ทศพร วงศ์รัตน์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสตราจารย์ ดร. ทศพร วงศ์รัตน์ (เกิด พ.ศ.24..?) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลา ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกในเชิงอนุกรมวิธานปลาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2524 และต่อมาในปี พ.ศ. 2526 เป็น Postdoctoral Fellow ทำหน้าที่สอนวิชามีนวิทยาและหลักอนุกรมวิธานสัตว์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติออสเตรเลีย เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และที่ สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ. ดร. ทศพร มีงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตำรา และงานค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 40 เรื่อง งานประเภทสารคดี สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 เรื่อง และยังมีผลงานเป็นภาพวาดปลาเพื่อใช้ประกอบงานวิจัยกว่า 300 ภาพ ซึ่งภาพวาดดังกล่าวได้รับการเผยแพร่อ้างอิงไปทั่วโลก เป็นผู้ค้นพบและได้ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นเองสำหรับปลาชนิดใหม่จากหลายน่านน้ำของโลกรวม 38 ชนิด (Species) และชื่อของอาจารย์ยังได้รับการตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลา
ศ. ดร. ทศพร เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปลาทะเลขึ้นในกรมประมง และพิพิธภัณฑสถาน ธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชิ้นสำคัญที่สุด คือ งานความหลากหลายทางธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับปลาหลังเขียว - ปลาแมวและปลากะตักที่ปรากฏอยู่ในงานชุด " FAO Species Identification Guide for Fisheries Purposes " เรื่อง " The Living Marine Resources of the Western Central Pacific " Vol.3 หน้า 1698 – 1821 ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ในปี พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ศ. ดร. ทศพร วงศ์รัตน์ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาสัตววิทยา ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักวิทยาศาสตร์ราชบัณฑิตยสถาน ในปี พ.ศ. 2532 เป็นศาสตราจารย์ในสาขาสัตววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2535 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ได้รับ พระราชทานขั้นสูงสุด คือ มหาวชิรมงกุฏ และประถมาภรณ์ช้างเผือก รวมทั้งได้รับการประกาศเกียรติคุณจาก สภาวิจัยแห่งชาติให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี พ.ศ. 2537 และในปี พ.ศ. 2538 ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน เกษียณอายุแล้ว เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย