พระราชวังบวรสถานมงคล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระราชวังที่ประทับของผู้ทรงดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทรงดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้สร้างขึ้น โดยเริ่มสร้างพร้อม ๆ กับพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. 2325 การก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ใช้พื้นที่ตั้งแต่ทิศเหนือของวัดสลัก (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) ขึ้นไปจดคลองคูเมือง (คือคลองหลอด) และได้ทำผาติกรรมที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านเหนือของวัดสลักเข้ามาเป็นเขตพระราชวังบวรสถานมงคลด้วย อาณาเขตของพระราชวังบวรสถานมงคลเดิมกว้างขวางมาก แต่ปัจจุบันได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง และถนน และเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พระราชวังบวรสถานมงคลเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของผู้ดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและในฐานะที่เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช จึงมีความสำคัญมาก พระราชวังแห่งนี้ใช้เวลาสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จและมีการฉลองพระราชวังพร้อมกับการสมโภชพระนครและฉลองพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชวังบวรสถานมงคลมีงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญ เช่น พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2330 พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ซึ่งเป็นท้องพระโรง รวมทั้งพระราชมณเฑียร ซึ่งมีพระที่นั่งอยู่ในหมู่เดียวกัน 11 องค์ คือ
- พระที่นั่งวสันตพิมาน
- พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ
- พระที่นั่งพรหมเมศธาดา
- พระที่นั่งพิมุขมณเฑียร
- พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข
พระที่นั่งตรงที่เป็นท้องพระโรงหลัง
- พระที่นั่งพรหมพักตร์
- พระที่นั่งบูรพาภิมุข
- พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
- พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
- พระที่นั่งอุตราภิมุข
นอกจากนี้ ยังมีพระที่นั่งพิมานดุสิดา(พื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และได้รื้อไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปประทับ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้าง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ขึ้นเพื่อเป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและบำเพ็ญพระราชกุศล รวมทั้งเป็นที่ตั้งพระศพกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีอุปราชาภิเษก นอกจากนี้สมเด็จพระบวราชเจ้ามหาศักดิพลเสพยังโปรดให้ซ่อมแซมพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และเปลี่ยนนามเป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และสร้างวัดขึ้นในพระราชวังด้วย คือ วัดบวรสถานสุทธาวาสซึ่งเรียกกันว่า วัดพระแก้ววังหน้า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นพระมหาอุปราชแต่ให้มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นามของวังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคลโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า พระบวรราชวัง ขณะที่วังหลวงเรียกว่า พระบรมมหาราชวัง ในสมัยนี้มีการปรับปรุงพระบวรราชวังครั้งใหญ่ให้สมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น สร้าง
- พระที่นั่งคชกรรมประเวศ
- พระที่นั่งมังคลาภิเษก
- พระที่นั่งเอกอลงกฎ
- พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นต้น
ซึ่งเป็นที่ประทับ นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งบวรปริวัติซึ่งทรงสร้างค้างไว้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จเรียบร้อย รวมทั้งเก๋งนุกิจราชบริหารด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นพระองค์สุดท้าย เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทนใน พ.ศ. 2429 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ทรงสร้าง พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส ต่อจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. 2428 แล้ว พระบวรราชวัง หรือ พระราชวังบวรสถานมงคลก็มิได้เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ดัดแปลงสนามวังหน้าเป็นส่วนหนึ่งของสนามหลวง และรื้อป้อมปราการต่าง ๆ ลง และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานไปไว้ที่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยใน พ.ศ. 2430 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. 2469 ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วิทยาลัยช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ โรงละครแห่งชาติ และท้องสนามหลวงตอนเหนือฟากตะวันตก