ธงไชยเฉลิมพล
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงไชยเฉลิมพล หรือ ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้นๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา
การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามพิธีการ ระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ในโอกาสที่จะเชิญธงชัยเฉลิมพลออกประจำที่ จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และไปราชการสงคราม เป็นต้น
สารบัญ |
[แก้] ประเภทของธงชัยเฉลิมพล
ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ได้กำหนดประเภทของธงชัยเฉลิมพลไว้ 3 ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ ซึ่งมีลักษณะดังนี้
[แก้] ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก
ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีอุณาโลมทหารบกและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลมทหารบก ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง 2 เซนติเมตร
...ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารบกตามวรรคหนึ่ง (มาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 1 และวรรค 3)
[แก้] ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ
ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ขอบธงด้านที่ติดกับคันธง มีเกลียวเชือกสีแดง(มาตรา 15 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522)
หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งแล้ว ธงนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันธงฉานนั่นเอง
[แก้] ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ
ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2 ใน 3 ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีอุณาโลมทหารอากาศ และมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า ผืนธงมุมด้านบนที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้าขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร(มาตรา 16 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522)
[แก้] ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 2 ได้กำหนดให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งมีธงชัยเฉลิมพลของทหารบกแล้ว จะมีธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธงก็ได้ ธงนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่กว้าง 70 เซนติเมตร ยาว 105 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 52.5 เซนติเมตร ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาคันธง ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหารสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้พระปรมาภิไธยย่อ ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร
ธงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มพระราชทานให้หน่วยมหาดเล็กรักษาพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยหน่วยทหารหน่วยแรกที่ได้รับพระราชทานคือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของธงชัยเฉลิมพล ดูได้ที่ กฎกระทรวง (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดส่วนประกอบของธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ
[แก้] พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล
ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราวๆ ละหลายธง โดยประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา พระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา
[แก้] ความหมายของธงชัยเฉลิมพล
ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ
- ผืนธง หมายถึง ชาติ
- บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา
- เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์
[แก้] พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล
ส่วนนี้ของบทความยังไม่สมบูรณ์ คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้ |