วาตภัย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาตภัย คือ ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากพายุลมแรง
[แก้] อันตรายที่เกิดจากวาตภัย
1. ความรุนแรงและอันตรายอันเกิดจากพายุไต้ฝุ่น
เมื่อพายุที่มีกำลังขนาดไต้ฝุ่น คือ กำลังความเร็วของลมตั้งแต่ 65 น๊อต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปพัดผ่านที่ใดย่อมทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั่วไปซึ่งพอจะกล่าวได้ดังต่อไปนี้
บนบก
ต้นไม้ล้ม ถอนราก ถอนโคน จะทำให้เกิดอันตรายจากต้นไม้ล้มทับบ้านเรือน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตาย เรือกสวนไร่นาเสียหายหนักมาก เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้
ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฏการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
ฝนตกหนักมากทั้งคืนทั้งวันและอุทกภัยจะติดตามต่อมา เมื่อน้ำจากป่าและภูเขาหลากลงมาอย่างมากมาย ท่วมบ้านช่อง ถนนหนทาง และเรือกสวนไร่นาล่มจมอยู่ใต้น้ำ
เส้นทางคมนาคม ทางรถไฟ สะพาน ถนนทางขาด
ในทะเล
ในทะเลลมแรงจัดมาก คลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ ๆ ขนาดหมื่นตันอาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กเป็นอันตรายล่มจมสิ้น ไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้
คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจนทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้
บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงโดยคลื่นและลม
2. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุโซนร้อน
พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ความเร็วของลมบริเวณใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 34 น็อต หรือ 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 63 น็อต หรือ 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉะนั้น อันตรายอันจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ตามความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจะจมเรือขนาดใหญ่ ๆ ได้ ต้นไม้ถอนรากถอนโคนดังพายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช ถ้าการเตรียมการรับสถานการณ์ไม่เพียงพอ ไม่มีการประกาศโฆษณาให้ประชาชนได้ทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายอย่างทั่วถึง ไม่มีวิธีการดำเนินการที่เข้มแข็งในการอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ในระหว่างเกิดพายุ การสูญเสียก็ย่อมมีการเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สมบัติของประชาชน
3. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุดีเปรสชั่น
พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อน ความเร็วของลมใกล้บริเวณศูนย์กลางไม่เกิน 33 น็อต หรือ 61 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกปานกลางทั่วไปตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นผ่านไป และมีฝนตกหนักเป็นแห่ง ๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้บ้าง ไม่ปลอดภัยเสียทีเดียว ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงเล็กขนาดต่ำกว่า 50 ตัน ควรงดเว้นออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้ และพายุดีเปรสชั่นนี้เมื่ออยู่ในทะเลได้รับไอน้ำหล่อเลี้ยงตลอดเวลา และไม่มีสิ่งกีดขวางทางลมอาจจะทวีกำลังขึ้นได้โดยฉับพลัน ฉะนั้น เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีพายุดีเปรสชั่นขึ้นในทะเลก็อย่าได้ไว้วางใจว่าจะมีกำลังอ่อนเสมอไปอาจจะมีอันตรายได้เหมือนกัน สำหรับพายุพัดจัดจะลดน้อยลงเป็นลำดับ มีแต่ฝนตกทั่วไปเป็นระยะนาน ๆ และตกได้มากถึง 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมงซึ่งต่อไปก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากภูเขาและป่าใกล้เคียงลงมาท่วมบ้านเรือนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากภายุได้ผ่านไปแล้ว
4. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน
พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อม ๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังพายุที่เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 และพายุที่เกิดขึ้นที่อำเภอมุกดาหารเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2497 พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มากเหมือนกันแต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือนที่ทนกำลังแรงลมไม่ไหวพังทะลายกระเบื้องหลังคาปลิวเป็นอันตรายต่อผู้คน ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตกได้ ในกรณีที่พายุมีกำลังแรงลูกเห็บอาจจะตกถูกผู้คนได้รับความบาดเจ็บและบ้านช่องเสียหายได้
[แก้] การเตรียมการป้องกันอันตรายจากวาตภัย
1. ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ
2. สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้ายแก่กรมอุตุนิยมวิทยา
3. ปลูกสร้าง ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
4. ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น
5. เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วติดตามข่าวสาร
6. เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ