เรวัต พุทธินันทน์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรวัต พุทธินันทน์ (เกิด 5 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่กรุงเทพ) นักร้อง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ เมื่อ พ.ศ. 2526
เรวัตเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของนาวาตรีทวีและนางอบเชย พุทธินันทน์ เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรวัตหัดเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 11 ปี โดยบิดาบังคับให้เรียนแซกโซโฟน เขากับเพื่อนๆ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งวงดนตรี ชื่อ Dark Eyes ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น Mosrite และเข้าประกวดในงานของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ในปี พ.ศ. 2508 และ 2509 ขณะเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2510 ได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวง Yellow Red (เหลือง-แดง คือสีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เพื่อนในวงคนสำคัญคือ ดนู ฮันตระกูล และจิรพรรณ อังศวานนท์
ต่อมาเรวัตได้ร่วมกับเพื่อนจากธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งวง The Thanks รับแสดงตามงานต่างๆ เน้นดนตรีร็อค เรวัตรับตำแหน่งร้องนำและตีกลอง เพื่อนร่วมวงคนหนึ่งคือ กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา วง The Thanks มีชื่อเสียงได้เล่นสลับกับวงดิ อิมพอสซิเบิล ตามไนท์คลับต่างๆ
หลังเรียนจบ เรวัตได้รับการชักชวนให้ร่วมวงดิ อิมพอสซิเบิล และเดินทางกับวงไปแสดงที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกาและยุโรป ในตำแหน่งนักร้องนำและเล่นคีย์บอร์ด เมื่อวงดิอิมพอสซิเบิลประกาศยุบวง เมื่อ พ.ศ. 2520 เขาตั้งวง โอเรียนเต็ลฟังก์ เล่นดนตรีฟังก์ ร่วมกับวินัย พันธุรักษ์ เล่นประจำที่โรงแรมมณเฑียร และตระเวนเปิดการแสดงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้นเรวัตได้ศึกษาการเขียนเพลงและดนตรีเพิ่มเติม
ในปี พ.ศ. 2526 เรวัตร่วมกับไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก่อตั้งบริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเม้นท์ เขาทำหน้าที่ดูแลด้านการผลิตเพลง ใช้เทคนิคการสร้างศิลปินแบบสากล คือขายทั้งความสามารถและภาพพจน์ ทำให้ผลงานของบริษัทประสบความสำเร็จแทบทุกชุด
ชีวิตครอบครัว เรวัต สมรสกับ อรุยา สิทธิประเสริฐ เพื่อนจาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2517 มีบุตรสาวสองคนคือ สุธาสินี และสิดารัศมิ์
เรวัติ พุทธินันทน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2539 อายุ 48 ปี
สารบัญ |
[แก้] ผลงานดนตรี
[แก้] ร้องนำ
- เรามาร้องเพลงกัน (2525) ร่วมกับวงคีตกวี (อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ, จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา และ อัสนี โชติกุล) และโรงเรียนดนตรีศศิลิยะ (เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ และดนู ฮันตระกูล)
- เต๋อ 1 (2526)
- เต๋อ 2 (2528)
- เต๋อ 3 (2529)
- ชอบก็บอกชอบ (2530)
[แก้] คำวิจารณ์
มีการวิจารณ์ว่า ทำนองดนตรีของศิลปินหลายคนในการดูแลของเรวัต หลายเพลงคล้าย หรือหยิบยืมมาจากทำนองเพลงต่างประเทศ [1] ซึ่งเรวัต เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า โน้ตดนตรี มีอยู่ 7 ตัว ทำให้มีโอกาสที่เสียงดนตรีจะไปพ้องกันได้ [ต้องการแหล่งอ้างอิง]
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
- http://www.eotoday.com/music/artists/th/ter/index.html
- http://www.nitipongfanclub.com/bigbrother/bigbrother.html
[แก้] อ้างอิง
- หนังสือ In Our Heart And Mind : REWAT BUDDHINAN