ปอด
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปอด เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลัง ใช้ในการหายใจ. หน้าที่หลักของปอดก็คือ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือดในร่างกาย และแลกเปลี่ยนเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบเลือดออกสู่สิ่งแวดล้อม. ปอดทำงานโดยการประกอบกันขึ้นของเซลล์เป็นจำนวนล้านเซลล์. เซลล์ที่ว่านี้มีลักษณะเล็กและบางเรียงตัวประกอบกันเป็นถุงเหมือนลูกโป่ง ซึ่งในถุงลูกโป่งนี้เองที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซต่างๆเกิดขึ้น. นอกจากการทำงานแลกเปลี่ยนก๊าซแล้ว ปอดยังทำหน้าที่อื่นๆอีก.
คำว่าปอดในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า lung. ในทางการแพทย์สิ่งที่เกี่ยวกับปอดใช้คำว่า pulmonaly นำหน้าสิ่งนั้นๆ.
ในมนุษย์นั้นมีปอดอยู่ในทรวงอก มีสองข้าง คือขวาและซ้าย ปอดมีลักษณะนิ่ม ร่างกายจึงมีกระดูกซี่โครงคอยปกป้องปอดไว้อีกชั้นหนึ่ง. ปอดแต่ละข้างจะมีถุงบางๆ2ชั้นหุ้มอยู่ เรียกว่า เยื่อหุ้มปอด . เยื่อหุ้มปอดที่เป็นถุงบางๆ 2 ชั้นนี้เรียกว่า เยื่อหุ้มปอดชั้นในและ เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก. เยื่อหุ้มปอดชั้นในจะแนบติดไปกับผิวของปอด ส่วนเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกจะแนบติดไปกับช่องทรวงอก. ระหว่างเยื่อหุ้มปอด 2 ชั้นบางๆนี้จะมีช่องว่าง เรียกว่า ช่องเยื่อหุ้มปอด. ในช่องเยื่อหุ้มปอดจะมีของเหลวคอยหล่อลื่นอยู่ เรียกว่า ของเหลวเยื่อหุ้มปอด. ของเหลวนี้จะช่วยให้เยื่อหุ้มปอดแต่ละชั้นสไลด์ไปมาระหว่างกันได้โดยไม่เสียดสีกัน และของเหลวเยื่อหุ้มปอดก็ยังช่วยยึดเยื่อหุ้มปอดทั้งสองชั้นไว้ไม่ให้แยกจากกันโดยง่าย. ปอดข้างซ้ายนั้นมีขนาดเล็กกว่าปอดข้างขวา เพราะปอดข้างซ้ายต้องเว้นที่เอาไว้ให้หัวใจอยู่ในทรวงอกด้วยกันด้วย
[แก้] หน้าที่ของปอดในมนุษย์
- หน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์
- หน้าที่อื่นๆนอกจากการหายใจ
- การควบคุมและขับสารต่างๆ เช่น ยา, แอลกอฮอล์ ออกจากระบบเลือด
- กรองลิ่มเลือดเล็กๆที่ตกตะกอนออกจากเส้นเลือดดำ
- ปกป้องและรับแรงกระแทกที่จะทำอันตรายต่อหัวใจซึ่งอยู่ตรงกลางช่องทรวงอก