แร่รัตนชาติ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แร่รัตนชาติ หรือ รัตนชาติ เป็นกลุ่มประเภทของแร่ประเภทหนึ่ง โดยหมายถึง แร่หรือหินบางชนิด หรืออินทรียวัตถุธรรมชาติที่นำมาเจียระไน ตกแต่ง หรือแกะสลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ มีความงาม ทนทาน และหายาก โดยปกติแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพชร และพลอย ซึ่งหมายถึง อัญมณีทุกชนิดยกเว้นเพชร หากผ่านการตกแต่งหรือเจียระไนแล้ว เรียกว่า อัญมณี รัตนชาติหรืออัญมณี เป็นผลึกที่มีมลทินอยู่ภายใน ทำให้มีสีต่าง ๆ กันไป มีความแข็ง สามารถเจียรไนให้เกิดมุม เพื่อให้เกิดการกระจายแสงเห็นความแวววาว มลทินในแร่ ทำให้แร่มีสีต่าง ๆ กัน แร่คอรันดัมบริสุทธิ์ เป็นสารพวกอลูมิเนียมออกไซด์ มีสีขาว ถ้ามีมลทินจำพวกโครเมียมผสม ทำให้มีสีแดง เช่นทับทิม ส่วน เหล็ก ไทเทเนียม ทำให้มีสีน้ำเงิน (ทับทิมกับไพลิน เป็นแร่คอรันดัมเหมือนกัน แต่มีมลทินต่างชนิดกัน)
เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินอัญมณีได้แก่ ความแข็ง, ความถ่วงจำเพาะและค่าดัชนีหักเหของแสง ดัชนีหักเหของแสง เป็นค่าคงที่ของอัญมณีแต่ละชนิด จึงใช้ตัดสินว่าเป็นของปลอมหรือไม่ ความแข็งของแร่ก็มีผลต่อราคาของอัญมณีด้วย จึงนำมาทดสอบ โดยการขูดขีดกัน (อาจใช้ตะไบ มือ เหรียญทองแดง มีดพับ, กระจก ทดสอบ) แร่ที่มีรอยขูดขีดจะอ่อนกว่า ซึ่งทดสอบได้
แร่รัตนชาติ รัตนชาติหรืออัญมณี คือแร่หรือสารประกอบอนินทรีย์ที่นำมาใช้เป็นเครื่องประดับ ความสวยงาม คงทน และหายาก สารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่จัดเป็นรัตนชาติได้แก่ ไข่มุก และปะการัง อัญมณี แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
- พลอย หรือหินสี ที่สำคัญได้แก่
- พลอยในตระกูลคอรันดัม ซึ่งประกอบด้วย AI2O3 โดยมี Al : O = 52.9 :47.1 โดยมวล การที่พลอยแต่ละชนิดมีสีต่างกันเป็นเพราะมีธาตุเจือปนที่ต่างกัน เช่นทับทิม มีสีแดง เพราะมี โครเมียม เจือปนอยู่ 0.1 – 1.25 โดยมวล บุษราคัม (แซฟไฟร์สีเหลือง) มี เหล็ก และไทเทเนียม เจือปน ไพลิน (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน) มีสีน้ำเงินเพราะมี เหล็ก และ ไทเทเนียม เจือปน พลอยสาแหรก หรือสตาร์ มีรูไทล์ปนอยู่ในเนื้อพลอย
- พลอยในตระกูลควอทซ์ เช่น ซานิดีน เบริล เพอริดอท โทแปช เป็นต้น
- เพชร เป็นธาตุคาร์บอนที่บริสุทธิ์ มีความแข็งแรงมากที่สุด เพชรที่ดีจะต้องไม่มีสี
[แก้] รัตนชาติไทย
หากจะแปลตามตัว รัตนชาติ หรือที่เดิมเขียนกันว่า รัตนชาต ก็จะแปลไว้ว่า สิ่งที่ถือกำเนิดมาเป็นแก้ว (รัตน=แก้ว ชาต=เกิด) ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็พบว่ามีรัตนชาต 9 อย่างอันเป็นมิ่งมงคล แต่บางชนิดหายากหรือหาไม่พบในประเทศไทยปัจจุบันแล้ว
รัตนชาต ทั้ง 9 หรือเรียกว่า นพรัตน์ นั้น โบราณท่านผูกเป็นบทกลอนไว้ว่า
เพชรดีมณีแดง เขียวแสงใสมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สายสังวาลย์ไพฑูรย์
ซึ่งตามคำกลอนดังกล่าว ไม่ได้เรียงตามระดับราคาหรือค่าความแข็งแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้พบว่าชื่อเรียกในโบราณนั้น ปัจจุบันสามารถหมายถึงรัตนชาตชนิดอื่นได้เช่นกัน ถ้าอ้างอิงตามกลอนบทนี้ สามารถถอดความเป็นรัตนชาต 9 อย่างได้ดังนี้
- เพชรดี หมายถึง เพชร (Diamond)
- มณีแดง หมายถึง ทับทิม (Ruby)
- เขียวแสงใสมรกต หมายถึง มรกต (Emerald)
- เหลืองใสสดบุษราคัม หมายถึง บุษราคัม (Citrine) ปัจจุบันหมายถึง (Yellow Topaz)
- แดงแก่ก่ำโกเมนเอก หมายถึง โกเมน (Garnet)
- สีหมอกเมฆนิลกาฬ หมายถึงไพลิน (Sapphire)
- มุกดาหารหมอกมัว หมายถึง ไข่มุก (Pearl)
- แดงสลัวเพทาย หมายถึง เพทาย (Hyacinth) เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า (Yellow Zircon) (ซึ่งเป็นรัตนชาตชนิดเดียวกัน)
- สายสังวาลย์ไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ (Crysobery)
[แก้] อ้างอิง
- พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2544. หน้า 160
แร่รัตนชาติ เป็นบทความเกี่ยวกับ ธรณีวิทยา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |