Ebooks, Audobooks and Classical Music from Liber Liber
a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z





Web - Amazon

We provide Linux to the World


We support WINRAR [What is this] - [Download .exe file(s) for Windows]

CLASSICISTRANIERI HOME PAGE - YOUTUBE CHANNEL
SITEMAP
Audiobooks by Valerio Di Stefano: Single Download - Complete Download [TAR] [WIM] [ZIP] [RAR] - Alphabetical Download  [TAR] [WIM] [ZIP] [RAR] - Download Instructions

Make a donation: IBAN: IT36M0708677020000000008016 - BIC/SWIFT:  ICRAITRRU60 - VALERIO DI STEFANO or
Privacy Policy Cookie Policy Terms and Conditions
ประเทศสเปน - วิกิพีเดีย

ประเทศสเปน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Reino de España
เรย์โน เด เอสปันย

ราชอาณาจักรสเปน
ธงชาติสเปน ตราประจำชาติสเปน
ธงชาติ ตราประจำชาติ
คำขวัญ: Plus Ultra
(ละติน: "มากกว่าอย่างยิ่ง")
เพลงชาติ: มาร์ชาเรอัล
แผนที่แสดงที่ตั้งของประเทศสเปน
เมืองหลวง มาดริด
40°26′ N 3°42′ W
เมืองใหญ่สุด มาดริด
ภาษาราชการ ภาษาสเปน1
รัฐบาล ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
สมเด็จพระราชาธิบดี
นายกรัฐมนตรี
ควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน
โคเซ่ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร
การสร้างชาติ
• การดองกันของราชวงศ์
• รวมเป็นประเทศ
  • โดยพฤตินัย
  • โดยนิตินัย

พ.ศ. 2035


พ.ศ. 2259
พ.ศ. 2355
เข้าร่วม EU 1 มกราคม พ.ศ. 2529
เนื้อที่
 - ทั้งหมด
 
 - พื้นน้ำ (%)
 
504,782 กม.² (อันดับที่ 50)
194,897 ไมล์² 
1.04%
ประชากร
 - ม.ค. 49 ประมาณ
 - 2545

 - ความหนาแน่น
 
46.061.274 (อันดับที่ 27)
40,847,371

87.2/กม² (อันดับที่ 84)
225.8/ไมล์² 
GDP (PPP)
 - รวม
 - ต่อประชากร
2548 ค่าประมาณ
1.014 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 11)
26,320 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 26)
HDI (2546) 0.928 (อันดับที่ 21) – สูง
สกุลเงิน ยูโร (€)2 (EUR)
เขตเวลา
 - ฤดูร้อน (DST)
CET3 (UTC+1)
รหัสอินเทอร์เน็ต .es
รหัสโทรศัพท์ +34
Note 1: ภาษาคาตาลัน ภาษาบาสก์ และภาษากาลิเซียเป็นภาษาราชการร่วมในบางแคว้นปกครองตนเอง ส่วนภาษาอารันเป็นภาษาราชการร่วมในบัลดารัน
Note 2: ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2542: เปเซตา
Note 3: ยกเว้นหมู่เกาะคะเนรีซึ่งอยู่ในเขตเวลามาตรฐานกรีนิชและ UTC+1 (ในฤดูร้อน)

สเปน (Spain) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรสเปน (Kingdom of Spain) เป็นประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรีย ร่วมกับโปรตุเกสและอันดอร์รา สเปนมีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเทือกเขาพีเรนีส

พื้นที่ของสเปนรวมถึงหมู่เกาะแบลิแอริกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หมู่เกาะคะเนรีในมหาสมุทรแอตแลนติก เมืองเซวตา และเมืองเมลียา ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ (สเปนจึงมีอาณาเขตติดต่อกับโมร็อกโกด้วย) และเกาะเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ทางด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของช่องแคบยิบรอลตาร์ ที่เรียกว่า ปลาซัสเดโซเบรานีอา (Plazas de soberanía) เช่น เกาะชาฟารีนัส เกาะอัลโบรัง เกาะเบเลซเดลาโกเมรา เกาะอะลูเซมัส และเกาะเปเรคิล ทางทิศเหนือในแนวเทือกเขาพีเรนีส เมืองเล็ก ๆ ที่เป็นดินแดนส่วนแยก (exclave) ชื่อ ยีเบีย (Llívia) ในแคว้นคาตาโลเนีย มีดินแดนประเทศฝรั่งเศสล้อมรอบอยู่

สเปนปกครองโดยพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่มีการผ่านรัฐธรรมนูญของสเปนเมื่อปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978)

ชื่อประเทศ สเปน (Spain หรือ España ในภาษาสเปน) มาจากชื่อเรียกในภาษาละตินว่า ฮิสปาเนีย (Hispania)

สารบัญ

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์สเปน

[แก้] ยุคก่อนประวัติศาสตร์และก่อนโรมัน

หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์แรกสุดของมนุษย์วานรโฮมินิดส์ที่อาศัยอยู่ในยุโรปถูกค้นพบที่ถ้ำอาตาปวยร์กา (Atapuerca) ในสเปน ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญของการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของโลก เนื่องจากได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุประมาณ 1 ล้านปีที่นั่นด้วย

ภาพวาดระบายสีรูปวัวกระทิงในถ้ำอัลตามีรา แคว้นกันตาเบรีย
ภาพวาดระบายสีรูปวัวกระทิงในถ้ำอัลตามีรา แคว้นกันตาเบรีย

มนุษย์สมัยใหม่พวกโครมันยองได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียจากทางเหนือของเทือกเขาพีเรนีสเมื่อ 35,000 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามีรา (Altamira) ทางภาคเหนือ เขียนขึ้นเมื่อ 15,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการยกย่องร่วมกับภาพเขียนที่ปรากฏในถ้ำลาสโก (Lascaux) ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของจิตรกรรมถ้ำ

วัฒนธรรมเมืองแรกเริ่มสุดที่ถูกอ้างถึงในเอกสารได้แก่ เมืองกึ่งโบราณทางภาคใต้ที่มีชื่อว่า ตาร์เตสโซส (Tartessos) ก่อนปี 1100 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวฟีนิเชียน กรีก และคาร์เทจที่ท่องไปตามท้องทะเลได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลายครั้งและได้ตั้งอาณานิคมการค้าขึ้นที่นั่นอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ

ประมาณปี 1100 ก่อนคริสต์ศักราช พ่อค้าชาวฟีนิเชียนได้มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองกาดีร์ (ปัจจุบันคือเมืองกาดิซ) ใกล้กับตาร์เตสโซส ในศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช นิคมชาวกรีกแห่งแรก ๆ เช่น เอมโพเรียน (เอมปูเรียสในปัจจุบัน) เป็นต้น เกิดขึ้นตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก ส่วนชายฝั่งทางใต้เป็นนิคมฟีนิเชียน

ในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวคาร์เทจได้มาถึงไอบีเรียขณะที่เกิดการต่อสู้กับชาวกรีก (และชาวโรมันในเวลาต่อมา) เพื่อควบคุมบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก อาณานิคมคาร์เทจที่สำคัญที่สุดคือ คาร์ทาโกโนวา (Carthago Nova) ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของเมืองการ์ตาเคนาในปัจจุบัน

ชนพื้นเมืองที่ชาวโรมันพบขณะที่ขยายอำนาจเข้าไปในบริเวณสเปนปัจจุบันนั้น คือพวกไอบีเรียน (Iberians) อาศัยอยู่ตั้งแต่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรตลอดจนถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพวกเซลต์ (Celts) ที่ส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ส่วนทางตอนในซึ่งเป็นที่ที่ชนทั้งสองกลุ่มได้เข้ามาติดต่อกัน ได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ เซลติเบเรียน (Celtiberian)

[แก้] การรุกรานของจักรวรรดิโรมันและพวกเยอรมัน

สะพานโรมันในเมืองกอร์โดบา
สะพานโรมันในเมืองกอร์โดบา

ชาวโรมันเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียระหว่างสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 ในศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช ผนวกดินแดนนี้ให้อยู่ภายใต้อำนาจของจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) หลังจากสงครามผ่านไปสองศตวรรษ ดินแดนของพวกไอบีเรียน เซลต์ กรีก ฟีนิเชียน และคาร์เทจ ได้กลายเป็นจังหวัดฮิสปาเนีย (Hispania)

ฮิสปาเนียจัดส่งอาหาร น้ำมันมะกอก ไวน์ และโลหะให้กับโรม จักรวรรดิโรมันปกครองฮิสปาเนียอยู่ประมาณ 500 ปี การล่มสลายลงของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในเวลาต่อมาไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับสังคมชั้นสูงตะวันตกเหมือนที่เกิดขึ้นในบริเตน โกล และเจอร์มาเนียอินเฟอเรียร์ระหว่างยุคมืด ภาษาต่าง ๆ ของสเปนในปัจจุบันรวมทั้งศาสนาและข้อกฎหมายพื้นฐานต่างมีจุดกำเนิดในช่วงสมัยนี้ เป็นเวลาหลายศตวรรษที่การปกครองและการตั้งถิ่นฐานของโรมันอย่างไม่ขาดสายนั้นได้ทิ้งร่องรอยหยั่งลึกและทนทานไว้ในวัฒนธรรมสเปน

เมื่อโรมันเสื่อมลง อนารยชนพวกแรกก็เริ่มเข้ารุกรานสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ชนเผ่ากอท วิซิกอท ซูเอบี อะลัน อัสดิง และวันดัลได้ข้ามแนวเขาพีเรนีสเข้ามา ชนเผ่าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นกำเนิดชาติพันธุ์เยอรมัน เหตุการณ์นี้นำไปสู่การก่อตั้งราชอาณาจักรซูเอบีในกัลไลเคียทางตะวันตกเฉียงเหนือ และราชอาณาจักรวิซิกอทในส่วนที่เหลือ (ภายหลังวิซิกอทซึ่งเป็นคริสเตียนได้ขยายอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมดไว้ได้และปกครองประมาณ 200 ปี) ช่องโค้งรูปเกือกม้า (horseshoe arch) ที่มีชื่อเสียงและได้รับการดัดแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์โดยชาวมุสลิมในสมัยหลังนั้นเป็นตัวอย่างดั้งเดิมของศิลปะวิซิกอท (Visigothic art)

[แก้] สเปนมุสลิม

ยุคของจักรวรรดิอิสลาม
ยุคของจักรวรรดิอิสลาม

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (711-718) กลุ่มคนที่พูดภาษาอาหรับจากแอฟริกาเหนือที่เรียกว่า มัวร์ (Moors) ได้เข้ายึดครองไอบีเรียอย่างรวดเร็วและปกครองอยู่เป็นเวลาถึง 800 ปี กลุ่มนี้เป็นพวกมุสลิม ดังนั้นสเปนมุสลิมจึงเป็นส่วนที่อยู่ทางตะวันตกไกลที่สุดของเขตอารยธรรมอิสลาม มีเพียงสามแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคเหนือของสเปนเท่านั้นที่ยังมีเอกราชเป็นของตนเอง ได้แก่ อัสตูเรียส นาวาร์ และอารากอน ซึ่งได้กลายเป็นราชอาณาจักรไปภายหลัง

ภายในมัสยิดเมซกีตา (Mezquita) ที่เมืองกอร์โดบา
ภายในมัสยิดเมซกีตา (Mezquita) ที่เมืองกอร์โดบา

อารยธรรมอิสลามนี้มีความก้าวหน้าในด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง แขกมัวร์ที่มีฐานะค่อนข้างร่ำรวยเนื่องจากควบคุมการค้าทองคำที่มาจากจักรวรรดิกานาในแอฟริกาตะวันตกได้สร้างสิ่งก่อสร้างสวยงามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศในแคว้นอันดาลูเซีย (Andalusia) เราจะพบเห็นสิ่งก่อสร้างของพวกมุสลิมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในแคว้นนี้หลายแห่ง เช่นที่เมืองเซวิลล์ กรานาดา และกอร์โดบา เป็นต้น

สังคมอัลอันดะลุส (สเปนมุสลิม) มีลักษณะพหุวัฒนธรรมและเปิดกว้างกับชาวยิว คริสเตียน และมุสลิมซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบและช่วยเหลือกัน อย่างไรก็ตาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ภาคเหนือและภาคกลางของไอบีเรียก็กลับไปอยู่ในการปกครองของชาวคริสต์อีกครั้ง

[แก้] การพิชิตดินแดนคืนและการรวมอาณาจักร

คู่ที่เท่าเทียมกัน: พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอนและพระราชินีอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคัสตีล
คู่ที่เท่าเทียมกัน: พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอนและพระราชินีอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคัสตีล

หลังจากการรุกรานของพวกมัวร์ 11 ปี ช่วงเวลาอันยาวนานในการขยายตัวของอาณาจักรคริสต์ที่เรียกว่า การพิชิตดินแดนคืน (Reconquista) ก็ได้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 722 (พ.ศ. 1265) พร้อมกับความพ่ายแพ้ของพวกมุสลิมในยุทธการที่โกบาดองกา (Battle of Covadonga) และการก่อตัวของอาณาจักรอัสตูเรียส ต้นปี ค.ศ. 739 (พ.ศ. 1282) กองกำลังของมุสลิมของถูกผลักดันออกไปจากกาลิเซียซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองซันเตียโกเดก็อมโปสเตลา (Santiago de Compostela) หนึ่งในสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาคริสต์ ในไม่ช้า พื้นที่ภูเขาทางตอนเหนือและรอบ ๆ เมืองบาร์เซโลนาก็ถูกกองกำลังท้องถิ่นและกองกำลังของพวกแฟรงก์เข้ายึดได้และกลายเป็นฐานที่มั่นของชาวคริสต์ในสเปน รวมทั้งการยึดเมืองโตเลโดทางภาคกลางได้ในปี ค.ศ. 1085 (พ.ศ. 1628) ทำให้ส่วนครึ่งเหนือของสเปนเป็นของชาวคริสต์ทั้งหมด

พอถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 จักรวรรดิมุสลิมอัลโมราวิด (Almoravid) ซึ่งเคยขยายอาณาเขตไปได้ไกลถึงเมืองซาราโกซาก็เริ่มแตกแยก ที่มั่นต่าง ๆ ของพวกมัวร์ที่เคยแข็งแกร่งทางภาคใต้ก็ตกเป็นของชาวคริสต์สเปน เช่น เมืองกอร์โดบาถูกยึดได้ในปี ค.ศ. 1236 (พ.ศ. 1779) เมืองเซบียาถูกยึดได้ในปี ค.ศ. 1248 (พ.ศ. 1791) เป็นต้น จากนั้นไม่กี่ปี ดินแดนเกือบทั้งหมดในคาบสมุทรไอบีเรียก็ถูกพิชิตกลับคืนมาได้สำเร็จ ยกเว้นอยู่เพียงเมืองกรานาดาเท่านั้นที่ยังคงเป็นดินแดนแทรกของพวกมุสลิม

ในปี ค.ศ. 1478 (พ.ศ. 2021) พระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 แห่งอารากอนทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งศาลศาสนาสเปน (Spanish Inquisition) และในปี ค.ศ. 1479 (พ.ศ. 2022) อาณาจักรคริสต์สองแห่งคือคัสตีลและอารากอนก็ได้รวมเข้าด้วยกัน เมื่อพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 ทรงราชาภิเษกสมรสกับพระราชินีอิซาเบลลาที่ 1 แห่งคัสตีล

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) คัสตีลและอารากอนจึงสามารถยึดกรานาดา ดินแดนแห่งสุดท้ายของพวกมัวร์ในไอบีเรียได้สำเร็จ โบอับดิล (Boabdil) เจ้าชายมัวร์องค์สุดท้ายแห่งกรานาดายอมแพ้ต่อพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ที่ 2 ในวันที่ 2 มกราคม โดยสนธิสัญญากรานาดาได้ยืนยันการผ่อนปรนทางศาสนาต่อชาวมุสลิม ในขณะที่ชาวยิวกว่า 2 แสนคนในสเปนถูกขับไล่ออกไปในปีนั้นเอง

ในปีเดียวกัน (1492) พระราชินีอิซาเบลลาที่ 1 ก็ทรงสนับสนุนให้คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งโคลัมบัสก็ได้ค้นพบโลกใหม่ (New World) ได้แก่ เกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริบเบียนรวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ตามสนธิสัญญาตอร์เดซียัส (Treaty of Tordesillas) ในปี ค.ศ. 1494 โลกได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างโปรตุเกสและคัสตีลโดยมีแนวเหนือ-ใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเส้นแบ่ง

เมื่อยึดครองกรานาดาได้สำเร็จ และยึดครองนาวาร์ได้ในปี ค.ศ. 1512 (พ.ศ. 2055) แล้ว คำว่า สเปน (Spain; España) ก็เริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเรียกชื่อของราชอาณาจักรที่รวมกันใหม่นี้เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้เรียกรวมถึงดินแดนฮิสปาเนียทั้งหมด

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 16-17

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 เป็นช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะและอักษรศาสตร์ในจักรวรรดิสเปน จึงเรียกช่วงนี้ว่ายุคทองของสเปน (Spanish Golden Age) โดยมีจักรพรรดิปกครองในราชวงศ์ฮับสบูร์ก (Habsburg)

ดินแดนรัฐอุปราชนิวสเปน (New Spain) ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปน
ดินแดนรัฐอุปราชนิวสเปน (New Spain) ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปน

สเปนได้ส่งทหารและพ่อค้าจำนวนมากเข้าไปในทวีปอเมริกาเพื่อยึดครองดินแดนต่าง ๆ ในทวีปแห่งนั้นมาเป็นของตน โดยมีอาณานิคมมากมายในทวีปแห่งนั้น ตั้งแต่ชิลีและอาร์เจนตินาไปจนถึงอเมริกากลาง เม็กซิโก บางรัฐของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย แอริโซนา นิวเม็กซิโก และเทกซัส รวมทั้งบางส่วนของโอคลาโฮมา โคโลราโด และไวโอมิง ดังนั้น ชาวสเปนจึงเป็นผู้ก่อตั้งเมืองต่าง ๆ ในดินแดนเหล่านั้น เช่น โลสอังเคเลส ซันตาเฟ และซันอันโตเนียว เป็นต้น การพิชิตจักรวรรดิต่าง ๆ และนำของมีค่ากลับมา ทำให้สเปนกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก โดยได้ครอบครองดินแดนเหล่านั้นอยู่เป็นเวลานานกว่า 300 ปี

ในขณะเดียวกัน เอกสารมุสลิมในสเปนได้ถูกเผาทำลายหรือนำไปไว้ที่ดินแดนอื่น ชาวยิวก็ถูกขับไล่ออกไปด้วย สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่เล็กน้อย ได้แก่ ความไพเราะกลมกลืนและเครื่องสายของดนตรี รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง ที่หลายแห่งได้กลายเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ โดยการประดับไม้กางเขนเข้าไป

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 18-19

พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน
พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เกิดปัญหาว่าใครควรจะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ จึงทำให้กษัตริย์ยุโรปหลายพระองค์ทรงสู้รบกันในสงครามสืบราชสมบัติสเปน (War of the Spanish Succession) เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ราชวงศ์ใหม่จากฝรั่งเศส คือ ราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ได้รับการสถาปนาขึ้นในสเปนโดยกษัตริย์พระองค์แรก คือ พระเจ้าฟิลิปที่ 5 ในปี ค.ศ. 1707 พระองค์ได้ทรงรวมราชอาณาจักรคัสตีลกับอารากอนเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมเป็นราชอาณาจักรสเปน ล้มล้างสิทธิพิเศษและความเป็นอิสระ (บทกฎหมาย) ของแต่ละภูมิภาคซึ่งเคยเป็นอุปสรรคต่อการปกครองของราชวงศ์ฮับสบูร์ก

หลังจากสงคราม การขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในแคว้นบาสก์ก็ได้สร้างความเจริญเติบโตให้กับการต่อเรือ การเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการผลิตอาหารค่อย ๆ ได้รับการฟื้นฟูขึ้น จำนวนประชากรในแคว้นคัสตีลก็เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ กษัตริย์ราชวงศ์บูร์บงได้ใช้ระบบของฝรั่งเศสเพื่อพยายามทำให้การบริการและเศรษฐกิจมีความทันสมัยยิ่งขึ้น

แต่เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 สเปนก็กลับยากจนและอ่อนแอลง ตรงกันข้ามกับการเติบโตในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 รวมทั้งถูกฝรั่งเศสที่นำโดยนโปเลียนเข้ารุกราน จนอังกฤษและโปรตุเกสต้องส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือป้องกันและขับไล่ออกไปได้ในปี ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) ซึ่งการรุกรานของฝรั่งเศสดังกล่าวก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของสเปน และยังทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงทางการเมืองอีกด้วย ช่องว่างแห่งอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1808 (พ.ศ. 2351) ถึงปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) ได้เปิดโอกาสให้ดินแดนต่าง ๆ มีอำนาจปกครองอย่างอิสระ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) อาณานิคมในทวีปอเมริกาเริ่มปลดปล่อยตนเองให้หลุดพ้นจากการปกครองของสเปน และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1825 (พ.ศ. 2368) สเปนก็เสียอาณานิคมในลาตินอเมริกาไปทั้งหมด (ยกเว้นคิวบาและเปอร์โตริโก)

และเมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 19 สเปนก็สูญเสียดินแดนที่ยังเหลืออยู่ในทะเลแคริบเบียนและเอเชีย-แปซิฟิกไป ซึ่งได้แก่ คิวบา เปอร์โตริโก และสแปนิชอีสต์อินดีส (เฉพาะฟิลิปปินส์และกวม) ให้กับสหรัฐอเมริกา หลังจากถูกผลักดันให้สู้รบในสงครามสเปน-อเมริกัน (Spanish-American War) ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2441) อย่างไม่เจตนาและไม่สมัครใจ ต่อมาในปี ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) สเปนได้ขายดินแดนสแปนิชอีสต์อินดีสที่เหลือในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ หมู่เกาะมาเรียนา หมู่เกาะคาโรไลน์ และหมู่เกาะปาเลาให้กับเยอรมนี (ส่วนสแปนิชโมร็อกโก สแปนิชสะฮารา และสแปนิชกินีซึ่งเป็นอาณานิคมในทวีปแอฟริกาได้รับเอกราชในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20)

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 20

การโจมตีที่เกร์นีการะหว่างสงครามกลางเมืองสเปน พ.ศ. 2480
การโจมตีที่เกร์นีการะหว่างสงครามกลางเมืองสเปน พ.ศ. 2480

ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศสเปนก็ยังไม่อยู่ในความสงบเท่าใดนัก ชาวสเปนบางคนพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ) และผลักดันให้กษัตริย์ออกไปจากประเทศ อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ความขัดแย้งระหว่างชาวสเปนกลุ่มที่นิยมประชาธิปไตยกับชาวสเปนที่นิยมเผด็จการได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War) ขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยพ่ายแพ้ และเผด็จการที่มีชื่อว่า ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ได้เข้ามามีอำนาจในรัฐบาล

หลังจากจอมพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เจ้าชายควน การ์โลส (Prince Juan Carlos) ผู้เป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์สเปนที่ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปน จากการรับรองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ปี ค.ศ. 1978 การเข้ามาของระบอบประชาธิปไตยได้ทำให้แคว้นบางแห่ง ได้แก่ บาสก์และนาวาร์ ได้รับอัตตาณัติ (ความเป็นอิสระ) ทางการเงินอย่างสมบูรณ์ และแคว้นหลายแห่ง ได้แก่ บาสก์ คาตาโลเนีย กาลิเซีย และอันดาลูเซียก็ได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายไปสู่แคว้นอื่น ๆ ในสเปนเช่นกัน ทำให้สเปนกลายเป็นเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจทางการปกครองมากที่สุดในยุโรปตะวันตก แต่ในแคว้นบาสก์ยังคงมีลัทธิชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายเอตา (ETA) ให้ก่อวินาศกรรมเพื่อแยกแคว้นนี้เป็นประเทศเอกราช

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญสเปนฉบับปัจจุบันผ่านความเห็นชอบในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ประเทศสเปนมีนายกรัฐมนตรี (Presidentes del Gobierno) มาแล้ว 5 คน ได้แก่

  • นายอาดอลโฟ ซูอาเรซ กอนซาเลซ (Adolfo Suárez González) ค.ศ. 1977-1981 (พ.ศ. 2520-2524)
  • นายเลโอปอลโด กัลโบ โซเตโล อี บุสเตโล (Leopoldo Calvo Sotelo y Bustelo) ค.ศ. 1981-1982 (พ.ศ. 2524-2525)
  • นายเฟลีเป กอนซาเลซ มาร์เกซ (Felipe González Márquez) ค.ศ. 1982-1996 (พ.ศ. 2525-2539)
  • นายโคเซ่ มารีอา อัซนาร์ โลเปซ (José María Aznar López) ค.ศ. 1996-2004 (พ.ศ. 2539-2547)
  • นายโคเซ่ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร (José Luis Rodríguez Zapatero) ค.ศ. 2004-ปัจจุบัน

ทุกวันนี้ สเปนเป็นประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และใช้สกุลเงินยูโรในฐานะสกุลเงินประจำชาติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542

[แก้] การเมือง

ประเทศสเปนมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 (1978) หลังจากที่ถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการโดยจอมพลฟรังโก มา 36 ปี (พ.ศ. 2482-2521) ในปี พ.ศ. 2521 เมื่อสเปนเปลี่ยนมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน

[แก้] ประมุขแห่งรัฐ

สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน
สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของสเปน พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสเปน

  • ทรงมีพระราชอำนาจที่จะอนุมัติและประกาศใช้พระราชบัญญัติต่าง ๆ
  • เรียกประชุม ยุบรัฐสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้ง
  • ทรงเสนอนามผู้ที่ทรงเห็นว่าสมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งทรงแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรีภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
  • ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับราชการจะต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องผู้หนึ่ง ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในพระราชกรณียกิจนั้น ๆ

[แก้] รัฐสภา

รัฐสภาสเปน คือ สภากอร์เตส (Las Cortes) ทำหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับงบประมาณ ควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ใช้อำนาจอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐสภาสเปนประกอบด้วย

  • สภาผู้แทนราษฎร (Congress of Deputies - Congreso de los Diputados) ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 300 คน และอย่างมาก 400 คน ขึ้นอยู่กับการแบ่งเขตเลือกตั้งและจำนวนพลเมือง ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกทั้งหมด 350 คน และอยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี
  • วุฒิสภา (Senate - Senado) รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีจำนวนสมาชิกเท่าใด แต่กำหนดให้เลือกตั้งทำนองเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันวุฒิสภามีสมาชิก 259 คน โดยสมาชิก 208 คนจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรง และ 51 คน จะได้รับแต่งตั้งจากแคว้นต่าง ๆ 19 แคว้นสมาชิกวุฒิสภาดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี

หลักเกณฑ์การเลือกตั้งกำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สำหรับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ในกรณีที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล (ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี) ข้าราชการพลเรือน และทหาร จะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนจึงจะมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้งได้

[แก้] รัฐบาล

โคเซ่ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน
โคเซ่ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร นายกรัฐมนตรีสเปน

ตามรัฐธรรมนูญของสเปน รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจและหน้าที่ฝ่ายบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นผู้กำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งการป้องกันประเทศ รัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี (President of the Government) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้โดยกฎหมายในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษาหารือกับผู้แทนของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีสมาชิกอยู่ในรัฐสภา แล้วเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรได้รับการเลือกตั้งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอรับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด (absolute majority) พระมหากษัตริย์จะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องขอรับความไว้วางใจจากรัฐบาลอีก รัฐบาลมีวาระ 4 ปี หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป

[แก้] พรรคการเมือง

สเปนมีพรรคการเมืองที่สำคัญ ดังนี้
1. พรรคสังคมนิยมแรงงานสเปน (Partido Socialista Obrero Espanol: PSOE) เป็นพรรคสังคมนิยมแรงงาน มีนายโคเซ่ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร (José Luis Rodríguez Zapatero) เป็นเลขาธิการพรรค (General Secretary) มีอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่ซ้ายจัดนัก หรือที่เรียกว่า middle left center เป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญและเป็นรัฐบาลของสเปนมายาวนานถึง 14 ปี (2225-2539 และ 2547-ปัจจุบัน)
2. พรรคประชานิยม (Partido Popular: PP) พรรคฝ่ายขวาแบบ center-right เป็นพรรครัฐบาลในสมัยที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2539 - มีนาคม 2543) และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2543 เป็นสมัยที่ 2 หัวหน้าพรรค คือ นายมาเรียโน ราโคย เบรย์ (Mariano Rajoy Brey) นโยบายหลักของพรรคโดยทั่วไป คือ สนับสนุนการค้าเสรี ร่วมมืออย่างใกล้ชิดทางการเมืองและเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป
3. พรรคสหภาพฝ่ายซ้าย (Izquierda Unida: IU) แต่เดิมคือพรรคคอมมิวนิสต์ มีนายกัสปาร์ ยามาซาเรส ตรีโก (Gaspar Llamazares Trigo) เป็นเลขาธิการพรรค (General Secretary)
4. พรรค Convergencia i Unio - CiU (Convergence and Union) เป็นพรรคจากแคว้นคาตาโลเนีย มีนายอาร์ตูร์ มัส อี กาบาร์โร (Artur Mas i Gavarró) เป็นหัวหน้าพรรค
5. พรรคชาตินิยมบาสก์ (Partido Nacionalista Vasco: PNV) เป็นพรรคการเมืองของแคว้นบาสก์ มีนายโคซู คอง อีมัซ ซัน มีเกล (Josu Jon Imaz San Miguel) เป็นหัวหน้าพรรค
6. พรรคผสมคะเนรี (Coalición Canaria: CC) พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่เกาะคะเนรี มีนายเปาลีโน รีเบโร เบาเต (Paulino Ribero Baute) เป็นหัวหน้าพรรค

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

ประเทศสเปนแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 แคว้นปกครองตนเอง (autonomous communities) และ 2 นครปกครองตนเอง (autonomous cities) แต่ละแคว้นจะแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น จังหวัด (provinces) รวมทั้งหมด 50 จังหวัด

[แก้] แคว้นและนครปกครองตนเอง

อาคารครึ่งทรงกลมที่นครแห่งศิลปะและวิทยาศาสตร์ เมืองวาเลนเซีย
อาคารครึ่งทรงกลมที่นครแห่งศิลปะและวิทยาศาสตร์ เมืองวาเลนเซีย

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดโอกาสให้แคว้นต่าง ๆ มีสิทธิในการปกครองตนเองได้ ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังการปกครองตนเองของแต่ละแคว้น โดยที่แต่ละแคว้นมีสภาของตนเอง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาทุก ๆ 4 ปี และได้รับสิทธิและอำนาจบริหารท้องถิ่นของตนเอง ทั้งนี้จะอยู่ภายใต้รัฐบาลสเปน โดยแคว้นปกครองตนเอง (autonomous communities - comunidades autónomas) และนครปกครองตนเอง* (autonomous cities - ciudades autónomas) ของประเทศสเปน ประกอบด้วย

เขตการปกครองหลักของประเทศสเปน
เขตการปกครองหลักของประเทศสเปน
  • เอซเตรมาดูรา
  • กาลิเซีย
  • ลาเรียวคา
  • มาดริด
  • มูร์เซีย
  • นาวาร์
  • วาเลนเซีย
  • เซวตา*
  • เมลียา*

[แก้] จังหวัด

นอกจากแคว้นปกครองตนเองดังกล่าวแล้ว สเปนยังมีโครงสร้างจังหวัดอีกด้วย โดยแบ่งออกเป็น 50 จังหวัด (provinces - provincias) โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างรอง ถัดจากระดับแคว้นปกครองตนเองลงไป (ย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2376) ดังนั้น แคว้นปกครองตนเองจึงเกิดขึ้นจากกลุ่มของจังหวัด (เช่น แคว้นปกครองตนเองเอซเตรมาดูราประกอบด้วยจังหวัดกาเซเรสและจังหวัดบาดาโคซ) แต่แคว้นปกครองตนเองอัสตูเรียส หมู่เกาะแบลิแอริก กันตาเบรีย ลาเรียวคา นาวาร์ มูร์เซีย และมาดริด แต่ละแคว้นดังกล่าวจะมีอยู่เพียงจังหวัดเดียว ตามธรรมเนียมแล้ว จังหวัดต่าง ๆ มักจะถูกแบ่งย่อยลงเป็นภูมิภาคทางประวัติศาสตร์หรือ โกมาร์กัส (comarcas)

[แก้] บริเวณอำนาจอธิปไตย

ประเทศสเปนมีดินแดนส่วนแยกตั้งอยู่ริมและนอกชายฝั่งทวีปแอฟริกาที่มีชื่อเรียกว่า ปลาซัสเดโซเบรานีอา (plazas de soberanía - places of sovereignty) ได้แก่ เซวตา (Ceuta) และเมลียา (Melilla) ซึ่งเป็นนครปกครองตนเอง มีสถานะอยู่ระหว่างระดับเมืองกับระดับแคว้น ส่วนเกาะชาฟารีนัส (Islas Chafarinas) เกาะอะลูเซมัส (Peñón de Alhucemas) และเกาะเบเลซเดลาโกเมรา (Peñón de Vélez de la Gomera) ต่างอยู่ภายใต้การบริหารของสเปน

แม้ว่าหมู่เกาะคะเนรี เซวตา และเมลียาจะไม่ได้เป็นแคว้นทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีสถานะพิเศษ

[แก้] ภูมิศาสตร์

ประเทศสเปนมีเนื้อที่ 504,782 ตารางกิโลเมตร (194,884 ตารางไมล์) มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 51 ของโลก (รองจากประเทศไทย) มีขนาดพอ ๆ กับประเทศเติร์กเมนิสถาน และค่อนข้างจะใหญ่กว่ารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา

[แก้] ที่ตั้ง

ประเทศสเปนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปบนคาบสมุทรไอบีเรีย

[แก้] เขตแดน

เทือกเขาพีเรนีส (ภูเขาอาเนโต)
เทือกเขาพีเรนีส (ภูเขาอาเนโต)
  • เขตแดนทางบก:

ทั้งหมด: 1,917.8 กิโลเมตร

ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อ: อันดอร์รา 63.7 กิโลเมตร, ฝรั่งเศส 623 กิโลเมตร, ยิบรอลตาร์ 1.2 กิโลเมตร, โปรตุเกส 1,214 กิโลเมตร, โมร็อกโก (เซวตา) 6.3 กิโลเมตร, โมร็อกโก (เมลียา) 9.6 กิโลเมตร

  • ชายฝั่งทะเล:

4,964 กิโลเมตร

  • การอ้างสิทธิ์ทางทะเล:

เขตนอกน่านน้ำอาณาเขต: 24 ไมล์ทะเล (44 กิโลเมตร)

เขตเศรษฐกิจจำเพาะ: 200 ไมล์ทะเล (370 กิโลเมตร) (เฉพาะในมหาสมุทรแอตแลนติก)

ทะเลอาณาเขต: 12 ไมล์ทะเล (22 กิโลเมตร)

  • ระดับความสูง:

จุดต่ำสุด: มหาสมุทรแอตแลนติก 0 เมตร

จุดสูงสุด: ยอดเขาเตย์เด (Pico del Teide) ในหมู่เกาะคะเนรี สูง 3,718 เมตร หมายเหตุ ภูเขาที่สูงที่สุดในภาคพื้นทวีปของสเปนคือ มูลาเซง (Mulhacén) ในจังหวัดกรานาดา แคว้นอันดาลูเซีย สูง 3,481 เมตร

[แก้] ลักษณะภูมิประเทศ

แผนที่คาบสมุทรไอบีเรีย แสดงแผ่นดินใหญ่ประเทศสเปนและหมู่เกาะแบลิแอริก
แผนที่คาบสมุทรไอบีเรีย แสดงแผ่นดินใหญ่ประเทศสเปนและหมู่เกาะแบลิแอริก

แผ่นดินใหญ่ของประเทศสเปนมีลักษณะเด่นคือ เป็นที่ราบสูงและแนวภูเขา เช่น เทือกเขาพีเรนีส เซียร์ราเนวาดา โดยมีแม่น้ำสายหลักหลายสายที่ไหลจากบริเวณที่สูงเหล่านี้ ได้แก่ แม่น้ำตาโค (Tajo) แม่น้ำเอโบร (Ebro) แม่น้ำดวยโร (Duero) แม่น้ำกวาเดียนา (Guadiana) และแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ (Guadalquivir)

ส่วนที่ราบตะกอนน้ำพาพบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเล โดยที่มีใหญ่ที่สุดได้แก่ ที่ราบตะกอนน้ำพาของแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ในแคว้นอันดาลูเซีย ส่วนในภาคตะวันออกจะมีที่ราบชนิดนี้บริเวณแม่น้ำขนาดกลาง เช่น แม่น้ำเซกูรา (Segura) แม่น้ำคูการ์ (Júcar) แม่น้ำตูเรีย (Turia) เป็นต้น

[แก้] ลักษณะภูมิอากาศ

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศสเปนเอง ที่ส่วนเหนือนั้นอยู่ในทิศทางของกระแสลมกรด รวมทั้งสภาพพื้นที่และภูเขา จึงทำให้ภูมิอากาศของประเทศนี้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก โดยสามารถแบ่งเขตอากาศอย่างหยาบ ๆ ได้ตามบริเวณต่าง ๆ ต่อไปนี้:

  • ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนเหนือและตะวันออก (คาตาโลเนีย วาเลนเซียภาคเหนือ และหมู่เกาะแบลิแอริก): ฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่นจนถึงร้อนจัด สัมพันธ์กับอากาศที่อบอุ่นจนถึงเย็นในฤดูหนาว มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 600 มิลลิเมตรต่อปี ถือเป็นเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
  • ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกเฉียงใต้ (อะลีกันเต มูร์เซีย และอัลเมรีอา): ฤดูร้อนมีอากาศร้อน ส่วนในฤดูหนาวมีอากาศอบอุ่นจนถึงเย็น กาโบเดกาตา (ได้รับรายงานว่าเป็นสถานที่ที่มีอากาศแห้งที่สุดในยุโรป) มีอากาศแห้งมากและกึ่งทะเลทรายอย่างแท้จริง ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามีเพียง 150 มิลลิเมตรต่อปี ส่วนใหญ่พื้นที่นี้จึงถูกจัดอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบกึ่งแห้งแล้งตามเกณฑ์ปริมาณน้ำฝน
  • ชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนใต้ (พื้นที่มาลากาและชายฝั่งของกรานาดา): ฤดูร้อนมีอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวอากาศเย็นสบายไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 20 องศาเซเลเซียสและมีอากาศชื้น มีลักษณะใกล้เคียงภูมิอากาศแบบกึ่งโซนร้อน
  • หุบเขากวาดัลกีบีร์ (เซวิลล์และกอร์โดบา): ฤดูร้อนมีอากาศแห้งและร้อนจัด ส่วนในฤดูหนาวมีอากาศเย็นสบายไม่หนาวจัด
  • ชายฝั่งแอตแลนติกตะวันตกเฉียงใต้ (กาดิซและเวลบา): ทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาวมีอากาศค่อนข้างสบาย ไม่รุนแรง อากาศชื้น
  • ที่ราบสูงภายใน: ฤดูหนาวอากาศหนาว (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่) ฤดูร้อนอากาศร้อน มีลักษณะใกล้เคียงภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีป และถือว่ามีอากาศแห้ง (ปริมาณฝนเฉลี่ยประจำปี 400-600 มิลลิเมตร)
  • หุบเขาเอโบร (ซาราโกซา): ฤดูร้อนมีอากาศร้อนจัด ส่วนฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น ใกล้เคียงกับภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีปเช่นกัน ถือว่ามีอากาศแห้งตามเกณฑ์ปริมาณน้ำฝน
  • ชายฝั่งแอตแลนติกเหนือ หรือ "สเปนเขียว" (กาลิเซีย อัสตูเรียส ชายฝั่งบาสก์คันทรี): อากาศชื้นมาก (ปริมาณฝนเฉลี่ยประจำปี 1,000 มิลลิเมตร และบางจุดมากกว่า 1,200 มิลลิเมตร) ส่วนฤดูร้อนอากาศไม่ร้อนจัดและฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย มักจัดอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทร
  • เทือกเขาพีเรนีส: โดยรวมมีอากาศชื้น ฤดูร้อนมีอากาศเย็น ส่วนในฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น จุดสูงสุดของเทือกเขามีภูมิอากาศแบบแอลป์
  • หมู่เกาะคะเนรี: เป็นเขตภูมิอากาศแบบกึ่งโซนร้อนตามเงื่อนไขของอุณหภูมิ โดยมีอากาศไม่หนาวจัดและค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี (18-24 องศาเซลเซียส; 64-75 องศาฟาเรนไฮต์) โดยในหมู่เกาะทางตะวันออกมีอากาศแบบทะเลทราย ส่วนในหมู่เกาะทางตะวันตกจะมีอากาศชื้น จากการศึกษาของโทมัส วิตมอร์ (Thomas Whitmore) หัวหน้าการวิจัยทางภูมิอากาศวิทยาที่มหาวิทยาลัย Syracuse สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมืองลัสปัลมัสเดกรันกานาเรีย (Las Palmas de Gran Canaria) มีภูมิอากาศที่ดีที่สุดในโลก
สถานที่ อุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกไว้ อุณหภูมิต่ำสุดที่บันทึกไว้
เมดิเตอร์เรเนียน ) ) ) )
มูร์เซีย  47.2°ซ   117.0°ฟ    −6.0°ซ   21.2°ฟ  
มาลากา  44.2°ซ   111.6°ฟ   −3.8°ซ   25.1°ฟ  
วาเลนเซีย  42.5°ซ   108.5°ฟ   −7.2°ซ   19°ฟ  
อะลีกันเต  41.4°ซ   106.5°ฟ   −4.6°ซ   23.7°ฟ  
ปัลมาเดมายอร์กา  40.6°ซ   105.1°ฟ   -   - 
บาร์เซโลนา  39.8°ซ   103.6°ฟ   −10.0°ซ   14°ฟ  
คีโรนา  41.7°ซ   107°ฟ    −13.0°ซ   8.6°ฟ  
ดินแดนภายใน ) ) ) )
เซวิลล์  47.0°ซ   116.6°ฟ    −5.5°ซ   22.1°ฟ  
กอร์โดบา  46.6°ซ   115.9°ฟ    -   -  
บาดาโคซ  45.0°ซ   113°ฟ    -   -  
อัลบาเซเต  42.6°ซ   108.7°ฟ    −24.0°ซ   −11.2°ฟ  
ซาราโกซา  42.6°ซ   108.7°ฟ    -   -  
มาดริด  42.2°ซ   108.0°ฟ    −14.8°ซ   5.4°ฟ 
บูร์โกส  41.8°ซ   107.2°ฟ    −22.0°ซ   −7.6°ฟ 
บายาโดลิด  40.2°ซ   104.4°ฟ    -   - 
ซาลามังกา  -   -    −20.0°ซ   −4.0°ฟ 
เตรวยล์  -   -    −19.0°ซ   −2.2°ฟ 
ชายฝั่งแอตแลนติกเหนือ ) ) ) )
บิลบาโอ  42.0°ซ   107.6°ฟ    −8.6°ซ   16.5°ฟ 
อาโกรูญา  37.6°ซ   99.7°ฟ    −4.8°ซ   23.4°ฟ 
คีคอง  36.4°ซ   97.5°ฟ    −4.8°ซ   23.4°ฟ 
หมู่เกาะคะเนรี ) ) ) )
ลัสปัลมัสเดกรันกานาเรีย  38.6°ซ   102°ฟ    11.4 °ซ   48.6°ฟ 
อาคารเมโทรโพลิส กรุงมาดริด
อาคารเมโทรโพลิส กรุงมาดริด
กาซามีลา (Casa Milà) เมืองบาร์เซโลนา
กาซามีลา (Casa Milà) เมืองบาร์เซโลนา

[แก้] ข้อพิพาทเรื่องดินแดน

[แก้] ดินแดนที่สเปนอ้างสิทธิ์

สเปนได้เรียกร้องให้มีการคืนยิบรอลตาร์ (Gibraltar) ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่ใกล้จุดใต้สุดของคาบสมุทร ทางด้านตะวันออกของช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ยิบรอลตาร์ถูกยึดครองระหว่างสงครามสืบราชสมบัติสเปน ในปี ค.ศ. 1704 และถูกยกให้อยู่ภายใต้การปกครองของบริเตนอย่างถาวรตามสนธิสัญญาอูเทรชท์ (Treaty of Utrecht) ค.ศ. 1713 ประชากรส่วนใหญ่ของยิบรอลตาร์ประมาณ 30,000 คนยังต้องการให้ยิบรอลตาร์เป็นของบริเตนอยู่ โดยมีการออกเสียงลงประชามติเพื่อยืนยัน สหประชาชาชาติได้เรียกสหราชอาณาจักรและสเปนให้มาทำข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ในขณะที่สเปนไม่ยอมรับเขตแดนนี้และมักจะมีการตรวจสอบการผ่านแดนอย่างเข้มงวดเสมอ โดยบ่อยครั้งที่มีการปิดชายแดนเพื่อที่จะกดดันยิบรอลตาร์ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าและแรงงานจากสเปน

นอกจากนั้นแล้ว การกำหนดเขตชายแดนตามสนธิสัญญาอูุเทรชท์ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยสเปนยืนยันว่าสหราชอาณาจักรเข้าครอบครองดินแดนรอบเขตสนามบินซึ่งเดิมไม่ได้รวมอยู่ในสนธิสัญญาดังกล่าว

[แก้] ดินแดนของสเปนที่ประเทศอื่นอ้างสิทธิ์

โมร็อกโกได้อ้างสิทธิ์เหนือเมืองเซวตา เมืองเมลียา เกาะเบเลซ เกาะอะลูเซมัส หมู่เกาะชาฟารีนัส และเกาะเปเรคิล ทั้งหมดตั้งอยู่ชายฝั่งทางเหนือของทวีปแอฟริกา โดยโมร็อกโกชี้แจงว่าดินแดนดังกล่าวถูกยึดเอาไปในขณะที่โมร็อกโกไม่สามารถขัดขวางได้และไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาใด ๆ เพื่อยกให้ไป (แต่ก็ยังไม่ปรากฏประเทศโมร็อกโกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ 15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนเหล่านั้นได้เข้าไปอยู่ในการครอบครองของสเปน) ส่วนสเปนก็อ้างว่าดินแดนดังกล่าวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ ไม่สามารถแยกได้ ทั้งยังเป็นของสเปนหรือเชื่อมโยงกับสเปนมาตั้งแต่ก่อนการรุกรานของพวกมุสลิมในปี ค.ศ. 711 (สเปนกลับไปปกครองบริเวณเซวตาและเกาะเปเรคิลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1415 และได้ปกครองดินแดนส่วนที่เหลือด้วยเช่นกัน ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่สามารถพิชิตเมืองกรานาดาได้เมื่อปี ค.ศ. 1492) สเปนยังกล่าวอีกด้วยว่าการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวของโมร็อกโกนั้นเป็นเพียงการอ้างสิทธิ์ตามเขตภูมิศาสตร์เท่านั้น ลักษณะที่คล้ายกันในเรื่องการครอบครองดินแดนข้ามทวีปอย่างเช่นการเป็นเจ้าของคาบสมุทรไซไน (ที่อยู่ในทวีปเอเชีย) ของอียิปต์ หรือการเป็นเจ้าของเมืองอิสตันบูล (อยู่ในทวีปยุโรป) ของตุรกี จึงมักถูกสเปนนำมาใช้สนับสนุนจุดยืนของตนเอง

ส่วนโปรตุเกสก็ไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของสเปนเหนือเมืองโอลีเบนซา (Olivenza) ในแคว้นเอซเตรมาดูรา โดยกล่าวว่าสนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna) ซึ่งสเปนได้ลงนามไว้เมื่อปี ค.ศ. 1815 นั้น ได้กำหนดให้สเปนคืนดินแดนดังกล่าวให้โปรตุเกสด้วย แต่สเปนก็อ้างว่าสนธิสัญญาเวียนนาได้เปิดช่องให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญาบาดาโคซ (Treaty of Badajoz) ที่โปรตุเกสยกเมืองดังกล่าวให้สเปน "ตลอดไป (perpetual)" ในปี ค.ศ. 1801 ยังคงอยู่

[แก้] เศรษฐกิจ

มีอัตราเงินเฟ้อคิดเป็น 2.6 (ค่าประมาณปี พ.ศ. 2546) สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สดและแห้ง น้ำมันปิโตรเลียม ยา น้ำมันมะกอก รองเท้า โดยส่งสินค้าออกไปฝรั่งเศสร้อยละ 19 ส่งไปเยอรมนีร้อยละ 12 ส่งไปโปรตุเกสร้อยละ 10 ส่งไปอังกฤษร้อยละ 9 ส่งไปอิตาลีร้อยละ 9 ส่วนไทยส่งมาร้อยละ 0.15

[แก้] การค้ารวม

สเปนเป็นคู่ค้าลำดับ 35 ของไทยเมื่อเทียบกับการค้ากับทั่วโลก ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (กรกฎาคม 2545-กรกฎาคม 2547) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงทางการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.73 เมื่อเทียบกับปี 2003 โดยการค้ารวมในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่าเฉลี่ย 523.785 ล้านยูโร (ข้อมูล World Trade Atlas: November 2004)

[แก้] ปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า

  1. สเปนเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้ปัญหาการค้าทวิภาคีไทย-สหภาพยุโรป กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างไทยและสเปนด้วย
  2. สเปนตรวจพบสารแคดเมียมในปลาหมึกในน้ำมันและปลาหมึกแช่แข็ง เชื้อ salmonella ในปลาหมึกแช่แข็ง เชื้อแบคทีเรียในปลา Hake เชื้อ vibrio Chelerae ในกุ้งกุลาดำ สาร 3MCPD ในซอสปรุงรส เชื้อ Aerbio Mesofilos ในปลาหมึกแช่แข็ง และเพลี้ยไฟในดอกกล้วยไม้ นำเข้าจากไทย จึงได้ใช้มาตรการกักกันสินค้าที่มีปัญหาเพื่อนำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ก่อน (automatic detention) หากตรวจไม่พบเชื้อโรคจะอนุญาตให้นำเข้าได้ การยกเลิกมาตรการดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ

[แก้] การท่องเที่ยว

ชายฝั่งแคว้นกันตาเบรียที่เรียกกันว่า สเปนเขียว (Green Spain)
ชายฝั่งแคว้นกันตาเบรียที่เรียกกันว่า สเปนเขียว (Green Spain)

หลังจากนายพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรม สเปนก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีผู้ไปท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกรองจากฝรั่งเศส โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศถึงปีละ 52 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 46 พันล้านยูโร

สถานที่ท่องเที่ยวในสเปน ได้แก่ มาดริด บาร์เซโลนา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด สถานที่ที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น บีโกและปอนเตเบดราในแคว้นกาลิเซีย กอร์โดบา เซวิลล์ กรานาดา (สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม) มาลากา เวลบา กาดิซ และอัลเมรีอา (ชายหาด) ในแคว้นอันดาลูเซีย กาเซเรส กวาดาลูเป และเมรีดาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแคว้นเอซเตรมาดูรา ซาลามังกา โตเลโด และเซโกเบียเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญซึ่งมีชายหาดสวยงามมาก ได้แก่ รีอัสไบคัส (ในจังหวัดปอนเตเบดรา) ซาโลว์ เบนีดอร์ม มายอร์กา อีบีซา (หมู่เกาะแบลิแอริก) หมู่เกาะคะเนรี แคว้นวาเลนเซีย แคว้นคาตาโลเนีย และสเปนเขียว (ทางภาคเหนือ)

สายการบินแห่งชาติของสเปนคือสายการบินไอบีเรีย (Iberia Airlines) รถไฟความเร็วสูง เช่น อาเบเอ (AVE: Alta Velocidad Española) มีความเร็วสูงสุด 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ ตัลโก (Talgo) และยังมีถนนคุณภาพดีมุ่งสู่เมืองสำคัญในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ

[แก้] ประชากรศาสตร์

[แก้] ประชากร

การกระจายตัวของประชากรสเปนตามเขตภูมิศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548
การกระจายตัวของประชากรสเปนตามเขตภูมิศาสตร์ในปี พ.ศ. 2548

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ประเทศสเปนมีประชากร 44,108,530 คน ความหนาแน่นของประชากร 87.8 คนต่อตารางกิโลเมตร (220 คนต่อตารางไมล์) ซึ่งน้อยกว่าความหนาแน่นประชากรของประเทศในยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ และการกระจายตัวในแต่ละภูมิภาคก็ยังไม่เท่ากัน (ยกเว้นในจังหวัดที่อยู่รอบเมืองหลวงมาดริด) โดยบริเวณที่มีประชากรมากที่สุดจะอยู่ตามชายฝั่งทะเล

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 25 ปีหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อัตราการเกิดของประชากรได้ลดลงอย่างกะทันหัน โดยอัตราเจริญพันธุ์ของสเปนอยู่ที่ 1.28 (จำนวนบุตรที่ผู้หญิงจะมีโดยเฉลี่ยตลอดอายุขัย) ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในโลก ส่วนอัตราการรู้หนังสือในปี พ.ศ. 2546 ชาวสเปนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารถอ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นร้อยละ 97.9 ของประชากรทั้งหมด

เขตมหานคร (metropolitan areas) หลัก ๆ ในประเทศสเปน (พ.ศ. 2548)
เขตมหานคร (metropolitan areas) หลัก ๆ ในประเทศสเปน (พ.ศ. 2548)

[แก้] เขตตัวเมืองที่มีประชากรมากที่สุด

  1. มาดริด 5,904,041 คน
  2. บาร์เซโลนา 5,300,701 คน
  3. วาเลนเซีย 1,623,724 คน
  4. เซบิเย 1,317,098 คน
  5. มาลากา 1,074,074 คน
  6. บิลบาโอ 946,829 คน
  7. อัสตูเรียส (คีคอง-โอเบียโด) 855,199 คน
  8. อะลีกันเต 711,215 คน
  9. ซาราโกซา 683,763 คน
  10. ลัสปัลมัสเดกรันกานาเรีย 616,903 คน
  11. อ่าวกาดิซ (กาดิซ-เคเรซเดลาฟรอนเตรา) 615,494 คน
  12. มูร์เซีย 563,272 คน
  13. ปัลมาเดมายอร์กา 474,035 คน
  14. กรานาดา 472,638 คน
  15. บีโก 423,821 คน
  16. ซันตากรูซเดเตเนรีเฟ 420,198 คน
  17. ซันเซบัสเตียน 399,125 คน
  18. อาโกรูญา 396,015 คน
  19. บายาโดลิด 383,894 คน
  20. ตาร์ราโกนา 375,749 คน
  21. กอร์โดบา 321,164 คน
  22. ปัมโปลนา 309,631 คน

[แก้] การย้ายถิ่นเข้า

ผู้ย้ายเข้ามาในสเปนส่วนใหญ่มาจากลาตินอเมริกา (ร้อยละ 38.75) ยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 16.33) มาเกร็บ (ร้อยละ 14.99) และแอฟริกากึ่งสะฮารา (ร้อยละ 4.08) นอกจากนี้ ยังมีผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในสเปนที่เป็นชาวยุโรปประเทศอื่น ๆ อีกบ้างบริเวณชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะแบลิแอริก โดยมาใช้ชีวิตหลังปลดเกษียณหรือทำงานทางไกล

วิวัฒนาการทางประชากรศาสตร์ของสเปนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20

ข้อมูลจากรัฐบาลสเปน ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศสเปนมีผู้มีถิ่นที่อาศัยเป็นชาวต่างชาติ 3.7 ล้านคน ประมาณ 5 แสนคนเป็นชาวโมร็อกโก อีก 5 แสนคนเป็นชาวเอกวาดอร์ กว่า 2 แสนคนเป็นชาวโรมาเนีย และประมาณ 2 แสน 7 หมื่นคนเป็นชาวโคลอมเบีย ชุมชนต่างชาติที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ชาวอังกฤษ (ร้อยละ 6.09 ของผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งหมด) ชาวอาร์เจนตินา (ร้อยละ 6.10) ชาวเยอรมัน (ร้อยละ 3.58) และชาวโบลิเวีย (ร้อยละ 2.63) เฉพาะในปี พ.ศ. 2548 เพียงปีเดียว มีประชากรที่ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศถึง 7 แสนคน

สเปนมีอัตราการเข้าเมืองมากที่สุดของสหภาพยุโรป ซึ่งมีเหตุผลมาจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แนวพรมแดนที่ยังรั่วไหล การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมและภาคการก่อสร้างที่ต้องการแรงงานค่าจ้างต่ำเป็นจำนวนมาก

[แก้] เชื้อชาติ

ประชากรสเปนส่วนใหญ่มีลักษณะผสมระหว่างชาติพันธุ์นอร์ดิกและชาติพันธุ์เมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ ได้แก่ ชาวสเปน มีจำนวนมากที่สุดประมาณร้อยละ 74 รองลงมาเป็นชาวคาตาลัน ชาวกาลิเซีย และชาวบาสก์ตามลำดับ

[แก้] ชนกลุ่มน้อย

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ชนกลุ่มน้อยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศสเปน คือ พวกคีตาโนส (Gitanos) ซึ่งเป็น ชาวยิปซีกลุ่มหนึ่ง

ประเทศสเปนเป็นแหล่งพักพิงของประชากรสายเลือดแอฟริกาจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากประชากรในอดีตอาณานิคม (โดยเฉพาะอิเควทอเรียลกินี) แต่ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสเปนจากหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกากึ่งสะฮาราและแคริบเบียนก็มีจำนวนสูงกว่า และยังมีชาวสเปนเชื้อสายเอเชียจำนวนมากพอสมควร ส่วนใหญ่จะมีสายเลือดชาวจีน ชาวฟิลิปิโน ชาวตะวันออกกลาง ชาวปากีสถาน และชาวอินเดีย ส่วนชาวสเปนสายเลือดลาตินอเมริกาก็มีจำนวนมากเช่นกันและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประชากรยิวกลุ่มที่สำคัญถูกขับไล่หรือถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) พร้อมกับการตั้งศาลศาสนาสเปน แต่หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวยิวบางส่วนก็ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในสเปน โดยอพยพเข้ามาจากอดีตอาณานิคมสแปนิชโมร็อกโก หลบหนีการกวาดล้างจากพวกนาซี และอพยพมาจากอาร์เจนตินา ปัจจุบันนี้เมลียามีอัตราส่วนชาวยิว (และชาวมุสลิม) สูงที่สุดในประเทศ และกฎหมายของสเปนยังอนุญาตให้ชาวยิวกลุ่มเซฟาร์ดี (Sephardi Jews) สามารถอ้างสิทธิการเป็นพลเมืองของรัฐได้

[แก้] ภาษา

ภาษาต่าง ๆ ในสเปน (แบ่งอย่างง่าย)   ██ คัสตีล (สเปน)  ██ คาตาลัน ภาษาราชการร่วม  ██ กาลิเซีย ภาษาราชการร่วม ██ บาสก์ ภาษาราชการร่วม  ██ อัสตูเรียส ไม่เป็นภาษาราชการ  ██ อารากอน ไม่เป็นภาษาราชการ  ██ อารัน ภาษาราชการร่วม (ภาษาถิ่นของอ็อกซิตัน)
ภาษาต่าง ๆ ในสเปน (แบ่งอย่างง่าย)

██ คัสตีล (สเปน)

██ คาตาลัน ภาษาราชการร่วม

██ กาลิเซีย ภาษาราชการร่วม

██ บาสก์ ภาษาราชการร่วม

██ อัสตูเรียส ไม่เป็นภาษาราชการ

██ อารากอน ไม่เป็นภาษาราชการ

██ อารัน ภาษาราชการร่วม (ภาษาถิ่นของอ็อกซิตัน)

แม้ว่ารัฐธรรมนูญของสเปนจะยืนยันอำนาจอธิปไตยของชาติก็ตาม แต่ก็ยังรับรองเชื้อชาติอื่น ๆ ที่มีมาในประวัติศาสตร์ด้วย

  • ภาษาสเปน/ภาษาคัสตีล (Spanish/Castilian; español/castellano) เป็นภาษาราชการทั่วทั้งประเทศ แต่ในบางท้องถิ่นก็ยังใช้ภาษาถิ่นอื่น ๆ ซึ่งภาษาแรกที่ใช้พูดอีกด้วย รัฐธรรมนูญสเปนให้การรับรองภาษาท้องถิ่น (ที่อาจจะมี) ให้เป็นภาษาราชการร่วมตามแต่ละภูมิภาค โดยไม่ได้บอกชื่อภาษาไว้ ภาษาต่อไปนี้เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาสเปน (คัสตีล)
  • ภาษาคาตาลัน (Catalan; català) พูดในแคว้นคาตาโลเนีย หมู่เกาะแบลิแอริก และบางส่วนของแคว้นวาเลนเซีย (เรียกว่าภาษาวาเลนเซีย)
  • ภาษากาลิเซีย (Galician; galego) พูดในแคว้นกาลิเซีย
  • ภาษาบาสก์ (Basque; euskara) พูดในแคว้นบาสก์และบางส่วนของแคว้นนาวาร์ ภาษานี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาอื่น ๆ เลย
  • ภาษาอ็อกซิตัน (Occitan) (ภาษาถิ่นอารัน) พูดกันในบัลดารัน แคว้นคาตาโลเนีย

ทั้งภาษาคาตาลัน ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน (อ็อกซิตัน) และภาษาคัสตีลต่างสืบทอดมาจากภาษาละติน บางภาษาก็มีภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งภาษาถิ่นบางภาษาก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้พูดภาษาถิ่นนั้นให้เป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหากด้วย กรณีพิเศษได้แก่ ภาษาวาเลนเซีย (Valencian) เป็นชื่อที่เรียกภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาคาตาลัน ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นภาษาราชการร่วมในแคว้นปกครองตนเองวาเลนเซีย

มรดกของสเปน: แผนที่โลกของผู้พูดภาษาสเปน
มรดกของสเปน: แผนที่โลกของผู้พูดภาษาสเปน

นอกจากนี้ ยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ คือ ภาษาอัสตูเรียส / เลออง (Asturian / Leonese) พูดกันในแคว้นอัสตูเรียสและบางส่วนของจังหวัดเลออง เมืองซาโมรา และเมืองซาลามังกา ภาษาเอซเตรมาดูรา (Extremaduran) ใช้กันในจังหวัดกาเซเรสและจังหวัดซาลามังกา (ทั้งสองภาษาดังกล่าวสืบทอดมาจากภาษาถิ่นในอดีตของภาษาอัสตูร์-เลออง) ภาษาอารากอน (Aragonese) มีผู้พูดกันในพื้นที่บางส่วนของแคว้นอารากอน; ภาษาฟาลา (Fala) ยังมีผู้พูดอยู่บ้างในหมู่บ้านสามแห่งของแคว้นเอซเตรมาดูรา และภาษาโปรตุเกส (ภาษาถิ่น) ที่ใช้กันในบางเมืองของแคว้นเอซเตรมาดูราและแคว้นคัสตีล-เลออง อย่างไรก็ตาม ภาษาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาทางราชการอย่างที่ภาษาคาตาลัน ภาษากาลิเซีย และภาษาบาสก์มี

ในย่านท่องเที่ยวตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะ นักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และผู้ทำงานท่องเที่ยวจะพูดภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน ผู้ย้ายถิ่นชาวแอฟริกาและผู้สืบเชื้อสายชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นจะพูดภาษายุโรปที่เป็นทางการของบ้านเกิดพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือครีโอลท้องถิ่น)

[แก้] ศาสนา

ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (เช่น เวิลด์แฟกต์บุ๊ก 2005 ของซีไอเอ ผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของสเปน และแหล่งอื่น ๆ) ชาวสเปนร้อยละ 81-94 นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าว ในขณะที่ประมาณร้อยละ 6-19 นับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาใดเลย อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนจำนวนมากที่ระบุว่าตนเองเป็นชาวคาทอลิกเนื่องจากได้เข้าพิธีศีลล้างบาปเท่านั้น ไม่ได้เคร่งศาสนาเท่าใดนัก

[แก้] วัฒนธรรม

วัฒนธรรมสเปนมีรากฐานมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อิทธิพลของชาวไอบีเรียนเดิมและชาวละตินในคาบสมุทรไอบีเรีย ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาอิสลามของชาวมัวร์ ความตึงเครียดในระหว่างการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของแคว้นคัสตีล และชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนยังมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างวัฒนธรรมสเปนด้วย

[แก้] สื่อที่สำคัญ

[แก้] ช่องสัญญาณโทรทัศน์แห่งชาติ (แอนะล็อก)

  • ลาปรีเมรา (La Primera)
  • ลา 2 (La 2)
  • อันเตนา 3 (Antena 3)
  • กวาโตรเตเบ (Cuatro TV)
  • เตเลซิงโก (Telecinco)
  • ลาเซซตา (LaSexta)

[แก้] ช่องสัญญาณโทรทัศน์ระดับภูมิภาค

  • อารากองเตเลบีซีออง (อารากอน)
  • เตเบปรินซีปาโดเดอัสตูเรียส (อัสตูเรียส)
  • กานัล 4 - กัสตียาอีเลออง (คัสตีลและเลออง)
  • เตเบ 3 (คาตาโลเนีย)
  • เออุสกัลเตเลบิสตา (บาสก์คันทรี)
  • กานัลซูร์ (อันดาลูเซีย)
  • เตเลมาดริด (มาดริด)
  • 7 (มูร์เซีย)
  • กานัล 9 (วาเลนเซีย)
  • กัสตียา-ลามันชาเตเลบีซีออง (คัสตีล-ลามันชา)
  • เตเลบีซีอองกานาเรีย (หมู่เกาะคะเนรี)
  • เตเบเค (กาลิเซีย)
  • อีเบ 3 (หมู่เกาะแบลิแอริก)
  • กานัลเอซเตรมาดูรา (เอซเตรมาดูรา)

[แก้] สถานีวิทยุ

  • กาเดนาเอเซเอเอเร (Cadena SER)
  • กาเดนาเซโอเปเอ (Cadena COPE)
  • สถานีวิทยุแห่งชาติสเปน (Radio Nacional de España)
  • ออนดาเซโร (Onda Cero)
  • ปุนโตราเดียว (Punto Radio)
  • กาเดนาเดียล (Cadena Dial)
  • กาเดนา 100 (Cadena 100)
  • โลส 40 ปรินซีปาเลส (Los 40 principales)
  • คิสส์เอฟเอ็ม (Kiss FM)
  • เอ็ม 80 เรดิโอ (m80 radio)

[แก้] หนังสือพิมพ์

  • เอลปาอิส (El País)
  • เอลมุนโด (El Mundo)
  • 20 มีนูโตส (20 minutos)
  • เมโทรอินเตอร์เนชันแนล (เมโทร) (Metro International)
  • เก! (Qué!)
  • อาดีเอเน (ADN)
  • เดียเรียวเดนาบาร์รา (Diario de Navarra)
  • อาเบเซ (ABC)
  • ลาราซอง (La Razón)
  • ลาบันกวาร์เดีย (La Vanguardia)
  • เอลเปรีโอดีโกเดกาตาลูญา (El Periódico de Cataluña)
  • ลาโบซเดกาลิเซีย (La Voz de Galicia)
  • เอลกอร์เรโอ (El Correo)
  • ลาโอปีนีออง (La Opinión)
  • ลาเบร์ดัด (La Verdad)
  • เอรัลโดเดอารากอง (Heraldo de Aragón)
  • การา (Gara)
  • มาร์กา (Marca)
  • อาเอเซ (AS)
  • ฟาโรเดบีโก (Faro de Vigo)
  • ลานวยบาเอสปาญา (La Nueva España)
  • เอลอีเดอัลกาเยโก (El Ideal Gallego)
  • เอลนอร์เตเดกัสตียา (El Norte de Castilla)
  • ลาโบซเดอัลเมรีอา (La Voz de Almería)
  • กานาเรียส 7 (Canarias7)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้] โดยสังเขป

[แก้] รัฐบาล

[แก้] การท่องเที่ยว

Wikitravel logo
วิกิท่องเที่ยว มีไกด์ท่องเที่ยวภาษาอังกฤษของ:
Commons
คอมมอนส์ มีรูปภาพและสื่อในรูปแบบอื่นๆ เกี่ยวกับ:
ฟลิคเกอร์
ฟลิคเกอร์ มีรูปภาพเกี่ยวกับ:

[แก้] อื่น ๆ

ประเทศ ใน ทวีปยุโรป

กรีซ · โครเอเชีย · จอร์เจีย1 · สาธารณรัฐเช็ก · ซานมารีโน · เซอร์เบีย · ไซปรัส1 · เดนมาร์ก · ตุรกี2 · นอร์เวย์ · เนเธอร์แลนด์ ·
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา · บัลแกเรีย · เบลเยียม · เบลารุส · โปรตุเกส · โปแลนด์ · ฝรั่งเศส · ฟินแลนด์ · มอนเตเนโกร ·
มอลโดวา · มอลตา · มาซิโดเนีย · โมนาโก · ยูเครน · เยอรมนี · รัสเซีย2 · โรมาเนีย · ลักเซมเบิร์ก · ลัตเวีย · ลิกเตนสไตน์ ·
ลิทัวเนีย · นครรัฐวาติกัน · สเปน · สโลวาเกีย · สโลวีเนีย · สวิตเซอร์แลนด์ · สวีเดน · สหราชอาณาจักร · ออสเตรีย ·
อันดอร์รา · อาเซอร์ไบจาน1 · อาร์เมเนีย1 · อิตาลี · เอสโตเนีย · แอลเบเนีย · ไอซ์แลนด์ · ไอร์แลนด์ · ฮังการี

1. ทางภูมิศาสตร์อยู่ในทวีปเอเชีย แต่มักถูกจัดอยู่ในทวีปยุโรป เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน; 2. มีพื้นที่ทั้งในทวีปยุโรปและในทวีปเอเชีย


 
ประเทศสมาชิกและประเทศที่จะเข้าร่วมใน สหภาพยุโรป
ธงสหภาพยุโรป

กรีซ · สาธารณรัฐเช็ก · ไซปรัส · เดนมาร์ก · เนเธอร์แลนด์ · เบลเยียม · โปแลนด์ · โปรตุเกส ·
ฝรั่งเศส · ฟินแลนด์ · มอลตา · เยอรมนี · ลัตเวีย · ลิทัวเนีย · ลักเซมเบิร์ก · สวีเดน · สหราชอาณาจักร ·
สเปน · สโลวาเกีย · สโลวีเนีย · ออสเตรีย · อิตาลี · เอสโตเนีย · ไอร์แลนด์ · ฮังการี
ประเทศที่จะเข้าร่วม 1 มกราคม พ.ศ. 2550 - บัลแกเรีย · โรมาเนีย
ประเทศที่สมัครเข้าร่วม - โครเอเชีย · ตุรกี · มาซิโดเนีย · แอลเบเนีย
· บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา · มอนเตเนโกร · เซอร์เบีย


  ประเทศสเปน เป็นบทความเกี่ยวกับ ประเทศ เมือง หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ประเทศสเปน ในภาษาอื่น สามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ๆ ด้านซ้ายมือ
ภาษาอื่น
Our "Network":

Project Gutenberg
https://gutenberg.classicistranieri.com

Encyclopaedia Britannica 1911
https://encyclopaediabritannica.classicistranieri.com

Librivox Audiobooks
https://librivox.classicistranieri.com

Linux Distributions
https://old.classicistranieri.com

Magnatune (MP3 Music)
https://magnatune.classicistranieri.com

Static Wikipedia (June 2008)
https://wikipedia.classicistranieri.com

Static Wikipedia (March 2008)
https://wikipedia2007.classicistranieri.com/mar2008/

Static Wikipedia (2007)
https://wikipedia2007.classicistranieri.com

Static Wikipedia (2006)
https://wikipedia2006.classicistranieri.com

Liber Liber
https://liberliber.classicistranieri.com

ZIM Files for Kiwix
https://zim.classicistranieri.com


Other Websites:

Bach - Goldberg Variations
https://www.goldbergvariations.org

Lazarillo de Tormes
https://www.lazarillodetormes.org

Madame Bovary
https://www.madamebovary.org

Il Fu Mattia Pascal
https://www.mattiapascal.it

The Voice in the Desert
https://www.thevoiceinthedesert.org

Confessione d'un amore fascista
https://www.amorefascista.it

Malinverno
https://www.malinverno.org

Debito formativo
https://www.debitoformativo.it

Adina Spire
https://www.adinaspire.com