ทักษิณ ชินวัตร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร (26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 — ) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย (ดำรงตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 — 19 กันยายน พ.ศ. 2549) เป็น ผู้ก่อตั้ง และ หัวหน้า พรรคไทยรักไทย เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ก่อนจะเข้ามาสู่วงการเมือง เป็น ผู้ก่อตั้ง กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น และ เคยเป็นเศรษฐีอันดับต้นของประเทศไทย [1]
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ พ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อันเนื่องมาจาก เหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ขณะกำลังร่วม การประชุมสหประชาชาติ ที่ นครนิวยอร์ก โดยปัจจุบัน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ พำนักอยู่ที่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วน คุณหญิงพจมาน ภริยา พำนักอยู่กับ นายพานทองแท้ บุตรชาย นางสาวแพทองธาร บุตรสาวคนเล็ก ที่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ด้าน นางสาวพิณทองทา บุตรสาวคนโต กำลังศึกษาอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สารบัญ |
[แก้] ชีวประวัติในช่วงแรก
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 9 คนของ นายเลิศ และนางยินดี ชินวัตร จบการศึกษาจาก โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512) และ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของรุ่น
ต่อมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโท โดยได้รับทุน ก.พ. ศึกษาต่อ สาขากระบวนการยุติธรรม (Criminal Justice) ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี สำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2518 และ ได้ศึกษาต่อ ในระดับปริญญาเอก ในสาขาเดียวกัน ที่ มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต ได้รับ ดุษฎีบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2521
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มทำงาน โดยเป็น หัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล รองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ อาจารย์ประจำ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตามลำดับ
จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2523 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ควบคู่ไปกับการรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม ซื้อภาพยนตร์ฉาย กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ประสบความล้มเหลว เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว จากนั้นได้ลาออกจากราชการ
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2526 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ก่อตั้ง และเป็น ประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด (ชื่อเดิม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอซีเอสไอ (ICSI) ปัจจุบันได้เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มี นายบุญคลี ปลั่งศิริ เป็น ประธานคณะกรรมการบริหาร) ดำเนินธุรกิจ ให้เช่าคอมพิวเตอร์ แก่สำนักงานต่างๆ และได้ขยายกิจการไปสู่ การให้บริการ วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม และ โทรคมนาคม ครบวงจร นำไปสู่การชำระหนี้สินในช่วงแรกของการทำธุรกิจ และประสบผลสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2537 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ และ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ จากนั้นไม่นาน ก็เข้าดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัย รัฐบาล นายชวน หลีกภัย และ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2538) ได้เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ต่อจาก จำลอง ศรีเมือง และ ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี ในสมัย รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ ในปี พ.ศ. 2541 ก่อตั้ง พรรคไทยรักไทย และ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรค ในที่สุด ได้เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ใน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
[แก้] นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยสมัยแรก
ในช่วงแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า แจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ [2] ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน และ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติพิพากษา ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 7 ให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ พ้นผิด ในจำนวนเสียงข้างมากนี้ มี 4 ท่านมีความเห็นว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ไม่ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว [3]
นอกจากนี้ ยังถูกโจมตีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จากตำแหน่งทางการเมือง อาจเอื้อผลประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานจากรัฐ ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีของ ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ในยุคแรก ดำเนิน นโยบายประชานิยม ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการบ้านเอื้ออาทร ทำให้ได้รับคะแนนเสียงจาก กลุ่มเกษตรกร และประชาชนในชนบททั่วไป อย่างมาก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีนโยบายปราบปรามผู้ค้ายาเสพย์ติดอย่างรุนแรง ทำให้การค้ายาบ้า ในประเทศไทยลดลงไปมาก ถือว่าเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก
นโยบายด้านสังคมอื่น ๆ ได้แก่การกวาดล้างผู้มีอิทธิพล และการขายหวยบนดิน เพื่อลดปัญหาจากการค้าหวยเถื่อน โดยการนำรายได้จากการขายหวยบนดินนี้ เป็นเงินทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจนระดับอำเภอ เพื่อคัดเลือกนักเรียนทุนเหล่านี้ให้แข่งขันกันเอง เพื่อส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศตามสาขาที่นักเรียนทุนต้องการ โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนแก่ราชการ
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มักใช้อำนาจสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์ให้เครือญาติและบุคคลใกล้ชิด เช่น การสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งสำคัญ อย่างการผลักดันให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ได้รับตำแหน่งสำคัญอย่าง ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในเวลาต่อมา
[แก้] นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยสมัยที่สอง
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 จาก ผลการเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นประวัติศาสตร์กว่า 19 ล้านเสียง โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 376 จาก 500 ที่นั่ง แม้ว่าในช่วงนั้น ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีเรื่องการคอรัปชัน ในขณะที่ พรรคคู่แข่งสำคัญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียง 96 ที่นั่ง โดยคะแนนเสียงหลักของพรรค มาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ กรุงเทพมหานคร โดยในเขตกรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย ได้ 32 จาก 37 ที่นั่ง จาก นโยบายเมกะโปรเจ็คท์ สร้างรถไฟฟ้า 7 สาย และ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย สึนามิ ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เพียง 4 ที่นั่ง
จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง จากประชาชนทั่วทุกภาค ทั้งใน เขตเมือง และ เขตชนบท ยกเว้นในภาคใต้ ซึ่งประชาชนมีความนิยม ต่อ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างเหนียวแน่น นั้น โดย พรรคไทยรักไทย ได้เพียง 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทย ได้ 1 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถึง 52 ที่นั่ง
รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นนี้ ถือว่า เป็น รัฐบาลชุดแรก ใน ประวัติศาสตร์ไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่เกิดจากพรรคการเมืองเดียว ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเกินกึ่งหนึ่ง ของ สภาผู้แทนราษฎร ผลการเลือกตั้งนี้ ทำให้การเมืองไทย มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้าสู่ระบบสองพรรค
รัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มักจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงเสมอ โดยมักจะมาจากความแตกต่างกัน ด้านแนวคิด และอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศ อีกส่วนหนึ่ง คือ เสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลมุ่งหาประโยชน์ให้กับพวกพ้อง โดยพรรคไทยรักไทยเรียกกลุ่มนักวิชาการและผู้ที่ออกมาวิจารณ์เป็นประจำอย่าง กลุ่มรู้ทันทักษิณ หรือ นายธีรยุทธ บุญมี ว่า "ขาประจำ" และมักตอบโต้ว่า ผู้ที่โจมตีรัฐบาลบางส่วนเป็น กลุ่มทุนเก่า และผู้สูญเสียผลประโยชน์ จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จากการที่ กลุ่มทุนใหม่ มีอำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์บางส่วน ก็มาจาก นักวิชาการบริสุทธิ์ ที่มีแนวคิด และอุดมการณ์ แตกต่างจากแนวทางการบริหารประเทศ ของ พรรคไทยรักไทย
ปลายปี พ.ศ.2548 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความส่วนตัว ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย จำนวน 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก (World Press Freedom) ที่จัดอันดับโดย องค์กรรีพอร์ตเตอรส์วิทเอาต์บอร์เดอรส์ ตกลงจาก อันดับที่ 59 ไปที่อันดับที่ 107 แต่ หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในวโรกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายธนา ได้ถอนฟ้อง เพื่อรับสนองกระแสพระราชดำรัส
ค่ำวันที่ 13 มกราคม ประทิน สันติประภพ สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการป.ป.ช. สนธิ ลิ้มทองกุล และ คนอื่นๆ ได้นำขบวนประชาชน ที่มาร่วมฟัง รายการ เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร กว่า 2,000 คน เดินทางมายังหน้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงกลางเดือน มกราคม รัฐบาล ได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 [4] มีสาระสำคัญ เกี่ยวกับ การขยายสัดส่วนการถือหุ้น ของบุคคล และ นิติบุคคลต่างชาติ ใน บริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้ง โทรศัพท์เคลื่อนที่ จาก ไม่เกิน 25% เป็น ไม่เกิน 50% และให้ยกเลิก สัดส่วนกรรมการบริษัท ที่ต้องเป็น บุคคลสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ออกทั้งหมด โดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา วันศุกร์ที่ 20 มกราคม และมีผลบังคับใช้ ใน วันเสาร์ที่ 21 มกราคม ฝ่ายผู้คัดค้าน รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับ ครอบครัวชินวัตร เนื่องจาก หลังจากนั้นเพียง 2 วัน ใน วันจันทร์ที่ 23 มกราคม ครอบครัวชินวัตร และ ดามาพงศ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ใน บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นทั้งหมดที่ครอบครองอยู่ จำนวน 49.595% ให้กับ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) หรือ กองทุนเพื่อการลงทุน ของ รัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดที่ทำให้ กระแสการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ประกาศ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และ จัดให้มี การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นใหม่ ใน วันที่ 2 เมษายน
วันที่ 3 มีนาคม พรรคไทยรักไทย จัดการปราศรัยใหญ่ ที่ท้องสนามหลวง โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ หัวหน้าพรรค ขึ้นปราศรัย ในเวลา 20.00 น. มีผู้เดินทางมาฟังปราศรัย เป็นจำนวนหลายแสนคน จนเต็มท้องสนามหลวง และล้นออกไปถึง ถนนราชดำเนินกลาง ใกล้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
วันที่ 5 มีนาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย แกนนำ ทั้ง 5 คน ได้นำประชาชนจำนวนหนึ่ง ปิดล้อม ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลาออกจาก นายกรัฐมนตรี และเว้นวรรคทางการเมือง พร้อมยึดทรัพย์สินเข้าประเทศให้หมด แต่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ไม่ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 215 วรรคสอง บัญญัติให้ “คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่” จึงไม่สามารถลาออกจากตำแหน่งได้
[แก้] การเว้นวรรคและลาราชการ
วันที่ 4 เมษายน เวลา 20.30 น. พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้แถลงการณ์ ผ่าน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า แม้ พรรคไทยรักไทย จะชนะการเลือกตั้ง 2 เมษายน แต่ ตนจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการสร้างความสมานฉันท์ และปรองดองในชาติ แต่ยังจำเป็นจะต้องดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีรักษาการ จนกว่าจะมีการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จนแล้วเสร็จ หลังจากนั้น ในวันที่ 6 เมษายน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาราชการ และ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน
ในระหว่างลาราชการ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้เดินทางเยือน และพบปะหารือ เป็นการส่วนตัว กับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 30 เมษายน
[แก้] รัฐประหาร 19 กันยายน
- ดูเพิ่ม รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549
คืนวันที่ 19 กันยายน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครอง ของ รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ซึ่งอยู่ในระหว่าง การร่วมการประชุมสหประชาชาติ ที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
จากนั้นไม่นาน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ที่พำนักอยู่ในกรุงลอนดอน ได้ส่งจดหมายถึงพรรคไทยรักไทย ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีเนื้อหาชี้แจงถึงสาเหตุการลาออก และได้ขอบคุณในความหวังดี ทั้งของสมาชิกพรรค และผู้ให้การสนับสนุน
นับแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ นายนพดล ปัทมะ เป็นทนายความส่วนตัว เพื่อทำหน้าที่ ผู้แทนทางกฎหมายในประเทศไทย และนายนพดลได้จัดการแถลงข่าว เพื่อตอบโต้ผู้กล่าวหา พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อยู่เป็นระยะ
[แก้] คำวิจารณ์ทางสื่อมวลชน
เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ได้รับการยอมรับเกี่ยวกับความเป็นกลาง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และต้องการการแก้ไขโดยด่วนเพื่อสอดคล้องกับการเป็นสารานุกรม กรุณาดูบทสนทนาที่เกี่ยวข้องที่หน้าพูดคุยของบทความนี้ |
- การใช้คำพูด เช่น "ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ" และ "โจรกระจอก" ในกรณีความรุนแรงในภาคใต้
- การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
- ความพยายามแทรกแซงสื่อมวลชน
- การสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
- การบล็อกหรือแจ้งเตือนปิดเว็บไซต์บางแห่งที่มีข้อความกล่าวโจมตีการทำานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เช่น เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (ยังเปิดอยู่แต่การเสนอข่าวนั้นไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน) และ เว็บไซต์คอร์รัปชันว็อทช์ (ยังคงเปิดอยู่ เคยมีปัญหาเข้าใช้งานไม่ได้ช่วงหนึ่ง แต่เป็นปัญหาทางเทคนิค)
- ผลประโยชน์ทับซ้อน
- เลือกปฏิบัติ เช่น ประกาศจะให้ความสำคัญไปเยี่ยมเยือนจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน ประเด็นนี้ เริ่มต้นมาจาก คำกล่าวของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เมื่อครั้งไปเยี่ยม ชาวนครสวรรค์ ที่เลือก พรรคไทยรักไทย ยกจังหวัด ว่า ตนเองมีเวลาน้อย ต้องทำงานมาก ดังนั้น จึงไม่มีเวลาไปพบปะชาวบ้านทุกจังหวัด จึงต้องให้ความสำคัญ ไปเยี่ยมเยือนแก่จังหวัดที่เลือก พรรคไทยรักไทย ก่อน
- มีเลขานุการส่วนตัวที่มักพบเห็นได้ในที่ต่างๆและติดตาม พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ อย่างใกล้ชิด ชื่อ นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ มีลักษณะเด่น คือ ผมขาวทั้งศีรษะ มักมีอารมณ์เกรี้ยวกราด และมีพฤติกรรม ที่ถูกวิจารณ์ ในสื่อบางฉบับ ว่า ไม่กลัวใคร สั่งการได้ แม้แต่ ข้าราชการประจำ เช่น ผู้จัดการ, [2], ไทยโพสต์, [3], เนชั่นสุดสัปดาห์, ข่าว อสมท.
[แก้] อื่นๆ
[แก้] การขายหุ้น กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- ดูบทความหลักที่ กรณีตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ป
วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ตระกูลชินวัตร และ ดามาพงศ์ ได้ขายหุ้นที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด ใน บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด (พีทีอี) ซึ่งเป็น กองทุนเพื่อการลงทุน ของ รัฐบาลสิงคโปร์ จำนวน 1,487,740,000 หุ้น (หนึ่งพันสี่ร้อยแปดสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนสี่หมื่นหุ้น) (คิดเป็น 49.595% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด) มูลค่าหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,271,200,910 บาท (เจ็ดหมื่นสามพันสองร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านสองแสนเก้าร้อยสิบบาทถ้วน) ซึ่งถือเป็น การขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้เกิด เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในสังคมไทย โดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดที่ทำให้ กระแสการขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ออกจาก นายกรัฐมนตรี ขยายตัวออกไปในวงกว้าง
[แก้] การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การขับไล่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ให้ลาออก เริ่มต้นขึ้น ในปลายปี พ.ศ.2548 จากการนำ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการ เมืองไทยรายสัปดาห์ และ ขยายตัวออกไปยังบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ในเวลาต่อมา
[แก้] บทบาททางสังคม
- รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัย 6 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- เป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิไทยคม และเป็นผู้ริเริ่ม แนวความคิด ในการนำดาวเทียมสื่อสาร "ไทยคม" มาใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาผ่านดาวเทียม เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชนบทผู้ยากไร้ ที่ไม่สามารถเรียนต่อ ได้มีโอกาสเรียนต่อในท้องถิ่นของตนเอง
- เป็นกรรมการอำนวยการ สถาบันเอเชียศึกษา ปี 2538 - ปัจจุบัน
- เป็นกรรมการสภาที่ปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เป็นกรรมการที่ปรึกษา Bangkok Club
- เป็นกรรมการอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[แก้] รางวัลเกียรติคุณ
- "Outstanding Criminal Justice Alumnus Awards จาก Criminal Justice Center, มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท (พ.ศ. 2539)
- "Distinguished Alumni Award" จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตท เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2539
- 1 ใน 3 คนไทยดีเด่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการ เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เข้ารับรางวัลจากสถานฑูตฟิลิปปินส์ (พ.ศ. 2538)
- "บุคคลดีเด่นผู้พัฒนาโทรคมนาคมเพื่อ สังคมของประเทศไทย ประจำปี 2536" จากสมาคมโทรคมนาคม แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2537)
- 1 ใน 12 นักธุรกิจผู้นำของเอเชีย ได้รับยกย่องจากหนังสือพิมพ์ Singapore Business Times (พ.ศ.2537)
- Asian CEO of the Year จาก นิตยสาร Financial World (พ.ศ.2537)
- รับพระราชทาน ปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2537)
- ทุน "Lee Kuan Yew Exchange Fellowship " จากประเทศสิงคโปร์ คนไทยคนแรกและเป็นบุคคลที่ 3 ที่ได้รับทุน (พ.ศ.2537)
- "1992 Asean Business Man of the Year" จาก Asean Institute ประเทศอินโดนีเซีย (พ.ศ. 2535)
- "รางวัลเกียรติยศจักรดาว" ด้านพัฒนาเศรษฐกิจจากคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร (พ.ศ.2535)
[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
- พ.ศ. 2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
- พ.ศ. 2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
- พ.ศ. 2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
- พ.ศ. 2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
- พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
- พ.ศ. 2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
- พ.ศ. 2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)
- The Most Blessed Order Of Setia Negara Brunei ชั้นหนึ่ง (P.S.N.B)
[แก้] ชื่อเรียก
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ มีฉายาที่ได้รับจากสื่อมวลชนว่า “แม้ว” เนื่องจาก เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่น โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (ตท.10) ตั้งให้
[แก้] ผลงาน
ผลงานในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- สามสิบบาทรักษาทุกโรค
- พักหนี้เกษตรกรรายย่อย สามปี
- กองทุนหมู่บ้าน
- กองทุนการศึกษาให้นักเรียนต่างจังหวัดมีโอกาสไปเรียนเมืองนอก (โอดอส ODOS)
- ปราบปรามยาเสพติด
- ปราบปรามผู้มีอิทธิพล
- ปลดหนี้วิกฤติ IMF
- กู้วิกฤติไข้หวัดนก
- เพิ่ม GDP จากที่โตในปี 44 2.1% จนปี 47 โตถึง 6.7%
- เงินทุนสำร้องระหว่างประเทศปี 47 เพิ่มเป็น 4.3 หมื่นล้านเหรียญ ปี 48 เพิ่มเป็น 5.4 หมื่นล้านเหรียญ
- จัดการประชุมระดับโลก APEC
- จัดงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี ในนามรัฐบาลไทย ได้อย่างเรียบร้อยและงดงาม ดังเช่น กระแสพระราชดำรัส ในการ เสด็จออกมหาสมาคม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 “ทั้งรัฐบาลได้จัดงานครั้งนี้ ได้เรียบร้อยและงดงาม”
- นโยบายก่อสร้างไนท์ซาฟารี
- นโยบายแบ่งจังหวัดสุวรรณภูมิมหานคร
- เตรียมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ในนามรัฐบาลไทย
- ให้ประชาชนเข้าถึง: เว็บไซต์ระฆัง / ตู้ไปรษณีย์ นายกฯ (เช่น กรณียายไฮ เรียกร้องที่ดินคืนมา 20 ปี เพิ่งได้)
- รายงานภารกิจที่ทำไป: รายการ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ทาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เครือข่ายทั่วประเทศ
[แก้] เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ
- ราคายางพารา เพิ่มขึ้นจาก 18 บาทเป็น 80 บาท เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
- หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป OTOP)
- กู้วิกฤติสึนามิ
[แก้] หมายเหตุ
- ↑ การวัดความร่ำรวยนี้ คำนวณจากจำนวนหุ้นที่ถือ คูณกับมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ณ ขณะนั้น (จำนวน × ราคา) ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติที่แท้จริง ตัวเลขนี้จึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น
- ↑ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวมูลความผิดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ปกปิดไม่แจ้งทรัพย์สิน คือหุ้นที่โอนไปให้คนใกล้ชิด คนขับรถ และคนรับใช้ ถือแทน โดยมีมูลค่าหุ้นจำนวน 646.984 ล้านบาท (จากมูลค่ารวมทั้งหมดที่ครอบครองกว่า 60,000 ล้านบาท) พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชี้แจง ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เอกสารการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช.ไม่ชัดเจน อีกทั้งตนเองก็โอนหุ้นนี้ไปให้ภรรยานานแล้ว ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการเมือง แต่ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า สามีภรรยาย่อมเป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในประเด็นนี้ว่า การพิพากษาตัดสินคดีที่มีผลต่อการดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองของประเทศ จะใช้การอนุมานเอาตามกฎหมายไม่ได้ ป.ป.ช.จะต้องนำสืบให้ได้ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ทราบหรือไม่ว่าภรรยาโอนหุ้นไปให้แก่คนอื่นถือไว้แทนตน เพราะในข้อเท็จจริงสามีไม่จำเป็นจะต้องทราบสิ่งที่ภรรยาทำทุกเรื่อง ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ รับรู้การโอนหุ้นครั้งนี้ (คดีนี้มิใช่คดีแพ่ง ที่สามีภรรยามีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน หากมีการละเมิดเกิดขึ้น แต่เป็นคดีคล้ายคดีอาญา ที่จะต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่า จำเลยทราบการกระทำของภรรยาหรือไม่) โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544
- ↑ ดูข้อสังเกตเพิ่มเติมของ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับคดีนี้ได้ที่ [1]
- ↑ การริเริ่มให้แก้ไข พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม เกิดจากการร้องขอของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม Orange และ DTAC เนื่องจากอยู่ในสภาวะไม่มีทุนในการแข่งขันทางการตลาดกับ เอไอเอส
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์ส่วนตัว
- ประวัติจากเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- จดหมายถึง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เรื่องเสรีภาพสื่อ
สมัยก่อนหน้า: ชวน หลีกภัย (สมัยที่ 2) |
นายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2544- 2549 |
สมัยถัดไป: พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ |
วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 | |||||
เหตุการณ์หลัก | ลำดับเหตุการณ์ | บุคคลหลัก | |||
---|---|---|---|---|---|
จุดเริ่มต้น เหตุการณ์หลัก
การเลือกตั้ง |
|
นายกรัฐมนตรี ประเทศไทย | |
---|---|
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา · พระยาพหลพลพยุหเสนา · แปลก พิบูลสงคราม · ควง อภัยวงศ์ · ทวี บุณยเกตุ · เสนีย์ ปราโมช · ปรีดี พนมยงค์ · ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ · พจน์ สารสิน · ถนอม กิตติขจร · สฤษดิ์ ธนะรัชต์ · สัญญา ธรรมศักดิ์ · คึกฤทธิ์ ปราโมช · ธานินทร์ กรัยวิเชียร · เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ · เปรม ติณสูลานนท์ · ชาติชาย ชุณหะวัณ · อานันท์ ปันยารชุน · สุจินดา คราประยูร · ชวน หลีกภัย · บรรหาร ศิลปอาชา · ชวลิต ยงใจยุทธ · ทักษิณ ชินวัตร · สุรยุทธ์ จุลานนท์ |