สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2515 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 1 พรรษาเศษ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2517 พระชนมายุได้ 77 พรรษา
พระองค์มีพระนามเดิมว่า ปุ่น ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2439 ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี การศึกษาในเบื้องต้น เรียนกับบิดาของท่าน จนอ่านออกเขียนได้ แล้วจึงไปเรียนภาษาบาลี อักษรขอม และมูลกัจจายน์ (กับพระอาจารย์หอม และอาจารย์จ่าง) ที่วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อพระชนม์ได้ 10 พรรษา (พระอาจารย์หอมได้พามาฝากให้เป็นศิษย์พระอาจารย์ป่วน) ได้มาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ฯ เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา ได้ย้ายมาอยู่กับพระอาจารย์สด (พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ) ณ วัดพระเชตุพน แล้วกลับไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. 2460
พ.ศ. 2456 สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. 2458 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ขณะเป็นสามเณร
พ.ศ. 2462 สอบได้นักธรรมโท
พ.ศ. 2463, 2466, 2470 สอบได้เปรียญธรรม 4,5 และ 6 ประโยคตามลำดับ
พ.ศ. 2483 เป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎก แผนกพระวินัย เป็นภาษาไทย
พ.ศ. 2484 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระอมรเวที เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นคณาจารย์เอกทางเทศนา
พ.ศ. 2486 เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาคบูรพา (8 จังหวัด ภาคตะวันออก) เป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 2 (10 จังหวัดภาคกลาง) และเป็นกรรมการสังคายนา พระธรรมวินัย
พ.ศ. 2488 เป็นสมาชิกสังฆสภา
พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุธี
พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน และเป็นกรรมการสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. 2491 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 1 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการสังมาณัติระเบียบพระคุณาธิการ และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมดิลก
พ.ศ. 2492 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 2 (ภาคบูรพาเดิม) และเป็นสภานายกสภาพระธรรมกถึก
พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 2
พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีสมัยที่ 3 และ 4 เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 7 (8 จังหวัดภาคกลาง) เป็นกรรมการเจ้าคณะตรวจการภาค และเป็นอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ และประชาชน
พ.ศ. 2499 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระธรรมโรดม และเป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การสาธารณูปการ) สมัยที่ 5
พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรี (ว่าการองค์การเผยแผ่) สมัยที่ 6
พ.ศ. 2504 ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระวันรัต และเป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลี
พ.ศ. 2506 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม
พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก หนเหนือ และหนใต้
พ.ศ. 2509 เป็นแม่กองงาน พระธรรมทูต
พ.ศ. 2510 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ระหว่างที่พระองค์เสด็จเยือนลังกา
พ.ศ. 2515 เป็นเจ้าคณะนครหลวงกรุงเทพธนบุรี
ผลงานของพระองค์ นอกจากที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานตามตำแหน่งหน้าที่ และงานพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบอย่างครบถ้วนแล้ว ยังมีงานด้านพระศาสนาที่ทรงริเริ่มพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ
งานด้านการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์ ทรงก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ทั้งปูชนียสถานเช่น พระอาราม สาธารณสถาน เช่น พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก
งานด้านมูลนิธิ ทรงก่อตั้งและสนับสนุนมูลนิธิ ที่ดำเนินงานด้านธรรม ด้านวิชาการ และการศึกษา และด้านสาธารณูปการ เป็นจำนวนมาก งานด้านพระนิพนธ์ มีพระธรรมเทศนาจำนวนมาก วันสำคัญทางศาสนา ประมวลอาณัติคณะสงฆ์ สารคดี เช่น สู่เมืองอนัตตา พุทธชยันตี เดีย-ปาล(อินเดีย-เนปาล) สู่สำนักวาติกัน และนิกสัน และบ่อเกิดแห่งกุศล คือ โรงพยาบาล เป็นต้น ธรรมนิกาย เช่น จดหมายสองพี่น้อง สันติวัน พรสวรรค์ หนี้กรรมหนี้เวร ไอ้ตี๋ ดงอารยะ เกียรติกานดา คุณนายชั้นเอก ความจริงที่มองเห็น ความดีที่น่าสรรเสริญ อภินิหารอาจารย์แก้ว กรรมสมกรรม
งานด้านต่างประเทศ ทรงไปร่วมประชุมฉัฎฐสังคายนาพระไตรปิฎก ณ ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2497 ไปร่วมงานฉลองพุทธชยันตี (25 พุทธศตวรรษ) ณ ประเทศศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2499 นอกจากนี้ยังทรงไป และสังเกตการณ์ พระศาสนาและเยือนวัดไทยในต่างประเทศ อีกเป็นจำนวนมาก
บทความนี้ นำข้อความบางส่วนมาจากเว็บไซต์หรือสื่ออื่น หอมรดกไทย ซึ่งเจ้าของเว็บไซต์หรือสื่อดังกล่าว อนุญาตให้เผยแพร่ต่อได้ โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์
สมัยก่อนหน้า: สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร) |
พระสังฆราช (สมัยที่ {{{สมัยที่}}}) พ.ศ. 2515-พ.ศ. 2517 |
สมัยถัดไป: สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) |