อักษรนำ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อักษรนำ หมายถึง พยัญชนะสองตัวเรียงกัน และผสมในสระเดียวกัน
อักษรนำ คล้ายคลึงกับคำควบกล้ำ แต่คำควบกล้ำแท้จะประสานเสียงที่ออกสนิทกว่าอักษรนำ ในขณะที่คำควบกล้ำไม่แท้จะไม่ออกเสียงตัวควบกล้ำหรือเปลี่ยนเป็นเสียงอื่นเลย
สารบัญ |
[แก้] ทั่วไป
ถ้าเป็นตัวสะกด ให้ถือตัวหน้าเป็นตัวสะกดแต่ตัวเดียว แต่พร้อมกันนั้น ก็ทำหน้าที่เป็นตัวนำด้วย เช่น พิศวาส พิศวง กฤษณา ทฤษฎี ฯลฯ แต่ถ้าเป็นตัวการันต์จะเป็นด้วยกันทั้ง 2 ตัว หรือทั้ง 3 ตัวก็ได้ เช่น ลักษณ์ ลักษมณ์ หรือจะเป็นเพียงตัวเดียวก็ได้ เช่น แพทย์ สัตว์ ฯลฯ
อักษรควบบางตัวก็ใช้เป็นอักษรนำได้ เช่น ปรารถนา (อ่านว่า ปราด-ถะ-หนา) ปราชัย (อ่านว่า ปะ-รา-ไช)
[แก้] ข้อบังคับของการใช้อักษรต่างๆ นำ
พยัญชนะตัวแรกอาจจะเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำก็ได้ เช่นเดียวกับตัวหลัง แต่ถ้า
- อักษรสูงนำ พยัญชนะตัวหลัง อาจจะเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำก็ได้
- อักษรกลางนำ พยัญชนะตัวหลัง เป็นอักษรต่ำได้เพียงอย่างเดียว
- อักษรต่ำนำ พยัญชนะตัวหลัง เป็นอักษรต่ำได้เพียงอย่างเดียว
[แก้] การใช้ ห และ อ นำ
ห จะใช้นำได้เฉพาะอรรธสระ (คือ พยัญชนะที่มีเสียงกึ่งสระกึ่งพยัญชนะ ได้แก่ ย ร ล ว) และพยัญชนะตัวสุดท้ายของพยัญชนะวรรคเท่านั้น (ได้แก่ ง ญ ณ น ม แต่ ณ ไม่มีที่ใช้) เช่น หยด หยอก หรีด หลง หล่อ หวัง หงอก หญ้า หญิง หนู หย่า ฯลฯ
ในขณะที่ อ จะใช้นำได้เฉพาะตัว ย และมีอยู่เพียง 4 คำเท่านั้น ได้แก่ อย่า อยู่ อย่าง อยาก โดยมีผู้คิดค้นข้อความช่วยจำ (Mnemonic) ขึ้นว่า อย่าอยู่อย่างอดอยาก
[แก้] การเขียน
จะเขียนพยัญชนะตัวแรกตามด้วยพยัญชนะตัวที่สอง โดยพยัญชนะตัวแรกอาจจะเป็นอักษรหมู่ใดก็ได้ เช่นเดียวกับพยัญชนะตัวหลัง โดยถ้าตัวหลังเป็นอักษรเดี่ยว พยัญชนะตัวแรกก็จะบังคับให้ผันพยัญชนะตัวที่สองขึ้นเสียงสูง
สระตัวใดที่ใช้เขียนไว้ข้างหน้า ก็ต้องเขียนไว้ข้างหน้าอักษรนำเหมือนอักษรธรรมดา เช่น เขนย แสยง ไฉน ฯลฯ สระตัวใดใช้เขียนคร่อม ก็ต้องเขียนคร่อมอักษรนำเหมือนอักษรธรรมดาด้วย เช่น เฉลียว เขยิบ ฯลฯ สระที่ใช้เขียนไว้ข้างบน ข้างล่าง และหลังพยัญชนะ รวมทั้งรูปวรรณยุกต์ด้วย ให้เขียนไว้ที่ตัวที่ 2 ของอักษรนำ เช่น สระ สมิง ฉลุ ฯลฯ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะเขียนคู่กันเป็น 2 ตัว ก็ต้องถือว่าได้ประสมเป็นตัวเดียวกันแล้ว เพราะเราไม่มีการเขียนพยัญชนะ 2 ตัว ให้เป็นตัวเดียวกันได้เหมือนพยัญชนะบาลีและสันสกฤต
[แก้] การออกเสียง
การออกเสียง จะออกเสียงพยัญชนะสองตัวผสมกันคนละครึ่ง พอแยกออกได้ว่าพยัญชนะอะไรผสมกัน แต่การผสมนี้จะไม่สนิทเท่าอักษรควบแท้ มียกเว้นอยู่สองกรณี ที่จะไม่ออกเสียงพยัญชนะอีกตัว ได้แก่
- ตัว ห เมื่อเป็นตัวนำอักษรเดี่ยว ไม่ต้องออกเสียงคนละครึ่งเหมือนอักษรนำอื่น ๆ แต่ให้ออกเสียงประสมกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ เช่น หนู หมอ ใหญ่ ฯลฯ
- ตัว อ เมื่อนำหน้า ตัว ย ไม่ต้องออกเสียงเหมือนอักษรนำธรรมดา ให้ออกเสียงทำนองเดียวกับ ห นำ แต่เป็นเสียงอักษรกลาง คือ อย่า อยู่ อย่าง อยาก มี 4 คำเท่านั้น
ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรกลางหรืออักษรสูง แล้วพยัญชนะข้างหลังเป็นอักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว เวลาอ่านให้ผันเสียงอักษรต่ำนั้นเป็นเสียงสูงตามอักษรที่เป็นตัวนำ แต่ถ้าพยัญชนะข้างหน้าเป็นอักษรต่ำ หรือพยัญชนะข้างหลังไม่ใช่อักษรต่ำที่เป็นอักษรเดี่ยว ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะนั้นตามปกติ
[แก้] วิธีสังเกตอักษรนำ
- สังเกตเสียง คือ ออกเสียงประสมกันแต่ไม่กล้ำกันสนิทเหมือนอักษรควบแท้ ยกเว้น ตัว ห และ ตัว อ ที่เป็นตัวนำ
- สังเกตรูปสระ คือ ถ้าเป็นสระ เอ แอ โอ ไอ จะต้องเขียนไว้หน้าอักษรนำ เช่น เฉลย แถลง ไฉน ฯลฯ ถ้าเป็นสระคร่อมต้องเขียนคร่อมทั้ง 2 ตัว เช่น เสมียน เถลิง ฯลฯ
- สังเกตรูปพยัญชนะ คือ ถ้าอักษรนำเป็นอักษรสูง หรืออักษรกลาง อักษรเดี่ยวซึ่งเป็นตัวที่ 2 จะต้องออกเสียงเป็นเสียงสูงหรือกลางตามไปด้วย เช่น กนก ถนน สนิม ฯลฯ ในที่นี้ นก นน และ นิม ต้องออกเสียงให้เป็น หนก หนน หนิม ซึ่งผิดกับเมื่ออยู่ตามลำพัง