ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมีสาเหตุทั้งจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเคยเป็นดินแดนของชนชาติมาเลย์มุสลิมภายใต้ระบอบการปกครองแบบสุลต่านแห่งปัตตานี (ชื่อพื้นเมือง "ปตานิง")แต่โดยอุบัติการณ์ทางการเมืองในช่วงสมัยอาณานิคม ส่งผลให้ปัตตานีถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในปี พ.ศ.2452 และจากสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสยามในปี พ.ศ.2452 มีผลรับรองการผนวกดินแดนดังกล่าวนี้ให้เกิดความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น จนท้ายที่สุดปัตตานีจึงกลายเป็นพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ในเวลาต่อมาสตูลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเคดาห์แห่งมลายา ก็กลายเป็นอีกจังหวัดมาเลย์มุสลิมของประเทศไทย ด้วยผลจากข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนดินแดนกับเกาะลังกาวี
อย่างไรก็ตาม บรรดาชนชั้นนำชาวมาเลย์มุสลิมจำนวนหนึ่งตระหนักกันดีอยู่ว่า การผนวกดินแดนปัตตานีและการดำเนินนโยบายบูรณาการแห่งชาติ (national integration) ของรัฐบาลไทย ก็คือลักษณะของลัทธิอาณานิคมภายในชาติ (internal colonialism) ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วมีความแตกต่างจากลัทธิอาณานิคมข้ามชาติ (external colonialism) ตรงที่ลัทธิอาณานิคมภายในชาติ จะไม่คำนึงเอาแต่ผลประโยชน์เชิงมูลค่าอย่างในลัทธิอาณานิคมข้ามชาติที่เจ้าอาณานิคมพร้อมจะถอนตัวออกไปได้เสมอ ถ้าหากว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้มาไม่คุ้มค่ากับราคาที่ต้องใช้จ่ายลงไป [1]
พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ.2464 คือส่วนหนึ่งของนโยบายบูรณาการแห่งชาติที่รัฐบาลไทยกำหนดใช้ มีผลบังคับให้บุตรหลานของชาวมาเลย์มุสลิมต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนชั้นประถมศึกษาของไทย ถือเป็นความพยายามในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและกีดกันชนชาติมาเลย์มุสลิมออกจากภาษาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง จนกระทั่งรัฐบาลไทยสั่งปิดบรรดาโรงเรียนของชาวมาเลย์มุสลิมทั้งหมดลงเมื่อปี พ.ศ.2466 ได้นำมาสู่การชุมนุมประท้วงและเกิดการจลาจลขึ้นทั่วพื้นที่อย่างรุนแรง
นโยบายบูรณาการแห่งชาติยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ถึงปี พ.ศ. 2482 มีการประกาศใช้ระเบียบวัฒนธรรมไทยบังคับให้ชาวมาเลย์มุสลิมต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายและประเพณีนิยมแบบไทย ทั้งนี้ การฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวนี้จะต้องถูกปรับไหมและรับโทษอย่างเข้มงวด สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้นเมื่อการใช้ภาษามาเลย์และวัตรปฏิบัติทางศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลไทยกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในปี พ.ศ.2487(ค.ศ.1944)จนกระทั่งปี พ.ศ.2504(ค.ศ.1961) รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้แนวนโยบาย "ปฏิรูปการศึกษา" ขึ้นในพื้นที่จังหวัดของชาวมาเลย์มุสลิม ปรับเปลี่ยนโรงเรียนสอนศาสนาแบบดั้งเดิม (ปอเนาะ) เสียใหม่ มีการขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม จัดวางระบบการศึกษาไทยให้ครอบคลุมในทุกวิถีชีวิตของชาวมาเลย์มุสลิม เหล่านี้ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังความจงรักภักดีในสถาบันหลักอันประกอบด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของไทย
นโยบายบูรณาการแห่งชาติที่มีเป้าหมายในการหลอมรวมชนชาวมาเลย์มุสลิมเข้ากับศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ ท้าทายต่อวิถีศรัทธาและอัตลักษณ์ของชุมชนมาเลย์มุสลิมเป็นยิ่งนัก ภายใต้ระบอบการปกครองที่หมายมุ่ง "วิวัฒน์" พลเมืองมาเลย์มุสลิมเข้าสู่กระบวนการความเป็นไทยอย่างยาวนานและเข้มข้นเช่นว่านี้ บรรดาชาวมาเลย์มุสลิมก็ได้ดำเนินการตอบโต้กลับคืนไปในหลากหลายวิธีการ อันรวมถึงรูปแบบการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากระบอบการปกครองไทย
สารบัญ |
[แก้] รูปแบบของการต่อสู้: การแบ่งแยกดินแดน (separatist) และการแยกตัว (irredentism)
แนวความคิดเรื่องความเป็นเอกราชของบรรดาประชาชาติในอาณานิคม บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลให้กระแสชาตินิยมแพร่กระจายสู่ชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้อย่างกว้างขวาง รวมถึงชาวมาเลย์มุสลิม ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ระหว่างช่วงเวลานั้นกลุ่มผู้นำชาตินิยมในพื้นที่ซึ่งไม่พอใจต่อระบอบการปกครองไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง "สมาคมประชาชาติมาเลย์แห่งปาตานี" หรือมีชื่อในภาษามลายูว่า Gabongan Melayu Patani Raya (GAMPAR) นำโดยเจ้าชายพลัดถิ่นแห่งปาตานีคือ ตนกู มะหะหมัด มายุดดิน GAMPAR มีเป้าหมายหลักเพื่อแบ่งแยกปาตานีเข้าไปรวมกับบรรดารัฐมาเลย์อื่น ๆ บนคาบสมุทรมลายู ดังมีหนังสือพิมพ์ [2] รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า "ชาวมาเลย์พลัดถิ่นจากพื้นที่สี่จังหวัดจำนวนหลายร้อยคน ได้ร่วมจัดการประชุมขึ้นในโกตา บารู, กลันตัน และมลายา แสดงมติเห็นพ้องให้มีการเคลื่อนไหวแบ่งแยกพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือสหภาพมลายัน"
นอกเหนือจากนี้เมื่อ ฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำศาสนาคนสำคัญในพื้นที่ร่วมกับเหล่าบรรดาผู้ศรัทธา ได้มีบทบาทอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งรู้จักกันในนามของขบวนการประชาชนปัตตานี (Patani people's Movement) หรือ PPM ถือเป็นปรากฏการณ์แรกของการเคลื่อนไหวภายใต้การควบคุมของผู้นำทางศาสนา และเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้ในยุคแรกเริ่ม ที่การนำในขบวนการเคลื่อนไหวตกเป็นของเหล่ากลุ่มผู้นำเดิมของอดีตนครปัตตานี
ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2490 PPM ได้จัดทำข้อเรียกร้องเสนอต่อรัฐบาลไทย อ้างถึงความจำเป็นในการปกครองตนเองของชาวมุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัด จนนำมาสู่การจับกุม ฮัจญีสุหลงพร้อมพวกที่เป็นบุคคลใกล้ชิดอีกสองคนในข้อหากระทำการอันเป็นกบฏ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 เพียงช่วงเดือนถัดมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวมาเลย์มุสลิมกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สถานการณ์ความรุนแรงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 เมื่อบรรดาชาวมาเลย์มุสลิมรวมตัวกันลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ที่สุด รู้จักกันในนามของ "กบฏดุซงญอ" ประเมินกันว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชาวมาเลย์มุสลิมต้องสูญเสียชีวิตไปประมาณ 400 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไปจำนวน 30 นาย ขณะเดียวกันก็มีชาวมาเลย์มุสลิมจากพื้นที่สี่จังหวัด หลบหนีเข้าไปยังรัฐมลายาเป็นจำนวนระหว่าง 3,000-6,000 คน [3] ผลพวงของเหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในกลุ่มชาวมาเลย์มุสลิมของมลายา ให้แสดงการสนับสนุนแนวทางการแบ่งแยกดินแดนเข้าร่วมกับสหภาพมลายา ในขณะที่อังกฤษกลับแสดงความไม่พอใจต่อแนวทางดังกล่าวนี้ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 ก็ปรากฏข้อตกลงร่วมระหว่างอังกฤษและไทย ในการร่วมกันดูแลพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนอย่างเคร่งครัด
อิทธิพลของกระแสอิสลามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้การต่อสู้ของชาวมาเลย์มุสลิมยกระดับไปสู่เนื้อหาทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง เห็นได้จากที่ภายใต้การปกครองอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลไทย แต่ตัวเลขของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาและมัสยิดทั่วพื้นที่สี่จังหวัดกลับยิ่งเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น อันแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นอิสลาม พร้อมกับความพยายามในการธำรงรักษาอัตลักษณ์แห่งชนชาติของตนเองเอาไว้ นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มจำนวนขึ้นของกลุ่มเยาวชนที่เดินทางออกไปศึกษาวิชาการศาสนายังต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาอิสลามในประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งตัวเลขของผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ก็ยิ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ อาจนับได้ว่าชนชาวมาเลย์มุสลิมได้เข้าสู่ภาวะที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการปกป้องแนวทางแห่งอิสลาม และเกิดสำนึกในการรักษาความเป็นชุมชนมาเลย์ดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น รวมทั้งมีการจัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง เช่น "ประวัติศาสตร์มาเลย์ในราชอาณาจักรปาตานี" เขียนโดย อิบราฮิม สุกรี และ "สันติธรรม" (Light of Security) เขียนโดย ฮัจญีสุหลง อับดุลกาเดร์ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่จะแบ่งแยกพื้นที่สี่จังหวัดไปเข้าร่วมกับสหภาพมลายานั้น ดำรงอยู่เพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ดังเห็นได้จากการที่ขบวนการเคลื่อนไหวที่จัดตั้งขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา เริ่มมีแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสถาปนารัฐเอกราชอย่างแท้จริงขึ้นมาแทนที่
[แก้] ขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวมาเลย์มุสลิม
กล่าวในทางทฤษฎีแล้วการแบ่งแยกดินแดนโดยประเด็นทางเชื้อชาติ มักจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลจากความอยุติธรรมทางการเมือง ที่อำนาจรัฐส่วนกลางกดขี่ข่มเหงกลุ่มชนชาติส่วนน้อย เช่นเดียวกับกรณีที่รัฐบาลไทยกระทำต่อชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดนั่นเอง ความคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมเหล่านั้น จะกลายเป็นชนวนของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และนำไปสู่การต่อสู้ในรูปของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในท้ายที่สุด ซึ่งถ้าหากว่าความอยุติธรรมดังกล่าวบังเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผู้คนไม่มีความแตกต่างกันในทางภาษา ศาสนา หรือวิถีการดำเนินชีวิต ผลพวงแห่งความไม่พอใจจะแสดงปรากฏในลักษณะของการก่อกบฏมีรูปแบบเป็นสงครามกลางเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐขึ้นโดยตรง
ในบรรดาความแตกต่างโดยประการพื้นฐานแล้ว ประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนา อาจถือเป็นเงื่อนไขสำคัญให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เป็นอย่างดี ดังกรณีขบวนการเคลื่อนไหวของชนชาติส่วนน้อยชาวมุสลิมในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้นำประเด็นความขัดแย้งทางศาสนามาเป็นเครื่องมือ หรือใช้แนวทางอิสลามในการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมถึงเกิดการนำเอาหลักการอิสลามมาผสานเข้ากับแนวคิดแบบชาตินิยม ส่งผลให้สามารถทำความเข้าใจและได้รับการขานรับจากมวลชนของตนเองได้ เนื่องจากว่าทั้งแนวทางแห่งอิสลามและชาตินิยมมีความสอดคล้องต้องกันในภารกิจเพื่อต่อต้านการยึดครองนั่นเอง การแบ่งแยกดินแดนของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและชาวโมโรในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ต่างก็มีพื้นฐานของความขัดแย้งตั้งอยู่บนประเด็นทางวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องของเศรษฐกิจ และต่างก็มีสิทธิชอบธรรมภายใต้วิถีความเชื่อและหลักการทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม อันเนื่องจากว่าในทางอิสลาม จะไม่มีการแบ่งแยกเอาเรื่องของศาสนาออกไปจากเรื่องทางการเมือง แต่ศาสนาอิสลามจะเข้าไปมีบทบาทสำคัญอยู่ในทุกๆ กิจกรรมของสังคม ซึ่งก็จะหมายรวมเอาประเด็นของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เหล่าอดีตสมาชิกของ GAMPAR และ PPM ที่ได้ยุติบทบาทลงไปแล้ว จับมือร่วมกันจัดตั้งขบวนการ "แนวหน้าปลดปล่อยประชาชาติปาตานี" มีชื่อภาษามลายูว่า Barisan Nasional Pembebasan Patani (BNPP) ขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีอดีตผู้นำของ GAMPAR คือ ตนกู อับดุล จาลัน บิน ตนกู อับดุล มุตตาลิบ เป็นหัวหน้าขบวนการ BNPP ถือเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนปัตตานีกลุ่มแรกที่ได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ พร้อมกับมีการประกาศเป้าหมายของการแบ่งแยกดินแดนเพื่อสถาปนารัฐปัตตานีเป็นอิสระ แทนแนวทางการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมลายา จนกระทั่งถึงช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 จึงได้เปลี่ยนชื่อของขบวนการมาเป็น Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP) แต่จากการที่ BIPP ถูกควบคุมโดยอดีตผู้นำนครปัตตานีซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าปฏิเสธที่จะเข้าร่วมขบวนการด้วย ในปี พ.ศ. 2506 กลุ่มดังกล่าวนี้ภายใต้การนำของ อุสตาส การีม ฮัสซัน ก็ได้จัดตั้ง "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" มีชื่อภาษามลายูว่า Barisan Revolusi Nasional (BRN) ตั้งเป้าหมายเพื่อสถาปนาสาธารณรัฐปัตตานีขึ้นเป็นรัฐเอกราช
ในระยะเริ่มแรก BRN ได้ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งองค์กรการเมือง มากกว่าที่จะเปิดแนวรบการสู้รบแบบกองโจร โดยอาศัยสถาบันการศึกษาทางศาสนาคือ "ปอเนาะ" (pondok) เป็นฐานในการเคลื่อนไหวมวลชน เพียงช่วงระยะเวลา 5 ปี BRN ก็สามารถสร้างอิทธิพลขึ้นในปอเนาะหลายแห่งของพื้นที่จังหวัดมุสลิมได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511 BRN จึงได้เริ่มจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมา
ขบวนการทั้งสองคือ BIPP และ BRN ได้สะท้อนให้เห็นถึงเหรียญสองด้านภายในขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั่นคือ ถึงแม้ว่ามีด้านที่เป็นเหตุและผลที่ดีได้ในหลายประการ แต่ก็อาจกล่าวถึงในอีกด้านหนึ่งได้ว่า การเกิดขึ้นของขบวนการที่มีแนวอุดมการณ์แตกต่างกัน คือแนวคิดแบบอิสลามดั้งเดิม (orthodox Islam) ของ BIPP และแนวคิดแบบสังคมนิยมอิสลาม (Islamic socialism) ของ BRN สะท้อนให้เห็นความแตกแยกที่ไม่อาจผสานร่วมกันได้ จนนำไปสู่การขาดเอกภาพและมีผลบั่นทอนพลังของการต่อสู้ลงไป
ภายในปีเดียวกับการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของ BRN ได้มีการจัดตั้ง "องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Patani United Liberation Organization (PULO) [เว็บไซต์ทางการของ PULO ระบุชื่อเรียกเป็นภาษามลายูไว้ว่า Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า "องค์กรกู้เอกราชสหปาตานี" (ผู้แปล)] ขึ้นมาอีกขบวนการหนึ่ง โดยการนำของ ตนกู บีรา (วีรา) โกตานีลา หรือกาบีร์ อับดุล เราะฮ์มาน ซึ่งสำเร็จการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์จากประเทศอินเดีย ภายหลังจากนั้น ตนกู บีรา ก็ได้เดินทางสู่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยอาศัยแนวคิดแบบชาตินิยมปลุกเร้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวปาตานีรุ่นใหม่เข้าร่วมในขบวนการ กล่าวได้ว่าข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่าง PULO กับ BIPP และ BRN ก็คือ PULO ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักศึกษาในประเทศมาเลเซีย ปากีสถาน และกลุ่มประเทศอาหรับอย่างกว้างขวางที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกภายในขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งสามกลุ่มล้วนแต่เป็นผลมาจากความขัดแย้งกันในแนวอุดมการณ์ ยุทธวิธีของการต่อสู้ และสถานภาพของผู้เข้าร่วมเป็นหลัก หาใช่เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างกันในทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมความเชื่ออื่นใด ทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ต่างอาศัยวิธีการต่อสู้ทางอาวุธเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปลดปล่อยดินแดนปาตานี เช่นเดียวกับการที่กลุ่มผู้นำและสมาชิกต่างก็ยึดถือหลักการแห่งอิสลามที่ว่า "บรรดาผู้ศรัทธาย่อมจะต่อสู้เพื่อองค์อัลเลาะห์เจ้า ทั้งด้วยทรัพย์สมบัติของเขาและเลือดเนื้อของเขา"
ขบวนการเหล่านี้จะมีการฝึกอบรมกองกำลังของตนทั้งในหลักสูตรการทหารและการเมือง มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกทั้งเก่าและใหม่รับรู้ร่วมกันในเป้าหมาย อุดมการณ์ รวมทั้งระเบียบวินัยของขบวนการ ซึ่งโดยปกติแล้ว การฝึกอบรมจะกระทำกันในพื้นที่จังหวัดมุสลิมเป็นหลัก เว้นแต่ในบางครั้งก็อาจจะมีการส่งนักรบไปฝึกอบรมวิชาการทหารเพิ่มเติมยังค่ายฝึกในต่างประเทศ เช่น ประเทศลิเบียและซีเรียนอกจากนี้แนวทางการต่อสู้ของขบวนการเหล่านี้ยังได้รับอิทธิพลจากบรรดานักศึกษาที่อยู่ในต่างประเทศ ส่งผลให้มีการแสดงบทบาทที่แตกต่างไปจากเดิม ดังเห็นได้ในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จากที่เคยเป็นเพียงกลุ่ม "โจรก่อการร้าย" ตามที่รัฐบาลไทยเรียกขานอยู่เสมอไปสู่แนวทางการต่อสู้ตามแบบ "จีฮัด" (jihad) ในที่สุด
[แก้] การสนับสนุนจากภายนอกประเทศ
การสนับสนุนจากภายนอกประเทศที่สำคัญอีกประการคือเงินทุนสำหรับการเคลื่อนไหว ซึ่งมักจะได้รับเงินบริจาคจากกลุ่มตระกูลร่ำรวยในบรรดาประเทศมุสลิม ส่วนภายในพื้นที่ก็มีการเรี่ยไรขอบริจาค การระดมเงินทุนอาจจะกระทำกันในนามขององค์กรการกุศลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินทุนหลักจากการสนับสนุนของผู้เลื่อมใสต่อแนวทางการต่อสู้ของขบวนการ รายได้หลักอีกส่วนหนึ่งจะได้มาจากการเรียกเก็บค่าคุ้มครองในผลประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการจับคนเรียกค่าไถ่ด้วยเช่นกัน เงินทุนของขบวนการเหล่านี้ก็จะหมดไปกับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติการ การดำเนินงาน และการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกนั่นเอง
กล่าวได้ว่าในระหว่างปี พ.ศ. 2511-2522 (ค.ศ.1968-1975) เป็นช่วงเวลาที่กองกำลังติดอาวุธของขบวนการทั้งสามกลุ่มปฏิบัติการได้เข้มแข็งมากที่สุด ทั้งด้วยการดักซุ่มและเข้าโจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยราชการอื่นๆ เป็นระยะ รวมทั้งมีการจับคนเรียกค่าไถ่และเรียกเก็บค่าคุ้มครองกับนักธุรกิจที่มีบริษัทห้างร้านอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวเหล่านี้สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดถึงคนไทยโดยทั่วไปพากันรู้จักขบวนการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รัฐบาลไทยต้องส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติพิเศษที่เป็นกองกำลังผสมทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ร่วมกันปฏิบัติการในพื้นที่ ตัวเลขของรัฐบาลยอมรับว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีรายงานเหตุการณ์ปะทะกับกองกำลังชาวมาเลย์มุสลิมจำนวน 385 ครั้ง ชาวมาเลย์มุสลิมเสียชีวิตจำนวน 329 ราย เข้ามอบตัวกับทางการ 165 ราย ถูกจับกุมอีก 1,208 ราย ยึดอาวุธปืนได้เป็นจำนวน 1,546 กระบอก และเผาทำลายค่ายพักของขบวนการได้อีก 250 แห่ง นอกเหนือจากมีการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงแล้ว รัฐบาลไทยก็ยังคงดำเนินนโยบายการผสมกลมกลืนแห่งชาติเพื่อตัดตอนความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการกับมวลชนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กันด้วย
[แก้] ความเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ถึงช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายเหตุการณ์ด้วยกัน เริ่มจากรองประธานของ BIPP คือ วาฮ์ยุดดิน มูฮัมหมัด แยกตัวออกมาจัดตั้ง "ขบวนการมูจาฮีดินปาตานี" มีชื่อในภาษามลายูว่า Garakan Mujahidin Patani (GMP) ขึ้นมา เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 อับดุล เราะฮ์มาน ปูติฮ์ หรือ ซิกกู แม อันตา ประกาศแยกตัวออกจาก GMP และจัดตั้ง "ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปาตานี" มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Garakan Mujahidin Islam Patani (GMIP) ด้วยเหตุผลว่าขบวนการเดิมให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้นำและเน้นเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่าปฏิบัติการทางทหาร
ช่วงเวลาพร้อมๆ กันนั้น PULO ก็มีการแตกออกเป็นขบวนการ "PULO เดิม" และ "PULO ใหม่" โดยที่ PULO เดิม มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศซีเรียและยังคงมี ตนกู บีรา โกตานีลา เป็นผู้นำ ในขณะที่ PULO ใหม่ มีผู้นำชื่อ อับดุล เราะฮ์มาน เบตง และในปี พ.ศ. 2531 เกิดการแยกตัวออกจาก PULO ใหม่ จัดตั้งขบวนการย่อยในนามของ PULO-88 โดยมี ฮารัน มูเล็ง มหาบัณฑิตรัฐศาสตร์จาก University of Lund ประเทศสวีเดน เป็นผู้นำของขบวนการ
ในส่วนของ PULO ใหม่ ภายหลังจากผู้นำคือ อับดุล เราะห์มาน เบตง ถูกทางการไทยจับกุมตัวเมื่อปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ.1998) และต้องโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวอยู่ต่อไป โดยที่ไม่มีการประกาศตัวผู้นำสูงสุดของขบวนการออกมาแต่อย่างใด และในทำนองเดียวกับ PULO ขบวนการ BRN ก็มีการแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "แนวร่วม BRN" กลุ่มหนึ่ง และ "สภา BRN" อีกกลุ่มหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะปรากฏชื่อขบวนการ "BRN-Ulama" เคลื่อนไหวอยู่ด้วยแต่กลุ่มนี้ก็อยู่ภายใต้ขบวนการแนวร่วม BRN นั่นเอง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ขบวนการ BIPP, สภา BRN, PULO ใหม่ และ GMP ได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งองค์กรร่วม (Umbrella organization) ในนามของ "แนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งปาตานี" มีชื่อเป็นภาษามลายูว่า Barisan Bersatu Kemerdekaan Patani (BERSATU) โดยมี ดร.มฮาดิร์ ดาอุด ประธานขบวนการ BIPP ขึ้นเป็นประธาน BERSATU และเขายังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนปัจจุบัน
ภายหลังความร่วมมือ BERSATU ได้ประกาศคำต่อต้านแนวทางลัทธิอาณานิคมและนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการลบล้างวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีปฏิบัติของชนชาวมาเลย์มุสลิม และต่อพฤติกรรมของรัฐบาลไทยที่กดขี่บีบคั้น ไร้ความยุติธรรม และการจงใจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงด้วยการลอบสังหาร การ "อุ้ม" ลักพาตัวและกระทำทรมานผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัดมุสลิม (Conference of Patani Freedom-Fighters, 1989) กล่าวได้ว่า การร่วมมือกันในนามของ BERSATU ปลุกเร้าจิตวิญญาณและจิตสำนึกที่ต้องการปลดปล่อยปาตานีร่วมกันขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งสามารถเป็นความหวังให้กับบรรดาแนวร่วมและมวลชนได้อย่างแท้จริง
[แก้] เป้าหมายการต่อสู้ของชนชาวมาเลย์มุสลิม
โดยทั่วไปแล้ว เป้าหมายในการต่อสู้ของชนชาวมาเลย์มุสลิมมีลักษณะแตกต่างกันอยู่ 3 แนวทางด้วยกันคือ
- มุ่งหวังแบ่งแยกดินแดน 4 จังหวัดมุสลิมออกจากประเทศไทย เพื่อสถาปนารัฐอธิปไตยของชนชาวมาเลย์มุสลิมที่ตั้งอยู่บนแนวทางแห่งอิสลามและหลักการประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะมีระบอบการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ หรือใช้ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ปกครองจะต้องเป็นชาวมาเลย์มุสลิมด้วยกันเท่านั้น
- เมื่อไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายประการแรกได้แล้วก็จะต้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งสถานะของรัฐบาลท้องถิ่น ให้สามารถจัดการปกครองตนเองนับตั้งแต่ในระดับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นโดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
- ถ้าหากว่ายังไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายทั้งสองแนวทางที่กล่าวมาข้างต้นได้ ก็จะต้องต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนชาวมาเลย์มุสลิม และปกป้องสถานะของการเป็นประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดมุสลิมของตนเอาไว้
ส่วนในรายละเอียดนั้น แต่ละขบวนการก็ยังมีเป้าหมายในการต่อสู้ของตนเองแตกต่างกันอยู่ ดังเช่น BIPP ต้องการจะสถาปนารัฐอิสลามแห่งปัตตานี ส่วน BRN ต้องการสร้างสาธารณรัฐสังคมนิยมอิสลามแห่งปัตตานี ในขณะที่ PULO มีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์รัฐประชาธิปไตย แต่หากกล่าวเฉพาะการปฏิบัติการของขบวนการเหล่านี้ ต่างก็ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการต่อสู้แบบ "จีฮัด" ในฐานะของนักรบมุสลิมแล้ว ไม่ว่าผลจากการต่อสู้จะสิ้นสุดลงอย่างไรก็ตาม ย่อมจะถือได้ว่าภารกิจต่อภายภาคหน้าได้บรรลุอย่างสมบูรณ์ ด้วยในท้ายที่สุดแล้ว องค์อัลเลาะห์จะเป็นผู้ทรงตอบแทนแก่บรรดาผู้ที่ดำเนินตามแนวทางของมุสลิมที่ดีเสมอ
[แก้] สถานการณ์สมัยปัจจุบัน
บทความหลัก:ความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย
การต่อสู้ชนชาวมาเลย์มุสลิมเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากระบอบการปกครองไทยที่ดำเนินสืบเนื่องมานับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หรือภายหลังจากที่ปาตานีถูกผนวกรวมเข้ากับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2445 กล่าวได้ว่าการต่อสู้ในทุกวันนี้ยิ่งทวีความรุนแรง และสั่นคลอนความมั่นคงของอำนาจรัฐไทยในพื้นที่จังหวัดมาเลย์มุสลิมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างยิ่ง เกิดเหตุการณ์ลอบเผาโรงเรียนของรัฐ การเข้าปล้นอาวุธจากคลังแสงของกองทัพบก การโจมตีป้อมตำรวจ รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พระภิกษุ และชาวพุทธอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศกฏอัยการศึกขึ้นในพื้นที่
ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวปรามาสว่าเป็นเพียงการกระทำของ "โจรกระจอก" ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ แต่ในที่สุดก็ต้องออกมายอมรับข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการกระทำของสมาชิกในขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมาเลย์มุสลิมนั่นเอง
ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่สถานการณ์ขั้นตึงเครียดขึ้นในพื้นที่ ในจังหวัดยะลา มีการเปิดประชุมร่วมกันระหว่าง พล.ท.พงศ์ศักดิ์ เอกบรรณสิงห์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ผู้นำคณะสงฆ์และประธานกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแก่วัดและมัสยิด รวมถึงโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกันก็ปรากฏรายงานข่าวการจัดส่งกำลังทหารบกและนาวิกโยธินจำนวนมากลงมาเสริมกำลังในพื้นที่ 4 จังหวัด (อ้างแล้ว) เพื่อควบคุมสถานการณ์ซึ่งข่าวกรองทางทหารระบุว่าความรุนแรงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เกิดจากปฏิบัติการของขบวนการ PULO, BRN, GMIP และ BERSATU ที่มีเป้าหมายเพื่อการสถาปนา "รัฐอิสลามแห่งปาตานี" ขึ้นให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2551 [4]
กล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ดำรงอยู่มิใช่สิ่งใหม่ หรือเป็นประเด็นปลีกย่อยสำหรับศูนย์อำนาจรัฐไทยที่กรุงเทพแต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐบาลไทยแต่ละสมัยต่างประสบความล้มเหลวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่มีความแข็งแกร่งพอที่จะบ่อนทำลายเอกภาพและอธิปไตยของรัฐไทยลงได้ก็ตาม แต่การต่อสู้ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็สามารถก่อให้เกิดความสั่นคลอนต่อความมั่นคงของอำนาจรัฐไทยในพื้นที่ตลอดมา
สถานการณ์นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นถึงการขยายพื้นที่เป้าหมายปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จากที่เคยมีการลอบเผาโรงเรียนของรัฐก็มีการรวมเอาวัดวาอารามเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับการลอบสังหารที่เคยมีเป้าหมายอยู่ที่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ก็ปรากฏการทำร้ายและสังหารพระภิกษุกับชาวพุทธในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย คำตอบอย่างหนึ่งของความรุนแรงเหล่านี้ก็คือ นั่นเป็นการตอบโต้ต่อความอยุติธรรมนานับประการที่พวกเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยแบบเหวี่ยงแห การหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยของชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถือสิทธิเข้าตรวจค้นบ้านเรือนและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอย่างมิชอบธรรม ซึ่งบรรดาความอยุติธรรมเหล่านี้ ยิ่งมีเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่
[แก้] บทสรุป
การผนวกเอาดินแดนปัตตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย และได้ผ่านการรับรองจากอังกฤษโดยผลของสนธิสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสยาม พ.ศ. 2452 ภายใต้รูปแบบของลัทธิอาณานิคมแห่งชาติเช่นนี้ ผู้ปกครองไทยได้รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ และดำเนินนโยบายผสมกลมกลืนชนชาวมาเลย์มุสลิมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องประสบกับการต่อต้านกระบวนการดังกล่าวจากชนชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการต่อสู้ตามรูปแบบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดนในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จึงเกิดขึ้นมาจากประเด็นของความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ในระหว่างชนชาวมาเลย์มุสลิมแห่งปาตานีกับชาวไทยพุทธ ซึ่งดำเนินติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานนับศตวรรษ โดยผู้นิยมแนวทางการแบ่งแยกดินแดนเห็นว่า การพยายามเข้าควบคุมชุมชนชาวมาเลย์มุสลิมของรัฐบาลไทย เป็นการคุกคามต่อวัฒนธรรมประเพณีและศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของพวกเขา จึงเป็นเหตุผลให้ต้องต่อสู้กับระบอบการปกครองไทยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายได้ ก็ไม่เฉพาะแต่เพียงเหตุผลจากความแตกแยกระหว่างกัน และการไร้ประสิทธิภาพของขบวนการต่อสู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านและรัฐบาลของประเทศมุสลิมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อันเป็นผลมาจากระบบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานทางอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐประชาชาติในปัจจุบัน ที่ได้บดบังเสียงของบรรดาชนชาติส่วนน้อยที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไปเสียสิ้น
ในระหว่างที่ชนชาวมาเลย์มุสลิมบางส่วนได้ค่อยๆ ถูกหล่อหลอมเข้าสู่แบบแผนแห่งความเป็นไทย ภายใต้กระบวนการบูรณาการรูปแบบต่างๆ และการพัฒนาเข้าสู่ภาวะของความทันสมัย ปรากฏว่านโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของรัฐบาลไทย ที่เน้นหนักมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมต้องประสบความล้มเหลว เนื่องจากชุมชนในพื้นที่พากันปฏิเสธด้วยรับรู้อยู่ว่า ความขัดแย้งที่มีอยู่มิได้เกิดจากประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม หากแต่เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา และสำนึกแห่งความเป็นชาติ (nationalistic)
ในขณะที่รัฐบาลไทยมองเห็นปัญหาของการแบ่งแยกดินแดนว่าเป็นการท้าทายต่อเอกภาพของประเทศ ชนชาติส่วนน้อยชาวมาเลย์มุสลิมกลับนิยามความหมายของการปกครองตนเองว่า เป็นสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมของพวกเขาเอง การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนจึงยังคงดำรงอยู่ตลอดมา มีเพียงแต่ความตั้งใจที่จะนำเสนอแนวทางการสร้างสรรค์เอกภาพบนความแตกต่างหลากหลายเท่านั้น ที่จะทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนจำต้องลดบทบาทลงไป จนหันเข้ามายอมรับกระบวนการบูรณาการแห่งชาติได้ในท้ายที่สุด
[แก้] อ้างอิง
- ↑ Connor 1972: 319-55
- ↑ Sunday Tribune ฉบับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)
- ↑ Straits Times, 29 และ 30 เมษายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)
- ↑ Bangkok Post, 2 กุมภาพันธ์ 2004
[แก้] อ่านเพิ่มเติม
รายชื่อต่อไปนี้ไม่ใช่อ้างอิงโดยตรงแต่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
- เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรษแห่งสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้.ศิลปวัฒนธรรม
- สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ."ประวัติศาสตร์ปกปิด" รัฐปัตตานีแห่งศรีวิชัย เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์.ศิลปวัฒนธรรม