สหภาพยุโรป
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สหภาพยุโรป (European Union) หรือที่เรียกอย่างย่อว่า อียู (EU) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ที่ประกอบด้วยรัฐในยุโรป 25 รัฐ ก่อตั้งโดยสนธิสัญญาสหภาพยุโรป (สนธิสัญญามาสทริกต์) (Maastricht treaty) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
[แก้] อำนาจทั้งสามของสหภาพยุโรป
แม้สหภาพยุโรปจะเป็นการรวมกลุ่มของรัฐ หรือเป็นองค์การระหว่างประเทศ แต่โครงสร้างของสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะ "เหนือชาติ" (supranational trait) อยู่อย่างชัดเจน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะบรรดาประเทศสมาชิกต่าง ๆ ไม่ได้เพียงมารวมตัวกันเท่านั้น หากแต่ยังร่วมกันสร้างสรรค์สถาบันหรือหน่วยงานภายใน ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐสมาชิกรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ อันประกอบไปด้วย รัฐสภายุโรป คณะมนตรี คณะกรรมาธิการ และศาลยุติธรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- รัฐสภายุโรป (European Parliament): เสียงจากประชาชน
สมาชิกรัฐสภายุโรปได้รับเลือกตั้งโดยตรงทุก ๆ 5 ปีจากแต่ละประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 732 คนจาก 25 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงเกือบหนึ่งในสาม (222 คน) แม้สมาชิกแต่ละคนจะมาจากรัฐสมาชิก แต่การจัดกลุ่มภายในรัฐสภานั้นไม่ได้แบ่งตามสัญชาติ แต่แบ่งโดยทิศทางของพรรคการเมือง กลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ พรรคประชาชนยุโรป (European’s People Party) และพรรคประชาธิปไตยยุโรป (European Democrats) ตามมาด้วยกลุ่มสังคมนิยม เสรีนิยม และอนุรักษ์ธรรมชาตินิยม (Greens) ที่ทำการรัฐสภายุโรปตั้งอยู่ในสองเมืองคือ สตราสบูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศส และบรัสเซลส์ (Brussels) ประเทศเบลเยียม โดยประธานรัฐสภาคนปัจจุบันคือนายโคเซป บอร์เรย์ (Josep Borrell) ชาวสเปน ภารกิจหลักของรัฐสภายุโรปจะเป็นการร่วมตัดสินใจกับคณะมนตรีในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การพิจารณาร่างกฎหมายของสหภาพซึ่งริเริ่มโดยคณะกรรมาธิการ (แต่กลับไม่สามารถเสนอร่างกฎหมายเองเหมือนฝ่ายนิติบัญญัติภายในประเทศได้ ภาวะนี้ถูกเรียกว่าการขาดดุลประชาธิปไตย (democratic deficit) การอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป ให้การรับรองความตกลงระหว่างประเทศ (สนธิสัญญา) ของสหภาพยุโรปกับประเทศนอกกลุ่ม (เช่น ข้อตกลงทางการค้า หรือ การเปิดรับสมาชิกใหม่) และที่สำคัญที่สุดคือการให้การรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการยุโรป (ทั้งกรรมาธิการ และประธาน)
- คณะมนตรียุโรป (Council of Ministers): เสียงจากรัฐสมาชิก
สมาชิกคณะมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีหรือผู้แทนรัฐบาลจากทุกประเทศสมาชิก ในการประชุมแต่ละครั้งจะมีรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่องนั้น ๆ เข้าร่วม (รวม 25 คนจากแต่ละประเทศ) เช่น การต่างประเทศ เกษตรกรรม คมนาคม เศรษฐกิจและการเงิน และพลังงาน เป็นต้น หากเป็นการประชุมตัดสินใจประเด็นสำคัญๆก็จะเป็นการประชุมในระดับประมุขของประเทศ โดยจะมีการประชุมสุดยอด (summit) สี่ครั้งต่อปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของสหภาพยุโรป แต่ละประเทศจะมีเสียงโหวตแตกต่างกันตามสัดส่วนจำนวนประชากร การตัดสินใจส่วนใหญ่ใช้แบบเสียงข้างมาก (majority) ในขณะที่ประเด็นสำคัญจะใช้ระบบการโหวตแบบเอกฉันท์ (unanimity) คณะมนตรีถือเป็นองค์กรหลักในด้านนิติบัญญัติและด้านการตัดสินใจชี้ขาดของสหภาพยุโรป โดยจะประสานงานกับรัฐสภาในการพิจารณาร่างกฎหมายดังได้กล่าวแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นผู้รับผิดชอบด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน (CFSP: Common Foreign and Security Policy) รวมถึงภารกิจเกี่ยวกับการเปิดเสรีสินค้า บริการ เงินทุน รวมถึงประชาชนด้วย
- คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission): กลจักรหลักของสหภาพยุโรป
คณะกรรมาธิการเป็นตัวแทนและปกป้องผลประโยชน์ของสหภาพยุโรป โดยเป็นอิสระจากรัฐบาลของแต่ละชาติ คณะกรรมาธิการประกอบด้วยกรรมาธิกร (commissioner) 25 คนจากแต่ละประเทศสมาชิกตามความเชี่ยวชาญโดยจะทำงานร่วมกับข้ารัฐการราว 24,000 คน มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ประธานคณะกรรมาธิการจะได้รับการเลือกจากรัฐบาลของประเทศสมาชิกและจะต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา ส่วนกรรมาธิการคนอื่น ๆ จะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสมาชิกและต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาเช่นกัน มีวาระคราวละ 5 ปี โดยประธานคณะกรรมาธิการคนปัจจุบันคือนายโฮเซ มานูเอล ดูเรา บาร์โรโซ (José Manuel Durao Barroso) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของโปรตุเกสด้วย
ภารกิจหลักของคณะกรรมาธิการคือการเสนอร่างกฎหมาย นอกจากนั้นยังดูแลการบริหารงบประมาณของสหภาพยุโรป กรรมาธิการแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบคนละด้าน แต่ละคนมีเจ้าหน้าที่และองค์กรย่อยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เปรียบเทียบได้ว่ากรรมาธิการแต่ละคนคือรัฐมนตรีซึ่งต้องดูแลกระทรวง ทบวง กรมของตนนั่นเอง
- ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice): อำนาจตุลาการ
องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วยผู้พิพากษาจากแต่ละประเทศสมาชิกรวม 25 คน มีสำนักงานอยู่ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก หน้าที่หลักของศาลคือการบังคับใช้ และการตีความกฎหมายเพื่อพิจารณาและชี้ขาดว่ากฎหมายของสหภาพยุโรปได้รับการปรับใช้เหมือนกันในทุกประเทศสมาชิกหรือไม่ พลเมืองของสหภาพยุโรปสามารถยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลได้หากสถาบันต่างๆ ของสหภาพยุโรปมีการดำเนินการท�
[แก้] ประเทศสมาชิก
ปีที่เข้าร่วม | ประเทศ |
---|---|
ค.ศ. 1952 | เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี (ตะวันตก) อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ (สมาชิกก่อตั้ง) |
ค.ศ. 1973 | เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร |
ค.ศ. 1981 | กรีซ |
ค.ศ. 1986 | โปรตุเกส สเปน |
ค.ศ. 1990 | เยอรมนีตะวันออก รวมกับ เยอรมนีตะวันตก เป็น เยอรมนี |
ค.ศ. 1995 | ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน |
ค.ศ. 2004 | ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย สโลวีเนีย |
หมายเหตุ: กรีนแลนด์ ได้รับอนุญาตจากเดนมาร์ก ออกจากสหภาพยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1985 ตามประชามติของประชาชนในประเทศ
[แก้] สมาชิกในอนาคต และประเทศอื่น ๆ
- โครเอเชียและตุรกี มีกำหนดเข้าร่วมใน ค.ศ. 2005 (จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2006 ยังไม่ได้เข้าร่วม)
- โรมาเนียและบัลแกเรีย มีกำหนดเข้าร่วมใน ค.ศ. 2007 ถ้าผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
- ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก แต่มีข้อตกลงพิเศษกับสหภาพยุโรป
|
|
---|---|
กรีซ · สาธารณรัฐเช็ก · ไซปรัส · เดนมาร์ก · เนเธอร์แลนด์ · เบลเยียม · โปแลนด์ · โปรตุเกส · |
สหภาพยุโรป เป็นบทความเกี่ยวกับ ประเทศ เมือง หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |