พระเกี้ยว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเกี้ยว คือ ศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะ พระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คือ "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ ซึ่งมีความหมายเชื่อมโยงกับพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ "มงกุฎ" อีกทั้ง พระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีหมายความว่า "พระจอมเกล้าน้อย" อีกด้วย เมื่อพระนามาภิไธยเดิมและพระปรมาภิไธยเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความหมายว่าพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ จึงได้ใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎวางบนเบาะ เป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลของพระองค์
การใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำสถาบันการศึกษานั้น มีมาตั้งแต่สมัย "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน" โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน ต่อมาเมื่อ โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน หลังจากนั้น เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนข้าราชการฯ ซึ่งต่อมา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังคงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัย ตราบจนถึงปัจจุบัน [1]
ในภายหลัง พระเกี้ยวยังเป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนหอวัง, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย