พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|---|
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
พระนามเต็ม | พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหมกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธ อุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ์ มงคลลคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฏโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนวิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระนามเดิม | สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา |
พระราชสมภพ | ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ (วันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เวลา ๑๒.๒๕ นาฬิกา) |
เสวยราชสมบัติ | ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๙ ปี |
เสด็จสวรรคต | ๓๐ พฤษจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมพระชนมพรรษา ๕๒ พรรษา |
พระโอรสธิดา | ไม่มี |
วัดประจำรัชกาล | ไม่มีตามประกาศพระบรมราชโองการ แต่ถือกันว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาลโดยอนุโลมเพราะเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชจักรีวงศ์ พระราชสมภพ เมื่อ วันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เวลา ๑๒.๒๕ นาฬิกา ตรงกับวันที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๗๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นปีที่ ๙ ในสมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๙ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมพระชนมพรรษา ๕๒ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์) ไม่มีพระราชโอรส-พระราชธิดา
[แก้] เหตุการณ์สำคัญ
พ.ศ.๒๔๖๘
- ตั้งอภิรัฐมนตรีสภา
- ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะพิษเศรษฐกิจตกต่ำ
- พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เพื่อเป็นที่ระลึกให้พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกฐ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ครบ ๔๕ เล่มเนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๑๒ พิมพ์ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์เนื่องจากหาต้นฉบับหลวงมาไม่ทันการณ์ ฉลองรัชดาภิเษก เมื่อ ร.ศ.๑๑๒
- ตัดเงินปีสำหรับพระเจ้าอยู่หัวจาก ปีละ ๙ ล้านบาทเหลือ ปีละ ๖ ล้านบาท และให้ยุบกรมมหาดเล็กในรัชการที่ ๖ ลงด้วย
- ประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
- งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
พ.ศ.๒๔๖๙
- ดุลย์ข้าราชการครั้งใหญ่คราวแรก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ
- ตั้งราชบัณฑิตสภา
- เปิดหอพระสมุดวชิราวุธ (หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน)
- เปิดทางรถไฟคู่ขนานกรุงเทพ - บางซื่อ
- เปิดทางรถไฟจากบางซื่อไป ชุมทางตลิ่งชันความยาว ๑๖ กิโลเมตร
- เปิดทางรถไฟ จากกบินทร์บุรี ไปถึง อรัญประเทศ เมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙
- เปิดสะพานพระราม ๖ เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ (นับอย่างใหม่ พ.ศ. ๒๔๗๐)
- พระบาทสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยทางรถไฟ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ในจังหวัดพิษณุโลก แพร่ ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน (มณฑลพายัพ) เมื่อ ๖ มกราคม ๒๔๖๙ - ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ครั้งนี้เป็นการใช้งานรถโบกี้พระที่นั่งบรรทมที่สั่งจากบริษัทเครเวนเป็นครั้งแรก
- สั่งรถจักรไอน้ำสวิสล้อคอนโซลิเดต (2-8-0) 12 คันแรก ใช้งานกับทางภูเขาสายเหนือ
พ.ศ.๒๔๗๐
- แปรสภาพบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดเป็นบริษัทไฟฟ้าสยามคอปอเรชันจำกัด เมื่อ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พร้อมยุบบริษัทรถรางไทยจำกัดสินใช้ ที่ได้ซื้อกิจการจากกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ แต่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๐ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทไฟฟ้าสยามคอปอเรชันจำกัด
- จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก ที่วังสราญรมย์
- ได้ช้างเผือก มีพิธีสมโภชน์เมื่อ ๑๕-๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๐ และได้พระราชทานามช้างเผือกว่า "พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ" โดยมีนามเต็มคือ
"พระเศวตคชเดชน์ดิลก ประชาธิปกปทุมรัตนดำริ เทวอัคนีนิรุฒชุบเชิด กำเหนิดนภีสีฉวนเฉลียง ฉวีเยี่ยงบุษกรโกมล นขาขนขาวผ่องแผ้ว แก้วเนตรน้ำเงินงามลึก วันวณึกบรรณาการ คชเชนทรยานยวดยิ่ง มิ่งมงคลฉนำเฉลิมฉัตร สัตตมกษัตรทรงศร อมรรัตนโกสินทร์ รบือรบินบารมีทศ ยืนพระยศธรรมราชัย นิรามัยมนุญคุณ บุณยโศลกเสิศฟ้า"
พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ยืนโรงอยู่ ๑๖ ปีแล้วล้ม (ตาย) ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ขณะยืนโรงเมื่อคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ ได้ร้องเป็นอุบาทว์ขึ้นอย่างผิดปกติ และ เมื่อพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระเศวตมีงางอกขึ้นไขว้กันแล้วงวงไปติดที่ปลายงาซึ่งไขว้กันทำให้เจ้าหน้าที่กรมคชบาล ต้องเลื่อยเอางาออกไป
- สร้างรถจักรไอน้ำสวิสล้อคอนโซลิเดต (2-8-0) 6 คันหลัง ใช้งานกับทางภูเขาสายเหนือ
- สั่งรถโบกี้กลไฟบอลด์วิน เพื่อใช้แทนรถราง 4 ล้อ แต่ใช้งานไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
พ.ศ.๒๔๗๑
- ตราพระราชบัญญัติเงินตรา ทำให้ต้องเปลี่ยนคำกำกับธนบัตรจาก "สัญญาจะจ่ายเงินให้แก่ผู้นำธนบัตรมาขึ้นเป็นเงินตราสนาม" เป็น "ธนบัตรเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย"
- สั่งรถจักรดีเซลกลจากสวิสมาใช้ในงาน ปรับขบวนในย่านสถานีและใช้กับรถชานเมือง และ รถจักรฮาโนแม็กล้อแปซิฟิก (4-6-2) เพื่อแทนรถจักรบอลด์วินในเส้นทางสายเหนือ
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต ทรงเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดตรัง ระนอง ภูเก็ต และพังงา โดยทางรถไฟและ ทางเรือ เมื่อ วันที่ ๒๔ มกราคม -๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้งนี้เป็นการใช้รถจักรฮาโนแม็กทำขบวนรถพระที่นั่งเป็นคร้งแรก
พ.ศ.๒๔๗๒
- เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี เมื่อ วันที่ 31 กรกฎาคม - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2472
- เสด็จชมสุริยุปราคาเต็มดวงที่ สายบุรี มณฑลปัตตานี
- พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงเพิ่มอีกปีละ ๑ ทุน ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์
- สั่งรถจักรกาแรตต์ ๖ คัน เข้ามาใช้กับทางช่วงแก่งคอย - ปากช่อง ที่ทั้งชัน (๒๔ใน ๑๐๐๐)ทั้งหักข้อศอก (รัศมี ๒๐๐ เมตร)
พ.ศ.๒๔๗๓
- เสด็จประพาสญวน เขมร ระหว่างวันที่ ๖ เมษายน ถึง ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ มีการมอบช้างสัมฤทธิ์ให้เรสิดัง (ผู้สำเร็จราชการอาณานคมอินโดจีนฝรั่งเศส) ที่นครฮานอย
- เสด็จฯ พระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม ครั้งแรก
- เปิดทางรถไฟถึงวารินทร์ชำราบ (ฝั่งตรงข้ามตัวเมืองอุบลราชธานี)เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ - สายอุบลสำเร็จบริบูรณ์
- เปิดเส้นทางรถไฟจากบุ่งหวาย (สถานีสุดท้ายก่อนถึงสถานีวารินทร์) ถึงบ้านโพธ์มูล เมื่อ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เพื่อขนสินค้าจากแม่น้ำมูล
พ.ศ.๒๔๗๔
- เสด็จเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔
- เกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เงินปีสำหรับในหลวงเหลือปีละ ๓ล้านบาท
- ยุบมณฑล จาก ๑๔ มณฑลเหลือ ๑๐ มณฑล ยุบจังหวัดจาก ๗๙ จังหวัดเหลือ ๗๐จังหวัด
- ยุบกองทัพ จาก ๑๐ กองพล เหลือ ๔ กองพล แล้วเหลือ ๒ กองพลในปี พ.ศ. ๒๔๗๔
- เลิกเก็บเงินศึกษาพลี คนละ ๑ บาท/ปี
- ที่ประชุมสมุหเทศาภิบาลลงมติรับหลักการร่าง พระราชบัญญัติเทศบาลฉบับแรก
- เปิดทางรถไฟจาก ถนนจิระถึงบัวใหญ่
- ทางรถไฟคู่ขยายจากชุมทางบางซื่อไปถึงคลองรังสิต
- รถจักรดีเซลของสวิส ขนาด ๔๕๐ แรงม้าจำนวน ๖คัน และ รถจักรดีเซลฟริกซ์ ๒คันแรก มาถึงกรุงสยาม
- เสด็จประพาสแคนาดา และ อเมริกา เพื่อรักษาพระเนตร พร้อมให้สัมภาษณ์นักข่าวอเมริกันเรื่องโครงการมอบรัฐธรรมนูญและเรื่องเทศบาล ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน - ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔
พ.ศ.๒๔๗๕
- ฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี พร้อมเปิดสะพานพุทธยอดฟ้า เมื่อ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕
- คณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
- ประกาศหลัก ๖ ประการเป็นแนวการปกครอง คือ
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศให้มั่นคง
- จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลง
- จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอกัน
- จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาเต็มที่กับราษฎร
- พระราชทานธรรมนูญการปกครองชั่วคราว เมื่อ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕
- เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานรัฐสภาท่านแรก
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีท่านแรก
- ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง โจงกระเบน
- พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
- ประกาศใช้แผนการศึกษาฉบับใหม่
- ยุบตำแหน่งนายพล และ กองพล ให้เหลือแค่ ๑๘ กองพันทหารราบ, ๔ กองพันทหารม้า, ๒ กองพันทหารปืนใหญ่, ๒ กองพันทหารช่าง และ ๒ กองพันทหารสื่อสาร
พ.ศ.๒๔๗๖
- เปิดทางรถไฟจากบัวใหญ่ ไป ขอนแก่น เมื่อ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖
- เลิกพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
- เกิดกบฏบวรเดช (๑๔ - ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๖)
- ยุบกระทรวงวังเป็นสำนักพระราชวัง
- เลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ด้วย พรบ. การปกครองพระราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๗
- ตั้งกรมพลศึกษา เมื่อ ๑ เมษายน ๒๔๗๗ นาวาเอกหลวงศุภชลาศัยเป็นอธิบดีคนแรกหลังถูกให้ออกจากราชการกรมทหารเรือเนื่องจากก่อความวุ่นวายในกองทัพเรือ่เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๖
- ข้าวปิ่นแก้วได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดที่แคนาดา
- เสด็จทวีปยุโรปเพื่อรักษาพระเนตรระหว่างวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๖ - ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
พ.ศ.๒๔๗๗
- แปรสภาพจากกรมทหารเรือเป็นกองทัพเรือ
- เปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗
- ทรงสละราชสมบัติ เมื่อ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ (นับอย่างใหม่ต้อง พ.ศ. ๒๔๗๘)
พ.ศ.๒๔๘๔
- เสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง
- พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคต้น พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
- จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ภาคปลาย พิมพ์โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพ 2537
- เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ เขียนโดย ศิลปชัย ชาญเฉลิม, กรุงเทพ, 2530
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2470 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2472 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2473 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2474 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2475 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2476 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- รายงานประจำปีกรมรถไฟหลวง พ.ศ. 2477 (เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
รัชสมัยก่อนหน้า: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
พระมหากษัตริย์ไทย ราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2468 – 2477 |
รัชสมัยถัดไป: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล |