วิสา คัญทัพ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณสามารถช่วยตรวจสอบ และแก้ไขบทความนี้ได้ด้วยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน กรุณาเปลี่ยนไปใช้ป้ายข้อความอื่น เพื่อระบุสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ หรือแก้ไข ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการแก้ไขหน้าพื้นฐาน คู่มือการเขียน และ นโยบายวิกิพีเดีย และเมื่อแก้ไขตามนโยบายแล้ว สามารถนำป้ายนี้ออกได้ |
วิสา คัญทัพ เป็นนักคิดนักเขียน กวี ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต อิสระ อดีตเคยเป็น 1 ใน 9 นักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพจนถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 อันเป็นชนวนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียรจนถูกจับเป็น 1 ใน 13 กบฎรัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
[แก้] ประวัติ
วิสา คัญทัพ เกิดที่ ลพบุรี เติบโตในยุคเผด็จการครองเมือง เรียนจบชั้นเตรียมอุดมศึกษาจาก โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา แล้วเข้าศึกษาต่อที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้นำนักศึกษาทำกิจกรรมก้าวหน้าในมหาวิทยาลัย จนถูกอธิการบดีในสมัยนั้นสั่งลบชื่อเขาและเพื่อนรวม 9 คน จนเกิดกรณีชุมนุมใหญ่ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 จากนั้นวิสา คัญทัพเข้าร่วมกับเพื่อนตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" เพื่อเคลื่อนไหวให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย จนถูกจับกุมคุมขังเป็น 1 ใน 13 กบฎรัฐธรรมนูญ กรณี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
วิสา คัญทัพ เป็นนักคิด นักเขียน เป็นกวี เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิต เข้าสู่วงการหนังสือโดยเริ่มต้นร่วมกับเพื่อนจัดทำหนังสือ "วรรณกรรมเพื่อชีวิต" ต่อมาเริ่มเขียนเพลงครั้งแรกเป็นเพลงแนวที่เรียกว่า "เพื่อชีวิต" เพลงแรกร่วมกับ สมคิด สิงสง และ สุรชัย จันทิมาธร เขียนเพลง "คนกับควาย" เพลงที่สองเขียนเนื้อร้องเพลง "คนภูเขา" ให้สุรชัย จันทิมาธรใส่ทำนอง เพลงที่สามร่วมกับ ประเสริฐ จันดำ เขียนเพลง "จดหมายชาวนา" เพลงที่สี่เขียนคำร้องทำนองด้วยตัวเองเป็นเพลงสุดท้าย ขณะเกิดเหตุการณ์ลอบฆ่าลอบสังหารผู้นำฝ่ายประชาชนจำนวนมาก ชื่อเพลง "น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว" ให้วงคาราวาน โดยมีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า "น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาว นกเหินหาวสู่สายชล คนดีถูกฆ่ากลางถนน คนชั่วขึ้นนั่งบัลลังก์บน ฟ้าฝนจึงไม่ตกมา"
วิสา คัญทัพ เข้าป่าหนีการปราบปรามจากอำนาจรัฐ ใช้ชื่อ "ตะวัน" ขณะอยู่ทางภาคเหนือ และ "ไพรำ" เมื่ออยู่ทางภาคอีสาน เข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ร่วมกับเพื่อน อดิศร เพียงเกษ "สหายศรชัย" จัดตั้งวงดนตรีและเริ่มร้องเพลงเอง บันทึกเสียงส่งเพลงออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่นสั้น "เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย" มีผลงานเด่น ๆ อาทิ บินหลา, เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน, รำวง 1 ธันวา, ลุงสินป้าไสว, มาลำเลียงเด้อสหาย ฯลฯ
ปลายปี พ.ศ. 2523 ออกจากป่า เริ่มเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์และเพลงเพื่อชีวิตทั่วไป มีเพลงเด่น ๆ ที่เป็นอมตะมากมายเช่น ร้อยบุปผา, รอยอดีต, กำลังใจ, แรงเทียน, ออนซอนเด, เพลงพิณ, รักที่อยากลืม, กลกามแห่งความรัก, สวรรค์ชั้นเจ็ด ฯลฯ ปัจจุบันวิสา คัญทัพ ยังคงเขียนหนังสือ เขียนเพลง ร้องเพลง และสร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่นและศรัทธา เหมือนตอนหนึ่งในเพลง "กำลังใจ" ที่เขาแต่ง "ชีวิตที่ผ่านพบ มีลบย่อมมีเพิ่ม ขอเพียงให้เหมือนเดิน... กำลังใจ"
"ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"
เป็นบทกวีวรรคทองของวิสา คัญทัพ เขาเขียนภายหลังได้รับอิสระภาพจากการจับกุมคุมขังหลัง 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความประทับใจในพลังอันยิ่งใหญ่ของประชาชนบนถนนราชดำเนิน
"หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้ ไหลเกือบท่วมปฐพีแล้วพี่เอ๋ย ถ้าความจริงสามารถอ้างเหมือนอย่างเคย ก็จะเอ่ยและจะอ้างอย่างไม่กลัว นี่มีปากก็ถูกปิดจนมิดเม้ม มันแทะเล็มถุยรดและกดหัว ปัญหาต่างๆนั้นก็พันพัว ไม่อยากโทษใครชั่วเพราะกลัวตาย ถ้าขอได้จะขอกันในวันนี้ ขอให้สิทธิ์เสรีอย่าสูญหาย ถ้าเลือดไทยจะหลั่งโลมจนโทรมกาย ก็ขอตายด้วยศักดิ์ศรีเสรีชน"
วิสา คัญทัพ เขียนบทกวีบทนี้ลงตีพิมพ์ใน นสพ.ประชาธิปไตยรายวันฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2516 และบทนี้เป็นข้อความในโปสเตอร์ต่อต้านเผด็จการในครั้งนั้น