กระบวนพยุหยาตราชลมารค
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำที่เป็นราชประเพณีไทยตั้งแต่โบราณ โดยมีหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดีก็คือ "กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง" ดังปรากฏใน ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมแห่งกรุงศรีอยุธยา
สารบัญ |
[แก้] ประวัติ
[แก้] สมัยเริ่มแรกของกระบวนเรือ
การเสด็จทางน้ำที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค นั้นมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ปรากฏไว้ว่า พระร่วงเจ้า (พระมหาธรรมราชา ๑) ทรงใช้เรือออกลอยกระทง หรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ครั้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งตัวเกาะกรุงนั้นเป็นเกาะที่ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลอง ชีวิตผูกพันกับสายน้ำ จึงปรากฏการสร้างเรือรบมากมายในกรุงศรีอยุธยา
ยามบ้านเมืองสุขสงบ ชาวกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเล่นเพลงเรือ แข่งเรือเป็นเรื่องเอิกเกริก โดยเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เมื่อจะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ หรือเสด็จฯไปทอดผ้ากฐินยังวัดวาอาราม ก็มักจะใช้เรือรบโบราณเหล่านั้นจัดเป็นกระบวนเรือยิ่งใหญ่ ดังนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีกระบวนเรือเพชรพวง ซึ่งเป็นเรือริ้วกระบวนที่ใหญ่มาก จัดออกเป็น ๔ สาย แร้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีก ๑ สาย ใช้เรือทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ลำ
ระหว่างการเคลื่อนกระบวนก็มีการเห่เรือพร้อมเครื่องประโคม จนเกิดวรรณกรรมร้อยกรองที่ไพเราะยิ่ง คือ กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบรรยายถึงความงดงาม และลักษณะของเรือในกระบวนครั้งนั้น และบทเห่เรือนี้ยังเป็นแม่แบบของกาพย์เห่เรือที่ใช้กันในปัจจุบัน
[แก้] สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ด้วยเหตุที่สมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆมากมาย ทั้งทรงสร้างเมืองลพบุรีขึ้น จึงมีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค และในบางโอกาสก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือหลวงออกรับคณะราชทูต และแห่พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส จากกรุงศรีอยุธยา มายังเมืองลพบุรี
[แก้] บันทึกของนิโคลาส แชแวร์
ตามบันทึกของ นิโคลาส แชแวร์ ราชทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยนั้น ได้บรรทึกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม ถึงกระบวนเรือไว้ว่า
"ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า ๒๐๐ ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน"
[แก้] บันทึกของกวีย์ ตาชาร์ด
ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งลาลูแบร์เป็นราชทูตเข้ามายังประเทศไทย พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิด ซึ่งมีบาทหลวงผู้หนึ่ง คือ กวีย์ ตาชาร์ด เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงขบวนเรือที่ใช้ออกรับเครื่องราชบรรณาการว่า
"มีเรือบังลังก์ขนาดใหญ่ ๔ ลำมา แต่ละลำมีฝีพายถึง ๘๐ คน ซึ่งเราไม่เคยเห็นเช่นนั้นมาก่อน ๒ ลำแรกนั้นหัวเรือทำเป็นรูปเหมือนม้าปิดทองทั้งลำ เมื่อเห็นมันมาแต่ไกลในลำน้ำนั้นดูคล้ายกับมันมีชีวิตชีวา มีเจ้าหน้าที่กองทหารรักษาพระองค์ ๒ นายมาในเรือทั้ง ๒ ลำ เพื่อรับเครื่องราชบรรณาการของสมเดจพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ครั้นบรรทุกเสร็จแล้วก็ถอยออก ไปลอยลำอยู่กลางแม่น้ำอย่างสงบเงียบ และตลอดเวลาที่ลอยลำอยู่นี้ ไม่มีสุ้มเสียงใดเลยบนฝั่ง และไม่มีเรือลำได้เลยแล่นขึ้นล่องในแม่น้ำ เป็นการแสดงความเคารพต่อเรือบัลลังก์หลวง และเครื่องราชบรรณาการที่บรรทุกอยู่นั้น"
บาทหลวง ตาชาร์ด ยังเขียนถึงขบวนเรือที่แห่พระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการที่เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองลพบุรีไว้อีกว่า
"ขบวนอันยึดยาวของเรือบังลังก์หลวง ซึ่งเคลื่อนที่ไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้มีจำนวนถึง ๑๕๐ ลำผนวกกับเรือลำอื่นๆ เข้าอีกก็แน่นแม่น้ำ แลไปได้สุดสายตา อันเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งนัก เสียงเห่แสดงควมยินดีตามธรรมเนียมนิยมของชาวสยาม อันคล้ายจะรุกไล่เข้าประกับข้าศึกนั้น ก้องไปทั้ง ฝากแม่น้ำ ซึ่งมีประชาชาพลเมืองมาคอยชมขบวนเรือยาตราอันมโหฬารนี้อยู่"
[แก้] สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในตอนเสียกรุงครั้งที่ ๒ พม่าได้เผาทำลายเรือลงจนหมดสิ้น หลังจากนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชของไทยคืนมาได้ ก็ทรงสร้างเรือขึ้นใหม่ทั้งชุด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือที่ใช้ในการรบพุ่งทั้งสิ้น เพราะในสมัยนั้นมีแต่การศึกสงคราม
ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงสร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก ๖๗ ลำ ซึ่งมีทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือที่สำคัญๆ เป็นที่รู้จักมาจนเท่าทุกวันนี้
ในรัชกาลต่อๆมาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาอีก
- รัชกาลที่ ๒ ๒ ลำ
- รัชกาลที่ ๓ ๒๔ ลำ
- รัชกาลที่ ๔ ๗ ลำ
- รัชกาลที่ ๕ ลำเดียว
- รัชกาลที่ ๖ ๒ ลำ
จากนั้นก็มิได้มีการสร้างเรืออีกจนถึงรัชกาลที่ ๙จึงได้มีการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ ๙เนื่องในโอกาสกาญจนาภิเษก เรือที่สำคัญๆ และตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ก็ได้แก่ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ ๖ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ และ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๖
ในช่วงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา อู่เรือพระที่นั่งที่ปากคลองบางกอกน้อยถูกลูกระเบิดถล่มจนเรือเสียหายไปหลายลำ จากนั้นมาจึงมีการซ่อมแซมเรือ และโอนเรือพระราชพิธี ๓๖ ลำ ให้กรมศิลปากรดูแลเก็บรักษาไว้ที่อู่เรือพระราชพิธีปากคลองบางกอกน้อย และส่วนที่เหลืออีกราว ๓๒ ลำ เป็นพวกเรือตำรวจ เรือดั้ง เรือแซง กองทัพเรือเก็บรักษาไว้
สำหรับกระบวนพยุหยาตราที่มีในรัชกาลปัจจุบันนั้น ส่วนมากจะเป็นการเสด็จไปทอดผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม และ พิธีสำคัญๆ อย่างเช่น การฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ และ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปีนี้ (สำหรับงานเอเปคนั้น เป็นเพียงการสาธิตแห่กระบวนเรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จในกระบวน)
[แก้] ในรัชกาลปัจจุบัน
สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้วจำนวน ๑๔ ครั้งแล้ว ดังนี้
- การฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ ๑๔ พฤศภาคม พ.ศ.๒๕๐๐
- กระบวนน้อย การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒
- กระบวนพยุหฯ(น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔
- กระบวนพยุหฯ(น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
- กระบวนพยุหฯ(น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
- กระบวนพยุหฯ(น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘
- กระบวนพยุหฯ(น้อย) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
- กระบวนพยุหฯ(ใหญ่) กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริย์เจ้า เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕
- กระบวนน้อย แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕
- พระราชพิธีถวายพระกฐิน(ใหญ่) ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
- กระบวนพยุหยาตราชลมารค(ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐
- กระบวนพยุหยาตราชลมารค(ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณาราชวราราม เมื่อ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙
- กระบวนพยุหฯ(ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณาราชวราราม เมื่อ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒
- กระบวนพยุหฯ(ใหญ่) การจัดประชุมการค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค ๒๐๐๓ เมื่อ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
[แก้] เส้นทางเดินเรือ
จุดเริ่มต้นของกระบวนเรือนั้น คือบริเวณท่าวาสุกรี โดยจะมีการจอดเรือตั้งแต่ หน้าสะพานกรุงธน ไปถึงหลังสะพานพระราม ๘ เรือจะเริ่มออกจากสะพานพระราม 8 ผ่านป้อมพระสุเมรุ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ ราชนาวิกสภา พระบรมมหาราชวัง หอประชุม ทร. วัดอรุณราชวราราม และไปจอดเรืออยู่หน้าวัดกัลยาณมิตร
[แก้] กระบวนเรือในวาระครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี
ในปีพุทธศักราช 2549 มีกำหนดการที่จะแสดงกระบวนเรือพระราชพิธีขึ้น ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยเป็นลักษณะของการจัดกระบวนเรือ มิใช่ "การเสด็จพยุหยาตราชลมารค" เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จโดยกระบวนเรือแต่อย่างใด
ทั้งนี้จะมีการฝึกซ้อมใหญ่ ในเวลากลางคืน ในวันที่ ๒ และ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ และการฝึกซ้อมเตรียมพร้อมก่อนวันจริง ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙
[แก้] เรือพระราชพิธี
เรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารค มีดังนี้
- เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
- เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
- เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
- เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
- เรือเอกไชยเหินหาว
- เรือเอกไชยหลาวทอง
- เรือพาลีรั้งทวีป
- เรือสุครีพครองเมือง
- เรืออสุรวายุภักษ์
- เรืออสุรปักษี
- เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
- เรือกระบี่ราญรอนราพณ์
- เรือครุฑเหินเห็จ
- เรือครุฑเตร็จไตรจักร
- เรือเสือทยานชล
- เรือเสือคำรณสินธุ์
- เรืออีเหลือง
- เรือทองขวานฟ้า
- เรือทองบ้าบิ่น
- เรือแตงโม
- เรือดั้ง
- เรือแซง
- เรือตำรวจ
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
กระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นบทความเกี่ยวกับ วัฒนธรรม ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |