อเล็กซานเดอร์มหาราช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อเล็กซานเดอร์มหาราช (อังกฤษ: Alexander the Great กรีก: Μέγας Αλέξανδρος หรือ Megas Alexandros) หรือ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ประสูติเมื่อ กรกฎาคม 356 ปีก่อนคริสตกาล สวรรคตในวันที่ 10 มิถุนายน 323 ปีก่อนคริสตกาล ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรมาเซโดเนีย และเป็น พระจักรพรรดิ ที่ขยายจักรวรรดิได้ถึงครึ่งโลกในสมัยโบราณ
สารบัญ |
[แก้] ทรงพระเยาว์
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นพระโอรสของพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งมาร์เซโดเนีย กับพระนางโอลิมเปียส พระองค์เป็นศิษย์ของอริสโตเติล ผู้เป็นมหานักปราชญ์แห่งโลกตะวันตก เมื่อพระเจ้าฟิลิปส์ที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ เหล่านายทหารในกองทัพจึงสนับสนุนให้อเล็กซานเดอร์ ซึ่งในขณะนั้นอายุเพียง 20 ปี ขึ้นครองบัลลังก์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของมาเซโดเนีย
หลังขึ้นครองราชย์ อเล็กซานเดอร์ได้แผ่ขยายอาณาเขตของอาณาจักรมาเซโดเนียไปอย่างมาก โดยอเล็กซานเดอร์ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการตีได้ทั้งจักรวรรดิเปอร์เซีย, อาณาจักรบาบิโลน และดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบัน
[แก้] การรบครั้งสุดท้าย
การรบครั้งสุดท้ายที่มีผู้ต่อกรกับอเล็กซานเดอร์มหาราชอย่างจริงจัง เมื่อพระองค์ยกกองทัพเข้ามาทางภาคเหนือของอินเดียในปี 326 B.C. โดยเข้าสู่บริเวณลุ่ม แม่น้ำสินธุ ตีกรุงตักสิลาใน แคว้นคันธาระ แตก แล้วบุกตระลุยลงมาสู่เมืองนิเกีย (Nicaea) แคว้นปัญจาบ ในพระเจ้าโปรัสหรือพระเจ้าพอรุส (Porus) (หากใช้สำเนียงเอเซียจะเรียกว่าพระเจ้าเปารวะ) พระเจ้าเปารวะเป็นผู้เข้มแข็งในการรบ ซึ่งมีพระสมญาว่า "สิงห์แห่งปัญจาบ" ได้รับแจ้งข่าวกับบรรดามหาราชาแห่งอินเดียว่ามีข้าศึกชาวตะวันตกผมบรอนซ์ตาสีฟ้ายกทัพข้ามภูเขาฮินดูกูชเข้ามา ฝ่ายอินเดียระดมกำลังพลทหารราบ ๔๐,๐๐๐ ทหารม้า ๔,๐๐๐ รถศึกอีก ๕๐๐ และกองทัพช้างมหึมาจำนวน ๕๐๐ เชือกรอรับอยู่ กองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกับกองทัพฝ่ายอินเดียโดยมีพระเจ้าเปารวะเป็นแม่ทัพได้ปะทะกันที่ฝั่งแม่น้ำวิตัสตะ อันเป็นสาขาของแม่น้ำสินธุ กำลังพลจำนวน 17,000 ในพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ข้ามแม่น้ำสำเร็จโดยอาศัยธรรมชาติช่วย แต่ทหารม้าของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชไม่เคยสู้รบกับช้างจึงบังเกิดความแตกตื่นอลหม่านขึ้น ทหารหอกยาวนับหมื่นของพระองค์ก็ได้พยายามต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ นี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่รบมาเป็นเวลา 15 ปีที่กองทหารหอก (Phalanx) อันมีระเบียบวินัยในพระองค์บาดเจ็บจนบ้าเลือดบุกตะลุยไปทั่ว ทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทหารจากฝ่ายใด การรบวันนั้นต้องสิ้นสุดลงด้วยการหย่าศึก เพราะบาดเจ็บล้มตายกับทั้งสองข้าง แต่ถึงอย่างไรพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ยังทรงได้รับชัยชนะอยู่ดี เพราะพระเจ้าเปารวะถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัสและถูกนายทหารกรีกจับเป็นเชลยสงคราม เมื่อพระเจ้าเปารวะถูกจับมาเผชิญพระพักตร์กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ มหาราชตรัสถามว่า
"พระองค์ต้องการจะให้เราปฏิบัติอย่างไร?" พระเจ้าเปารวะตรัสตอบอย่างองอาจว่า
"ต้องการให้ปฏิบัติเราอย่างกษัตริย์" แทนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะพิโรธกลับตรัสถามต่อไปว่า
"ทรงประสงค์จะขออะไรอีก?" พระเจ้าเปารวะจึงตรัสตอบว่า
"คำว่า "กษัตริย์" นั้นครอบคลุมไปถึงสิ่งทั้งหมดที่เราต้องการขอแล้ว"
ด้วยความกล้าหาญรักษาขัตติยเกียรติของพระเจ้าเปารวะทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชซึ่งมีพระทัยโปรดคนกล้าหาญ ได้พระราชทานคืนบ้านเมืองให้แล้วแต่งตั้งพระเจ้าเปารวะให้เป็นพระราชาตามเดิม แต่ดำรงในฐานประเทศราช
เสร็จศึกในครั้งนั้นอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้สดับความมั่งคั่งสมบูรณ์ของแคว้นมคธ และได้ตระเตรียมยาตราทัพมาตี แต่ทหารของพระองค์ที่ร่วมศึกกับพระองค์มาตั้งแต่เป็นพระยุพราชเป็นเวลา 15 ปีที่ไม่ได้กลับบ้านกลับเมือง พากันเบื่อหน่ายการรบ โดยให้ความเห็นว่าถ้าตีมคธได้ก็คงตีแคว้นอื่นต่อไปอีกไม่มีกำหนดสิ้นสุด อเล็กซานเดอร์มหาราชจึงต้องจำพระทัยเลิกทัพกลับ ช่วงนิวัตกลับอเล็กซานเดอร์มหาราชแบ่งกองทัพออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้กลับทางบก ส่วนพระองค์นิวัตโดยทางชลมาร์คลงมาตามแม่น้ำสินธุอย่างผู้พิชิตพร้อมด้วยทหารฝ่ายที่เหลือ รวมเวลาที่อเล็กซานเดอร์มหาราชรบอยู่ในอินเดีย ๑ ปี กับ ๘ เดือน พระองค์ได้เสด็จฯไปยังกรุงบาบิลอนซึ่งเป็นนครเอกของโลกในเวลานั้น
[แก้] ดวงชะตา
ดวงพระชะตาของอเล็กซานเดอร์มหาราชขึ้นอยู่เป็นเวลา 13 ปีที่พระองค์ไม่แพ้ใครเลย จนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 324 B.C. เฮพาเอสเชียน (Hephaestion) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีและนายทหารพระสหายสนิทที่ใกล้ชิดพระองค์ที่สุดของพระองค์ตายที่เมืองเอกบาตานา (Ecbatana) อเล็กซานเดอร์มหาราชเศร้าโศกเป็นอย่างมาก และไม่ยอมตั้งใครให้ทำหน้าที่แทนพระสหายรักในพระองค์ ทรงจัดพิธีศพให้ที่กรุงบาบิลอนโดยใช้กองฟืนที่มีราคาแพง ต่อจากนั้นได้รับสั่งให้สร้างสุสานขนาดใหญ่ที่สวยงามเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เฮพาเอสเชียนที่เมืองบาบิโลน สืบเนื่องจากการสูญเสียพระสหาย พระองค์ก็ได้แต่เสวยน้ำจันฑ์ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ณ กรุงบาบิลอน จึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ประชวรอยู่ 10 วันก็ได้ แล้วจึงเสด็จฯสู่สวรรคาลัยในวันที่ 10 มิถุนายน ปี 323 B.C. โดยมีพระชนมายุเพียง 33 พระชันษา
[แก้] ความรัก
ในเรื่องของความรักของพระองค์ ผู้ซึ่งเป็นจักรพรรดิครองโลกในสมัยโบราณมาแล้วครึ่งโลก พระองค์เป็นชาวมาเซโดเนียมีพระปรีชาสามารถทางการรบเป็นอย่างสูง กล่าวกันว่าดวงพระชะตาของพระองค์ตั้งแต่ที่ได้ขึ้นครองราชย์มาล้วนไม่เคยแพ้ผู้ใด เว้นเสียแต่ว่าแพ้ใจตนเอง พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับสตรีชาวพื้นเมืองอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง แต่สาเหตุที่ทำการอภิเษกสมรสนั้นก็ล้วนเกิดจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ ดังที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดี ว่าความสัมพันธ์ของพระองค์ที่ต่อทหารของพระองค์ล้วนลึกซึ่งเกินกว่าคำว่าเพื่อนสนิท หรือเจ้ากับข้า ครั้งหนึ่งจากความสูญเสียเฮพาเอสเชียนพระองค์ทรงเสียพระทัยจนถึงจะทรงทำอัตวินิบาต และเสวยน้ำจัณฑ์ติดต่อกันหลายวัน จนแทบไม่พระทัยในพระราชกรณียกิจอื่นใด พลูตาร์กได้บันทึกว่า ในปี 323 ก่อนคริสตกาล ตรงกับฤดูใบไม้ผลิ เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชเสด็จฯไปถึงเมืองบาบิโลนเพื่อไปทอดพระเนตรสุสานที่เก็บศพเฮพาเอสเชียนพระสหายสนิท แต่กลับยังสร้างไม่เสร็จ ปรากฏว่าพระองค์ทรงยกเลิกพิธีเคารพศพกลับมาเสวยน้ำจัณฑ์ติดต่อกันเจ็ดวันเจ็ดคืนจนสวรรคต
เรื่องราวความรักของพระองค์นอกเหนือจากนี้เราสามารถหาอ่านได้จากงานเขียนของคาลลิสเธเนส ซึ่งเป็นนามแฝงของหลานชายอริสโตเติล, บันทึกของเอมีร์ คูสเรา, บันทึกของเนคตาเนเบส เป็นต้น