เอเชียนเกมส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอเชียนเกมส์ (Asian Games) เป็นมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย จัดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี โดยมีการมอบเหรียญทองสำหรับผู้ชนะอันดับหนึ่ง เหรียญเงินสำหรับผู้ชนะอันดับสอง และเหรียญทองแดงสำหรับผู้ชนะอันดับสาม โดยในระหว่างการมอบเหรียญนั้นจะมีการเปิดเพลงชาติ
[แก้] ประวัติกีฬาเอเชียนเกมส์
กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ถือกำเนิดมาจากการจัดแข่งขันกีฬา "แชมเปี้ยนแห่งภาคตะวันออกไกล" ( Far Eastern Championship Games ) โดยบุคคลกลุ่มหนึ่งในภาคพื้นทวีปเอเชีย แต่การแข่งขันก็ได้ เลิกราไปด้วยสภาพปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในขณะนั้น ต่อมาปี พ.ศ. 2490 การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชียก็ได้เกิดขึ้นภายใต้ชื่อของการแข่งขันว่า "เอเชี่ยนเกมส์" ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของ ดร.จี.ดี.สนธิ (Dr.G.D.Sondhi) คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศอินเดีย ทั้งนี้โดยมีความเห็นว่า จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา ประเทศในแถบเอเชียมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันน้อยมากเนื่องจากนักกีฬาเอเชียมีความเสียเปรียบนักกีฬาจากประเทศยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหรือมาตรฐานการกีฬาจึงคิดที่จะยกระดับมาตรฐานการกีฬาของประเทศในกลุ่มเอเชียให้ได้มาตรฐานทัดเทียมกับนักกีฬาในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะประการสำคัญที่สุดคือ สานความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภาคพื้นเอเชีย เนื่องจากช่วงเวลานั้นประเทศในกลุ่มเอเชียหลายประเทศ มีความแตกต่างกันในทางเศรษฐกิจและความคิดเห็นทางการเมือง
ความคิดดังกล่าวของ ดร.จี.ดี.สนธิ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก นายเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีของอินเดียในสมัยนั้นและได้มีการตั้งชื่อว่า "กีฬาแห่งชาวเอเชีย" (ASIATIC GAMES) และได้รับความสนใจจากชาติต่างๆ พอประมาณแต่การดำเนินงานเป็นไปไม่ค่อยสะดวกนัก เนื่องจากการแข่งขันกีฬาดังกล่าวมีการแข่งขันกีฬาหลายชนิด ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวทำให้หลายชาติไม่พร้อมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 14 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2491 นั้นมีประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วมการแข่งขันด้วย เช่น เกาหลี จีน ซีเรีย ปากีสถาน พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย ศรีลังกา อัฟกานิสถาน เลบานอน อิรัก และอิหร่าน ดร.จี.ดี.สนธิ จึงฉวยโอกาสนี้เชิญบรรดาหัวหน้าคณะนักกีฬาจากประเทศในภาคพื้นเอเชียเข้าร่วมหารือในอันที่จะจัดให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างภาคพื้นเอเชียขึ้น ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ปรากฎว่าได้รับแรงสนับสนุนจาก นายจอร์จ บี.วาร์กาส (George B.Vargas) บุคคลชั้นนำในวงการกีฬาของฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งมีความคิดที่จะรื้อฟื้นกีฬาแชมเปี้ยนแห่งภาคตะวันออกไกลให้กลับมาอีกครั้ง
การจัดประชุมระหว่างผู้นำกีฬาของประเทศในกลุ่มภาคพื้นเอเชีย จึงได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2491 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม 6 ประเทศ คือ เกหลี จีน พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกาและอินเดีย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะจัดให้มีการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ขึ้นในระหว่างกลุ่มประเทศในภาคพื้นเอเชีย พร้อมกับร่างธรรมนูญหรือระเบียบข้อบังคับการแข่งขันขึ้น โดยใช้ชื่อ "สหพันธ์กีฬาแห่งเอเชีย" (Asian Games Federation) สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นั้น มีผู้แทนคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกแห่งพม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมประชุม (ประเทศที่รับหน้าที่ร่างธรรมนูญ ขาดไป 2 ประเทศคือ จีน เกาหลี) ขณะเดียวกันมีผู้แทนจากประเทศไทย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย ไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมครั้งนึ้ด้วย และที่ประชุมมีมติยอมรับและให้ธรรมนูญนั้นมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง
สาระสำคัญของธรรมนูญนั้นมีว่า การแข่งขันกีฬาระหว่างชาติแห่งเอเชียนั้นจะต้องจัดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี โดยให้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษรของประเทศต่างๆ และให้การแข่งขันแต่ละครั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยมี 5 ประเทศที่ได้ลงนามในกฎบัตรคือ ปากีสถาน พม่า ฟิลิปปินส์ อัฟกานิสถาน และอินเดีย ซึ่งทั้ง 5 ประเทศนี้ถือเป็นสมาชิกถาวร หรือเป็นสมาชิกสมาชิกผู้ก่อตั้งสหพันธ์เอเชี่ยนเกมส์ และได้กำหนดให้จัดการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 เพราะเห็นว่าเป็นระยะอยู่ระหว่างกลางของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยให้อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง แต่มีอุปสรรคบางประการจึงต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปอีกหนึ่งปี คือในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีผลให้การแข่งขันไม่อยู่ตรงกึ่งกลางของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตามที่ธรรมนูญระบุไว้ คณะกรรมการจึงใด้กำหนดให้การแข่งขัน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2497 ซึ่งห่างจากครั้งที่ 1 เพียง 3 ปี แทน 4 ปี ตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญ
จากปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมากีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 1 จึงได้ถือกำเนิดขึ้น และจัดต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันรวม 14 ครั้ง รวมระยะเวลาเกือบครึ่งศวรรษโดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรวม 4 ครั้งคือ เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2509 ครั้งที่ 2 คือ การแข่งขันครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2513 ซึ่งประเทศไทยจัดแทนประเทศเกาหลี และครั้งที่ 3 คือ การแข่งขันครั้งที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2521 ประเทศไทยจัดแทนประเทศปากีสถาน
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2533 ประเทศไทยจึงได้ยื่นข้อเสนอขอจัดเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และที่ประชุมใหญ่ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2533 ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง นับเป็นหนที่ 4 ที่เอเชี่ยนเกมส์ จะได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม ถ้าประเทศอินเดียคือประเทศต้นกำเนิดแห่งกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ก็คงปฏิเสธได้ยากหากจะกล่าวว่า ประเทศไทยคือผู้อุ้มชูกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ให้สืบสานต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบันและเอเชี่ยนเกมส์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง อยู่บนแผ่นดินไทยถึง 4 ครั้ง นับเป็นมหกรรมกีฬาของคนไทย เพื่อคนไทยอย่างแท้จริง
[แก้] การแข่งขันทั้งหมด
การแข่งขันจัดขึ้นดังนี้
- เอเชียนเกมส์ 1951 - นิว เดลี ประเทศอินเดีย
- เอเชียนเกมส์ 1954 - มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
- เอเชียนเกมส์ 1958 - โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- เอเชียนเกมส์ 1962 - จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
- เอเชียนเกมส์ 1966 - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- เอเชียนเกมส์ 1970 - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- เอเชียนเกมส์ 1974 - เตหะราน ประเทศอิหร่าน
- เอเชียนเกมส์ 1978 - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- เอเชียนเกมส์ 1982 - นิว เดลี ประเทศอินเดีย
- เอเชียนเกมส์ 1986 - โซล ประเทศเกาหลีใต้
- เอเชียนเกมส์ 1990 - ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
- เอเชียนเกมส์ 1994 - ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
- เอเชียนเกมส์ 1998 - กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (6-20 ธันวาคม 2541)
- เอเชียนเกมส์ 2002 - ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
- เอเชียนเกมส์ 2006 - โดฮา ประเทศกาตาร์ (1-15 ธันวาคม 2549)
- เอเชียนเกมส์ 2010 - กวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน
- เอเชียนเกมส์ 2014 - ยังไม่ได้ทำการคัดเลือก เมืองเจ้าภาพ
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
เอเชียนเกมส์ |
นิวเดลี 1951 | มะนิลา 1954 | โตเกียว 1958 | จาการ์ตา 1962 | กรุงเทพมหานคร 1966 | กรุงเทพมหานคร 1970 | เตหะราน 1974 | กรุงเทพมหานคร 1978 | นิวเดลี 1982 | โซล 1986 | ปักกิ่ง 1990 | ฮิโรชิมา 1994 | กรุงเทพมหานคร 1998 | ปูซาน 2002 | โดฮา 2006 | กว่างโจว 2010 | 2014 |
เอเชียนเกมส์ฤดูหนาว |
ซัปโปะโระ 1986 | ซัปโปะโระ 1990 | ฮาร์บิน 1996 | กังวอน 1999 | อะโอะโมะริ 2003 | ฉางชุน 2007 | อัลมาตี 2011 | 2015 |
เอเชียนอินดอร์เกมส์ |
กรุงเทพมหานคร 2005 | มาเก๊า 2007 | ฮานอย 2009 | 2011 |
เอเชียนเกมส์ เป็นบทความเกี่ยวกับ กีฬา นักกีฬา หรือ ทีมกีฬา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |