อัศนี พลจันทร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัศนี พลจันทร หรือที่รู้จักกันในชื่อ นายผี และ สหายไฟ (15 กันยายน 2461 — 28 พฤศจิกายน 2530) นักประพันธ์และนักปฏิวัติชาวไทย รู้จักในชื่อผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ
[แก้] ประวัติ
อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2461 ที่บ้านท่าเสา ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี) บิดาคือ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) มารดาคือ สอิ้ง พลจันทร ซึ่งหากสืบเชื้อสายบิดาขึ้นไปจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบว่าต้นตระกูลคือ พระยาพล[ต้องการแหล่งอ้างอิง] เดิมชื่อนายจันทร์ เคยรบกับพม่า จนได้ชัยชนะและเป็นผู้รั้งเมืองกาญจนบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จบชั้นมัธยม 5 แล้วศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2479 ในขณะที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สนใจในด้านวรรณกรรมโดยใช้นามปากกาว่า นายผี และเป็นที่รู้จักเมื่ออัศนีได้เป็นคนควบคุมคอลัมน์กวี ในนิตยสารรายสัปดาห์ 'เอกชน
อัศนีเริ่มรับราชการครั้งแรก เป็นอัยการผู้ช่วยชั้นตรี เมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 และได้ถูกย้ายไปอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากมีปัญหากับหัวหน้างาน ครั้นมาอยู่ปัตตานีได้ 2 ปี ก็ถูกสั่งย้ายอีก ด้วยทางการระแคะระคายว่า ให้การสนับสนุนชนชาวมลายูต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งนี้ให้ไปที่สระบุรี ผ่านไป 4 ปีเศษ มีคำสั่งให้ย้ายไปอยู่อยุธยา เนื่องจากกรณีขัดแย้งกับข้าหลวง จากนั้นถูกสั่งให้กลับมาประจำกองคดี กรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะความเป็นคนตรงไปตรงมา ภายหลังมีปัญหาท้ายที่สุดจึงตัดสินใจลาออกเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2495
ในช่วง พ.ศ. 2495 จอมพล ป. ได้มีการจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่มีผลงานไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล ทำให้นายผีต้องหลบหนีแต่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยในขณะนั้นได้มีผลงานวรรณกรรมออกมาหลายเรื่อง ซึ่งได้แก่ "ความเปลี่ยนแปลง", "เราชนะแล้วแม่จ๋า"
ในปี 2504 ได้ปรากฏตัวอีกครั้งในนาม สหายไฟ ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งภายหลังบุคคลภายในพรรคได้ถูกจับกุมทำให้ อัศนีต้องเร่ร่อนไปอยู่ เวียดนาม และประเทศจีน ในเวลาต่อมา และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 แขวงอุดมไซ ประเทศลาว และได้มีการนำกระดูกกลับสู่แผ่นดินแม่เมื่อ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
[แก้] ผลงาน
ช่วงชีวิตของอัศนี มีงานเขียน บทกวี มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทกวีที่ชื่อ อีศาน ที่ลงพิมพ์ในสยามสมัย นับเป็นบทกวีที่ลื่อเลื่อง จนกลายเสมือนเป็นตัวแทนนายผี จิตร ภูมิศักดิ์ ยกย่องกวีบทนี้ว่า ตีแผ่ความยากเข็ญของชีวิต และปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของประชาชน ได้อย่างเพียบพร้อม มีพลัง ทั้งเชิดชูนายผีเป็น มหากวีของประชาชน โดยผลงานได้มีการกล่างถึงมากมายในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา
เพลง คิดถึงบ้าน หรือ เดือนเพ็ญ ที่อัศนีเขียนขึ้นเพราะความรู้สึกคิดถึงบ้านของตัวเขาเอง ได้รับการยกย่องว่า หากนับเพลงนี้เป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สมควรจะเรียกได้ว่าเป็น สุดยอดเพลงเพื่อชีวิต ด้วยเป็นเพลงที่ถูกบันทึกเสียงและขับขานในวาระต่าง ๆ มากที่สุดเพลงหนึ่งในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา และน้อยคนเหลือเกินที่ได้ฟังเพลงนี้แล้วจะรู้สึกเฉย ๆ กับความหมายที่กินใจที่เพลงสื่อออกมา เพลงคิดถึงบ้านนี้ ทำให้ชื่อ นายผี อัศนี พลจันทร เป็นที่รู้จักและจดจำในวงกว้าง
นามปากาของอัศนี มีหลายหลายชื่อ ได้แก่ นายผี, อินทรายุทธ, กุลิศ อินทุศักดิ์, ประไฟม วิเศษธานี, กินนร เพลินไพร, หง เกลียวกาม, จิล พาใจ, อำแดงกล่อม, นางสาวอัศนี
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- นายผี-อัศนี พลจันทร
- ประวัติ นายผี จาก มติชน