พระพุทธศาสนา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ส่วนหนึ่งของ ประวัติพุทธศาสนา |
|
จุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา | |
เพื่อความดับทุกข์ · นิพพาน |
|
ใจความสำคัญของพุทธศาสนา | |
สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น |
|
ไตรสรณะ | |
ความเชื่อและการปฏิบัติ | |
ศีล · ธรรม ศีลห้า · ศีลแปด บทสวดมนต์และพระคาถา |
|
คัมภีร์และหนังสือ | |
พระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก · พระสุตตันตปิฎก · พระอภิธรรมปิฎก |
|
นิกาย | |
เถรวาท · อาจริยวาท (มหายาน) · วัชรยาน · เซน | |
สังคมพุทธศาสนา | |
เมือง · ปฏิทิน · บุคคล · วันสำคัญ · ศาสนสถาน · วัตถุมงคล | |
ดูเพิ่มเติม | |
ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนา หมวดหมู่พุทธศาสนา |
พระพุทธศาสนา หรือ พุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ คือศาสนาที่ยึดถือพระรัตนตรัย เป็นสรณะอันสูงสุด อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดยพระรัตนตรัยทั้ง ๓ นี้ย่อมมีคุณเกี่ยวพันเป็นอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันโดยเฉพาะไม่ได้ ด้วยพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมก่อนแล้วสอนให้พระสงฆ์รู้ธรรม พระธรรมนั้น พระสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมจำทรงไว้ ปฏิบัติและสั่งสอนสืบต่อพระศาสนา พระรัตนตรัยนี้เปรียบด้วยวัตถุวิเศษที่มีราคาอย่างสูง คือ แก้ว จึงเรียกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่า รัตนะ คำว่า "รัตนะ" แปลว่าแก้ว,สิ่งมีค่าสูงยิ่ง,สิ่งประเสริฐ ซึ่งคำว่ารัตนะในที่นี้จะหมายถึง พระรัตนตรัย ซึ่งก็คือแก้ว ๓ ดวง ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คือนับถือแก้ว ๓ ดวงนี้ว่ามีคุณ ย่อมจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกแก่ตน
หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาได้ถูกบันทึกรวบรวมไว้ในคัมภีร์ชื่อ พระไตรปิฏก อันประกอบด้วย "พระธรรม" คือความรู้ในสัจธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วนำมาแสดงแก่ชาวโลก กับ "พระวินัย" คือข้อบังคับต่างๆ ที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่บวชเป็นสาวกในศาสนานี้ผู้ถูกเรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ (ชาย) และ พระภิกษุณีสงฆ์ (หญิง)
พระพุทธเจ้าได้เริ่มออกเผยแผ่คำสอนดังกล่าวในภูมิภาคที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะใน ทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออก, ตลอดจนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันรวมถึงประเทศไทยด้วย
นอกเหนือจากพระรัตนตรัยแล้ว ผู้นับถือโดยทั่วไปที่ไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เราเรียกว่า พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก หรือ อุบาสก (ชาย)/อุบาสิกา (หญิง) ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา รวมกันเรียกว่า พุทธบริษัท 4
[แก้] หลักการสำคัญของพุทธศาสนา
- พุทธศาสนา สอน "สัจธรรม" คือความจริงแท้ของชีวิตและกฎธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ทั้งปวง
- หัวใจของพุทธศาสนาคือ "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"
- พุทธศาสนา กล่าวว่าสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ต่างมีเหตุให้เกิด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นผลก็เกิดขึ้นตาม เมื่อเหตุนั้นไม่มีอีกแล้วผลก็ดับไป
- อริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ ทุกข์ (มีความยากลำบาก) สมุทัย (ความทุกข์นั้นมีสาเหตุให้เกิด) นิโรธ (เป็นไปได้ที่จะดับความทุกข์นั้น) มรรค (วิถีทางอันประเสริฐที่จะนำให้ถึงความดับทุกข์)
- ไตรลักษณ์ คือหลักการที่ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกมี 3 ลักษณะดังนี้คือ อนิจจัง (ไม่เที่ยงแท้ มีอันต้องแปรปรวนไป) ทุกขัง (ถูกบีบคั้นให้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา) อนัตตา (ไม่มีแก่นสารอะไรให้ถือเอาเป็นตัวตนของใครๆ ได้อย่างแท้จริง)
- สังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิดของจิตวิญญาณทั้งหลายนับชาติไม่ถ้วน ผ่านไประหว่าง ภพภูมิ คือมิติต่างๆ ตั้งแต่เลวร้ายที่สุดไปจนถึงสุขสบายที่สุด ที่รองรับการเกิดของสิ่งมีชีวิต การเวียนว่ายของจิตวิญญาณมีเหตุมาจาก "อวิชชา" คือความที่จิตไม่รู้ถึงความเป็นจริง ไปหลงยึดเอาว่าสิ่งต่างๆ มีตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย ทางออกไปจากสังสารวัฏมีทางเดียว คือการดำเนินตามเส้นทางอริยมรรค
- กฎแห่งกรรม กรรม คือการกระทำทุกอย่างที่มีเจตนาสั่งการโดยจิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าเป็นการกระทำที่ดี (บุญ/กุศล) หรือไม่ดี (บาป/อกุศล) หรือกลางๆ ย่อมจะไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาที่จะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการกระทำนั้นๆ สะท้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ โดยไม่สามารถนำบุญกับบาปมาหักล้างกันได้โดยตรง กฎแห่งกรรมนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของแต่ละจิตวิญญาณในสังสารวัฏ
- นิพพาน คือสภาพที่พ้นออกไปเหนือโลก ออกไปจากสังสารวัฏ เป็นความสุขอันเที่ยงแท้ เป็นเป้าหมายอันสูงสุดที่พระพุทธศาสนาสอนให้บรรลุถึง
- เมื่อรวมหลักการปฏิบัติตามทางของพุทธศาสนาทั้งหมดให้เข้าใจได้ง่าย ก็มีอยู่ 3 คือ
- ละเว้นความชั่ว
- ทำความดี
- ฝึกใจให้บริสุทธิ์
อีกนัยหนึ่งเมื่อจำแนกตามลำดับขั้นตอนคือ
- ศีล (ฝึกตนให้ละเว้นจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น)
- สมาธิ (ฝึกความตั้งมั่นของจิต)
- ปัญญา (ใช้จิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริง จนกระทั่งทำลายอวิชชาได้ในที่สุด)
[แก้] นิกาย
ศาสนาพุทธ แบ่งออกเป็นนิกายใหญ่ได้ 2 นิกายคือ เถรวาท หรือ หินยาน และ มหายาน นอกจากนี้แล้วยังมีการแบ่งที่แตกต่างออกไปและไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยคือ การแบ่งเป็น 3 นิกายคือ
- เถรวาท (Theravāda) หรือ หินยาน (Hinayāna-ยานเล็ก) หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสั่งสอน และ หลักปฏิบัติ จะเป็นไปตามพระไตรปิฎก (Tipitaka) แพร่หลายอยุ่ในประเทศไทย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา และ บางส่วนของประเทศเวียดนามส่วนมากเป็นชาวเขมร และ มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวสยาม
- มหายาน (Mahāyāna-ยานใหญ่)แพร่หลายใน จีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย ภูฏาน ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้และ สิงคโปร์ และบางส่วนของ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียส่วนมากเป็นชาวจีน เนปาล บรูไนส่วนมากเป็นชาวจีน ฟิลิปปินส์ส่วนมากเป็นชาวจีน ปากีสถาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน และ บังคลาเทศ
- วัชรยาน (Vajrayāna) หรือ มหายานพิเศษ ปัจจุบันมีใน อินเดียบริเวณลาดักในรัฐจัมมู-แคชเมียร์ และในรัฐสิกขิม เนปาล ภูฏาน และ เขตปกครองตนเองทิเบต
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์กัลยาณธรรม รวมสื่อคำสอนและมัลติมีเดียที่ทรงคุณค่าต่างๆในพระพุทธศาสนา
- พุทธศาสนา ศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง จาก พันทิป.คอม
- สื่อการเรียนรู้พระพุทธศาสนาออนไลน์ 24 ชั่วโมง ที่มีสาระแต่ไม่เครียด
- หอมรดกไทย รายละเอียดพุทธศาสนา
- budpage.com เรียนรู้พระพุทธศาสนาในรูปแบบการ์ตูน
- หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ ศึกษาเรื่อง "ตัวตน-ของตน" เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา เป็นบทความเกี่ยวกับ ศาสนา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |