ปยุต เงากระจ่าง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปยุต เงากระจ่าง บรมครูด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวของไทย เกิดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472 ที่หมู่บ้านคลองวาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่วัยเยาว์เด็กชายปยุตมีความหลงไหล ในตัวการ์ตูนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับบุคลิกของตัวตลก ในหนังตลุงอย่างไอ้แก้ว ไอ้เปลือย ไอ้เท่ง รวมถึงตัวการ์ตูนแมวเฟลิกซ์ จากหนังการ์ตูนอเมริกันเรื่อง Felix the Cat ของ Pat Sullivan ซึ่งเคยมีโอกาสเข้าไปฉายในประจวบคีรีขันธ์
แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนของปยุต เกิดขึ้นเมื่อเขาได้พบกับ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน จิตรกรชื่อดังคนหนึ่งของเมืองไทย โดยบังเอิญ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2484 การพบกันครั้งนั้น เสน่ห์ได้ชวนเด็กชายปยุต ไปทำภาพยนตร ์การ์ตูนด้วยกันเมื่อเข้ากรุงเทพ
เมื่อปยุตเดินทางมาศึกษา ต่อที่กรุงเทพในปี พ.ศ. 2487 ที่ โรงเรียนเพาะช่าง ก็ไม่ลืมที่จะออก ตามหา เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน เพื่อที่จะทำการ์ตูน ตามที่เคยสัญญา แต่ด้วยโชคชะตา ทำให้เขาคลาดกับเสน่ห ์ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ปยุตก็ยังพอทราบข่าว ของเสน่ห์และ การทดลองสร้างหนังการ์ตูนจาก หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในช่วงนั้น
กว่าปยุตจะได้พบกับเสน่ห์ก็ต่อเมื่อ ปยุตบังเอิญเดินผ่านวัด เห็น เหม เวชกร และช่างเขียนอีกหลายคน ซึ่งมารวมกัน ในงานนฌาปนกิจศพ ของเสน่ห์ คล้ายเคลื่อน และได้ทราบว่าการทดลอง ทำการ์ตูนของเสน่ห์เมื่อ 2 ปี ก่อนประสบความล้มเหลว เนื่องจากขาดการสนับสนุน ปยุตจึงตั้งปณิธาณ ที่จะสานต่อความตั้งใจของ เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ในอันที่จะสร้าง ภาพยนตร์การ์ตูน เรื่องแรกให้จงได้
8 ปีต่อมา ปยุตจึงทำให้ความฝันเป็นจริง เมื่อสามารถสร้างภาพยนตร์การ์ตูน ไทยสำเร็จเป็นเรื่องแรก ตั้งชื่อ "เหตุมหัศจรรย์" เป็นภาพยนตร์การ์ตูน ขนาดสั้น ความยาว 12 นาที นำออกฉายเป็น รายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะ ที่โรงภาพยนตร์ ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางตามหน้าหนังสือพิมพ์ สำนักข่าวสารอเมริกันได้มองเห็นความสามารถของ ปยุต ซึ่งเวลานั้นปยุต ได้ทำหน้าที่เป็นช่างเขียน ของสำนักข่าวสารอยู่แล้วโดยได้ให้เงิน 10,000 บาท และส่งปยุต ไปดูงานการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนที่ญี่ปุ่น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับการนำออกฉายสู่สาธารณชน ประกอบในรายการฉายภาพยนตร์เรื่อง "ทุรบุรุษทุย" ของ ส.อาสนจินดา ณ โรงภาพยนตร์บรอดเวย์ พระนคร
ต่อมา ปยุตได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูน 20 นาที อีก 2 เรื่อง ได้แก่ "หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่)" (2500) ของสำนักข่าวสารอเมริกัน และ "เด็กกับหมี" (2503) ขององค์การ สปอ. นอกจากทำงานที่สำนักข่าวสารอเมริกัน แล้ว ปยุตยังรับจ้างทำหนังโฆษณาให้กับสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งผลงานหลายชิ้น ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำ ของผู้คนร่วมสมัยเป็นอย่างดี
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2511 ปยุต ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ สอนที่วิทยาลัย เพาะช่าง ในแผนกพาณิชย์ศิลป จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2519 ปยุตจึงได้ลาออกจากการเป็น อาจารย์พิเศษที่เพาะช่าง เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมด ให้กับการทำหนังการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกของประเทศไทย เรื่อง "สุดสาคร" โดยมีลูกมือผู้ช่วยในการทำงานสร้างคือ นันทนา เงากระจ่าง บุตรสาวซึ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และแสดงหนังเรื่องแผลเก่า ของเชิด ทรงศรี ในขณะนั้นด้วย
ด้วยข้อจำกัดทางการเงินทุนและการสนับสนุน ทำให้การสร้าง "สุดสาคร" เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้าย ปยุต ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำตลอดเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่ง สุดสาครภาพยนตร์การ์ตูน ขนาดยาวเรื่องแรกและ เรื่องเดียวของไทยออกฉาย ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2522
ปยุตเคยเสนอโครงการที่สร้างภาพยนตร์การ์ตูนไทย ไปยังที่ต่าง ๆ แต่ก็มักจะได้รับการปฏิเสธในเชิงที่ว่า "..ตัวการ์ตูนไม่ต้องกิน ทำไมถึงแพง อย่างนี้จ้างคนเล่นไม่ดีกว่าหรือ..." หลังจากเรื่องสุดสาคร ปยุต ก็ไม่ได้ทำหนังการ์ตูนจนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 เขาได้รับการว่าจ้าง JOICEP FILM ประเทศญี่ปุ่น ให้สร้างภาพยนตร์ เพื่อการศึกษาสำหรับสตรีเรื่อง "ชัยชนะของสาวน้อย" (My Way)
ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 มูลนิธิหนังไทย ได้มีการเชิดชูเกียรติของ ปยุต โดยตั้งรางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมด้านอนิเมชั่นว่า รางวัล ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งการจัดประกวดทุกปีใน รางวัลเทศกาลภาพยนตร์สั้นของประเทศไทย
ปัจจุบัน ปยุต เงากระจ่าง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาให้กับโรงงานทำการ์ตูนไทยหวัง ประจำประเทศไทย (บริษัท ไทยหวัง ฟิล์ม)และเป็นที่ปรึกษาด้าน Animation ให้กับหลายๆองค์กรและสถาบันการศึกษา
[แก้] ลิงก์ภายนอก
ปยุต เงากระจ่าง เป็นบทความเกี่ยวกับ ภาพยนตร์ ดนตรี หรือการบันเทิง ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |