วันแรกจำหน่าย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันแรกจำหน่าย (first day of issue) คือวันแรกที่วางจำหน่ายแสตมป์ชุดหนึ่ง ๆ ให้กับนักสะสมและผู้สนใจ แสตมป์สามารถหาซื้อได้ในวันดังกล่าวจากที่ทำการไปรษณีย์ต่าง ๆ ที่มีเคาท์เตอร์จำหน่ายแสตมป์สำหรับการสะสม หรือจากร้านจำหน่ายแสตมป์ที่ไปรษณีย์จัดในงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด หรือ งานสัปดาห์สากลแห่งการเขียนจดหมาย เป็นต้น
[แก้] ซองวันแรกจำหน่าย
ซองวันแรกจำหน่าย (first day cover) เป็นซองพิเศษที่จัดทำขึ้นโดยไปรษณีย์และติดแสตมป์ชุดที่เกี่ยวข้อง พร้อมตราประทับวันแรกจำหน่าย สำหรับจำหน่ายให้นักสะสมในวันแรกจำหน่ายของแสตมป์นั้น ๆ นักสะสมจะนำซองดังกล่าวไปประทับตราประจำวันที่ไปรษณีย์ สำหรับยืนยันว่าได้ซื้อซองดังกล่าวในวันที่แสตมป์ออกซึ่งซองอาจส่งจริงทางไปรษณีย์หรือไม่ก็ได้ ซองที่ซื้อในวันอื่นจะมีคุณค่าในการสะสมลดน้อยลงเนื่องจากไม่ได้ประทับตราตรงกับวันที่แสตมป์ออก ในหลายประเทศก็มีการออกซองวันแรกสำหรับชีทที่ระลึกด้วย
ซองวันแรกของไทย ในอดีตภายในซองยังมีการ์ดพิมพ์รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับแสตมป์ด้วย แต่ปัจจุบันใช้วิธีพิมพ์รายละเอียดด้านหลังซองแทน ซองเท่าที่มีผลิตขึ้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบขึ้นกับตำแหน่งของตราประทับวันแรกจำหน่าย ได้แก่ ซองประทับนอก (ตราอยู่นอกดวงแสตมป์) และ ซองประทับใน (ตราอยู่บนดวงแสตมป์) ซองวันแรกที่ออกตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 จะมีเฉพาะซองประทับในเท่านั้น
ซองวันแรกจำหน่าย จะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นหากประทับตราประจำวันที่เกี่ยวข้องกับแสตมป์ ในหลาย ๆ ชุด ไปรษณีย์จะจัดงานขึ้นพิเศษ ซึ่งอาจจัดขึ้นที่ทำการไปรษณีย์บางแห่ง หรือ เป็นงานเฉพาะ เช่น งานครบรอบต่าง ๆ และมีให้บริการประทับตราที่ระลึกและอาจมีตราประจำวันแบบพิเศษด้วย
ถึงจะไม่มีการจัดงานสำหรับแสตมป์ที่ออก ก็อาจไปประทับ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่มีชื่อสัมพันธ์กับแสตมป์ได้ ยกตัวอย่าง เช่น แสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์อาจไปประทับที่ ปณจ. มหาราช ตั้งอยู่ที่อำเภอมหาราช จังหวัด พระนครศรีอยุธยา หรือแสตมป์ชุดกุหลาบ ซึ่งออกเพื่อใช้ในโอกาสวันวาเลนไทน์ ก็ไปประทับที่ ปณจ. บางรัก ที่เขตบางรัก กรุงเทพ เป็นต้น