สงครามมหาเอเชียบูรพา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามมหาเอเชียบูรพา (อังกฤษ : The Greater East Asia War; ญี่ปุ่น : 大東亜戦争) เป็นคำที่ใช้กันในกองบัญชาการทัพแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น เริ่มใช้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 หมายถึง สงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเกิดขึ้นจากการรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษ 1930 ถึง 1940
สงครามมหาเอเชียบูรพาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันบุกเข้าโปแลนด์เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2482 เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป หลังจากนั้นเยอรมันโจมตีอังกฤษทางอากาศและรุกเข้าสหภาพโซเวียต ขณะที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัวเป็นกลาง
ในทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นเริ่มนโยบายชาตินิยมโดยใช้คำขวัญที่ว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" (Asia for Asiatics) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2481[1] ได้ประกาศนโยบาย "การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกและการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" (New order in East Asia and the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังได้ทำสัญญาร่วมมือกับเยอรมนีและอิตาลี เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีเป้าหมายยึดครองประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ
ประเทศไทยในขณะนั้นประกาศตัวเป็นกลาง พยายามรักษาสัมพันธไมตรีกับทุกฝ่าย โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483 อีกทั้งยังลงนามสนธิสัญญาการเจริญสัมพันธไมตรีและการเคารพต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของกันและกันกับญี่ปุ่นในวันเดียวกันที่กรุงโตเกียว
เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามในยุโรป ญี่ปุ่นจึงส่งกำลังทหารเข้าควบคุมพื้นที่อาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน อันประกอบด้วยเวียดนาม กัมพูชา และลาว การแผ่อำนาจครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และเนเธอร์แลนด์ ผนึกกำลังสกัดกั้นโดยอาศัยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ด้วยการงดจำหน่ายสินค้าที่เป็นประโยชน์ในสงครามต่อญี่ปุ่นโดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียด
สารบัญ |
[แก้] เหตุการณ์วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484
เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (วันที่ 7 ธันวาคม ตามเวลาในฮาวาย) ญี่ปุ่นเปิดแนวรบในเอเชียตะวันออก โจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ในฮาวาย ซึ่งเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งเกาะฮ่องกงของอังกฤษ เกาะฟิลิปปินส์ของสหรัฐอเมริกา และเมืองโคตาบารูในแหลมมลายู โดยมิได้ประกาศสงครามล่วงหน้า
ก่อนหน้าการโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ไม่กี่ชั่วโมง คืนวันที่ 7 ธันวาคม ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ สถานีวิทยุบีบีซี รายงานว่ามีความเคลื่อนไหวของขบวนเรือญี่ปุ่นในอ่าวไทย ทำให้เกิดข่าวลือว่าญี่ปุ่นจะบุกไทย ค่ำวันนั้นเอกอัครราชทูตอังกฤษได้เข้าพบ ศ.ดร.ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทูตรายงานว่าเครื่องบินตรวจการณ์ของอังกฤษเห็นกองเรือรบญี่ปุ่นเดินทางมาจากแหลมญวนและกำลังอยู่ในอ่าวไทย ไม่นานหลังจากนั้น ญี่ปุ่นได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้ามาขอพบนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเจรจาขอเดินทัพผ่านประเทศไทยโดยประสงค์จะเดินทางข้ามไปยังพม่าและมลายูซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ แต่ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีไปต่างจังหวัด
ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ทันได้โต้ตอบใด ๆ กองทัพญี่ปุ่นก็ไม่รอช้า บุกเข้าสู่แผ่นดินไทยเมื่อเวลา 2.00 น. จากชายแดนด้านทิศตะวันออก พร้อมกับส่งกองกำลังในอ่าวไทย ยกพลขึ้นบกตามแนวชายฝั่งทะเลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรปราการ โดยมีทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ลูกเสือ และอาสาสมัครต่าง ๆ ต่อสู้ทัดทานการรุกรานในครั้งนี้ของญี่ปุ่น
รัฐบาลไทยพิจารณาเห็นว่าไทยมิอาจต้านทานกองกำลังญี่ปุ่นได้ ประกอบกับการที่ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติภูมิของไทย รัฐบาลจึงมีคำสั่งหยุดยิงและยุติการสู้รบเมื่อเวลา 7.30 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน (แต่การสู้รบในภาคใต้ยังดำเนินอยู่จนถึงบ่ายโมง กว่าที่คำสั่งหยุดยิงจะไปถึง) จอมพล ป.พิบูลสงครามตัดสินใจร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจลงนามทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความร่วมมือกับญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ญี่ปุ่นจะยกดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ซึ่งเคยตกเป็นของอังกฤษคืนให้แก่ไทย และนำไปสู่การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] เชิงอรรถ
- ↑ International Military Tribunal for the Far East เข้าถึงเมื่อ 3 พ.ย. 2549
[แก้] อ้างอิง
- ขบวนการเสรีไทย, กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. 2538
สงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นบทความเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |