สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ หรือพระนามเดิม พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "กิติยากร"
สารบัญ |
[แก้] พระประวัติ
พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาอ่วม ประสูติเมื่อประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๗ ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากเจ้าจอมมารดาอ่วมเป็นลูกจีน พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ จึงถูกล้อว่า "ปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก" ซึ่งมาจาก เกิดปีจอ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกพระจุล หลานพระจอม ตัวเป็นเจ้า ตาเป็นเจ๊ก
(เจ้าจอมมารดาอ่วม เป็นธิดาของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) เป็นเจ้าของเรือกลไฟชื่อ "เจ้าพระยา" เดินระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เพียงลำเดียวในสมัยนั้น เป็นต้นตระกูล "พิศลยบุตร" )
ทรงจบการศึกษาชั้นประถมจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ประกอบด้วย
- กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์)
- กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์)
- กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม)
- กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)
ทรงสำเร็จสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) จากสถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด สาขาวิชา ภาษาบาลีและสันสกฤต เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ ระหว่างศึกษาอยู่ พระองค์ทรงสังกัด 'วิทยาลัยแบเลียล' (Balliol College)ของมหาวิทยาลัย
เมื่อเสด็จนิวัติกลับพระนคร ทรงรับราชการในกรมราชเลขานุการ จากนั้นมาทรงงานในตําแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมเป็น กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็น กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พ.ศ.๒๔๖๓ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงปรีชาสามารถในด้านการคลังและการเศรษฐกิจ, ทรงพระดำริจัดตั้งคลังออมสินให้ราษฎรได้นำเงินฝากเพื่อให้ปลอดจากโจรภัยและอัคคีภัยและส่งเสริมการออมทรัพย์, ทรงจัดตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ และจัดการตั้งสหกรณ์, ทรงร่างกฎหมายวางระเบียบวิธีการศุลกากร และทรงแก้ไขปรับปรุงภาษีสรรพากร รวบรวมหน่วยงานจัดเก็บภาษีให้มารวมอยู่ในบังคับบัญชากระทรวงเดียวกัน, ทรงจัดให้สุราและฝิ่นเป็นสิ่งผูกขาดของรัฐบาล เพื่อเตรียมการที่จะบังคับให้การสูบฝิ่นเป็นสิ่งต้องห้ามในเวลาต่อมา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอภิรัฐมนตรี ที่ปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน และทรงเป็นกรรมการราชบัณฑิตยสถาน
ปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถได้เสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมพระชนมายุได้ ๕๗ ชันษา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการสร้างพระรูปพระองค์ท่านประดิษฐานไว้หน้าตึกที่ทำการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อรำลึกพระเกียรติคุณในฐานะที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์พระองค์แรก
[แก้] ผลงานทางวิชาการอันโดดเด่น
กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลี ได้ทรงแปลเรื่อง จันทกุมารชาดก จาก ภาษาบาลี เป็นไทยจนทรงได้รับพระราชทานพัดเปรียญ ๕ ประโยคจาก รัชกาลที่ ๗ ทั้งที่ทรงเป็นฆราวาส เป็นกรณีพิเศษ ทรงพระนิพนธ์ ปทานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต โดยอาศัยพจนานุกรมบาลีของอาร์.ซี. ชิลเดอรส์ (R.C.Childers) ที่ สมาคมบาลีปกรณ์ดำเนินการจัดพิมพ์มาก่อนหน้านี้แล้วเป็นหลัก แต่ต้นฉบับที่ทรงจัดทำไม่เรียบร้อยดีทุกส่วน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับ ศ.ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี ตรวจชำระต้นฉบับที่พระองค์ทรงร่างขึ้นแล้วโปรดให้ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ปทานุกรมดังกล่าวเพื่อเผยแผ่ นับแต่นั้น ปทานุกรม เล่มนี้จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
[แก้] พระโอรส-ธิดา
[แก้] หม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล
เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร ทรงประทับอยู่ ณ วังเทเวศร์ ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงอัปสรสมาน เทวกุล พระธิดาองค์โตของกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ มีพระโอรสพระธิดา ๑๒ พระองค์
- หม่อมเจ้าเกียรติกำจร กิติยากร (พระราชนัดดาองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) (๗ กันยายน ๒๔๓๙ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๕)
- หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร (๑๘ มกราคม ๒๔๔๐ - ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๑) สมรสกับหม่อมบิน หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์ และ หม่อมเจ้าหญิงจีริกา กิติยากร [1][2]
- หม่อมราชวงศ์หญิงวีณา กิติยากร (๑๐ เมษายน ๒๔๖๔ - )
- หม่อมราชวงศ์กิตินัดดา กิติยากร (๖ พฤษภาคม ๒๔๖๕ - ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๙)
- หม่อมราชวงศ์อมรภินพ กิติยากร (๓๑ กรกฎาคม ๒๔๖๗ - ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๘)
- หม่อมราชวงศ์หญิงกิติอัจฉรา กิติยากร (๒๑ เมษายน ๒๔๗๐ - )
- หม่อมราชวงศ์กิติสมาน กิติยากร (๑๐ กันยายน ๒๔๘๑ - )
- หม่อมราชวงศ์หญิงจีริก กิติยากร (๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๕ - ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘)
- หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (๔ มกราคม ๒๔๔๑ - ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖) (ได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล เมื่อ ๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ และเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เมื่อ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๕ สมรสกับ หม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์
- หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)
- หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร (ปัจจุบันคือ ท่านผู้หญิงบุษบา สธนพงศ์)
- หม่อมเจ้าหญิงกมลปราโมทย์ กิติยากร (๕ ธันวาคม ๒๔๔๑ - ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๗) สมรสกับ หม่อมเจ้าวงศานุวัตร เทวกุล
- หม่อมเจ้ามาโนชมานพ กิติยากร (๒๔ มกราคม ๒๔๔๓ - ๒๔ สิงหาคม ๒๔๔๔)
- หม่อมเจ้าขจรจบกิติคุณ กิติยากร (๑๕ มีนาคม ๒๔๔๔ - ๒๘ มกราคม ๒๕๑๐)
- หม่อมราชวงศ์สฤษดิคุณ กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์เกียรติคุณ กิติยากร
- หม่อมราชวงศ์สุจิตคุณ กิติยากร (ท่านผู้หญิงสุจิตคุณ สารสิน)
- หม่อมเจ้าหญิงพิบูลย์เบญจางค์ กิติยากร (๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๔๕ - ๒๗ เมษายน ๒๕๑๒)
- หม่อมเจ้าหญิงกัลยางค์สมบัติ กิติยากร (๒๘ มีนาคม ๒๔๔๗ - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕)
- หม่อมเจ้าหญิงจิตรบรรจง กิติยากร (๒๘ มกราคม ๒๔๔๙ - ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๗)
- หม่อมเจ้าหญิงทรงอัปสร กิติยากร (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๐ - ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๑)
- หม่อมเจ้าหญิงสรัทจันทร์ กิติยากร (๒๖ ธันวาคม ๒๔๕๑ - ๓๐ กันยายน ๒๔๖๖)
- หม่อมเจ้าพุฒ กิติยากร) พระชนม์ ๑๑ เดือน (๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๔ - ๒๖ ธันวาคม ๒๔๕๔)
[แก้] หม่อม
- หม่อมชล วิจารณ์บุตร ( - ๒๙ ธันวาคม ๒๔๖๗)
- หม่อมเจ้าหญิงพัฒนคณณา กิติยากร (๓๐ กันยายน ๒๔๔๖ - ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙)
- หม่อมเจ้าสมาคม กิติยากร (๑๕ กันยายน ๒๔๔๘ - ๑ ตุลาคม ๒๕๓๑)
- หม่อมเจ้าพรพิพัฒน์ กิติยากร (๓๐ สิงหาคม ๒๔๕๐ - ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘)
- หม่อมเจ้ากิติมตี กิติยากร (๓ พฤษภาคม ๒๔๕๘ - ๒๗ มกราคม ๒๕๒๕)
- หม่อมละออง วิจารณ์บุตร (เมษายน ๒๔๒๕ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๔)
- หม่อมเจ้าชมชิด กิติยากร (๑๖ ตุลาคม ๒๔๔๘ - ๒๒ มกราคม ๒๔๙๑)
- หม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร (๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๓ - ๒ มกราคม ๒๕๑๙)
- หม่อมจัน อินทุเกตุ (๒๔๓๖ - ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๕)
- หม่อมเจ้าหญิงจีริกา กิติยากร (๒๗ เมษายน ๒๔๕๖ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๘)
- หม่อมเจ้าจีรินันทน์ กิติยากร (๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๘ - ๙ เมษายน ๒๕๑๖)
- หม่อมเจ้าจีริดนัย กิติยากร (๑ ธันวาคม ๒๔๕๙ - ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๓)
- หม่อมละเมียด เปลี่ยนประยูร (ตุลาคม ๒๔๓๙ - ๕ สิงหาคม ๒๕๒๔)
- หม่อมเจ้าหญิงวินิตา กิติยากร (๒ ธันวาคม ๒๔๕๖ - )
- หม่อมเจ้าสุวนิต กิติยากร (๔ มีนาคม ๒๔๕๙ - )
- หม่อมเจ้าหญิงกิติปปียา กิติยากร (๖ ธันวาคม ๒๔๖๖ - )