ตราประทับ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราประทับ (postal marking) ในทางไปรษณีย์ หมายถึงการทำเครื่องหมายต่าง ๆ ลงบนซองจดหมาย หรือ สิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์
ตราที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ตราประจำวัน (postmark) ซึ่งแสดงชื่อที่ทำการไปรษณีย์ และวันเดือนปีที่ประทับ โดยไปรษณีย์ต้นทางจะประทับตราลงบนดวงแสตมป์โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นการทำเครื่องหมายขีดค่า (cancel หรือ cancellation) ป้องกันการนำแสตมป์กลับมาใช้ใหม่ ส่วนไปรษณีย์ระหว่างทางและปลายทาง จะประทับตราลงด้านหลังจดหมายเพื่อเป็นหลักฐานการเดินทางของจดหมาย แต่ระยะหลังไม่ค่อยได้ประทับด้านหลังเนื่องจากปริมาณจดหมายที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก และมีการคัดแยกจดหมายด้วยเครื่องอัตโนมัติ
ตราประจำวัน อาจประทับด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ได้ ซึ่งตราที่ประทับด้วยมือจะเป็นที่นิยมสะสมมากกว่า ตราที่ประทับด้วยเครื่อง (เรียกตราประทับเครื่อง, machine cancellation) อาจมีรายละเอียดอื่น เช่น เวลาที่ประทับ และอาจมีส่วนที่เพิ่มเติมสำหรับการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ (slogan cancel) หรือเป็นลักษณะลูกคลื่นหรือรูปธง (flag cancel) เพื่อให้ตราสามารถขีดค่าแสตมป์หลาย ๆ ดวงพร้อมกัน
นอกจากนี้ วันที่บนตราประจำวันยังมีความสำคัญ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง เช่น วันที่ส่งแบบฟอร์มการเสียภาษีทางไปรษณีย์ในหลายประเทศจะถือจากตราประจำวันเป็นหลัก ไม่ใช้วันที่หน่วยงานด้านภาษีได้รับจดหมาย
[แก้] ตราประทับที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแสตมป์
นอกเหนือจากตราประทับสำหรับใช้งานทั่วไปทางไปรษณีย์แล้ว ยังมีตราประทับที่จัดทำขึ้นสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ ได้แก่
- ตราประจำวัน ของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว ที่เปิดให้บริการด้านไปรษณีย์ตามงานต่าง ๆ มีคุณค่าต่อการสะสมเนื่องจากตรามีการออกแบบที่พิเศษกว่าตราธรรมดา และใช้งานเป็นเวลาจำกัด ตัวอย่างเช่น ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือ งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ หรือ เป็นต้น ตราประจำวัดดังกล่าวสามารถประทับได้เฉพาะในงานเท่านั้น เมื่อจบงานตราจะถูกเก็บเข้าคลังไม่สามารถหาประทับได้อีก
- ตราประทับวันแรกจำหน่าย เป็นตราที่ประทับลงบนซองวันแรกจำหน่ายหรือของสะสมอื่น ๆ มักปรากฏอยู่บนซองเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนซื้อ กล่าวคือนักสะสมไม่สามารถประทับตรานี้เองได้
- ตราที่ระลึก เป็นตรายางที่วางอยู่ตามงานที่ไปรษณีย์ไปเปิดบริการ และนักสะสมสามารถประทับเองได้ อาจเป็นตราเดียวตลอดทั้งงาน หรือแยกวันละตรา สำหรับแบบที่แยกวัน ในอดีต วันแรกของงานจะมีแค่ตราที่ตรงกับวันแรก วันที่สองจะมีตราทั้งวันแรกและวันที่สอง ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของงาน จะมีตราให้ประทับครบทุกวัน ส่วนปัจจุบันมักมีเฉพาะตราที่ตรงกับวันยกเว้นวันสุดท้ายที่มีตราครบทุกวัน
ผู้ที่สะสมตราแบบนี้ต้องไปตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด อย่างน้อยในวันแรกและวันสุดท้าย โดย ในวันแรกจะได้ตราประจำวันที่ตรงกับวันแรกจำหน่ายของแสตมป์ ส่วนวันสุดท้ายจะได้ตราที่ระลึกครบทุกวัน แต่ถ้าไปได้บ่อยจะได้ตราที่ระลึกที่ชัดเจนกว่า เพราะตราที่ระลึกทำจากยาง ตราที่ตรงกับวันแรก ๆ มักจะเริ่มสึกหรอเมื่อถึงช่วงวันสุดท้ายของงาน