โมเดิร์นไนน์ทีวี
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี (บมจ.อสมท) | |
ประเภท | บริษัทมหาชน (SET:MCOT) |
---|---|
ก่อตั้ง | 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 |
สถานที่ตั้ง | 63/1 ถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร |
บุคลากรหลัก | ชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รักษาการ กก.ผอ.ใหญ่, วีรวรรณ วรรุตม์ ผอ.สถานีโทรทัศน์ |
อุตสาหกรรม | สื่อสารมวลชน |
สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ | สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี |
ยอดขาย | ไม่ทราบ |
พนักงาน | ไม่ทราบ |
เว็บไซต์ | www.mcot.net |
สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี (Modernine TV) สถานีโทรทัศน์ของประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2498 ที่ตั้งปัจจุบัน อยู่ภายใน ที่ทำการ บมจ.อสมท เลขที่ 63/1 ถนนพระรามที่ 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
สารบัญ |
[แก้] สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม)
สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม นับว่าเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินงานภายใต้การบริหารของบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด โดยจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเรียกขาน ตาม อนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์ ว่า HS1-TV ตั้งอยู่ที่ วังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน
คณะผู้ปฏิบัติงานในยุคแรก ได้แก่
- นายจำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ
- นายอัมพร พจนพิสุทธิ์ หัวหน้าฝ่ายกำกับภาพ
- นายสมชาย มาลาเจริญ หัวหน้าฝ่ายช่างกล้อง
- นายธนะ นาคพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมการออกอากาศ
- นายเกรียงไกร (สนั่น) ชีวะปรีชา หัวหน้าฝ่ายเครื่องส่ง
- นายธำรง วรสูตร และ นายฟู ชมชื่น หัวหน้าร่วม ฝ่ายเครื่องส่ง และ เสาอากาศ
- นายจ้าน ตัณฑโกศัย หัวหน้าฝ่ายกำกับเสียง
- นายสรรพสิริ วิริยศิริ หัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง และ หัวหน้าฝ่ายข่าว
- นายรักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องรับโทรทัศน์
เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 ได้มี พิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม) โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธี
เมื่อ อาคารดังกล่าว สร้างเสร็จ และ ติดตั้ง เครื่องส่ง แล้ว จึงมี พิธีเปิด สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม) เมื่อ วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2498 ซึ่งถือเป็น วันชาติ ในสมัยนั้น โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี
ในช่วงแรก มีการแพร่ภาพออกอากาศ ใน วันอังคาร วันพฤหัสบดี วันเสาร์ และ วันอาทิตย์ ตั้งแต่ เวลา 18.30 น.-23.00 น. ต่อมา จึงได้เพิ่ม วันและเวลาออกอากาศ มากขึ้น ตามลำดับ โดยใช้ เครื่องส่ง ขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด มี ตราสัญลักษณ์ เป็นรูป "วิชชุประภาเทวี" หมายถึงเทวดาผู้หญิง ที่เป็นเจ้าแห่งสายฟ้า หรือ นางพญาแห่งสายฟ้า โดยมี กรมศิลปากร เป็นหน่วยงานที่ออกแบบ
เพลงประจำการออกอากาศ ของ สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 และ สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ของ บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด คือเพลงต้นบรเทศ ในวันออกอากาศวันแรก ได้ให้นางสาว อารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศรำบรเทศออกอากาศสด ส่วนนางสาว เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ทำหน้าที่ผู้ประกาศแจ้งรายการ
ผู้ประกาศ ในยุคแรก เป็นสตรี ได้แก่
- นางสาว เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบัน คือ นาง เย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา)
- นางสาว อารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบัน คือ นาง อารีย์ จันทร์เกษม)
- นางสาว ดาเรศร์ ศาตะจันทร์
- นางสาว นวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบัน คือ นาง นวลละออ เศวตโสภณ)
- นางสาว ชะนะ สาตราภัย
- นางสาว ประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์
ส่วนผู้ประกาศข่าวเป็นชาย ได้แก่
- นายสรรพสิริ วิรยศิริ
- นายสมชาย มาลาเจริญ
- นายอาคม มกรานนท์
- นายบรรจบ จันทิมางกูร
ราวเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้หยุดทำการออกอากาศ ในระบบ 525 เส้น โดยได้ย้าย ห้องส่งโทรทัศน์ ไปที่ ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราว พ.ศ. 2519 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จาก ภาพขาวดำ เป็น ภาพสี ในระบบ 625 เส้น อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับ การเปลี่ยนชื่อ เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสี ช่อง 9
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
[แก้] สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสี ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 รัฐบาล ภายใต้การนำของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ได้ออก พระราชกฤษฎีกา จัดตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เพื่อดำเนิน กิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และ เป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และ สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสี ช่อง 9 มาดำเนินการต่อ ตั้งแต่ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2520 ซึ่งเป็น วันสถาปนา อ.ส.ม.ท. โดยรัฐบาล มอบทุนเป็นประเดิม จำนวน 10 ล้านบาท
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิด อาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524 บนเนื้อที่ 14 ไร่ นอกจากนี้ ยังมี ห้องส่งโทรทัศน์ ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในขณะนั้น
ราวปี พ.ศ. 2529 ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พิธีกร รายการ ความรู้คือประทีป ในขณะนั้น ตอบรับคำเชิญของ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุง การนำเสนอ ข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับ บริษัท แปซิฟิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัดส่งผลให้ คู่ผู้ประกาศข่าวที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ ดร.สมเกียรติ และ นางสาว กรรณิกา ธรรมเกษร นั่นเอง
ราวปี พ.ศ. 2535 นาย แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท.ถูกเรียกว่า "แดนสนธยา" เนื่องจากมี กลุ่มอิทธิพลมืด ฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่ นายแสงชัย ก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท.ได้เป็นอย่างดี แต่แล้ว นายแสงชัย ก็ถูกลอบสังหาร โดยอาวุธปืน เสียชีวิต ระหว่างนั่งรถยนต์ เดินทางกลับบ้านพัก ที่ เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ จากผลการสอบสวนของตำรวจ ระบุว่า นางอุบล บุญญชโลธร จ้างวานให้ นายทวี พุทธจันทร์ บุตรเขย ส่งมือปืนไปลอบสังหาร นายแสงชัย ต่อมา นางอุบล ถูกลอบสังหารเสียชีวิตบนรถยนต์ ก่อนกลับถึงบ้านพัก เช่นเดียวกับ นายแสงชัย
[แก้] สถานีโทรทัศน์แห่งความทันสมัย โมเดิร์นไนน์ ทีวี
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 มีพิธีเปิดตัว สถานีโทรทัศน์แห่งความทันสมัย โมเดิร์นไนน์ ทีวี โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล อสมท และ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เป็นสักขีพยาน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ประกอบด้วย การเปลี่ยนสัญลักษณ์ของสถานี เป็นรูปดวงตาสีม่วง และ ปรับรูปแบบการนำเสนอ เป็น สถานีข่าว 24 ชั่วโมง เพิ่ม ข่าวต้นชั่วโมง และ แถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วง แมกกาซีน ออน ทีวี ใน ข่าวภาคค่ำ นำเสนอข่าวสาร และ สาระความรู้ ใน ประเด็น และ การนำเสนอ แบบสบายๆ โดยใช้ วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร รวมถึง ประกาศ เพิ่มความสัมพันธ์ และ เพิ่มบทบาท ให้กับ เครือข่ายข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (สหรัฐอเมริกา) สถานีโทรทัศน์บีบีซี (สหราชอาณาจักร) สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค (ญี่ปุ่น) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (จีน) เป็นต้น
สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ดำเนินการ ผลิตรายการโทรทัศน์ การออกอากาศโทรทัศน์ ตลอดจน การควบคุมการออกอากาศ โดยแพร่ภาพออกอากาศ จาก กรุงเทพมหานคร ไปยัง สถานีเครือข่าย ใน ส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการ ครอบคลุมพื้นที่ได้ ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มี ประชากร ใน ขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมี รายการประเภท ข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และ รายการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งได้จัดให้มี รายการประเภท ข่าวสาร และ สาระความรู้ ในด้านต่างๆ นำเสนอ ในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด (Prime Time) เพื่อให้ ผู้ชม ได้รับ ข่าวสาร และ ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ อย่างเท่าเทียมกัน และ มุ่งหวังว่า จะเป็น อีกทางเลือกหนึ่ง ของ ประชาชน
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
โมเดิร์นไนน์ทีวี เป็นบทความเกี่ยวกับ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือการบันเทิง ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |