดตระพังจิต ซึ่งเป็นวัดร้าง และมีป่ารก ท่านพุทธทาสภิกขุเขียนถึงเรื่องการสร้างสถานปฏิบัติธรรม และเล่าถึงสภาพวัดตระพังจิตเอาไว้ว่า
- ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับ นายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุดในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า เป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่า จำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่[21]
- เมื่อลงมาแล้วก็เริ่มหาที่ที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน ๔-๕ คน เป็นคนออกไปสำรวจ ไม่นานนัก สักเดือนกว่าๆ จึงตกลงกันว่าจะใช้วัดร้างชื่อวัดตระพังจิก เป็นวัดที่ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไป พวกนายเที่ยง นายกวย พวกนี้เขารู้มาอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็แนะกันไปดู ไปดูครั้งเดียวเห็นว่าพอใช้ได้ก็เอาเลย ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำที่พักให้ง่ายๆ หลังพระพุทธรูป
- มันก็ไม่มีเรื่องอะไรนัก เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารก ครึ้มไปหมด เป็นที่ ๆ ชาวบ้านเขาชอบไปเขี่ยเห็ดเผาะ เขาใช้เหล็กอันเล็ก ๆ เขี่ยดินหาเห็ดเผาะ แถวนั้นมันมีมาก ผู้หญิงจะไปหาเห็ดเผาะ ผู้ชายจะไปหาเห็ดโคน พวกชอบกินหมูป่าก็จะไปล่าหมูป่าที่แถวนั้น และเป็นที่กลัวผีของเด็ก ๆ พวกผู้หญิงที่ไม่มีลูก ก็ไปบนบานขอลูกกับพระพุทธรูปในโบสถ์ร้างที่เขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในทางนั้น ในสระก็ว่ามีผีดุ มีผีอยู่ในสระ มีไม้หลักที่เรียกว่าเสาประโคนปักอยู่กลางสระ[22]
ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายเข้าอยู่วัดตระพังจิตเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา[23] (ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองประมาณ ๑ เดือน) ที่วัดตระพังจิก ท่านพุทธทาสภิกขุพบว่ามีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพ้องกับคำในภาษาบาลีคือ โมกข แปลว่าความหลุดพ้น และ พลา แปลว่ากำลัง ท่านพุทธทาสภิกขุจึงนำสองคำนี้มาต่อกัน และใช้ตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่า สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น
การดำเนินชีวิตในสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุยึดคติที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง[24] โดยชีวิตประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นไปอย่างสันโดษและสมถะ สำหรับวัตถุสิ่งของภายนอก ท่านพุทธทาสภิกขุจะพึ่งพาก็แต่เพียงวัตถุสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในการเผยแพร่ธรรมะเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาวัตถุสิ่งของฟุ้งเฟ้ออื่นใดที่เกินจำเป็นเลย เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด หากแต่การกระทำในความเป็นอยู่นั้นเป็นการกระทำอย่างสูงที่สุด นั่นคือเป็นการกระทำเพื่อศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พระพุทธศาสนา การศึกษาและปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำอันนำไปสู่มรรคผล และแม้กระทั่งนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติที่สูงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ควรจะบรรลุถึง ส่วนการเผยแพร่นั้นเป็นการกระทำเพื่อนำกระแสธรรมอันบริสุทธิ์ให้อาบหลั่งไหลรินรดคนทั้งโลก และทุกโลก เป็นการชี้ทางสว่างให้เพื่อนมนุษย์ ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้บรรลุถึงอุดมคติที่สูงที่สุดของชีวิตมนุษย์ไปด้วยกัน หรืออย่างน้อย ก็จะทำให้มนุษย์เรานั้นได้ลดการเบียดเบียนตนเอง และลดการทำร้ายผู้อื่น อันจะก่อให้เกิดทั้งสันติสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตัวมนุษย์และโลกมนุษย์ปรารถนา
[แก้] กำเนิดนามพุทธทาส
เนื่องจากท่านพุทธทาสภิกขุพบว่าตำราธรรมะภาษาไทยนั้นยังอธิบายไว้ไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจริงๆ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเริ่มเขียนหนังสือ ตามรอยพระอรหันต์ โดยมุ่งหวังเพื่อให้เป็นแผนที่สำหรับการเดินทางไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ อันเป็นอุดมคติสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งคำประณมพจน์และคำประกาศใช้นาม พุทธทาส ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือตามรอยพระอรหันต์นี้ ว่า
- พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร - อิติ พุทฺธทาโส
- ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส
ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงที่มาของนามพุทธทาสไว้ดังนี้
- เราเกิดความรู้สึกที่จะรับใช้พระพุทธศาสนาขึ้นมา โดยที่เราเริ่มเข้าใจพระพุทธเจ้าและเริ่มเข้าใจพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดสำหรับมนุษย์ แต่แล้วมันก็ไม่ค่อยจะได้รู้จักกัน ฉะนั้นจึงอุทิศตั้งจิตว่า เราจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา อย่างกับว่ารับใช้พระพุทธองค็ให้สมกับหน้าที่ของพระสาวก ทีนี้ทุกเย็นไม่ว่าวัดไหนเขาก็สวดทำวัตรเย็น ในบททำวัตรเย็นมันก็มีคำชัดเลยว่า "ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า" มันก็ยิ่งเข้ารูปกันกับ เราที่ตั้งใจอยู่ว่าจะรับใช้พระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นทาส จึงสมกับที่เรียกตัวเองว่า "พุทธทาส"
- นี่คือความหมายของคำว่า "พุทธทาส" เกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าไม่มีอะไรดีกว่า ชีวิตของเราจะอยู่ต่อไปอีกกี่ปีก็ตามใจ ถ้าจะใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด และสูงสุด ก็ควรจะทำงานนี้ คือรับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลายไป มีประโยชน์แก่คนทุกคนในโลกก็แล้วกัน แล้วอาตมายังคิดด้วยความรู้สึกบริสุทธิ์ใจว่า พุทธบริษัททุกคนเป็นพุทธทาสอยู่แล้วในตัว ไม่ใช่แต่เรา แต่เขาทำงานอย่างพุทธทาสอยู่แล้วทุกคน ช่วยรักษาบำรุงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราก็ไม่ยกตัว ไม่อวดดี ไม่จองหองพองขนว่า เป็นพุทธทาสแต่เราคนเดียวเท่านั้น[25]
- นายธรรมทาสเขาตั้งชื่อของเขาก่อน ธรรมทาส ทีนี้เราเห็นว่ามันว่างอยู่ตำแหน่งหนึ่ง ก็เลยเห็นว่ามันน่าจะชื่อพุทธทาส แล้วเจ้าคุณวัดสามพระยาสมัยนั้น สมเด็จวัดสามพระยาตอนนี้แหละ ท่านเกิดชอบขึ้นมา ท่านก็เลยใช้ชื่อสังฆทาสอยู่พักหนึ่ง และท่านก็จัดการเรื่องของคณะสงฆ์เป็นการใหญ่ ปฏิรูป ปฏิวัติอะไรกัน ในเรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ก็เลยใช้ชื่อตัวเองว่าสังฆทาสเลยได้มีครบชุด[26]
[แก้] ปณิธานในชีวิต
ปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
- ให้พุทธศาสนิกชนหรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
- ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
- ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
[แก้] เกียรติคุณ
[แก้] สมณศักดิ์
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๔๖๙ พระเงื่อม
- พ.ศ. ๒๔๗๓ พระมหาเงื่อม
- พ.ศ. ๒๔๘๙ พระครูอินทปัญญาจารย์
- พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอริยนันทมุนี พระราชาคณะชั้นสามัญ
- พ.ศ. ๒๕๐๐ พระราชชัยกวี พระราชาคณะชั้นราช
- พ.ศ. ๒๕๑๔ พระเทพวิสุทธิเมธี พระราชาคณะชั้นเทพ
- พ.ศ. ๒๕๓๐ พระธรรมโกศาจารย์ พระราชาคณะชั้นธรรม
[แก้] ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ จากสถาบันต่างๆ ดังนี้
- ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๒ พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
- ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[แก้] อื่นๆ
นอกจากสมณศักดิ์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้รับการยกย่องจากองค์กรณ์ต่างๆ ดังนี้
- พ.ศ. ๒๕๐๘ หนังสือแก่นพุทธศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จากองค์การยูเนสโก
- พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิตเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์เสาอโศก และเงินสดจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท
- พ.ศ. ๒๕๓๗ คุรุสภาประกาศยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการ
- ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
- พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมทางธรรมะเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ
[แก้] ผลงาน
ท่านพุทธทาสมีผลงานที่เรียบเรียงเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น (เรียงลำดับตามตัวอักษร)
- แก่นพุทธศาสน์
- คู่มือมนุษย์
- ตัวกูของกู ฉบับย่อความ
- ธรรมโฆษณ์
- ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
- พระพุทธเจ้าสอนอะไร
- พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
- ภาษาคน-ภาษาธรรม
- อิทัปปัจจยตา (100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน)
[แก้] เชิงอรรถ
^ ข้อความข้างต้นเป็นห้วงความคิดหนึ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุบันทึกไว้ในบทความ มาตุบูชานุสรณ์ : รำพึงเพื่อเป็นที่ระลึกแด่แม่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ปีที่ ๑๖ เล่ม ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงย่อหน้าสั้นๆ แต่ก็บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าท่านพุทธทาสภิกขุมีความจงรักภักดีต่อพระพุทธศาสนามากเพียงใด
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ และ ปัญญานันทภิกขุ, แม่ / ความรักของแม่.
^ เป็นชื่อเรียกของตัวเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ ชีวิต หลักธรรม การงาน พุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ ตามรอยปณิธานแห่งธรรม.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ ภาพชีวิต 80 ปี พุทธทาสภิกขุ : มิติใหม่ของพระพุทธศาสนา.
^ นับตามการขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น ซึ่งกำหนดวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔
^ พุทธทาสภิกขุ, สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ นอกจากนี้ยังมีคติอื่นอีกเช่น กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู นอนในกุฏิเล้าหมู ฟังยุงร้องเพลง หรือ กินข้าวจานแมว อาบน้ำในคู เป็นอยู่อย่างทาส มุ่งมาดความวาง เป็นอยู่อย่างตายแล้ว พบแก้วในมือ แจกของส่องตะเกียง
^ ห้าสิบปีสวนโมกข์.
^ พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ.
^ ข้อมูลน่าจะคลาดเคลื่อน เนื่องจากวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ไม่ใช่วันวิสาขบูชา (ปีนั้นตรงกับวันที่ 19 พ.ค.)
[แก้] หมายเหตุ
- ภาพประกอบทั้งหมดในบทความนี้นำมาจากเว็บไซต์ พุทธทาสศึกษา
[แก้] อ้างอิง
[แก้] ลิงก์ภายนอก
[แก้] หนังสือ
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์, คันฉ่องส่องพระ, ลายสือไทย, 2522.
- โดแนลด์ เค. สแวเรอร์ และ เสรี พงพิศ, พุทธทาสภิกขุนักปฏิรูปพุทธศาสนาในเมืองไทย / ท่านพุทธทาสกับสังคมไทย, แสงรุ้งการพิมพ์, 2526.
- พุทธทาสภิกขุ และ ปัญญานันทภิกขุ, แม่ / ความรักของแม่, ธรรมสภา.
- พุทธทาสภิกขุ, เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ, มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2546. ISBN 9747233541.
- ภาพชีวิต 80 ปี พุทธทาสภิกขุ : มิติใหม่ของพระพุทธศาสนา, มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป, 2529.
- ชีวิต หลักธรรม การงาน พุทธทาสภิกขุ, มูลนิธิเผยแพร่ชีวิตอันประเสริฐ, 2536.
- พุทธทาสภิกขุ, สิบปีในสวนโมกข์ อัตชีวประวัติในวัยหนุ่มของพุทธทาสภิกขุ, ปาจารยสาร, 2529.
- พุทธทาส สวนโมกขพลาราม กำลังแห่งการหลุดพ้น อาจาริยมรณานุสรณ์, ภาพพิมพ์, 2537.
- ห้าสิบปีสวนโมกข์, สวนอุศมมูลนิธิ, 2525.
- ตามรอยปณิธานแห่งธรรม, ธรรมสภา, 2538.
[แก้] ดูเพิ่ม
- สวนโมกขพลาราม