พระเจ้าอู่ทอง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง เป็นพระปฐมบรมกษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยา เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๗ ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ จุลศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก วันศุกร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ เวลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท (ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๙๓) และเสด็จสวรรคต เมื่อ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๗๓๑ (ตรงกับ พ.ศ. ๑๙๑๒) ครองราชสมบัติ ๒๐ ปี ผู้สืบราชพระราชบัลลังก์ต่อคือ สมเด็จพระราเมศวร
สารบัญ |
[แก้] พระเจ้าอู่ทองมาจากไหน
[แก้] แนวความคิดแรก
พระเจ้าอู่ทองมาจากอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแนวความคิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ในปัจจุบันแนวความคิดนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเนื่องจากการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีของ อ.มานิต วัลลิโภดม ที่เมืองอู่ทองแล้วพบว่า เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดีตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ทั้งสิ้น แล้วประมาณอายุเมืองนี้ว่าต้องร้างไปก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้สร้างพระนครศรีอยุธยาราว ๒๐๐ ปี ศาสตราจารย์ชอง บวสเซอลิเย่ แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาร่วมขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ สรุปว่าเมืองอู่ทองโบราณนี้ร้างไปแล้วเป็นเวลาถึง ๓๐๐ ปีก่อนหน้าการอพยพหนีโรคห่าของพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่1
[แก้] แนวความคิดที่สอง
สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มผู้ปกครองทางเหนือ ในตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหม มีต้นวงศ์อยู่ที่เมืองเชียงแสนหรือแคว้นโยนกนคร ต่อมาพระเจ้าพรหมได้อพยพมาสร้างเมืองที่เชียงรายหรือเวียงไชยปราการ กษัตริย์ที่เวียงไชยปราการที่ปกครองสืบต่อมาถูกเมืองสุธรรมวดีรุกราน จึงอพยพอยู่แถบบริเวณเมืองไตรตรึงส์สืบต่ออายุมาหลายชั่วคนจนถึงพระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
[แก้] แนวความคิดที่สาม
แนวความคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นชาวจีน เป็นเพียงการอ้างอิงจากพงศาวดารฉบับวันวลิต อีกทั้งก็ไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน ข้อสันนิษฐานนี้จึงไม่มีน้ำหนักมากพอเช่นกัน
[แก้] แนวความคิดที่สี่
พระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองเพชรบุรีที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่เป็นเพียงบันทึกชาวต่างชาติที่อาจมีความผิดพลาด อีกทั้งยังขาดหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุน ข้อสันนิษฐานนี้จึงไม่น่าจะเป็นไปได้
[แก้] แนวความคิดที่ห้า
พระเจ้าอู่ทองอยู่ที่บริเวณอยุธยานี้เดิมอยู่แล้ว เดิมเป็นเจ้าเมืองอโยธยา เมื่อมีโรคระบาดดังกล่าวก็ได้เสด็จมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณที่เป็นกรุงศรีอยุธยาในปัจจุบัน
[แก้] แนวความคิดที่หก
พระเจ้าอู่ทองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองลพบุรี โดยอ้างหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรจากชินกาลมาลีปกรณ์ ที่กล่าวถึงกษัตริย์จากเมืองอโยธยปุระเสด็จมาจากเมืองกัมโพชหรือลพบุรีในปัจจุบันมายึดเมืองชัยนาทหรือพิษณุโลกในปัจจุบัน แล้วตั้งขุนนางชื่อวัฏเดชหรือขุนหลวงพะงั่วครองเมืองสุพรรณภูมิ ญาติของวัฏเดชได้อภิเษกกับพระเจ้าอู่ทองแล้วพระองค์ก็ได้เสด็จกลับไปที่เมืองอโยธยปุระ
แนวความคิดที่หกนี้สามารถผนวกรวมกับแนวความคิดที่ห้าที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเดิมเคยอยู่ตรงบริเวณนี้มาแล้วได้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ อ.ประเสริฐ ณ นคร ได้แสดงความคิดเห็นว่าคำว่าอโยธยาที่นักวิชาการหลายท่านคิดว่าเป็นชื่อเมืองก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา กับอยุธยาเป็นชื่อเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเมืองอโยธยากับเมืองอยุธยาน่าจะเป็นเมืองเดียวกันได้
หากเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเมืองอยุธยาหรืออโยธยาเป็นเมืองที่มีอายุก่อนปี พ.ศ.๑๘๙๓ เนื่องจากมีหลักฐานที่กล่าวถึงเมืองอโยธยาที่สามารถกำหนดอายุได้เก่ากว่า พ.ศ. ๑๘๙๔ ได้หลายชิ้น เช่น จารึกหลักที่ ๑๑ ปี พ.ศ.๑๘๘๗ พบที่เขากบ จังหวัดนครสวรรค์ ได้กล่าวถึงกษัตริย์สุโขทัยส่งพระสงฆ์ไปศึกษาที่ลังกา โดยได้เดินทางผ่านเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร
จิตร ภูมิศักดิ์ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้หากกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๘๙๓ หลังจากนั้นอีกเพียงสองปีก็สามารถที่จะยกทัพไปตีเมืองเขมรได้ และยังมีแสนยานุภาพไปทั่วดินแดนสยาม มีบ้านเมืองที่เป็นปึกแผ่น พระราชวังอันสวยงาม อีกทั้งยังเลือกพื้นที่ที่เป็นชัยภูมิในการตั้งมั่นรับศึกอย่างดีเยี่ยม (ที่ตั้งของเมืองกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ ยากที่ข้าศึกจะนำทัพมาประชิดและตีกำแพงเมือง เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็จะท่วมบริเวณรอบกรุงศรีอยุธยาทั้งหมดทำให้ข้าศึกตั้งค่ายอยู่ไม่ได้ต้องยกทัพกลับไป) การที่พระเจ้าอู่ทองคิดจะสร้างเมืองให้สมบูรณ์แบบขนาดนี้คงไม่ใช้เวลาสร้างเพียงแค่ปีหรือสองปี หากแต่คงต้องมากกว่านั้น
จึงเป็นที่แน่นอนว่า อาณาจักรอยุธยาคงต้องมีการเกิดก่อนปี พ.ศ.๑๘๙๓ และคงเป็นอาณาจักรเดียวกับเมืองอโยธยาที่ได้ถูกกล่าวถึงในจารึกด้วย
[แก้] ตามหลักฐาน และ โบราณคดี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีทั้งหมด สามารถพิจารณาได้ว่าสมมติฐานว่าพระเจ้าอู่ทองมาจากไหนได้ดังว่า
ในขั้นต้นพระเจ้าอู่ทองควรจะสืบเชื้อสายมาจากลพบุรี ส่วนโคตรวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองที่ว่า สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหมที่มีมาจากเมืองโยนกนครที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปนั้นจะไม่ขอนำมาเป็นประเด็นพิจารณา เนื่องจากหลักฐานส่วนใหญ่จะเป็นเพียงตำนาน ยัง อีกทั้งไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีใดๆที่มาสนับสนุน
ข้อสมมติฐานที่คิดว่าพระเจ้าอู่ทองควรจะสืบเชื้อสายมาจากลพบุรีนั้น ก็มีเหตุผลดังต่อไปนี้
- ๑ หลักฐานที่แสดงให้เห็นชัดที่สุดว่าพระเจ้าอู่ทองควรจะสืบเชื้อสายมาจากลพบุรี คือ งานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนตันที่มีอิทธิพลของศิลปะลพบุรีอยู่มาก เช่น เจดีย์ทรงปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะซึ่งมีลักษณะแผนผังของวัดและตัวปรางค์ คล้ายกับปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี พระพุทธรูปมีพระพักตร์คล้ายกับประติมากรรมขอม
- ๒ ระบบการปกครองก็มีอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรอย่างเห็นได้ชัด เช่น ระบบเทวราชา
- ๓ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวว่า บริเวณเมืองอยุธยาในปัจจุบันมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเพิ่งมีการเกิดของแผ่นดินมาไม่นานมาก สันนิษฐานว่าคงจะร่วมสมัยกับช่วงทวารวดีตอนกลาง อีกทั้งบริเวณเมืองอยุธยาในปัจจุบันก็มีแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นที่รวมของแม่น้ำปิง วัง ยม และ น่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นแม่น้ำที่มีแหล่งวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้บริเวณเมืองอยุธยา ยังมีแม่น้ำป่าสักที่มีไหลผ่านเมืองศรีเทพที่เป็นแหล่งวัฒนธรรมสมัยทวารวดีที่สำคัญ และแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำทั้ง ๓ สายนี้สามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมกับเมืองที่มีความเจริญซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป เช่น อาณาจักรสุโขทัย หริภุญไชย ล้านนา และเมืองเล็กเมืองน้อยอีกมากมาย จึงสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยานี้คงเคยเจริญภายใต้วัฒนธรรมทวารวดีมาก่อน แรกเริ่มคงมีผู้คนอาศัยอยู่ตามสองข้างของลำน้ำเจ้าพระยา และจุดต่อของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักบริแวณ วัดพนัญเชิง และ วัดพุทไธสวรรค์
เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ และจะมีน้ำจากทางเหนือท่วมไหลลงมาท่วมทุกปีซึ่งน้ำจะได้พัดเอาตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ลงมาด้วย พื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาจึงเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยาคงเป็นเมืองท่าและจุดแวะพักสินค้าด้วย เนื่องจากมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่อ่าวไทยไหลผ่าน จึงทำให้ต่อมาได้มีพัฒนาการความเจริญจนเริ่มมีความเป็นเมือง สันนิษฐานว่าคงเมืองอยุธยาอาจเจริญขึ้นในช่วงทวารวดีตอนปลายแล้วดังพบหลักฐานทางศิลปกรรมคือเจดีย์วัดขุนใจเมือง ซึ่งมีลักษณะศิลปะและการก่อสร้างแบบศิลปะทวารวดี คือ เป็นเจดีย์ก่ออิฐไม่สอปูนองค์สูงใหญ่ เจดีย์องค์นี้ตั้งอยู่บริเวณถนนใหญ่ในตัวเกาะอยุธยา
และเมืองอยุธยาในช่วงแรกคงเจริญภายใต้อิทธิพลอำนาจของเมืองลพบุรี โดยอาจเป็นเมืองลูกหลวงดังมีข้อความปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่า “เมืองรามเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้” เมืองรามนี้สันนิษฐานว่าคงเป็นเมืองอโยธยาหรืออยุธยานั่นเอง
ต่อมาเมืองลพบุรีได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากอาณาจักรเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างยิ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือ พศว.ที่ ๑๖-๑๗ เมืองอยุธยาก็คงต้องได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรด้วยแน่นอน ถึงแม้ว่าใน พศว.ที่ ๑๘ จะมีการกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัย กษัตริย์และผู้คนบริเวณเมืองลพบุรีก็คงมิได้หายไปไหน
จึงอาจเป็นไปได้ว่ากษัตริย์จากเมืองลพบุรี อาจย้ายศูนย์กลางเมืองจากลพบุรีมาอยู่บริเวณเมืองอยุธยาในปัจจุบัน โดยสันนิษฐานว่าอาจเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยและอยากได้เมืองใหม่ที่มีชัยภูมิที่ดีกว่านี้
กษัตริย์ลพบุรีองค์ที่คิดย้ายนี้ก็อาจเป็นต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทอง โดยเมืองที่ย้ายมาระยะแรกกระจายตัวอยู่สองข้างของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังพบหลักฐานการอยู่อาศัยที่มีอายุก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓ เช่น มีการสร้างพระเจ้าพนัญเชิงซึ่งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในปีพ.ศ. ๑๘๖๗ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าวัดที่พระเจ้าพนัญเชิงประดิษฐานอยู่คงเป็นวัดขนาดใหญ่ จึงสะท้อนให้เห็นถึงการมีชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณนี้และคงเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยก่อน ปี พ.ศ. ๑๘๙๓ แต่พื้นที่รอบบริเวณสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในหน้าน้ำ จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ทำให้กษัตริย์พระองค์หนึ่งมีการคิดที่จะสร้างศูนย์กลางของเมืองใหม่ กษัตริย์พระองค์นั้นอาจเป็นสมัยพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งพระองค์ก็ได้เลือกพื้นที่บริเวณเมืองอยุธยานี้มาสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้วสถาปนาตัวเองในชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อาณาจักรอยุธยาหรืออโยธยาศรีรามเทพนคร
หากพิจารณาจากพื้นที่บริเวณที่เป็นเกาะเมืองอยุธยาที่พระเจ้าอู่ทอง หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเลือกสร้างอาณาจักรอยุธยาที่มีความมั่นคงและใหญ่โต อีกทั้งสามารถยืนหยัดอยู่ได้ถึง ๔๑๗ ปีซึ่งถือได้ว่าเป็นเวลาที่ไม่น้อย
หากจะเทียบกับอาณาจักรสุโขทัยแล้วจะเห็นได้ว่า เจริญขึ้นเพียงประมาณกว่า ๑๐๐ ปี จึงเห็นได้ว่าพื้นที่เมืองอยุธยานั้นมีทำเลชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การสร้างเมืองถาวรคือ
- ๑ พื้นที่รอบกรุงศรีอยุธยาจะมีน้ำท่วมในช่วงเวลาหน้าน้ำทุกปี หากแต่พื้นที่บริเวณเกาะเมืองนี้จะเป็นที่ดอนที่น้ำไม่ท่วมเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางเมือง อีกทั้งเมื่อมีข้าศึกยกทัพมาตีก็จะมีเวลาจำกัดเนื่องจากเมื่อน้ำท่วมข้าศึกก็จะถอยทัพกลับไปเอง
- ๒ การที่มีน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งให้น้ำเหล่านี้จะนำเอาตะกอนที่มีความอุดมสมบูรณ์ลงมาด้วย จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้และรอบๆมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเพาะปลูกเป็นอย่างดี
- ๓ แม่น้ำไหลผ่านถึง ๓ สาย เป็นกำแพงเมืองตามธรรมชาติ และเป็นเส้นทางคมนาคมกับอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือและชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของการขุดค้นทางโบราณคดีเห็นว่า ควรมีการขุดค้นที่บริเวณสองข้างของแม่น้ำทั้ง ๓ สายที่ไหลผ่านเมืองอยุธยา และบริเวณพื้นที่จุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกัน เนื่องจากบริเวณนี้มีงานศิลปกรรมคือพระประธานที่วัดพนัญเชิงที่มีอายุการก่อสร้างปี พ.ศ.๑๘๖๗ ซึ่งเก่ากว่าปีพ.ศ.ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เพื่อหาข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเพื่อมาสนับสนุนข้อสันนิษฐานข้างต้นที่กล่าวมานี้
จึงอาจสรุปได้ว่า กรุงศรีอยุธยาคงมีพัฒนาการทางสังคมความเจริญถึงระดับความเป็นเมืองก่อนปี พ.ศ.๑๘๙๓ แน่นอน และเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธพลทางการเมืองของเมืองลพบุรีด้วย ในช่วงแรกสันนิษฐานว่าศูนย์กลางเมืองอาจอยู่บริเวณวัดพนัญเชิง หรือพุทไธสวรรค์ แล้วต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๙๓ คงเป็นเพียงปีที่พระเจ้าอู่ทองย้ายศูนย์กลางของเมืองหรือย้ายพระราชวังดังความเห็นของอ.ศรีศักร วัลิโภดม ก็เป็นได้
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- จิตร ภูมิศักดิ์. ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ดวงกมล : กรุงเทพฯ, 2524.
รัชสมัยก่อนหน้า: - |
พระมหากษัตริย์ไทย อาณาจักรอยุธยา ราชวงศ์อู่ทอง ๑๘๙๓ – ๑๙๑๒ |
รัชสมัยถัดไป: สมเด็จพระราเมศวร (ครั้งที่ ๑) ราชวงศ์อู่ทอง |
พระเจ้าอู่ทอง เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |