โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ชื่อ | โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
(ป.ร.) |
ชื่อ (อังกฤษ) | The Prince Royal's College
(P.R.C.) |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2430 โรงเรียนชายวังสิงห์คำ / พ.ศ. 2449 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย |
ประเภทโรงเรียน | เอกชน |
คำขวัญ | คุณธรรมนำปัญญา พลานามัยสมบูรณ์ เกื้อกูลสังคม |
เพลงประจำสถาบัน | เพลงประจำโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย |
สีประจำสถาบัน | น้ำเงิน-ขาว |
ที่อยู่ | 117 ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่่ 50000 |
เว็บไซต์ | [1] |
โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย (อังกฤษ : The Prince Royal's College) (ย่อ : ป.ร., P.R.C.) ตั้งอยู่ ณ ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่่ เป็นโรงเรียนในสังกััด สำนักงานพันธกิจการศึกษา มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย
[แก้] ประวัติโรงเรียน
[แก้] ยุคที่ 1 : สมัยโรงเรียนชายวังสิงห์คำ
โรงเรียนชายวังสิงห์คำ เป็นโรงเรียนแบบตะวันตกสำหรับเด็กชายแห่งแรกในล้านนา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1887 โดยศาสนาจารย์เดวิด กอร์มเลย์ คอลลินส์ มิชชันนารี คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง บริเวณวังสิงห์คำ เรียกว่า "Chiengmai Boys' School" หรือเป็นที่รู้จักกันในนามโรงเรียนชายวังสิงห์คำ ทำการสอนโดยใช้ภาษาล้านนาเป็นหลัก มีการเรียนพระคัมภีร์(ไบเบิล)ควบคู่กันไป มีครูรุ่นแรกประกอบด้วย ครูโอ๊ะ ครูบุญทา ครู แดง และครูน้อยพรหม
[แก้] ยุคที่ 2 : สมัยโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
ในปี ค.ศ. 1899 ศาสนาจารย์คอลลินส์ ออกไปรับผิดชอบโรงพิมพ์ของมิชชัน ศาสนาจารย์ ดร.วิลเลียม แฮรีส ซึ่งเป็นผู้ช่วยของศาสนาจารย์คอลลินส์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896 ได้มาเป็นผู้รับผิดชอบแทน ท่านได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบ จึงได้ย้ายมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงเป็นสยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯทรงวางศิลารากอาคารบัทเลอร์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1906 และพระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า "The Prince Royal's College" นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานสีประจำพระองค์คือ น้ำเงิน-ขาวเป็นสีประจำโรงเรียนอีกด้วย
ศาสนาจารย์แฮรีส ได้พัฒนาด้านอาคารสถานที่และการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ.1912 ได้เริ่มใช้ภาษาไทยเป็นหลักในการสอนแทนคำเมือง เพื่อสนองต่อกระแสการรวมชาติ และเน้นการสอนภาษาอังกฤษ ให้ผู้เรียนมีความสามารถทั้งการพูดและการอ่าน นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมครูให้มีการศึกษาสูงขึ้น จนกระทั่งได้รับรองฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาลในปี ค.ศ.1921 นอกจากนี้ แม่ครูคลอเนลเลีย ภรรยาของศาสนาจารย์แฮรีส ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าฯ ของโรงเรียนขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1926
เมื่อศาสนาจารย์แฮรีส เกษียณอายุในปี ค.ศ. 1939 ศาสนาจารย์ ดร.เคนเนธ เอลเมอร์ แวลส์ ได้รับผิดชอบแทน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945) โรงเรียนถูกยึดเป็นของรัฐบาล โดยใช้สถานที่ทำการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียกว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคพายัพ ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ศาสนาจารย์ ดร.เคนเนธ เอลเมอร์ แวลส์ จึงได้กลับมารับโรงเรียนฯ คืนจากทางรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการในขณะที่อาจารย์หมวก ไชยลังการณ์เป็นอาจารย์ใหญ่ ทางโรงเรียนฯ ได้มีการปรับปรุงอาคารเรียนและการเรียนการสอน โดยเฉพาะแผนกมัธยมศึกษาซึ่งในสมัยที่ ดร.คอนรัด คิงส์ฮิลล์ รับผิดชอบ ได้มีการจัดตั้ง "แผนกสหเตรียมอุดมศึกษาปรินส์-ดารา" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชั้นเรียนแบบสหศึกษาของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในปี ค.ศ. 1927 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1928 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดอาคาร Powers Hall และในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1958 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยี่ยมโรงเรียน นับเป็นเกียรติประวัติและพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนอีกหลายท่าน นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ และเสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลารากอาคารเพชรรัตน-สุวัทนา เมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1986 ปัจจุบันโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่เดิมรับเฉพาะนักเรียนชาย ต่อมาในปี ค.ศ.1957 ได้จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมปลายเป็นแบบสหศึกษา และในปี ค.ศ. 1993 ได้เริ่มรับนักเรียนหญิงในชั้นอนุบาล 3 เป็นรุ่นแรก [2]