สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (Office of the Council of State) เป็นหน่วยงานกลางทางกฎหมายของรัฐบาลไทย มีหน้าที่ยกร่างกฎหมาย ตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย และให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ตามนัยพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ดี องค์กรนี้มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานโดยเริ่มต้นจากเคาน์ซิลออฟเสตด (Council of State) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 แต่เดิมนั้นการร่างกฎหมายเป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์
ตาม "พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน" เพื่อเป็นที่ปรึกษาในพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินและการร่างกฎหมาย และเป็นองค์กรที่พิจารณาเรื่องราวเดือดร้อนของราษฎร เคาน์ซิลออฟสเตดจึงเป็นองค์กรแรกที่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการยกร่างและพิจารณาร่างกฎหมายโดยตรง สำหรับผลงานร่างกฎหมายที่สำคัญของเคาน์ซิลออฟสเตด ได้แก่ การออกพระราชบัญญัติเกษียณอายุลูกทาสลูกไทย ประกาศเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2417 เพื่อกำหนดค่าตัวลูกทาสให้สูงสุดตอนเป็นเด็ก แล้วมีค่าตัวลดลงทุกปีจนหลุดพ้นเป็นไทได้จนหมดประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 เป็นต้น แต่ต่อมาเคาน์ซิลออฟสเตดไม่กล้าถวายความเห็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเลิกไป หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ร.ศ. 113 ขึ้น เพื่อให้มี รัฐมนตรี ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและการแก้ไขกฎหมายเก่าและคิดทำกฎหมายใหม่แทนเคาน์ซิลออฟสเตดฯ แต่ระยะหลังรัฐมนตรีไม่กล้าถวายความเห็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเลิกไปเช่นเดียวกับเคาน์ซิลออฟสเตด
อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงระบบกฎหมายไทยและระบบศาลให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับต่างประเทศในการยกเลิกสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต อันจะทำให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางศาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิรูประบบศาลไทยใหม่ รวมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้ง “กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย” ขึ้น ในปี พ.ศ. 2440 โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นองค์ประธานกรรมการ และนักกฎหมายไทยอีกจำนวนหนึ่งเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ชำระและยกร่างประมวลกฎหมายอาญา และต่อมาได้มีการตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นอีกหลายคณะเพื่อชำระและยกร่างประมวลกฎหมายอื่น ในการนี้ ทรงโปรด ฯ ให้จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการร่างกฎหมายชาวต่างประเทศมาร่วมดำเนินการด้วย
ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า แม้จะได้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมและปรับปรุงระบบศาลไทยใหม่แล้ว แต่การเจรจากับต่างประเทศเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญาสงวนสิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากกฎหมายที่กองกรรมการชำระประมวลกฎหมายจัดทำขึ้นนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับของชาวต่างประเทศ สมควรที่จะดำเนินการปรับปรุงระบบการร่างกฎหมายใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง “กรมร่างกฎหมาย” ขึ้นในปี พ.ศ. 2466 โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดี สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการชำระประมวลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมาย และยกร่างกฎหมายอื่น ๆ เพื่อให้การร่างกฎหมายถูกต้องตามหลักวิชา และเพื่อให้การร่างกฎหมายเป็นระบบระเบียบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งร่างกฎหมายให้กรมร่างกฎหมายตรวจแก้เสียก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้โอนกรมร่างกฎหมายมาขึ้นตรงต่อคณะกรรมการราษฎรเพื่อความสะดวกในการยกร่างกฎหมาย หลังจากนั้น รัฐบาลเห็นว่าองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมายควรมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชนด้วยเช่นเดียวกับองค์กรสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (Le Conseil d’Etat) ของประเทศในภาคพื้นยุโรป จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ขึ้น โดยให้มี “คณะกรรมการกฤษฎีกา” เพื่อทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองระหว่างรัฐกับเอกชน แต่การทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองนี้จะทำได้ต่อเมื่อมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดว่าข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาททางปกครองแล้ว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เคยทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองเนื่องจากไม่มีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อกำหนดว่าข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาททางปกครอง คงทำหน้าที่ด้านการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น
ต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ขึ้น เพื่อปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาใหม่ โดยนอกจากงานร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการกฤษฎีกาในการวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองด้วย และในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาฯเพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย” ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยว่ากฎหมายใดมีบทบัญญัติไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยและสมควรปรับปรุงแก้ไขหรือสมควรมีกฎหมายใดขึ้นใหม่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่างหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ขึ้นเพื่อจัดตั้งศาลปกครองเพื่อทำหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางปกครองโดยเฉพาะ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอนบรรดาเรื่องร้องทุกข์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเป็นคดีของศาลปกครอง และมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกาฯโดยให้โอนบรรดาบุคลากรและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเป็นของศาลปกครอง
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันจึงรับผิดชอบงานด้านการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ ยังรับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของ "คณะกรรมการพัฒนาวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง" ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และงานด้านการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อให้เหมาะสมกับกาลสมัยอันเป็นงานที่ดำเนินการสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมร่างกฎหมาย รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่นตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายกลางของประเทศเพื่อให้ประชาชนและส่วนราชการต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลกฎหมายที่ถูกต้องครบถ้วนได้โดยสะดวกและรวดเร็วผ่านทางเว็บไซต์ ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมายให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของนักกฎหมายมหาชนในภาครัฐและส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายมหาชนของนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัย และพัฒนาตำราทางนิติศาสตร์ด้านกฎหมายมหาชนซึ่งเป็นการดำเนินการตามแผนปรับเปลี่ยนกฎหมายตามโครงการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ เป็นต้น
ปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังนี้
(๑) รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
(๒) พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
(๓) ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ
(๔) ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
(๕) ฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านกฎหมายและการร่างกฎหมาย รวมทั้งการเผยแพร่ทำความเข้าใจในด้านกฎหมายแก่บุคคลทั่วไป
(๖) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาหลักกฎหมายและการบริหารราชการแผ่นดิน
(๗) จัดพิมพ์ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเผยแพร่ เว้นแต่เรื่องที่เป็นความลับ
(๘) จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
(๙) ศึกษาและรวบรวมข้อมูล รวมทั้งจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับระบบกฎหมายไทยและระบบกฎหมายต่างประเทศ และงานวิจัยกฎหมายหรือวิชาอื่นที่เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้
นอกจากนี้ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีภารกิจเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมาย การใช้กฎหมายและการพัฒนากฎหมายให้ถูกต้อง สร้างความเป็นธรรมและส่งเสริมการพัฒนาประเทศและประโยชน์สุขของประชาชน ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในการจัดทำร่างกฎหมาย
(๒) ให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ
(๓) งานประสานการนิติบัญญัติ โดยการตรวจสอบดูแลงานกฎหมายของประเทศและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา
(๔) จัดทำคำแปลกฎหมาย ให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินและให้คำปรึกษาหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ
(๕) วิจัยและพัฒนากฎหมาย โดยตรวจสอบสภาพปัญหาของประเทศและของสังคม แล้วทำการศึกษาวิจัยเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิม
(๖) การพัฒนาหลักกฎหมายปกครองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติราชการ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ รวมทั้งรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
(๗) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง โดยการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วให้บริการค้นคว้าแก่รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐและประชาชน
(๘) ดำเนินการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน
(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้บัญญัติให้มีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร ๑๑ บส.) มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับผิดชอบขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยตำแหน่ง)และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้มีรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (นักบริหาร ๑๐ บส.) เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ นอกจากนี้ ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกายังเป็นตำแหน่งที่มีลักษณะพิเศษกว่าตำแหน่งผู้บริหารของหน่วยงานอื่น ๆ กล่าวคือ มาตรา ๖๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความเชี่ยวชาญในทางนิติศาสตร์ การร่างกฎหมาย และการบริหารราชการแผ่นดินตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามลำดับ ในกรณีที่รัฐสภาประกอบด้วยสภาเดียวให้ได้รับความเห็นชอบของสภานั้น โดยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙) มีบุคคลซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังต่อไปนี้
(๑)มหาอำมาตย์ตรี พระยามานวราชเสวี (ปลอด-วิเชียร ณ สงขลา) ๒๗ ต.ค. ๒๔๖๖-๖ ก.ย. ๒๔๖๘
(๒)อำมาตย์เอก พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงษ์ ลัดพลี) ๒๘ ก.ย. ๒๔๖๘-๓๑ พ.ค. ๒๔๖๙
(๓)อำมาตย์เอก พระยาสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) ๑ มิ.ย. ๒๔๖๙-๘ ธ.ค. ๒๔๗๖
(๔)อำมาตย์ตรี หลวงประพนธ์นิติสรรค์ (หม่อมหลวงประดับ สุทัศน์) ๒๔ ก.พ. ๒๔๗๖-๒๙ ก.ย. ๒๔๗๘
(๕)นายเดือน บุนนาค ๓๐ ต.ค. ๒๔๗๘-๑๖ ก.ย. ๒๔๘๘
(๖)นายเสริม วินิจฉัยกุล ๑๑ มี.ค. ๒๔๘๙-๑๕ ต.ค. ๒๔๙๖
(๗)ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย ๑๑ พ.ย. ๒๔๙๖-๓๐ ก.ย. ๒๕๑๑
(๘)ศาสตราจารย์สมภพ โหตระกิตย์ ๑ ต.ค. ๒๕๑๑-๓๐ พ.ย. ๒๕๒๒
(๙)ศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ๔ ม.ค. ๒๕๒๓-๓๐ ก.ย. ๒๕๓๓
(๑๐)นายประเสริฐ นาสกุล ๑๑ ม.ค. ๒๕๓๔-๓๐ ก.ย. ๒๕๓๔
(๑๑)นายวัฒนา รัตนวิจิตร ๑ ต.ค. ๒๕๓๔-๓๐ ก.ย. ๒๕๓๗
(๑๒)นายไมตรี ตันเต็มทรัพย์ ๑ ต.ค. ๒๕๓๗-๓๐ ก.ย. ๒๕๓๘
(๑๓)ศาสตราจารย์อักขราทร จุฬารัตน ๑ ต.ค. ๒๕๓๘-๑๘ ก.พ. ๒๕๔๓
(๑๔)ศาสตราจารย์พิเศษชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ๑๙ ก.พ. ๒๕๔๓-๕ ม.ค. ๒๕๔๗
(๑๕)คุณพรทิพย์ จาละ ๑๓ มี.ค. ๒๕๔๗-ถึงปัจจุบัน (เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)แต่เป็นสตรีที่ยังมิได้สมรส เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราชย์ชั้น จ.จ. ขึ้นไป จึงต้องใช้คำนำนามว่า " คุณ " หากสมรสแล้วก็ใช้คุณหญิง)