หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร บุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (ณ ถลาง) เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2495 มีชื่อเล่นว่า " หมู " จบการศึกษาปริญาตรี-โท ด้านปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ จาก Pembroke College มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2520 และปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2522
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสกับคุณนุชวดี บำรุงตระกูล (หย่า) และคุณหญิงสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (ภมรบุตร) มีบุตร 2 คน คือ
- หม่อมหลวงพินิจพันธุ์ บริพัตร
- หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด และเป็นประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รับราชการตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 - 2539 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2532) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิจิตต รัตตกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสถาบันพระปกเกล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 และเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์)
ด้านการเมือง หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สัมพันธวงศ์ สาทร แขวงยานนาวาและแขวงทุ่งมหาเมฆ) พ.ศ. 2539 และ 2544 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544
ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ลำดับที่ 24 จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 เป็นรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง
[แก้] เหตุการณ์ยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน หลังจากการต่อรองกันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทางผู้ก่อการร้ายตกลงที่จะแลกเปลี่ยนตัวประกัน แลกกับการนำพาหนะไปส่งที่ชายแดนไทย-พม่า โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น ได้ตกลงที่จะเดินทางไปกับเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ไปส่งที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อเป็นประกันความปลอดภัย เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต
[แก้] ลิงก์ภายนอก
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหา หรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น |