อังกะลุง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อังกะลุง เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ เล่นด้วยการเขย่าให้เกิดเสียง นับเป็นเครีองดนตรีประเภทตี มีที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ใน ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า อังคะลุง หรือ อังกลุง (Angklung)
[แก้] ความเป็นมา
ครูจางวางศร ศิลปบรรเลง (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ)เป็นผู้นำอังกะลุงเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อราว พ.ศ. 2451 เมื่อครั้งที่ท่านได้โดยเสด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงพันธุ์วงศ์วรเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศชวา
อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 2 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียง
อังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้น มี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ทั้งตัวอังกะลุงและราง ถายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลง จากการไกว เป็นการเขย่าแทน นับว่า เป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน
หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวง ที่วัดราชาธิวาส ในสมัยรัชกาลที่ 6
โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1 - 2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ตเสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก
นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว
[แก้] วงอังกะลุง
อังกะลุงอาจเล่นเป็นวงดนตรีอังกะลุงโดยเฉพาะ หรือเล่นรวมกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็ได้ มักพบในวงดนตรีของสถาบันการศึกษา มากกว่าวงดนตรีอาชีพ
วงอังกะลุงวงหนึ่งจะมีอังกะลุงอย่างน้อย 7 คู่ และมีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง, กลองแขก นอกจากนี้มักมีเครื่องตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น ธงชาติ, หางนกยูง เป็นต้น