ประวัติการปลูกกล้วยไม้ของไทย
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
[แก้] ประวัติการปลูกกล้วยไม้ในประเทศไทย
ไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ในส่วนกลางของภูมิภาคเอเชียเขตร้อน จึงมีกล้วยไม้อยู่ในธรรมชาติอย่างหลากหลาย ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่าเกิดที่ไหนและอยู่ที่ไหน ย่อมมีการนำเอาสิ่งซึ่งอยู่ในท้องถิ่นเดียวกันกับตนมาใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์เป็นวัฎจักร และโดยสัจธรรมดังกล่าวทำให้เชื่อว่าคนไทยรู้จักนำกล้วยไม้พันธ์ท้องถิ่นมาปลูกและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวันเป็นเวลานานมาแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีกล้วยไม้พันธุ์ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่นในภาคเหนือ โดยเหตุที่เป็นภูมิประเทศซึ่งอยู่ในเครือข่ายของเทือกเขาหิมาลัย แต่ด้วยเหตุที่ยุคนั้นโครงสร้างการบริหารทางสังคมไทยยังแคบมาก ทำให้การถ่ายทอดข้อมูลจากด้านล่างเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น การที่มีชาวตะวันตกนำกล้วยไม้จากแหล่งอื่นมาปลูกในกรุงเทพฯ จึงเป็นจุดเด่นซึ่งทำให้หลายคนนำเอามาใช้เป็นข้อมูลเพื่อเริ่มต้นการปลูกกล้วยไม้ภายในประเทศ โดยอ้างชื่อ นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์(Mr.Henry Alabaster)ร่วมกับกลุ่มบุคคลในราชวงศ์ระดับสูง ดังจะพบได้จากข้อเขียนในอดีต แทนที่จะลงถึงชาวบ้านซึ่งเป็นคนระดับพื้นดินที่นำเอากล้วยไม้พันธุ์ท้องถิ่นมาปลูก...ดังเช่นผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้เรื่องกล้วยไม้ที่มีอายุยาวนานพอสมควร คงจะจำได้ว่า ย้อนหลังไปประมาณ 40 ปีขณะที่ตลาดนัดต้นไม้ยังอยู่บริเวณริมคลองหลอด มีชาวบ้านเก็บกล้วยไม้บางชนิดจากป่านำมามัดกำวางขายทั่วไปและมีคนจีนมาซื้อไปต้มทำยาดื่ม ที่พบเห็นมากๆ ได้แก่ กล้วยไม้หวายพื้นบ้านเช่น เอื้องเก๊ากิ่ว เอื้องเงิน เอื้องผึ้ง และเอื้องคำเป็นต้น ช่วงหลังๆป่าเริ่มหมดไป ทำให้กล้วยไม้พวกนี้หมดตามไปด้วย แต่ปัจจุบันนี้คนจีนบนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีน ยังมีการลำเลียงกล้วยไม้จากธรรมชาติในประเทศเวียดนามและบริเวณใกล้เคียงโดยรถบรรทุก นำเข้าไปในประเทศ เพื่อใช้ทำยาอย่างต่อเนื่องกัน
ศาสตราจารย์ระพี สาคริกเคยรับฟังรายงานการค้นคว้าจากที่ประชุมวิชาการในต่างประเทศ ทราบว่าฝรั่งได้มีผลงานการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพืชสมุนไพรจากกล้วยไม้ จากที่ประชุมวิชาการที่เมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น
หลังจากนั้นมา กล้วยไม้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อยกย่องคนมีเงินและชนชั้นสูง ประกอบกับรากฐานคนส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับรูปวัตถุ ทำให้มีการมองคนในกลุ่มที่นำกล้วยไม้มาปลูกแล้วรู้สึกว่า เป็นการทำลายเศรษฐกิจ
[แก้] ปัญหา
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งแฝงเป็นเงื่อนไขอยู่ในพื้นฐานสังคมลักษณะนี้คือ ทุกเรื่องที่ได้รับผลดีจากการพัฒนามีเหตุมีผลผูกพันอยู่กับตัวบุคคล ทำให้ขาดการสืบทอดสู่คนรุ่นหลังซึ่งควรเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล แต่จะมีผู้ตามเป็นส่วนใหญ่
ผลกระทบจากปัญหาที่ได้กล่าวไว้แล้วมีผลทำให้ ศ.ระพี สาคริกเกิดแรงดลใจลุกขึ้นมาพัฒนา ค้นคว้า วิจัย เรื่องกล้วยไม้ที่เชื่อมโยงถึงงานส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ ซึ่งในที่สุดได้ทำให้เกิดสภาพที่กล่าวกันว่า ผสมผสานกันเป็นธรรมชาติ ได้เริ่มตันมีการวางแผนและดำเนินการโดยมีเป้าหมายอย่างเด่นชัด หลังจากปี พ.ศ.2490 ซึ่งศอ.ระพี สาคริกในตอนนั้นได้ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ออกมาแล้ว
[แก้] อ้างอิง
ข้อมูลจากศ.ระพี สาคริก ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์อนุญาตให้นำข้อมูลมาลงได้