ขงเบ้ง
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขงเบ้ง หรือ จูเก๋อเหลียง (ค.ศ. 181—234) นักการเมืองและนักวางแผนในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น ของประเทศจีน ซึ่งหากนับจากประวัติศาสตร์ที่เป็นพงศาวดารที่แท้จริงแล้ว ขงเบ้งมีชื่อเสียงขึ้นมาหลังจากสิ้นราชวงศ์ฮั่น แต่มีความจงรักภักดีกับราชวงศ์ฮั่นมาก จึงยอมช่วยเหลือเล่าปี่ ซึ่งอ้างตนว่าเป็นเชื้อสายตงสานเชงอ๋องเพื่อกอบกู้ราชวงศ์ฮั่น ขงเบ้งเป็นที่รู้จักในฐานะ เสนาธิการกองทัพ นักการเมือง วิศวกร นักวิชาการ และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นซาลาเปา
ตั้งแต่สมัยโบราณ กุนซือที่ปราดเปรื่องมักจะมีบทบาทสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ กุนซือที่น่าจดจำเทียบเคียงได้กับจูกัดเหลียงขงเบ้งมีดังนี้ หลี่ซือ กุนซือ คู่บารมีของจิ๋นซีฮ่องเต้ เตียวเหลียง กุนซือ ของเล่าปัง มีบทบาทในการสถาปนาราชวงศ์ฮั่นของฮั่นโกโจ ฮ่องเต้
[แก้] ชื่อ
- ชื่อแต่เกิดคือ — จูกัดเหลียง (จีนตัวเต็ม: 諸葛亮, จีนตัวย่อ: 诸葛亮, พินอิน: Zhūge Liàng) ชื่อว่า Liàng และนามสกุล Zhūge
- ชื่อที่ผู้อื่นเรียกด้วยความเคารพ — ขงเบ้ง (孔明, พินอิน: Kǒngmíng)
- นอกจากนี้ยังมีฉายาอื่น เช่น มังกรซุ่ม (臥龍先生) หรือ (伏龍)
[แก้] ขงเบ้งในวรรณกรรม
ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งถูกยกย่องว่าหยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร ได้รับฉายาจากบังเต็กกงว่า " ฮกหลง " หมายถึง มังกรซุ่ม หรือ มังกรหลับ จากคำแนะนำของชีซีทำให้เล่าปี่ต้องมาเชิญด้วยตัวเองถึงสามครั้งสามครา มีความรู้เป็นเลิศ รับใช้ราชวงศ์เล่าถึง 2 ชั่วอายุคน ภายหลังเล่าปี่ตาย ได้ฝากฝัง เล่าเสี้ยน ให้ดูแลแต่ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะพระเจ้าเล่าเสี้ยนหูเบา เชื่อแต่คำยุยงของขันทีฮุยโฮ ยกทัพไปปราบปรามชาวม่าน และได้สู้รบกับวุยก๊กหลายครั้ง มีคู่ปรับคือ สุมาอี้
ขงเบ้ง (Zhuge Liang -(Kong Ming)) (ค.ศ. 181-234) มีชื่อจริงว่า จูเก๋อเหลียง โดยขงเบ้งเป็นชื่อรอง เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ จูเก๋อกุย ขุนนางตงฉินของพระเจ้าเหี้ยนเต้ โดยขงเบ้งมีพี่ชาย และน้องชายอย่างละคน คือ จูเก๋อกึ๋น พี่ชาย เป็นที่ปรึกษาของง่อก๊ก และน้องชาย จูเก๋อจิ๋น
ขงเบ้ง เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่อง รอบรู้สรรพวิชาอย่างแตกฉาน ทั้งวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ การเมืองการปกครอง การทูต และแม้กระทั้งไสยศาสตร์ มีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น มีเมตตา ชอบลองดีกับผู้ที่อวดโอ้ อุดมด้วยวาทะศิลป์ ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบกับชาวบ้าน ที่เชิงเขาโงลังกั๋ง โดยช่วยเหลือชาวบ้านในการทำนาต่าง ๆ จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน ขงเบ้งมักจะเสวนากับผู้รู้เสมอ ๆ โดยเพื่อนร่วมวงเสวนากับเขานั้นได้แก่ ชีซี สื่อกวงเหวียน เมิ่งกงเวย และซุยเป๋ง และขงเบ้งมักจะยกตัวเองเทียบกับขวันต๋งและงักเย สองยอดนักปราชญ์ยุคชุนชิวและราชวงศ์ฉิน ซึ่งเพื่อน ๆ มักแปลกใจที่ขงเบ้งกล้ายกตนเช่นนั้น มีแต่ชีซีเท่านั้น ที่เชื่อว่าไม่ได้เป็นการยกตนเกินเลยไปเลย
ขงเบ้ง มาเป็นกุนซือให้เล่าปี่จากการได้รับคำแนะนำจากชีซี โดยเล่าปี่ต้องมาคาราวะขงเบ้งถึงกระท่อมไม้ไผ่ ที่เขาโงลังกั๋ง ถึง 3 ครั้ง 3 ครา เมื่อขงเบ้งอายุได้เพียง 26 แต่ระยะแรกนั้น ขงเบ้งมิได้เป็นที่ยอมรับของบรรดานายทหารจ๊กก๊ก รวมทั้งกวนอูและเตียวหุยด้วย แต่เมื่อขงเบ้งได้แสดงฝีมือให้ปรากฏด้วยการทลายทัพของโจโฉที่เนินพกบ๋องแล้ว ขงเบ้งก็กลายเป็นที่นับถือและเลื่องลือถึงความสามารถอันปราดเปรื่อง
ขงเบ้ง ยามออกศึก จะบัญชาการการรบบนรถเลื่อน โดยมีหมวกและพัดขนห่านเป็นของประจำตัว ขงเบ้งเป็นผู้รอบรู้สรรพวิชาอย่างถ่องแท้ มองจิตใจคนทะลุปรุโปร่ง ทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้แม่นยำ จึงสามารถล่วงรู้ได้ถึงสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเรียกลมได้ ผู้คนจึงกล่าวขานว่า เป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้า
ขงเบ้ง เป็นกำลังสำคัญของแคว้นจ๊กก๊ก ภายหลังการสิ้นของเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ผู้นำคนสำคัญ โดยขงเบ้งมีฐานะเป็นเสนาบดีใหญ่ (เสิงเสี้ยน) ดูแลกิจการแทบทุกอย่างของจ๊กก๊ก เนื่องจากความอ่อนแอของพระเจ้าเล่าเสี้ยน (อาเต๊า) ขงเบ้งประสบความสำเร็จจากการยกทัพไปปราบเบ้งเฮ็ก อานารยชนที่แดนใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลยในการยกทัพบุกเหนือถึง 5 ครั้ง เพื่อพิชิตแคว้นวุยก๊ก บั้นปลายชีวิต ขงเบ้งเจ็บออด ๆ แอด ๆ เสมอ ๆ ขงเบ้งสิ้นอายุเมื่อได้ 54 ปี บนรถม้ากลางสนามรบ ก่อนสิ้นชีพ ขงเบ้งได้ตรวจดวงชะตาตนเองแล้วรู้ว่า ใกล้ดับ จึงทำพิธีต่อชะตาอายุ แต่พิธีต้องล่มกลางคัน เมื่ออุยเอี๋ยน ทหารคนหนึ่งวิ่งทะเล่อทะล่าเข้ามา จนตะเกียงน้ำมันดับลง
สุดยอดผลงานดีเด่นของขงเบ้ง ได้แก่
1.กลเผาทุ่งพกบ๋อง ทำลายทัพของแฮหัวตุ้นที่มาโจมตี
2.เบื้องหลังความสำเร็จของยุทธนาการที่เซ็กเพ้ก ทำลายทัพกำลังพลเป็นล้านของโจโฉหมดสิ้น ขึ้นแท่นเรียกลม อ่านโองการบัญชาฟ้าดิน
3.อุบายยึดเกงจิ๋วและหัวเมืองสำคัญทั้งหลายโดยใช้อุบายยืมกำลังจากง่อก๊กเข้าตีลวงแล้วจึงส่งกำลังเข้ายึดโดยไม่ต้องลงทุน
4.แก้อุบายจิวยี่จนเล่าปี่ได้ซุนฮูหยิน
5.อุบายลวงจิวยี่ มันสมองสำคัญของง่อก๊กจนกระอักเลือดตาย
6.อุบายให้เตียวสงมอบแผนที่เสฉวน
7.เคลือนทัพเข้ายืดแคว้นเสฉวนของเล่าเจี้ยงเพื่อสร้างสถานภาพสามก๊ก
8.เจริญสัมพันธไมตรีกับง่อก๊กหลังจากพระเจ้าเล่าปี่สวรรคต ซึ่งก่อนหน้านี้เล่าปี่ได้เคลื่อนทัพหลวงบุกรุกง่อก๊กเพื่อแก้แค้นให้กับกวนอู ซึ่งในครั้งนั้น ทำให้พระเจ้าเล่าปี่สูญเสียแม่ทัพเตียวหุย และยังถูกลกซุนเผาทัพหลวงจนมอดใหม่หมดสิ้น
9.สยบเบ้งเฮ็ก ทำให้ทางใต้สงบ โดยไม่ต้องกังวลกับการบุกทางเหนือฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น
9.ออกอุบายปล่อยข่าวลือทำให้พระเจ้าโจยอยปลดสุมาอี้ออกจากตำแหน่งทางการเมืองเพื่อไม่ให้ต่อกรกับจ๊กก๊กได้
10.บุกกิสานครั้งที่หนึ่ง สามารถเคลื่อนทัพบุกยึดเทียนซุยและอันติ้งได้ด้วยอุบาย พร้อมทั้งได้ยอดทหารอย่างเกียงอุยมาเป็นขุนศึกคู่ใจด้วย
11.ในยามคับขันครั้งหนึ่ง หลังจากเสียเกเต๋ง ขงเบ้งต้องถอยทัพใหญ่กลับเซงโต๋ แต่ต้องขนถ่ายเสบียงกลับจากเมืองเล็กๆที่เสเสีย ภายในเมืองเสเสียมีแต่เสบียงกับทหารเพียงแค่สองพันห้าร้อยคน ในขณะที่กองทัพสุมาอี้มีกองทัพเรือนแสนยกมาประชิดกำแพงเมือง ขงเบ้งทำกลลวง เปิดประตูเมือง ลดธงทิวลง และขึ้นเล่นพินจีนบนกำแพงเมือง ลวงทัพสุมาอี้ ทำให้สุมาอี้ลังเลที่จะยกทัพบุกเข้าในเมืองเพราะกลัวขงเบ้งซุ่มทัพโจมตี ครั้งนี้เป็นการแสดงอัจฉริยภาพของขงเบ้งในการแก้ปัญหายามคับขันถึงชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยมถึงแม้จะมีความเสี่ยงมากก็ตาม
12.ในการบุกกิสานครั้งที่สาม ใช้เนินไม้แปลกสร้างกองทัพผีทำกลลวงทัพสุมาอี้จนแม้แต่ยอดขุนพลเตียวคับยังไม่กล้าบุก จนสามารถตีได้ค่ายใหญ่ของสุมาอี้ เปิดทางเข้าสู่กิสานได้เต็มตัว
13.สร้างโคยนต์ม้ากลขึ้นใช้ลำเลียงเสบียงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการบุกกิสานในการบุกกิสานครั้งที่ 5
14.ลวงทัพสุมาอี้ให้ออกรบ โดยซุ่มกำลังไว้ที่ช่องเขาระหว่างทาง ทำการเผาทัพสุมาอี้ในการบุกกิสานครั้งที่ 6 ในครั้งนี้สุมาอี้ สุมาสู และสุมาเจียว บุตรทั้งสองของสุมาอี้ เกือบต้องมาสิ้นชีวิตที่ช่องเขานี้ แต่คงเป็นบุญญาพินิหารของตระกูลสุมาที่จะต้องให้กำเนิดพระมหากษัตริย์ที่สามารถรวบรวมสามก๊กให้เป็นหนึ่งได้ ทำให้ฝนตกลงมาสามพ่อลูกตระกูลสุมาจึงหนีรอดไปได้
16.ก่อนขงเบ้งสิ้นชีวิตในการบุกกิสานครั้งที่ 6 นี้เองได้วางกลลวงสุมาอี้เพื่อทำให้กองทัพเคลื่อนกลับเซงโต๋ได้อย่างปลอดภัยโดยให้นำหุ่นไม้ของขงเบ้งขึ้นนั่งบนรถประจำตัวโดยในตรงนี้ บางฉบับกล่าวว่าขงเบ้งให้นำเอาศพของตนเองขึ้นนั่งบนรถ แล้วให้เกียงอุยเป็นทัพหลัง เมื่อเห็นทัพสุมาอี้เคลื่อนใกล้วเข้ามาตามตีก็ให้เข็นรถออกไปให้สุมาอี้เห็นทำให้สุมาอี้ที่เคยโดนกลลวงจนเกือบโดนเผาตายไม่กล้ายกทัพตามตีต่อเพราะคิดว่าขงเบ้งยังมีชีวิตอยู่และเกรงกลัวจะต้องกลของขงเบ้ง และยังให้เตียวหงี กับม้าต้ายทำกลลวงกบฏอุยเอี๋ยนจนสามารถสังหารอุยเอี๋ยนได้ระหว่างทางกลับเซงโต๋นั่นเอง
[แก้] ดูเพิ่ม
- วรรณกรรมสามก๊ก
- ยุคสามก๊ก
ขงเบ้ง เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |