การเมือง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การเมือง คือ กระบวนการและวิธีการ ที่จะได้มาและรักษาการสนับสนุนกิจกรรมที่ทำในนามสาธารณะ หรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อส่วนรวม แม้คำนี้มักจะถูกใช้กับรัฐบาล แต่กิจกรรมที่มีลักษณะของการเมืองก็เป็นที่สังเกตได้ทั่วไปในทุกกลุ่มคนที่ปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งรวมไปถึงใน บรรษัท, แวดวงวิชาการ และในวงการศาสนา
ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ นักทฤษฎีการเมืองคนหนึ่ง ได้นิยามการเมืองว่า เป็นการตัดสินว่า "ใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร"
วิชารัฐศาสตร์ คือ วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง และวิเคราะห์การได้มาซึ่งอำนาจและการนำอำนาจไปใช้ ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามสิ่งที่ตนตั้งใจ
สารบัญ |
[แก้] แนวความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเมือง
เราอาจเคยสงสัยและตั้งคำถามว่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องปกครองกัน ทำไมไม่ปล่อยให้มนุษย์อยู่กันเอง กระทั่งอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า การเมืองกับการปกครองเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนจำเพาะในกลุ่มผู้ที่ขาดความสนใจต่อความเป็นมาเป็นมาในกิจการทางการเมืองอาจฟังดูไม่กระจ่างนัก ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประการใด คำตอบต่อความสงสัยข้อแรกนั้นโยงใยไปถึงความข้อต่อมากล่าวคือ มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน หากมิได้กำหนดกติกาอะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการอยู่รวมกันของมนุษย์แล้วนั้น มนุษย์ด้วยกันเองยังเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ป่าเถื่อน ขาดกลัวและไม่เป็นระเบียบดังที่ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1588-1679 ได้เคยกล่าวไว้ในผลงานปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อเรื่อง “Leviathan” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1651 ว่า เมื่อมนุษย์จำต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กติกาแล้ว ก็จำเป็นอยู่ในตัวเองที่จะต้องกำหนดตัวผู้นำมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้สังคมหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เช่นที่กล่าวมาเราคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าเหตุใดจึงเกิดมีระบบการปกครองขึ้น และโดยนัยที่มนุษย์จำต้องปกครองกันนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือการจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป หลีกเลี่ยงมิได้เสียที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมือง อันมีความหมายและบริบทที่สะท้อนออกมาในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน การเมืองการปกครองซึ่งเป็นสภาพการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Eulau 1963, 3) จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่นักศึกษาหรือผู้ใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองการปกครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (Developmental Program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไปอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นเรื่องภาคราชการทั้งหลายต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคมไทย และหากได้มองย้อนไปถึงแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น อริสโตเติล (Aristotle) ปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์” ผู้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมืองต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน อันแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก หากแต่มนุษย์ นอกจากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังมีเป้าหมายอยู่ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมิใช่มีชีวิตอยู่ไปเพียงวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อจะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย เราก็จะมองเห็นภาพของการเมืองในแง่หนึ่งว่าการเมืองนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในชุมชนหรือสังคมเพื่อให้มีความสงบสุข
[แก้] ความหมายของการเมือง
ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ มุมมองที่ใช้พิจารณาการเมืองหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการก็คือแนวการศึกษาวิเคราะห์การเมือง (Approach to Political Analysis) ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ใครจะเห็นว่าแนวการมองการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงต่อการอธิบายความเป็นการเมืองได้มากที่สุด โดยคำว่า “การเมือง” นี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด ตามแต่จะใช้ตัวแบบใดในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมือง และด้วยตัวแบบที่เป็นกรอบในการศึกษาวิเคราะห์นี้ จะยังผลให้กรอบการมองคำว่าการเมืองต่างกันไป ในขณะที่สาระสำคัญของคำจำกัดความเป็นไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือเป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบสองทางระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง (Rulers) และฝ่ายผู้ถูกปกครอง (Ruled) ดังจะได้ยกมากล่าวถึง ซึ่งสำหรับผู้ศึกษารัฐศาสตร์มือใหม่แล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการเมืองนั้น จึงดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนอยู่มิใช่น้อย เนื่องมาจากความหมายของการเมืองที่ปรากฎอยู่ในตำราเล่มต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นเผยแพร่นั้นมีอยู่หลากหลายต่างกันไปตามความเจตนารมณ์และมุ่งประสงค์ในการนำความหมายของการเมืองเพื่อไปอธิบายปรากฎการณ์ของผู้ให้คำนิยามความหมายของการเมือง ดังได้กล่าวไปแล้ว
คำจำกัดความของการเมืองที่ชัดเจนและรัดกุมมากที่สุดโดยนัยที่ได้กล่าวไปนี้ พิจารณาได้จากทัศนะของชัยอนันต์ สมุทวณิช (2517, 61) ที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปของรัฐและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ภายในรัฐระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยเมื่อสังคมมนุษย์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาล คนเราจึงต้องแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่บังคับกับผู้ถูกบังคับเสมอ
ผู้เรียบเรียงได้รวบรวมและประมวลคำนิยามหรือความหมายของคำว่าการเมือง มานำเสนอโดยจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ โดยเป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและอิทธิพลในการบริหารกิจการบ้านเมือง โดยคำนิยามของการเมืองในเชิงอำนาจที่น่าสนใจอันหนึ่ง ที่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนมากได้แก่นิยามของ เพนนอคและสมิธ (Pennock and Smith 1964, 9) ที่กล่าวว่า การเมือง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม
อีกหนึ่งคำนิยามการเมืองที่ถือได้ว่าครอบคลุมและช่วยให้เห็นภาพความเกี่ยวพันของการเมืองกับบุคคลในสังคมได้แก่ ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539, 3)ที่กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยที่อำนาจทางการเมืองหมายถึง อำนาจในการที่จะวางนโยบายในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวการมองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ (Power Approach) ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปนี้ เป็นแนวทางการศึกษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั่วไป ที่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องหรือมีบริบทเกี่ยวกับการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน ก็มักให้คำนิยามของการเมืองว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ในเชิงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์ ต่อผู้อยู่ใต้อำนาจซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง โดยคำนิยามเช่นนี้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (development program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นความรู้หนึ่งที่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยสมควรสั่งสมให้แก่พลเมืองของรัฐ เพื่อประโยชน์เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นักรัฐศาสตร์บางท่านมองว่า แท้จริงนั้น การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการต่อสู่แย่งชิงกันของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในอันที่จะแย่งชิงกันเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ผลผลิตจากระบบการเมือง (Political Outputs-ผลผลิตของระบบการเมือง เป็นคำศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ตามทัศนะของอีสตัน (David Easton)นักรัฐศาสตร์อเมริกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแนวคิดทฤษฎีการเมืองเชิงระบบ (the Systems Theory) อันได้แก่ นโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ โครงการหรือแผนงานพัฒนาของภาครัฐและภาคราชการ ซึ่งผลในทางที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด เราเรียกการวิเคราะห์การเมืองแนวทางนี้ว่าเป็น การวิเคราะห์เชิงกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งดูไปก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแนวการมองการเมืองเชิงอำนาจที่จะกล่าวถึงต่อไป ความหมายของการเมืองในมุมมองนี้ จึงเป็นว่า การเมืองการเมืองคือการที่บุคคลใดหรือกลุ่มใดในสังคม ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือขัดกันก็ตาม หรือมีความเห็นเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ตาม มาทำการต่อสู้เพื่อสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่ในการปกครองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องของส่วนรวมได้โดยชอบธรรม ซึ่งจัดเป็นแนวที่นักรัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมการเมือง (Political Scientist) นิยมกัน
กลุ่มที่สอง มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐหรือสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม ดังเช่นมุมมองของอีสตัน (David Easton) ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า การเมือง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ให้กับสังคมอย่างชอบธรรม (The authoritative allocation of values to society) ความหมายของการเมืองดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นนิยามที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสำนักพหุนิยม (Pluralism) อย่างไรก็ดี ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2535, 4-5) อธิบายว่า เราจะใช้ความหมายการเมืองดังกล่าวนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ในสังคมนั้น ๆ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความเห็นพ้องต้องกันและยอมรับในกติกาที่กำหนดการใช้อำนาจเพื่อแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าเท่านั้น ส่วนในสังคมที่ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับกติกาการกำหนดสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม ชัยอนันต์ อธิบายว่า การเมืองยังคงเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ หรือ “The competition for the authority to determine the authoritative allocation of values to society” โดยนัยเช่นนี้ การเมืองจึงมีสองระดับ ระดับแรก การเมืองอยู่ภายใต้การแข่งขัน ขัดแย้งของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ทุก ๆ ฝ่ายยอมรับได้ ในขณะที่การเมืองในความหมายอย่างแรกดังทัศนะของนักคิดกลุ่มพหุนิยมที่ได้กล่าวไปแล้ว ดูจะยอมรับในจุดเน้นว่ารัฐ เป็นการรวมกันหรือประกอบกันของกลุ่มหลากหลายในสังคม และรัฐมิได้เป็นเครื่องมือทางการบริหาร โดยที่มิได้เป็นตัวกระทำทางการเมือง (actors) ที่จะชี้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่รัฐเป็นเพียงรัฐบาล (State as government) ที่ทำหน้าที่เพียงเอื้ออำนวยความสะดวกในการแข่งขันกันของกลุ่มหลากหลายเท่านั้น (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535, 6)
นอกจากนี้ คำนิยามการเมืองในกลุ่มที่สอง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างสูงยังได้แก่ ทัศนะของลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ที่กล่าวว่า การเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่า ใคร ทำอะไร เมื่อไร และอย่างไร (Politics is, who gets “What”, “When” and “How”)
กลุ่มที่สาม มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผู้คนซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรนั้นมีอยู่มากและความต้องการใช้ไม่มีขีดจำกัด การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่คนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้หรือเกิดมีความขัดแย้งขึ้น อย่างไรก็ดี การมองการเมืองในลักษณะนี้มีข้อโต้แย้งอยู่มากว่า หากไม่อาจยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองย่อมตกอยู่ในสภาวะยุ่งยากวุ่นวาย ต่อมาจึงมีผู้ให้มุมมองการเมืองใหม่ว่าเป็นเรื่องของการประนีประนอมความขัดแย้งมากว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง
กลุ่มที่สี่ มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดแย้งจากการดำเนินงานทางการเมืองที่ไม่มีทางออก
กลุ่มที่ห้า ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐและการบริหารประเทศในกิจกรรมหลัก 3 ด้านคือ งานที่เกี่ยวกับรัฐ การบริหารประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย และการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นการควบคุมให้มีการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว การเมืองโดยนัยยะความหมายประการนี้ เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการเมืองในความหมายเชิงอำนาจ ซึ่งก็เป็นเพราะอำนาจทางการเมืองนั้น ได้ถูกนำไปใช้ผ่านกระบวนการนโยบายและการแต่งตั้งคัดสรรผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ (ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ในรูปของอำนาจและการปฏิบัติงานทางการปกครอง และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการบริหารหรือการปกครองที่ยากจะแยกออกจากกันได้
กลุ่มที่หก การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายของรัฐ กล่าวคือ การเมืองคือกิจกรรมใดใดที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย หน่วยงานและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยนัยหนึ่ง การเมืองก็คือกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ นั่นเอง
[แก้] อ้างอิง
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช.2517. ความคิดอิสระ : รวมบทความทางการเมืองระหว่างปี 2511-2516. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ
- ชัยอนันต์ สมุทวณิช. 2535. รัฐ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ณรงค์ สินสวัสดิ์. 2539. การเมืองไทย: การวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์
- Eulau, Heinz. 1963. The Behavioral Persuation in Politics. New York: Random House
- Pennock, Roland J., and Smith, David G. 1964. Political Science. New York: McMillan
[แก้] ดูเพิ่ม
การเมือง เป็นบทความเกี่ยวกับ การเมือง การปกครอง หรือ กฎหมาย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |
การเมือง เป็นบทความเกี่ยวกับ วิชา ความรู้ และศาสตร์ต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |