จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชื่อ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) |
ชื่อ (อังกฤษ) | Chulalongkorn University (CU) |
ก่อตั้ง | 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 |
ประเภทสถาบัน | รัฐ |
อธิการบดี | ศ. คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ |
คำขวัญ | ความรู้คู่คุณธรรม เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน |
เพลงประจำสถาบัน | เพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ |
ต้นไม้ประจำสถาบัน | ต้นจามจุรี |
สีประจำสถาบัน | สีชมพู |
ที่ตั้ง/วิทยาเขต | ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ |
เว็บไซต์ | www.chula.ac.th |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถของพระองค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับยกย่องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร
ในอดีต ผู้ที่จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แต่ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นเกียรติยศและความภูมิใจของชาวจุฬาฯ อย่างสูงสุด
[แก้] ประวัติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็น " โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" และได้ประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
ในช่วงเริ่มต้น คือ ระหว่าง พ.ศ. 2459 - 2465 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับประกาศนียบัตร พร้อมกับเริ่มเตรียมการเรียนการสอนระดับปริญญา โดยขณะนั้น จัดการศึกษาเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และในระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2490 เริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีการจัดเตรียมมหาวิทยาลัย คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้น
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2491 - 2503 มหาวิทยาลัยก็ได้ขยายการศึกษาไปยังสาขาต่างๆ ให้กว้างขวางขึ้นโดยเน้นการศึกษาในระดับปริญญาตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 - ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขว้าง จนเป็น 18 คณะ 1 สำนักวิชา 3 วิทยาลัย 12 สถาบัน และ 3 สถาบันสมทบ พร้อมกับพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานบริการทางวิชาการแก่สังคม
[แก้] สัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พระเกี้ยว ตราประจำมหาวิทยาลัย |
จามจุรี ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย |
เสื้อครุยพระราชทาน |
- พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย [1]
- เพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 พระราชทานให้เป็นเพลงประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เสื้อครุยพระราชทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ใช้เสื้อครุย โดยสีพื้นของสำรด นั้นแบ่งออกเป็น 3 สี ได้แก่
- พื้นสำรด "สีเหลือง" สำหรับฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบรมราชจักรีวงศ์
- พื้นสำรด "สีดำ" สำหรับระดับบัณฑิตและมหาบัณฑิต เพื่อเป็นการถวายความเคารพแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์
- พื้นสำรด "สีแดงชาด" สำหรับระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร
- จามจุรี เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาฯ มีความผูกพันกับชาวจุฬาฯ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัย ในวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัย จำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้ง พระราชทานพระราชดำรัสว่า "จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล"[2]
- สีชมพู เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้เสนอว่าชื่อของมหาวิทยาลัย คือ พระปรมาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคารและโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สีชมพูเป็นสีประจำพระองค์ จึงสมควรอัญเชิญสีประจำพระองค์เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นเกียรติและสิริมงคล [3]
[แก้] พื้นที่มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 5 ส่วน ซึ่งอยู่บริเวณ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน ได้แก่
- ส่วนที่ 1 ฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สนามรักบี้ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาลาพระเกี้ยว ศูนย์หนังสือจุฬาฯ(สาขาศาลาพระเกี้ยว) หอประวัติ (ตึกจักรพงษ์) อาคารจุลจักรพงษ์ สระว่ายน้ำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
- ส่วนที่ 2 ฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท ประกอบด้วย สำนักอธิการบดี (กลุ่มอาคารจามจุรี1-5) บัณฑิตวิทยาลัย สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟิตเนสเซ็นเตอร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ สถานเคมีปฏิบัติ อาคารแว่นแก้ว หอพักนิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารวิทยพัฒนา หอพักศศนิเวศ อาคารศศปาฐศาลา และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
- ส่วนที่ 3 ทิศเหนือของถนนพญาไท ติดกับสยามสแควร์ ประกอบด้วย คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ โอสถศาลา และอาคารวิทยกิตติ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ(สาขาสยามสแควร์) คณะพยาบาลศาสตร์(ชั้น12) และคณะจิตวิทยา(ชั้น16)
- ส่วนที่ 4 ทิศตะวันออกของถนนอังรีดูนังต์ เป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดของ สภากาชาดไทย
- ส่วนที่ 5 เป็นพื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับคืนจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คือ พื้นที่บริเวณระหว่างห้างมาบุญครอง และสนามกีฬาแห่งชาติ ในส่วนนี้เป็นกลุ่มอาคารจุฬาพัฒน์ อันเป็นที่ตั้งของ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะสหเวชศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งแห่งใหม่ของ คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะจิตวิทยา อีกด้วย
- ส่วนที่ 6 เป็นส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นหน่วยจัดการเรียนการสอนและพื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย อาทิเช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ ไร่ฝึกจารุเสถียร(ศูนย์ฝึกนิสิต คณะสัตวแพทยศาสตร์) จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
[แก้] สถาปัตยกรรมที่สำคัญในมหาวิทยาลัย
- ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ หรือ ตึกคณะอักษรศาสตร์ เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 โดยเป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน นอกจากนี้ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2530
- เรือนภะรตราชา สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่พักของผู้บริหาร ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จาก สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540
- หอประชุม จุฬาฯ สร้างขึ้นในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น อธิการบดี โดยมีความมุ่งหวังให้เป็นที่รับรองพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาประกอบพระกรณียกิจที่มหาวิทยาลัย และใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
[แก้] พิพิธภัณฑ์ในมหาวิทยาลัย
ภายในพื้นที่ของจุฬาฯ นั้น นอกจากเป็นที่ตั้งของคณะต่าง ๆ แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ตามคณะต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ทั้งในเชิงวิชาการและการอนุรักษ์ โดยที่ "คณะวิทยาศาสตร์" นั้น เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา, พิพิธภัณฑสถานธรณีวิทยา, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ และพิพิธภัณฑสถานพืชศาสตราจารย์กสิน สุวะตะพันธุ์ ในขณะที่ "คณะแพทยศาสตร์" เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานกายวิภาคศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานออร์โธปิดิกส์ และ พิพิธภัณฑสถานกุมารศัลยศาสตร์ นอกจากนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ "คณะเภสัชศาสตร์" เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานเครื่องยาไทยและประวัติเภสัชกรรมไทย และ " คณะสัตวแพทยศาสตร์ " เป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานปรสิตวิทยาในสัตว์
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ อันได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ และ พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
[แก้] เบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพื้นที่มหาวิทยาลัย
- ต้นไม้สำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอยู่ 6 ต้น คือ ต้นจามจุรีพระราชทาน 5 ต้น ที่สองข้างของบริเวณเสาธงหน้าหอประชุม และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตั้งอยู่บริเวณระหว่างอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ และอาคารจามจุรี5
[แก้] การเดินทาง
นิสิตสามารถเดินทางมาจุฬาฯ ได้หลายเส้นทางทั้งทางรถยนต์ รถเมล์ รถไฟฟ้า (สถานีสยาม) และ รถไฟใต้ดิน (สถานีสามย่าน)
สำหรับการเดินทางในมหาวิทยาลัย มีรถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บริการ 4 สาย ครอบคลุมส่วนต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ได้แก่
- สายที่ 1 ศาลาพระเกี้ยว - สยามสแควร์
- ศาลาพระเกี้ยว รัฐศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ สยามสแควร์ เภสัชศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์
- สายที่ 2 ศาลาพระเกี้ยว - ศศินทร
- ศาลาพระเกี้ยว เศรษฐศาสตร์ อาคารจุลจักรพงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ สำนักอธิการบดี ครุศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายประถม) สถาบันวิทยบริการ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอพักนิสิต หอพักศศนิเวศ อาคารวิทยาพัฒนา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
- สายที่ 3 พาณิชยศาสตร์และการบัญชี - แพทยศาสตร์
- พาณิชยศาสตร์และการบัญชี อาคารจุลจักรพงษ์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์ ศาลาพระเกี้ยว รัฐศาสตร์ แพทยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
- สายที่ 4 U-CENTER - ศาลาพระเกี้ยว
- ศาลาพระเกี้ยว รัฐศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ สยามสแควร์ เภสัชศาสตร์ สำนักอธิการบดี ครุศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย สถาบันวิทยบริการ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝายมัธยม) U-CENTER สามย่าน นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์
[แก้] การศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในปีการศึกษา 2548 นี้ ได้เปิดทำการเรียนการสอน ทั้งหมด 484 หลักสูตร โดยจำแนกเป็นระดับปริญญาตรี 115 สาขาวิชา , หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 31 สาขาวิชา , หลักสูตรระดับปริญญาโท 215 สาขาวิชา , หลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง 35 สาขาวิชา และ หลักสูตรระดับปริญญาเอก 88 สาขาวิชา สำหรับหลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรภาษาอังกฤษ เปิดสอนรวมทั้งสิ้น 69 สาขาวิชา ปัจจุบัน ประกอบด้วย บัณฑิตวิทยาลัย , สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และ คณะต่าง ๆ รวม 18 คณะ ได้แก่
นอกจากนี้ ยังเปิดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาใน วิทยาลัยการสาธารณสุข วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ รวมทั้ง มีสถาบันสมทบอีก 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ และสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ
[แก้] งานวิจัย
ในปี พ.ศ.2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัย แบ่งตามสาขา 4 สาขา ได้แก่
- สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ 282 โครงการ
- สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 268 โครงการ
- สาขาสังคมศาสตร์ 144 โครงการ
- สาขามนุษยศาสตร์ 17 โครงการ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสหสาขาวิชา 24 โครงการ และโครงการอื่น ๆ ในบัณฑิตวิทยาลัย และศูนย์บริการวิชาการอีก 300 โครงการ โดยในปี พ.ศ.2548 มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI จำนวน 545 เรื่อง และฐานข้อมูล Pubmed จำนวน 222 เรื่อง รวม 767 เรื่อง โดยมีงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น
- แผนงานวิจัยเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบวิบัติภัย "สึนามิ"
- ผลงานวิจัยเรื่อง “ระบาดวิทยาระดับโมเลกุลของเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย” (รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น (จุฬาฯ))
- ผลงานวิจัยเรื่อง อณูพันธุศาสตร์ของมะเร็งโพรงหลังจมูก (รางวัลผลงานวิจัย (วช.))
[แก้] อันดับมหาวิทยาลัย
นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 200 อันดับแรกประจำปี 2549 (ค.ศ. 2006) โดยวารสาร ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ ซึ่งจัดอันดับโดยวิธีออกแบบสำรวจถามความเห็นจากอาจารย์มหาวิทยาลัยและนายจ้าง โดยมีการจัดอันดับ 200 อันดับแรก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่อันดับที่ 161 ของโลก และ 41 ของเอเชียและโอเชียเนีย โดยนับว่าอยู่อันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน รองจาก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และ มหาลัยเทคโนโลยีนานยาง ของสิงคโปร์ ตามลำดับ โดยอันดับ 4 และ 5 คือ มหาวิทยาลัยเคบังซาน และ มหาวิทยาลัยมลายา ของมาเลเซีย
- ดูบทความหลักที่ อันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย
[แก้] บุคคลสำคัญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์รวมถึงอาจารย์และศิษย์เก่า มีหลากหลายซึ่งรวมถึง บุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นอกจากนี้ยังมี ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ 3 คน, นักเขียนผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ 3 คน, นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (2528-2548) อีก 48 คน, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 11 คน(2525-2549) รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ นักแสดง นักดนตรีของประเทศไทยอีกหลายคน โดยดูรายชื่อบุคคลสำคัญได้ที่
[แก้] ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
การเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้เวลาใกล้เคียงกับการเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น โดยทั่วไปจะใช้เวลา 4 ปีในการเรียน แต่สำหรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ใช้เวลา 5 ปี ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จะใช้เวลา 6 ปี ตลอดระยะเวลาการเรียน มีทั้งการเรียนในคณะของตนเอง และการเรียนวิชานอกคณะได้ พบปะกับบุคคลในคณะอื่น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ไม่ว่าการเข้าชมรมของมหาวิทยาลัย การเข้าชมรมของคณะ การเล่นกีฬา หรือการพบปะกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันที่โต๊ะโรงเรียน
การเข้ามร่วมกิจกรรมชมรมในจุฬาลงกรณ์ไม่มีการจำกัดชั้นปี โดยชมรมของมหาวิทยาลัยนั้นเปิดให้นิสิตในแต่ละคณะรวมกัน และเจอกับนิสิตคณะอื่นพบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีชมรมที่จัดขึ้นเฉพาะคณะต่างๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตึกจุลจักรพงษ์ โดยชมรมต่างๆ ได้แก่ ชมรมพุทธศาสนา ชมรมสลัม ชมรมวาทะศิลป์และมนุษยสัมพันธ์ ชมรมบริดจ์ ชมรมเชียร์ ชมรมประดิษฐ์และออกแบบ และชมรมกีฬาต่าง ไมว่าชมรมยิงปืน ชมรมฟันดาบ และชมรมอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาดังนี้
[แก้] ประเพณีมหาวิทยาลัย
- งานลอยกระทง - งานลอยกระทงจัดขึ้นทุกทุกปีในวันลอยกระทง จัดขึ้นโดยในงานมีจัดทำกระทงของแต่ละคณะ ขบวนพาเหรด และนางนพมาศจากแต่ละคณะมาประชันกัน และในตัวงานได้มีการจัดงานรื่นเริง พร้อมเกมการละเล่นโดยรอบบริเวณสระน้ำหน้าลานพระบรมรูปสองรัชกาล
- การประชุมเชียร์ - คือ กิจกรรมที่จัดขึ้นในระยะเวลา 3 สัปดาห์แรกของภาคการศึกษาที่ 1 เพื่อประสานความสัมพันธ์ของนิสิตปี 1 จุดประสงค์ของงานเพื่อให้นิสิตเรียนรู้เพลง ประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมายาวนานของมหาวิทยาลัย โดยมักจัดขึ้นใน ห้องเชียร์ เพื่อให้นิสิตได้รู้จักเพื่อน งานรับน้องจัดโดยนิสิตรุ่นพี่ในคณะ รวมถึงมีการสอนเกี่ยวกับ คำขวัญทั้งห้าของจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อเนื่องกันมาทุกรุ่น เป็นระยะเวลานานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[แก้] งานกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย
- จุฬาฯ วิชาการ - งานวิชาการที่จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี จัดขึ้นในตัวมหาวิทยาลัยโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคคลภายนอก รวมทั้งนักเรียนจากระดับประถมถึงมัธยม ได้เรียนรู้ รวมทั้งเปิดให้นักศึกษาจากต่างมหาวิทยาลัย และบุคคลอื่นอื่นได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและพัฒนาในมหาวิทยาลัย
- รับน้องก้าวใหม่ - งานก้าวใหม่จัดขึ้นทุกปี ช่วงก่อนเปิดการศึกษาภาคเรียนที่ 1 จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อแนะนำนิสิตให้รู้จักมหาวิทยาลัย รวมทั้งฝึกให้นิสิตเข้าใหม่ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย กิจกรรมส่วนใหญ่เน้นการละลายพฤติกรรมเข้าหากันระหว่างเพื่อน พี่ น้อง
- กีฬาเฟรชชี่ - งานกีฬาระหว่างคณะจัดขึ้นช่วงสองเดือนแรกของการเปิดเทอม 1 ระหว่างนิสิตชั้นปี 1 ของแต่ละคณะ กีฬาแต่ละชนิดถูกจัดขึ้นกระจายไปตามแต่ละที่ในมหาวิทยาลัย รวมทั้ง สนามกีฬาในร่ม และสนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันติดปากในหมู่นิสิตว่า "สนามจุ๊บ"
- กีฬา 5 หมอ - งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์
- ซียู อินเตอร์ เกมส์ - งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตหลักสูตรนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ (EBA) นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ (COMM'ARTS) นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ (ISE) นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ (BSAC) และ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (INDA)
[แก้] งานกิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย
กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัย ได้แก่ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนมกราคม รวมถึงกิจกรรมที่แต่ละคณะได้จัดการแข่งขันกับคณะเดียวกันมหาวิทยาลัยอื่น ไม่ว่า อะตอมเกมส์, กีฬา 13 เข็ม, กีฬา 12 เม็ดยา(เภสัชสัมพันธ์), กีฬาสิงห์สัมพันธ์, กีฬา 9 กล้อง, กีฬาเศรษฐสัมพันธ์ , ไม้เรียวเกมส์ โดยมีรายละเอียด ได้แก่
- กีฬาวิทยาศาสตร์สัมพันธ์แห่งประเทศไทย (อะตอมเกมส์) เป็นการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้มีการตื่นตัวในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิต นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีการแข่งขันกีฬาบาส-บอล กับ คณะวิทยาศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อีกด้วย
- กีฬา 13 เข็ม เป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมี "กีฬา 2 เข็ม" ซึ่งเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย
- กีฬา 12 เม็ดยา (เภสัชสัมพันธ์) เป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ
- กีฬาสิงห์สัมพันธ์ เป็นงานที่จัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างพี่น้องสิงห์ทุกที่ทุกสถาบันเพื่อกระชับสัมพันธไมตรี ไม่ต้องแบ่งสี ไม่ต้องแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า นอกจากนี้ คณะรัฐศาสตร์ ยังมี "กีฬาสิงห์ดำ-สิงห์แดงสัมพันธ์" ซึ่งเป็นงานระหว่าง คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประจำทุกปี
- กีฬาเทคนิคการแพทย์ - สหเวชศาสตร์สัมพันธ์ (กีฬา 9 กล้อง) เป็นงานกีฬาที่จัดขึ้นระหว่างคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสหเวชศาสตร์ทั่วประเทศ 9 สถาบันการศึกษา นอกจากนี้ คณะสหเวชศาสตร์ ยังมีการจัดกีฬาระหว่าง คณะสหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กัน
- กีฬาเศรษฐสัมพันธ์ เป็นงานที่จัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างเพื่อนชาวเศรษฐศาสตร์ในสถาบันที่เป็นสมาชิก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างกัน นอกจากนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ ยังมี "กีฬาฟุตบอล-บาสประเพณี เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ " ซึ่งเป็นงานระหว่าง คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประจำทุกปี โดยมีการสลับกันเป็นเจ้าภาพ
- กีฬานิติสัมพันธ์ เป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างชาวนิติศาสตร์จุฬา และนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยจัดขึ้น ปีละ 1 ครั้งเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพสลับกันไป กีฬาที่เล่นกันมี 2 ประเภท คือ ฟุตบอล และบาสเก็ตบอล โดยจะแบ่งเป็นประเภท ทีมน้องใหม่ ทีมรวม และทีมอาจารย์ หลังจากแข่งขันกีฬากันเสร็จก็จะมีการเลี้ยงอาหารและกิจกรรมรื่นเริงระหว่างนิสิตและนักศึกษา อันได้แก่ การเล่นดนตรี การแสดงต่างๆ
- กีฬาประเพณีคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ (ไม้เรียวเกมส์) เป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิต-นักศึกษา ในสายวิชาชีพครู 5 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงจากนิสิต-นักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย และคอนเสิร์ตในงานเลี้ยงกลางคืนอีกด้วย
- งานจ๊ะเอ๋ลูกนก เป็นกิจกรรมประจำปีที่จัดขึ้น ระหว่างนิิสิตชั้นปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ิ จุฬาฯ กับนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่มาของงานจ๊ะเอ๋ลูกนกมีที่มาจากสัญลักษณ์ของนักสื่อสารมวลชน คือ "นกน้อยในไร่ส้ม" ดังนั้น กิจกรรมการพบปะประจำปีระหว่างนิสิต-นักศึกษาทั้ง 2 สถาบันนั้น ก็เป็นเหมือนการพบปะกันของลูกนก แต่เวลาในการจัดกิจกรรมมีเพียงวันเดียว แทนที่จะเป็นการพบปะแบบปกติ ก็กลายเป็นแค่เข้ามาจ๊ะเอ๋ ทำความรู้จักกัน โดยกิจกรรมนี้ทั้งสองคณะจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ
- งานบาสเกตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดขึ้นประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมของทุกๆปี โดยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ สถานที่จัดงานคือ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง
[แก้] การพักอาศัยของนิสิตจุฬาฯ
การพักอาศัยของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัก มีลักษณะคล้ายกับนิสิตนักศึกษาอื่นในกรุงเทพ โดยคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพหรือเขตปริมณฑล หรือมีญาติพี่น้องอยู่แถบนั้น ก็จะพักอาศัยตามบ้านหรือบ้านคนรู้จัก สำหรับนิสิตที่มาจากต่างจังหวัด จะพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย ไม่ก็เช่าหอพักเอกชนร่วมกับเพื่อนนอกมหาวิทยาลัย
การพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัยนั้น จำเป็นต้องมีการสมัครล่วงหน้าและมีการตรวจสอบประวัติ เนื่องจากหอพักมีจำนวนจำกัดและราคาที่ถูกกว่าหอพักภายนอก ซึ่งหอพักมหาวิทยาลัยนี้เรียกกันว่า "ซีมะโด่ง" โดยหอจะแบ่งออกเป็น หอพักหญิง 3 หอ ได้แก่ หอพุดตาน (หอสูงสีน้ำตาล 14 ชั้น) หอพุดซ้อน (หอสูงสีขาวที่สร้างเสร็จล่าสุด) หอชวนชม (อาคาร 3 ชั้นสีเขียว อยู่ใกล้ประตูทางเข้าหอพักที่สุด) และ หอพักชาย 2 หอ ได้แก่ หอจำปี (อาคารสูงสีขาว 14 ชั้น) และหอพักจำปา (อยู่ถัดจากหอจำปี สูง 5 ชั้น เดิมชื่อ หอเฟื่องฟา เป็นหอพักหญิง) นอกจากนี้ ยังมีหอพักพวงชมพูที่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่ง คือ หอ U-center ตั้งอยู่บริเวณหลังสามย่าน สร้างเสร็จในปี 2546
[แก้] การเรียนในห้องเรียน
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |
[แก้] วันสำคัญที่เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระผู้ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งคณะผู้บริหารและนิสิต จุฬาฯ จะเข้าร่วมถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า รวมทั้ง จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณต่อพระองค์ เป็นประจำทุกปี
- วันมหาธีรราชเจ้า ตรงกับวันที่ 26 พฤศจิกายน โดยเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระผู้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" โดยในวันนี้ คณะผู้บริหารและนิสิตจุฬาฯ จะเข้าร่วมถวายบังคม ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 บริเวณสวนลุมพินี เป็นประจำทุกปี
- วันอานันทมหิดล วันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร "พระผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงดำริที่จะจัดงานเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบไป
- วันคล้ายวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรงกับวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี ในวันนี้จะมีกิจกรรมคืนสู่เหย้าของนิสิตเก่าจุฬาฯ ณ ลานหน้าพระบรมรูป 2 รัชกาล
- วันทรงดนตรี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรี และทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตเป็นการส่วนพระองค์ในระหว่างปี 2500-2516 โดยจุฬาฯ จัดงานวันที่ระลึกวันทรงดนตรีขึ้น ในวันที่ 20 กันยายน เป็นประจำทุกปี
- วันภาษาไทยแห่งชาติ ถือกำเนิดจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอต่อรัฐบาลให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
[แก้] เกร็ดเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- จีฉ่อย ชื่อร้านขายของชำที่อยู่ในเขตตลาดสามย่าน ตรงข้ามคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ที่ขึ้นชื่อว่ามีของขายทุกประเภท ตั้งแต่ กระดาษสี จนถึง ใบลงทะเบียนของมหาวิทยาลัย
- ลุงฟรุตตี้ หรือ ลุงป๊ง ลุงขี่เวสป้าขายผลไม้ในจุฬาฯ
- พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ณ ตึกบัญชาการ (ตึกมหาจุฬาลงกรณ์ ในปัจจุบัน)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชชบัณฑิต หรือแพทยศาสตรบัณฑิต ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เครื่องหมายทัณฑฆาตบทชื่อมหาวิทยาลัย ชื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น ปรากฏการเขียนใน 2 รูปแบบ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (ไม่มีทัณฑฆาต) โดยการเขียนแบบ "ไม่มีทัณฑฆาต" นั้น สามารถพบได้ในระหว่างปี พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2514 เช่น ในพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 4, 5 และ 6 [4]
[แก้] อ้างอิง
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หอประวัติจุฬาฯ
- เว็บสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ซีมะโด่ง หอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- การรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
หน่วยงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
หน่วยงาน | |
---|---|
คณะ |
ครุศาสตร์ · จิตวิทยา · ทันตแพทยศาสตร์ · นิติศาสตร์ · นิเทศศาสตร์ · พยาบาลศาสตร์ · พาณิชยศาสตร์และการบัญชี · แพทยศาสตร์ · เภสัชศาสตร์ · รัฐศาสตร์ · วิทยาศาสตร์ · วิศวกรรมศาสตร์ · สถาปัตยกรรมศาสตร์ · สหเวชศาสตร์ · สัตวแพทยศาสตร์ · ศิลปกรรมศาสตร์ · เศรษฐศาสตร์ · อักษรศาสตร์ · วิทยาศาสตร์การกีฬา · บัณฑิตวิทยาลัย |
วิทยาลัย |
วิทยาลัยการสาธารณสุข · วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี · วิทยาลัยประชากรศาสตร์ · สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ |
สถาบันสมทบ |
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย · วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ · สถานศึกษาเคมีปฏิบัติ |