กองตำรวจสื่อสาร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประวัติ กองตำรวจสื่อสาร
ผู้ก่อตั้ง กองตำรวจสื่อสาร พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์
พ.ศ. 2491 กรมตำรวจเริ่มนำเครื่องวิทยุสื่อสารเข้ามาใช้ในราชการ จึงจัดตั้งแผนกสื่อสาร เป็นหน่วยงานขึ้นต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำหน้าที่รับ-ส่งข่าวระหว่างส่วนกลาง กับกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 1-9 ในส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2495 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ให้กองการสื่อสารเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ
พ.ศ. 2504 มีภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความช่วยเหลือ ทั้งด้านเครื่องมือสื่อสารและบุคลากร โดยสนับสนุนเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ในระบบ วี.เฮช.เอฟ./เอฟ.เอ็ม. เข้าแทนที่เครื่องรับ-ส่งวิทยุในระบบเอช.เอฟ/เอ.เอ็ม และติดตั้งใช้ในราชการในหน่วยงานตั้งแต่ระดับ กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลงไปจนถึงระดับสายตรวจและตู้ยาม ขณะเดียวกันได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งศูนย์การสื่อสาร และโรงซ่อมเครื่องมือสื่อสาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารและซ่อมบำรุงเครื่องมือสื่อสารให้กับตำรวจจำนวน 9 แห่ง โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับเขตพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 1-9
พ.ศ. 2510 เริ่มจัดตั้งศูนย์สื่อสารกลางของกรมตำรวจ ใช้ชื่อเรียกว่าศูนย์บริหารงาน กรมตำรวจ (ศบ.ตร.) ใช้นาม เรียกขานศูนย์ว่า "ปทุมวัน" เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของกรมตำรวจ พร้อมทั้งแจกจ่าย เครื่องวิทยุสื่อสารชนิดมือถือให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อเฝ้าฟังและสั่งการหน่วยต่างๆ
พ.ศ. 2522 กองการสื่อสารกรมตำรวจได้รับการปรับปรุงส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2522 ใช้ชื่อเรียกว่า กองบังคับการตำรวจสื่อสาร สายการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ ประกอบด้วย 4 กองกำกับการ และ 12 ศูนย์สื่อสาร
พ.ศ. 2535 กองบังคับการตำรวจสื่อสารเปลียนสายการบังคับบัญชามาขึ้นกับสำนักงานส่งกำลังบำรุง และเปลียนชื่อเป็นกองตำรวจสื่อสาร ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2532 จนถึงปัจจุบัน
[แก้] ลิงก์ภายนอก
กองตำรวจสื่อสาร เป็นบทความเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |