พูดคุย:หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประวัติ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสคนสุดท้องของ พลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ กับ หม่อมแดง(บุนนาค) ปราโมช ณ อยุธยา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ ม.ร.ว.หญิง บุญรับ พินิจชนคดี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ปราโมช สมรสกับม.ร.ว.หญิง พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ มีบุตรธิดาสองคน คือ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช ม.ล.หญิง วิสุมิตรา ปราโมช การศึกษา - เริ่มต้นเรียนหนังสือที่บ้านกับ ม.ร.ว. บุญรับ พี่สาวใหญ่จนอ่านหนังสือไทยออกเมื่อ อายุ ๔ขวบ - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับที่โรงเรียนวัฒนา (โรงเรียนวังหลัง) และต่อมาได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่๑ จนมัธยมปีที่๘ แต่ก่อนจบมัธยมปีที่๘ ได้ออกไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ - ที่อังกฤษได้เข้าศึกษาระดับมัธยมที่วิทยาลัยเทรนท์ (Trent College ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทพับลิคสคูล) เป็นเวลาห้าปี จึงไปเรียนต่อที่ควีนส์คอลเกจ(Queen’s college) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม(B.A.Honours) ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (ที่เรียกว่า Modern Geats 8nv Philosophy , Politics and Economics หรือเรียกโดยย่อว่า P.P.E.) และกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเยือนประเทศอังกฤษ และได้ไปขอรับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดตามธรรมเนียมการศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้น ซึ่งถือว่าผู้ที่ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมจะได้รับปริญญาโท M.A.Oxon หลังจาก๓ปี) อุปสมบท ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้อุปสมบทถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-อานันทมหิดล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์เป็นองค์อุปัชฌาย์ และลาสิกขาบทหลังจากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รวมเวลาอยู่ในสมณเพศ ๕๐ วัน
การทำงานด้านการคลังและการธนาคาร - เมื่อกลับจากการศึกษาในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เข้ารับราชการอยู่ที่กระทรวงการคลัง ได้เป็นเลขานุการของนายเจมส์ แบกซ์เตอร์(James Baxter) ที่ปรึกษากระทรวงการคลังอยู่ในช่วงสั้น และกลับมารับราชการที่กรมสรรพากรเมื่อนายแบกซ์เตอร์ลากลับอังกฤษ - เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ พระยาไชยยศสมบัติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารสยามกัมมาจลทุนจำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปัจจุบัน) ได้ชักชวนให้ไปทำงานธนาคาร จึงลาออกจากราชการไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีที่สำนักงานกลางของธนาคารสยามกัมมาจล ถนนทรงวาด และต่อมาได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการธนาคารสยามกัมมาจล สาขาลำปาง เป็นเวลา ๘ ปี เป็นผู้จัดการที่เป็นคนไทยคนแรกต่อจากผู้จัดการชาวอังกฤษ งานที่สำคัญงานหนึ่ง คือหาทางให้คนไทยหันมาใช้เงินบาทไทย แทนเงินรูปีของพม่า ซึ่งเคยเป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยทางภาคเหนือ - เมื่อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ขอตัว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากธนาคารสยามกัมมาจล มาทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรับผิดชอบงานทุกอย่าที่ผู้ว่าการมอบหมายให้ ตั้งแต่ร่างกฎหมาย ให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับกระทรวงการคลัง การพิมพ์ธนบัตร และการวางระบบต่าง ๆ ผลงานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ บทบาทในการขัดขวางมิให้รัฐบาลไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครม นำธนบัตร “ดอลลาร์ไทย” ที่ทางรัฐบาลสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนธนบัตรในระหว่างสงครามแก่ประชาชนตามที่ตั้งใจไว้ และบทบาทในการออกพระราชบัญญัติควบคุมเครดิตเพื่อป้องกันเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากภาวะสงคราม และการใช้มาตรการจำหน่ายพันธบัตรทองคำ เพื่อแก้ภาวะเงินเฟ้อและรักษาค่าเงินบาท - ลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ - ในระยะปลายสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังสงครามโลกใหม่ ๆ ประเทศไทยมีธนาคารพาณิชย์เอกชนเกิดขึ้นหลายธนาคาร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีบทบาทในการก่อตั้งธนาคารใหม่ ๒ ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๗ ในฐานะญาติของผู้ก่อตั้งและรับตำแหน่งรองประธานกรรมการ (พ.ศ.๒๕๑๓-๒๕๒๔) โดยมี ม.ร.ว.หญิงบุญรับ พินิจชนคดี ซึ่งเป็นพี่สาวดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จนเมื่อ ม.ร.ว.หญิงบุญรับ ถึงแก่กรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมาจนถึงแก่อสัญกรรม (พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๓๘) - ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มีส่วนร่วมก่อตั้งธนาคารแหลมทองในฐานะที่คุ้นเคยกับกลุ่ม “นัน-ทาภิวัฒน์” ผู้ก่อตั้งในช่วงแรก การรับราชการทหาร -ในระหว่างที่ทำงานธนาคารสยามกัมมาจล สาขาลำปาง ถูกเกณฑ์ทหาร ๒ ครั้ง ในระหว่างสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔) เข้าร่วมในกองทัพที่ไปตีเชียงตุง ได้รับพระราชทานยศสิบตรี - ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรี นายทหารพิเศประจำกรมทหารราบที่๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ งานทางการเมือง - เป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในเมืองไทย โดยร่วมกับเพื่อน ๆ คือ นายสุวิชช พันธเศรษฐ นายสอ เศรษฐบุตร พระยาสุรพันธเสนี ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ และม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อว่า พรรคก้าวหน้า - ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในจังหวัดพระนคร เขต๓ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ - เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๘๙ (เป็นงานชิ้นแรกในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร - เป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ โดยยุบพรรคก้าวหน้ามารวมเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรองหัวหน้าพรรค และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรค - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ (๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ ถึง ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ) - ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑ - ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยราชการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลชุดนายควง อภัย-วงศ์ (๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ถึง ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑) โดยมีพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง - รัฐบาลชุดนายควง อภัยวงศ์ ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก และได้นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนเมื่อ๘ เมษายน ๒๔๙๑ พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นฝ่ายค้านในสภา
- ลาออกจากสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๔๙๑ เหตุเพราะไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร - เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ ในคณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และลาออกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๒ - เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๑ - เป็นสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๑๑ ถึง ๒๕๑๔ - เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๖ - เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง ๒๕๑๗ (ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาเมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๗) - เป็นผู้จัดตั้งและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ มีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก - ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ ๒๖ มกราคม ๒๕๑๘ โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต๑ (ดุสิต) - ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๘ ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๑๙ และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๑๙ - ในคราวเลือกตั้งทั่วไป ๔ เมษายน ๒๕๑๙ สมัครรับเลือกตั้งในเขต ๑ (ดุสิต) แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง - ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต๒ (สัมพันธวงศ์ บางรัก พระนคร และคลองสาน) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ - วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม และไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นการยุติบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่นั้นมา - เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมชั่วคราว และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นการถาวร เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ งานเขียนและงานหนังสือพิมพ์ งานเขียนที่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือ “สามัคคีสาร” ของนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ ต่อมาเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ได้เขียนบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้(Liberty) ซึ่งเป็นหนังสือในเครือศรีกรุง และไทยราษฎร์ พ.ศ. ๒๔๘๗ มีนายสอ เศรษฐบุตร (หลวงมหาสิทธิโวหาร) เป็นบรรณาธิการและแปลเป็นภาษาไทยลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งนายสละ ลิขิตกุล เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และต่อมาได้เขียนบทความภาษาไทยลงในหนังสือพิมพ์ศรี-กรุงด้วย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ตามคำขอของนายสละ ลิขิตกุล บรรณาธิการในขณะนั้น ชีวิตของการเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ มีนายสละ ลิขิตกุล เป็นบรรณาธิการ โดยม.ร.ว.คึก-ฤทธิ์ ปราโมช เป็นทั้งเจ้าของ ผู้อำนวยการ และนักเขียนประจำ งานเขียนมีทั้งนวนิยาย บทความ รวมทั้งบทบรรณาธิการด้วย งานด้านการศึกษาและการสอน - เริ่มชีวิตการเป็นอาจารย์ ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ถึง ๒๔๘๕ เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการธนาคารและเครดิตสถาน ในระดับปริญญาโท ทางเศรษฐศาสตร์และสอนบัญชีและธนาคาร ในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางบัญชี - เริ่มสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และได้สอนสืบมาเป็นเวลานานกว่าสิบปี - ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีบทบาทร่วมกับหลวงอังคณานุรักษ์และนายใหญ่ ศวิตชาติ ในการเสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษเมื่อคณะรัฐศาสตร์เริ่มเปิดการเรียนการสอน คือ ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ถึง ๒๔๙๒ โดยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ นอกจากการสอนตามที่หลักสูตรกำหนด ยังได้เสริมความรู้นอกหลักสูตรให้แก่นิสิตทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญาและการเมืองไทย - เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ม.ร.ว. คึก-ฤทธิ์ ปราโมช มีบทบาทในการช่วยคณาจารย์ของคณะศิลปศาสตร์ ชี้แจงทำความเข้าใจทั้งกับนักศึกษาและต่อสาธารณชนผ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐถึงคุณค่าของการศึกษาวิชาความรู้ทั่วไป(Liberal Arts) ก่อนเข้าสู่การศึกษาทางวิชาชีพ และได้รับหน้าที่สอนในฐานะอาจารย์พิเศษในหลักสูตรวิชาพื้นฐานของคณะศิลปศาสตร์เป็นครั้งคราว นับแต่ครั้งแรกที่เปิดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. ๒๕๐เป็นต้นมา โดยเป็นผู้สอนในวิชาศาสนาเปรียบเทียบ วิชาปรัชญาและวิชาวัฒนธรรมไทย - ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพื้นฐาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดี ได้ประทานคำแนะนำแก่คณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตรว่าในการปรับปรุงขอให้คำนึงถึงการนำเรื่องของไทยมาประยุกต์ให้มากขึ้น จึงเกิดวิชาใหม่คือ วิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นผู้วางหลักสูตร และวางแผนการสอน โดยแบ่งการสอนเป็นส่วน ๆ มีอาจารย์หลายคนร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งได้นิมนต์พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ปัจจุบันคือ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช พระสาสนโสภณตอบรับนิมนต์มาสอนเรื่องพุทธศาสนา หลักสูตรวิชาพื้นฐานและวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย ได้กลายเป็นต้นแบบที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้นำไปปรับปรุงการเรียนการสอน จนในที่สุดทบวงมหาวิทยาลัย ได้กำหนดเป็นนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรวิชาพื้นฐานรวมกันอย่างน้อย ๓๐ หน่วยกิต พร้อม ๆ กับการสอนวิชาอารยธรรมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำริจัดตั้งโครงการไทยคดีศึกษาขึ้นตามพระดำริของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดี ได้ทรงมอบหมายให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการไทยคดี-ศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายทั้งในด้านการบริหารและการศึกษาวิจัย การจักสัมมนาทางวิชาการ สัมนาสาธิตนาฏศิลป์และดนตรี รวมถึงการจัดแสดงโขนธรรมศาสตร์และมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งโครงการไทยคดีศึกษาขึ้นเป็นสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสถาบันไทยคดีศึกษาสืบต่อมาจนถึงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้ขอลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี -นอกจากที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ และผู้บรรยายพิเศษในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ ในหัวข้อที่หลากหลาย : ปรัชญา การเมือง เศรษฐกิจ ดนตรี นาฏศิลป์ และวัฒนธรรมไทยแขนงอื่น
งานด้านศิลปะวัฒนธรรม -พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาทรงครอบครูพระพิราพแก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วยพระองค์เองในพิธีไหว้ครูและครอบโขนละครที่จัดขึ้น ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ -อัจฉริยะภาพทางด้านศิลปะของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปรากฏในงานเขียน ซึ่งมีทั้งงานประพันธ์และงานวิจารณ์ งานแสดงนาฏศิลป์และดนตรีประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่นาฏศิลป์ระดับสูง คือ โขน ละคร ไปจนถึงศิลปะพื้นบ้าน เช่น การเล่นสักวา เพลงเรือ เพลงฉ่อย งานส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะและดนตรีไทย ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดตั้ง “โขนธรรมศาสตร์” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ เพื่ออบรมให้เยาวชนไทย เข้าใจถึงเรื่องของโขน ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะสูงสุดของไทย -ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๘ เกียรติประวัติด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานปริญญาวารสารศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระราชทานปริญญารัฐศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้รับพระราชทานพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ๑ ธนวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับปริญญาเทคโนโลยี ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย อื่น ๆ -นายกกรรมการบริหารช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ถึง ๒๕๓๐ -ประธานกรรมการอำนวยการหอพักรัชดาภิเษก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๑๔ ถึง ๒๕๑๘ -ประธานกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมวิวัฒน์ -ประธานกรรมการบริษัทภูมิภวัน -ประธานกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทย-ฟูจิ จำกัด -ประธานกรรมการบริษัทพรอพเพอร์ตี้ แคร์เซอร์วิสเซส อสัญกรรม การเจ็บป่วยปรากฏเป็นครั้งคราวนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เดินทางไปรับการตรวจและรักษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แพทย์ต้องผ่าตัดแคลเซียมเกาะกระดูกไขสันหลัง จากนั้นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นระยะ ๆ ด้วยโรคประจำตัว คือ โรคเบาหวาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เข้ารับการผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาในการรักษานานเดือนเศษ นับแต่นั้นมาอาการเจ็บป่วยจากโรคเดิม และโรคแทรกซ้อนปรากฏขึ้นเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ด้วยระบบการทำงานของอวัยวะภายในเสื่อม และถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เวลา ๑๐.๕๘ น. สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี ๕ เดือน ๒๐วัน