อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อำเภอฉวาง อำเภอนาบอน และอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยทิวทัศน์และน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกโยง น้ำตกหนานปลิว เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาหาความรู้ ทั้งเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญ อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 202.68 ตารางกิโลเมตร หรือ 126,675 ไร่
สารบัญ |
[แก้] ประวัติความเป็นมา
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เป็นอุทยานแห่งชาติที่สำคัญเนื่องจากมีพื้นที่ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงทอดยาว มียอดสูงสลับซับซ้อนทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงาม และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ประกอบกับมีสภาพป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อวงจรชีวิตของพืช และสัตว์ป่า และสภาพแวดล้อมข้างเคียงด้วย
- พ.ศ. 2528 กรมป่าไม้ได้รับหนังสือจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ไปตรวจเยี่ยมราษฎร และได้รับการร้องขอให้ดำเนินการปรับปรุง ป้องกันบริเวณน้ำตกปลิว 1,2 ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และมีน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง ราษฎรในพื้นที่ให้การสนับสนุนและประสงค์จะให้มีการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ
- พ.ศ. 2529 นายสัมพันธ์ ทองสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ประกาศพื้นที่ป่าเขาพระสุเมรุ (เขาเหมน) เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร่งด่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ให้กรมป่าไม้ดำเนินการตรวจสอบบริเวณพื้นที่ป่าดังกล่าวปรากฎว่ามีสภาพป่าสมบูรณ์มาก เห็นควรอนุรักษ์ได้เป็นอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้โดยกองอุทยานแห่งชาติ (ส่วนอุทยานแห่งชาติ) จึงได้นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 1/2532 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2532 เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาเหมน ป่าเขาหลวง ป่าปลายคลองวังหีบ ป่าน้ำตกโยง และป่าคลองปากแพรก ในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง ตำบลเขาแก้ว ตำบลลานสกา อำเภอลานสกา ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน ตำบลนาหลวงเสน ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง และตำบลหินตก ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2534 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 108 ตอนที่ 127 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 64 ของประเทศไทย
[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 8 องศา 09 /-8 องศา 21/เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 38/ - 99 องศา 50/ตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 128,125 ไร่ หรือประมาณ 205 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม พื้นที่ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกิ่งอำเภอช้างกลาง และอำเภอลานสกา
- ทิศใต้ ติดต่ออำเภอทุ่งสง และอำเภอร่อนพิบูลย์
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอลานสกา และอำเภอร่อนพิบูลย์
- ทิศตะวันตก ติดต่ออำเภอนาบอน และกิ่งอำเภอช้างกลาง
น้ำตกโยงเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมากมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เป็นน้ำตกที่มีหน้าผาสูงชันมีน้ำไหลลงมาเหมือนเกลียวเชือก ทำให้เกิดแอ่งน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ 30 เมตร ลึกประมาณ 10 เมตร มีชั้นน้ำตก 7 ชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามและร่มรื่นด้วยพรรณไม้มากมายของป่าดิบชื้นผสมป่าดิบเขา เช่น ยาง กระบาก ตะเคียน ก่อนก ก่อเดือย ตามพื้นป่ามีหวายและเฟินต้นที่ชอบขึ้นตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูง นอกจากนี้ยังมีปลาอาศัยอยู่หลายชนิดโดยเฉพาะปลาแงะมีจำนวนมาก น้ำตกชั้นที่ 1 ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงประมาณ 300 เมตร และห่างจากอำเภอทุ่งสง 8.5 กิโลเมตร
[แก้] เส้นทางศึกษาอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
[แก้] การใช้ที่ดินและแบ่งส่วนใช้สอย
พื้นที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
- ส่วนราชการ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ มีดังนี้ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง, ห้องพัสดุ, ห้องวิทยุ, ห้องประชุม, ลานจอดรถเจ้าหน้าที่และชุดม้านั่ง
- ส่วนบ้านพัก บ้านพักมีไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว ที่มาใช้บริการและต้องการพักผ่อนหรือค้างคืน และบ้านพักที่มีไว้สำหรับเจ้าหน้าที่
- ส่วนบริการและนัทนาการ ซึ่งสร้างความสะดวกและความสวยงาม และความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการ ทั้งบุคคลภายในและภายนอกพื้นที่โครงการ เช่น ที่จอดรถ, โรงอาหาร, พื้นที่พักผ่อน, ห้องน้ำ, หอประชุม
[แก้] ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน ฝนตกเกือบตลอดทั้งปี ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม มีอากาศค่อนข้างเย็นและฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคม-เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยโดยประมาณ 26 องศาเซลเซียส สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป อยู่ในภูมิอากาศเขตร้อนชื้น มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 2,000-3,000 มิลลิเมตร บางแห่งสูงกว่า 4,000 มิลลิเมตร
[แก้] พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าทั่วไปเป็น
- ป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่มีค่าและมีขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง นาคบุตร กระบาก เสียดช่อ เลือดนก ขนุนปาน จำปา พิกุลป่า ก่อ รักเขา กระท้อน สะตอ เหรียง ฯลฯ พืชพื้นล่างมีจำพวกเฟินต้นชนิดต่างๆ พืชตระกูลขิงข่า ไม้เลื้อย และเถาวัลย์ขึ้นเกาะตามไม้ใหญ่มากมาย
- ป่าดิบเขา เป็นป่าที่มีความโปร่งกว่าป่าดิบชื้นอยู่ในระดับความสูง 800 เมตรขึ้นไป เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่น้อย พันธุ์ไม้เด่นได้แก่ ก่อตาหมู ก่อนก ก่อเดือย ก่อแป้น พืชพื้นล่างที่พบได้แก่ มังเส เฟิน มอส กล้วยไม้ดิน เป็นต้น
สัตว์ป่าที่สำรวจพบในป่าเขาบริเวณนี้ที่สำคัญ เช่น เสือดำ เลียงผา สมเสร็จ หมูป่า เก้ง กระจง อีเห็น ชะมด ลิงเสน ค่าง ชะนี กระรอก เม่น นกหว้า นกยูง เหยี่ยว ไก่ป่า นกเขาเปล้า นกเงือก นกขมิ้น นกกางเขนดง นกแซงแววหางปลา นกปรอดหัวโขน ตะพาบน้ำ ตะกวด กิ้งก่า จิ้งเหลน งูกะปะ กบ เขียด คางคก ปลาแงะ ปลาซิว ปลากระทิง ปลาชะโด ปูน้ำตก ผีเสื้อกลางวัน ผีเสื้อกลางคืนและแมลงปีกแข็งต่างๆ
[แก้] การเดินทาง
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ต.ถ้ำใหญ่ อ. ทุ่งสง จ. นครศรีธรรมราช 80110 โทรศัพท์ : 0 7535 4967 โทรสาร : 0 7535 4967
- รถยนต์
จากกรุงเทพมหานคร ถึงอำเภอทุ่งสง ระยะทางประมาณ 774 กิโลเมตร จากอำเภอทุ่งสงถึงอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 403 แยกซ้ายทางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงบริเวณน้ำตกโยง รวมระยะทางประมาณ 8.5 กิโลเมตร
- รถไฟ
จากกรุงเทพมหานครถึงอำเภอทุ่งสง ระยะทางประมาณ 775 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยงระยะทางประมาณ 8.5 กิโลเมตร
- เครื่องบิน
จากกรุงเทพมหานคร ลงที่สนามบินนครศรีธรรมราช แล้วไปต่อยังอำเภอทุ่งสง ซึ่งห่างจากสนามบินประมาณ 60 กิโลเมตร
แก้ | อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย | |||||||||||||
|
อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เป็นบทความเกี่ยวกับ แม่น้ำ ภูเขา หรือสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |