พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณสามารถช่วยตรวจสอบ และแก้ไขบทความนี้ได้ด้วยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน กรุณาเปลี่ยนไปใช้ป้ายข้อความอื่น เพื่อระบุสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ หรือแก้ไข ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการแก้ไขหน้าพื้นฐาน คู่มือการเขียน และ นโยบายวิกิพีเดีย และเมื่อแก้ไขตามนโยบายแล้ว สามารถนำป้ายนี้ออกได้ |
เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบเกี่ยวกับ ชื่อพระราชพิธีและชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เพื่อเตรียมงาน ดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
โดยในเบื้องต้นขอแจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระราชพิธีกับชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ดังนี้ ๑. ชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” ๒. ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” ๓. สำหรับชื่อภาษาอังกฤษใช้เพียงชื่อเดียว ซึ่งหมายรวมถึงชื่อพระราชพิธีและ ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “The Celebrations on the Auspicious Occasion of His Majesty the King's 80th Birthday Anniversary 5th December 2007”
สำหรับห้วงเวลาการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้จัดคล้ายคลึงกับคราวการจัดงานเฉลิม พระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ โดยกำหนดเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ และให้นำความกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยต่อไป
ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงาน รวม ๘ คณะ คือ ๑. คณะกรรมการฝ่ายพิธี มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ๒. คณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรม มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ๓. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานกรรมการ ๔. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ๕. คณะกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและการจราจร มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ๖. คณะกรรมการฝ่ายติดตามและประเมินผล มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ ๗. คณะกรรมการฝ่ายจัดทำของที่ระลึกทูลเกล้าฯ ถวาย มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ๘. คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้งบประมาณ มีรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
การจัดเตรียมงานในเบื้องต้นนี้จะควบคู่กันไปกับการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ๒๕๔๙ โดยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดงาน การดำเนินโครงการ หรือจัดกิจกรรมใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติ และ นานาชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ให้ยิ่งใหญ่ โดยอยู่ในหลักการของความเหมาะสม ถูกต้องตามราชประเพณี และ สมพระเกียรติ โดยในขณะนี้ ทางกรมศิลปากรกำลังดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์เมื่อออกแบบเสร็จแล้วก็จะได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
ที่ประชุมยังได้พิจารณางานพระราชพิธีที่จะดำเนินการ คือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม พระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น
สำหรับงานรัฐพิธี ประกอบด้วย พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต พิธีแห่เชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชร พระที่นั่ง อนันตสมาคม พิธีถวายพระพรชัยมงคลของเหล่าข้าราชการและประชาชน ณ ท้องสนามหลวงและทุกจังหวัด จัดงานมหรสพสมโภชทั้งในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด งานสโมสรสันนิบาตและงานถวายพระกระยาหารค่ำเฉลิมพระเกียรติ ณ ทำเนียบรัฐบาล และจัดทำของที่ระลึกสำหรับรัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายในงานสโมสรสันนิบาตฯ
สำหรับงานศาสนพิธี ประกอบด้วย การขอพระราชทานสถาปนาเลื่อนและ ตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ คณะสงฆ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศถวายพระพรชัยมงคลคาถา (พิเศษ) การขอพระราชทานยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง และจัดการอุปสมบทเฉลิม พระเกียรติฯ
สำหรับงานโครงการและกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การประดับตกแต่งธงทิว โคมไฟ และตราสัญลักษณ์ การจัดสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดกิจกรรมเชิดชูสดุดีเฉลิม พระเกียรติฯ การจัดสร้างเหรียญที่ระลึก การจัดทำบัตรโทรศัพท์ การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก การจัดทำธนบัตรที่ระลึก การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนสถานสำคัญ การแสดงพลุและดอกไม้ไฟ การจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ รวมทั้งการจัดทำหนังสือกสิกรฉบับพิเศษ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการเกษตรที่มีอายุยืนยาวที่สุด ได้ถือกำเนิดก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๐ ซึ่งเป็นปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุพิจารณาความเหมาะสมของการจัดทำหนังสือดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงหอรัชมงคลที่สวนหลวง ร.๙ ให้มีความสมบูรณ์และสมพระเกียรติในการจัดเก็บ สิ่งของส่วนพระองค์ เช่น เรือใบ ฉลองพระองค์ เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่จะจัดทำโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ ขอให้พิจารณาโครงการที่มีลักษณะเด่นๆ และดำเนินการโดยยึดหลักความเหมาะสม ความจำเป็น และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องมีงบประมาณในการดำเนินงานของหน่วยงานเอง และขอให้ระวังโครงการที่มีลักษณะขอโดยสาร เพื่อขอใช้งบประมาณ
ที่มา: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ข่าว สปน. ฉบับที่ ๙๕/๒๕๔๙)